วันจันทร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2564

แบบแผนปฏิบัติของการวิจัยด้านการจัดการศิลปกรรม

โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ (Ph.D, MFA, BFA)

jumpsuri@gmail.com


1. ปัญหาการวิจัย (Research Problem)

ปัญหาการวิจัย คือ ข้อสงสัยในสิ่งที่ต้องทำการวิจัยซึ่งเกิดจากความสนใจ หรือการสังเกต หรือการทบทวนแนวคิด/ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ต้องการหาคำตอบ ปัญหาของการวิจัย คือ ขั้นต้นของการสร้างหัวข้อการวิจัย เพื่อเป็นตัวตั้งต้นประเด็นสำคัญก่อนการดำเนินการวิจัยในลำดับต่อไป

2. คำถามการวิจัย (Research Question)

คำถามการวิจัย คือ การตั้งโจทย์จากข้อสงสัยว่า เราควรรู้อะไรจากสิ่งที่ต้องศึกษาวิจัย และทำไมต้องรู้เรื่องนั้น ๆ เรื่องที่เราควรรู้จะพัฒนาเป็นชุดคำถาม เพื่อพัฒนาไปสู่เป้าหมายการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ได้อย่างไรบ้าง

3. วัตถุประสงค์ของการวิจัย (Research Objective)

วัตถุประสงค์ของการวิจัยคือ จุดหมายของการวิจัยแบบรวบยอดว่ามีอะไรบ้าง วัตถุประสงค์ คือ แผนการทางความคิดในการวิจัยว่ามีความคาดหมายอยากจะทำวิจัยเรื่องนั้น ๆ ให้เกิดผลลัพธ์ด้วยประเด็นเกี่ยวกับอะไร ซึ่งสิ่งนี้เป็นหัวใจขั้นต้นของการก่อนเริ่มการดำเนินการวิจัยอย่างมีระบบและมีเป้าหมายที่ชัดเจน

4. ขอบเขตของการวิจัย (Research Delimitation)

ขอบเขตของการวิจัย คือ ขอบเขตหรือข้อกำหนดเบื้องต้นว่าเราจะศึกษาวิจัยในประเด็นนั้น ๆ แค่ไหน ประเด็นใดบ้าง ซึ่งต้องเป็นขอบเขตที่ชัดเจน มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ใครคือกลุ่มเป้าหมายในการศึกษาวิจัย และจะใช้เครื่องมืออะไรในการหาคำตอบนั้น

5. สมมุติฐานการวิจัย (Hypothesis Delimitation)

สมมุติฐานการวิจัย คือ การคาดคะเนผลการวิจัยไว้อย่างคร่าว ๆ ว่ามีลักษณะใด หรือมีความน่าจะเป็นในผลลัพธ์ของการวิจัยนั้น ๆ อย่างไร

6. การทบทวนวรรณกรรม (Literature Review)

การทบทวนวรรณกรรม คือ การทบทวนงานวิจัยที่มีมาก่อนหน้า หรือทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง หรือแนวคิดของนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ศึกษาวิจัยของเรา โดยต้องเป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เพื่อเปิดมุมมองให้กับผู้วิจัยในประเด็นที่ได้ศึกษาให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ ทั้งในด้านกว้างและด้านลึกทางวิชาการ แนวคิดและทฤษฎีที่นำมาใช้ในการวิจัยจึงต้องมีประเด็นที่สอดคล้องและสัมพันธ์กับการวิจัยนั้น ๆ ด้วย

7. กรอบแนวคิดการวิจัย (Conceptual Framework)

กรอบแนวคิดการวิจัย คือ กรอบการวิจัยที่เป็นผลจากการทบทวนแนวคิดและทฤษฎีที่สอดรับกับกระบวนการวิจัยนั้น ๆ อันนำมาสู่แบบจำลองหรือแผนดำเนินการวิจัย เพื่อให้นำไปสู่กระบวนการหาคำตอบได้อย่างมีเหตุและผลที่ชัดเจน  กรอบแนวคิดวิจัยจึงเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินการวิจัยสำหรับให้งานวิจัย ซึ่งอาจสรุปเป็นคำอธิบาย/แผนภูมิ/แผนผัง/แผนภาพ เพื่อให้เกิดความเข้าใจได้ง่ายและมีความชัดเจนขึ้น

8. วิธีการวิจัย (Research Methodology)

วิธีการวิจัย คือ วิธีการหาคำตอบจากการวิจัย โดยวิธีการที่มีเหตุผลและมีความเที่ยงตรงเชื่อถือได้ ซึ่งวิธีการวิจัยที่นิยมใช้หลัก ๆ คือ

8.1 การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research)

การวิจัยเชิงคุณภาพ คือ วิธีการวิจัยที่มุ่งหาคำตอบในเชิงเหตุผลและการอธิบายคุณลักษณะของสิ่งที่เราวิจัย โดยผลของคำตอบคือชุดความรู้หรือชุดคำอธิบายผลจากการวิจัย เช่น การวิจัยที่มุ่งหาคำตอบความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่สาธารณะกับงานออกแบบในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง หรือการวิจัยที่ต้องการหาคำตอบในด้านของการอนุรักษ์งานจิตรกรรมโบราณว่ามีหลักการอย่างไรบ้าง เป็นต้น

8.2 การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research)

การวิจัยเชิงปริมาณ คือ วิธีวิจัยที่กำหนดตัวแปร (variable) หรือเกณฑ์อันเป็นปัจจัยที่นำมาสู่คำตอบได้ เพื่อเก็บข้อมูลทางสถิติหรือตัวเลขและนำมาสู่การวิเคราะห์ ซึ่งตัวแปรอาจเป็นเรื่องของความต่างด้านพื้นที่/ อายุ/ เพศ หรือคุณสมบัติเฉพาะอื่น ๆ เพื่อนำผลลัพธ์เชิงสถิติมาเปรียบเทียบ และวิเคราะห์ อันนำมาสู่ผลลัพธ์การวิจัยได้ เช่น การวิจัยที่มุ่งหาคำตอบสถิติการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ศิลปะของประชากรชาย-หญิงและในช่วงวัยต่าง ๆ ว่ามีสถิติอย่างไร สอดคล้อง แตกต่าง หรือขัดแย้งกันอย่างไร และนำไปสู่ข้อค้นพบอะไรบ้าง

8.3 การวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Methods Research)

การวิจัยแบบผสมผสาน คือ การวิจัยที่ผสมผสานกันระหว่างการวิจัยเชิงคุณภาพและการวิจัยเชิงปริมาณ เพื่อหาคำตอบการวิจัยตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยที่ลุ่มลึกขึ้น เป็นเหตุเป็นผลที่ชัดเจน และน่าเชื่อถือมากขึ้น ด้วยผลลัพธ์ทั้งเชิงสถิติและนำมาสู่การวิเคราะห์ที่สอดรับหรือโต้แย้งกับแนวคิดทฤษฎีที่มีมาอยู่ก่อนหน้า การวิจัยแบบนี้เป็นที่นิยมอย่างมากกับนักวิจัยในปัจจุบัน เพราะสามารถขยายผลทางความคิดที่กว้างและหลากหลายมากขึ้น เช่น การวิจัยที่มุ่งหาคำตอบเชิงสถิติของประชากรในเพศและวัยที่แตกต่างกันในการเข้าชมผลงานในพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งหนึ่ง แล้วนำผลเชิงสถิติมาวิเคราะห์ในประเด็นที่สัมพันธ์กับคำถามการวิจัยเพื่อให้เกิดคำอธิบาย ว่ามีปัจจัยที่เป็นเหตุเป็นผลที่มีต่อการเข้าชมหอศิลป์ว่าสัมพันธ์กับอะไรบ้าง เป็นต้น

8.4 การวิจัยเชิงสหวิทยาการ (Interdisciplinary Research)

การวิจัยเชิงสหวิทยาการ คือ การวิจัยที่ผู้วิจัยใช้ศาสตร์หรือความรู้หลากหลายสาขาเป็นฐานในการดำเนินการวิจัยเพื่อคำตอบด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่ซับซ้อนขึ้น โดยอาจมีวิธีการเชิงทดลอง/ สำรวจ/ ลงพื้นที่จริง หรือการสร้างสรรค์ผลงานร่วมด้วย เพื่อนำไปสู่คำตอบของผลลัพธ์ที่เป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น เช่น การวิจัยที่บูรณาการศาสตร์ในด้านของการจัดการกับศิลปกรรม โดยมีวิธีหาคำตอบผ่านเครื่องมือที่หลากหลาย เช่น การสังเกตแบบ/ สอบถาม/ การสัมภาษณ์ เป็นต้น ซึ่งการวิจัยนี้เป็นแนวทางสำคัญของการวิจัยในยุคปัจจุบัน เพื่อเกิดผลลัพธ์ที่ทันสมัยในแง่มุมของศาสตร์สาขาต่าง ๆ

9. การวิเคราะห์ (Research Analysis)

การวิเคราะห์ คือ ขั้นตอนของการวิเคราะห์หรือแยกแยะประเด็นสำคัญในการวิจัยตามแนวคิด ทฤษฎี กรอบแนวคิด วิธีการดำเนินการ เพื่อแสดงผลลัพธ์เชิงประจักษ์ว่าผลการดำเนินการวิจัยออกมาเป็นอย่างไรบ้าง การวิเคราะห์เป็นผลชั้นต้นที่มาจากข้อมูลเชิงคุณภาพ หรือแนวคิดทฤษฎีที่มาจากการทบทวนซ้ำ หรือข้อมูลที่มาจากเครื่องมือการวิจัย เช่น ข้อมูลจากแบบทดสอบ (Test) หรือชุดของคำถามที่ผู้วิจัยกำหนดขึ้น, การสังเกตพฤติกรรม (Observation Form), การสัมภาษณ์ (Interview Form) แบบสอบถาม (Questionnaire) หรือชุดคำถาม เพื่อวัดพฤติกรรมความรู้สึกส่วนบุคคลในประเด็นนั้น ๆ เป็นต้น

10. การสังเคราะห์ (Research Synthesis)

การสังเคราะห์ คือ การสกัดข้อมูลการวิเคราะห์ผลการวิจัยมาสู่ผลลัพธ์ชั้นสูงที่เป็นองค์ความรู้ใหม่หรือนวัตกรรม อันเป็นผลจากการวิจัยที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม

11. การสรุปผล (Conclusion)

การสรุปผล คือ การนำเสนอผลสรุปจากการวิจัยตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยว่ามีผลลัพธ์การวิจัยว่าเป็นอย่างไรบ้าง การสรุปนี้เป็นผลจากการวิจัยทั้งหมดที่เป็นเรื่องของการรวบยอดผลลัพธ์ที่ชัดเจน

12. การอภิปรายผลการวิจัย (Discussion)

การอภิปรายผลการวิจัย คือ การตีความจากผลการวิจัยและประเมินผลการวิจัย เพื่ออธิบายความสอดคล้องและเชื่อมโยงกับสมมุติฐานของงานวิจัย, แนวคิดและทฤษฎีที่ใช้ประกอบ, การวิเคราะห์ผล และข้อค้นพบจากการวิจัยอย่างไรบ้าง

13. ข้อเสนอแนะ (Suggestion)

ข้อเสนอแนะคือ ข้อเสนอแนะในการวิจัยในอนาคตของผู้วิจัยเองหรือนักวิจัยอื่น ๆ ในประเด็นที่การวิจัยของเราไม่ได้ครอบคลุมในประเด็นนั้น ๆ ซึ่งอาจจะนำไปสู่การคิดค้นหัวข้อการวิจัยชิ้นใหม่ขึ้นมาได้

14. การอ้างอิง (Reference)

การอ้างอิง คือ เอกสาร บทความวิชาการ หนังสือ ตำรา สื่อออนไลน์ ไฟล์บันทึกเสียงจากการสัมภาษณ์ หรือข้อมูลต่าง ๆ ที่ผู้วิจัยนำมาใช้ในการศึกษา/วิจัย ซึ่งต้องเป็นชุดข้อมูลที่เชื่อถือได้ มีมาตรฐาน และสอดคล้องกับประเด็นการวิจัย

 


วันพฤหัสบดีที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ความหมาย ความสำคัญ และหน้าที่ของภัณฑารักษ์

 เรียบเรียงโดย: ดร.สุริยะ ฉายะเจริญ jumpsuri@gmail.com


ความหมายของภัณฑารักษ์

ภัณฑารักษ์ (Curator) คือ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ดูแลพิพิธภัณฑ์หรือนิทรรศการ ความหมายความตัวอักษร ก็คือ “ผู้ดูแลรักษาคลังเก็บสิ่งของ”

ภัณฑารักษ์ต้องมีความชำนาญเฉพาะด้านเป็นอย่างดี นอกเหนือจากความรู้ด้านการจัดการพิพิธภัณฑ์ทั่วไป เช่น หากต้องดูแลพิพิธภัณฑ์อัญมณี ก็จะต้องมีความรู้ด้านอัญมณีศาสตร์ หากต้องดูแลนิทรรศการศิลปะ ก็ต้องมีความรู้ด้านประวัติศาสตร์ศิลป์หรือแนวความคิดร่วมสมัยที่เกี่ยวข้อง หรือหากต้องดูแลเทศกาลภาพยนตร์ ก็ต้องมีความรู้ด้านภาพยนตร์หรือทัศนศิลป์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หน้าที่ของภัณฑารักษ์แตกต่างกันไป ตามลักษณะเฉพาะของสถานที่จัดแสดง


ความสำคัญของภัณฑารักษ์

ภัณฑารักษ์นับเป็นตำแหน่งที่สำคัญและรับผิดชอบสูงในแง่บริหารและปฏิบัติการ โดยมีความสำคัญ คือ

1.      ภัณฑารักษ์เป็นผู้มีความสำคัญในหน้าที่การจัดหาวัตถุจัดแสดงนิทรรสการ

2.      ภัณฑารักษ์เป็นผู้มีความสำคัญในหน้าที่การจัดหมวดหมู่วัตถุ

3.      ภัณฑารักษ์เป็นผู้มีความสำคัญในหน้าที่การจัดแสดงวัตถุในที่จัดแสดง

4.      ภัณฑารักษ์เป็นผู้มีความสำคัญในหน้าที่การดูแลและซ่อมแซมวัตถุสะสม

5.      ภัณฑารักษ์เป็นผู้วางแผนจัดการและแผนการให้บริการในนิทรรศการ

6.      ภัณฑารักษ์เป็นผู้มีส่วนอย่างมากในการประเมินราคาของศิลปวัตถุ


บทบาทของภัณฑารักษ์

"ภัณฑารักษ์นิทรรศการ" (exhibitions curator) หรือ "ภัณฑารักษ์ศิลปะ" (art curator) คือผู้รับผิดชอบในการจัดนิทรรศการศิลปะ

ในบริบทศิลปะร่วมสมัย คำว่า "ภัณฑารักษ์" หมายถึง บุคคลที่เลือกและตีความผลงานศิลปะ หลายครั้ง นอกจากการเลือกผลงานแล้ว ภัณฑารักษ์มักจะรับผิดชอบในการเขียนบทความในหนังสือ บทความในสูจบัตรศิลปะ และเนื้อหาอื่น ๆ ที่สนับสนุนการจัดนิทรรศการนั้น ๆ

ภัณฑารักษ์ดังกล่าวนี้อาจเป็นพนักงานประจำ หรือ "ภัณฑารักษ์รับเชิญ" (guest curators) จากองค์กรหรือมหาวิทยาลัยในเครือ หรือ "ภัณฑารักษ์อิสระ" (freelance curators) ที่ทำงานให้คำปรึกษากับนิทรรศการนั้น

"ภัณฑารักษ์ของสะสม (collections curator) "ภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์" (museum curator) หรือ "ผู้ดูแล" (keeper) สถาบันมรดกทางวัฒนธรรม (เช่น หอศิลป์ พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด หรือหอจดหมายเหตุ) เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อหาผลงานสะสมของสถาบันนั้น ๆ และยังเกี่ยวข้องกับตีความหมายวัตถุทางวัฒนธรรมรวมถึงสิ่งประดิษฐ์ทางประวัติศาสตร์ (Interpretation of heritage material including historical artifacts)

บทบาทของของภัณฑารักษ์ของสะสมจำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับวัตถุที่จับต้องได้ เช่น งานศิลปะ ของสะสม สิ่งของทางประวัติศาสตร์ (historic items) หรือของสะสมทางวิทยาศาสตร์ (scientific collections)

ในกรณีองค์กรขนาดเล็ก ภัณฑารักษ์อาจมีหน้าที่รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวในการจัดหาและแม้กระทั่งการดูแลผลงานสะสม ซึ่งได้แก่

1.      ภัณฑารักษ์ทำการตัดสินใจเกี่ยวกับวัตถุที่จะเลือก

2.      กำกับดูแลศักยภาพและเอกสารประกอบ

3.      ดำเนินการวิจัยโดยอิงจากผลงานสะสมและประวัติศาสตร์

4.      จัดเตรียมบรรจุภัณฑ์งานศิลปะที่เหมาะสมสำหรับการขนส่ง

5.      และแบ่งปันงานวิจัยกับสาธารณชนและชุมชนผ่านนิทรรศการและสิ่งพิมพ์

ในพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็ก เช่น พิพิธภัณฑ์ของสมาคมประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ภัณฑารักษ์อาจเป็นพนักงานคนเดียวที่ได้รับค่าจ้าง ในกรณีสถาบันขนาดใหญ่ เช่น ในพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ หน้าที่หลักของภัณฑารักษ์ที่เพิ่มเติมจากที่กล่าวมาแล้วก็คือ คือ

1.      ภัณฑารักษ์ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในเรื่องที่ตัวเองรับผิดชอบอยู่

2.      ภัณฑารักษ์ต้องเป็นนักวิจัยที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับวัตถุที่ตัวเองมีความเชี่ยวชาญเฉพาะ (research on objects)

3.      ภัณฑารักษ์ต้องเป็นผู้มีบทบาทในการแนะนำองค์กรในการรวบรวมวัตถุที่จัดแสดงให้แก่สาธารณชนได้ทราบ (guide the organization in its collecting)

ซึ่งในกรณีในกรณีสถาบันขนาดใหญ่ สามารถมีภัณฑารักษ์ได้หลายคน โดยจะได้รับมอบหมายให้อยู่ในกลุ่มและพื้นที่เฉพาะ (เช่น ภัณฑารักษ์ของศิลปะโบราณ ภัณฑารักษ์ของภาพพิมพ์และภาพวาด ฯลฯ) และมักจะดำเนินการภายใต้การดูแลของหัวหน้าภัณฑารักษ์

ในองค์กรดังกล่าว การดูแลทางกายภาพของวัตถุสะสมอาจได้รับการดูแลโดยผู้จัดการของพิพิธภัณฑ์ (museum collections-managers) หรือโดยนักอนุรักษ์ของพิพิธภัณฑ์ (museum conservators) โดยมีเอกสารและเรื่องการบริหาร (เช่น บุคลากร การประกันภัย และสินเชื่อ เป็นต้น) และมีการบริหารจัดการโดยนายทะเบียนพิพิธภัณฑ์ (handled by a museum registrar)


หน้าที่สำคัญของงานภัณฑารักษ์

1.    หน้าที่สำคัญของงานภัณฑารักษ์มีความเกี่ยวข้องกับการเป็นเป็นผู้ที่ดูแลวัตถุจัดแสดงให้เหมาะสม

2.    ภัณฑารักษ์เป็นตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ดูแลพิพิธภัณฑ์หรือนิทรรศการ

3.    ภัณฑารักษ์ถือเป็นคนที่อยู่ตรงกลางระหว่างสถาบันที่ทำงานด้วยกับผู้เข้าชมนิทรรศการ ภัณฑารักษ์เป็นเสมือนสะพานเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่จัดแสดงในนิทรรศการกับสาธารณชนผู้ชมผลงาน ให้สาธารณชนเกิดความรู้ ความเข้าใจ รับประสบการณ์ จากนิทรรศการนั้น ๆ

4.    ภัณฑารักษ์ทำหน้าที่เป็นคนเชื่อมองค์ความรู้และการสื่อสารไปสู่สาธารณะ โดยภัณฑารักษ์ต้องวางบทบาทตัวเองเป็นนักวิชาการ นักวิจัย นักเขียน และนักวิจารณ์ไปด้วย เพื่อผลิตผลงานที่เป็นลายลักษณ์อักษรอธิบายถึงวัตถุจัดแสดงหรือนิทรรศการที่จัดแสดงในหอศิลป์ พิพิธภัณฑ์ หรือพื้นที่จัดแสดงในประเภทต่าง ๆ

5.    ภัณฑารักษ์จึงเป็นทั้งผู้รู้ เป็นนักบริหาร นักจัดการ นักออกแบบ และครีเอทิฟในตัวเอง เพราะจำเป็นต้องบริหารข้อมูลและนิทรรศการให้เกิดผลที่มีประโยชน์ต่อผู้ชมให้มากที่สุด

6.    ภัณฑารักษ์ถือเป็นอาชีพที่น่าจับตามองในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากมีความสัมพันธ์กับอัตราการเติบโตของเมืองที่มีแนวโน้มว่าจะเติบโตรวดเร็วมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมไปถึงสัมพันธ์กับเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ในระดับนานาชาติ


การวิเคราะห์หน้าที่สำคัญของภัณฑารักษ์ได้เป็น 8 ประเด็นสำคัญ

1.    การรับวัตถุสะสม การจัดเก็บวัตถุ และจัดแสดงผลงานสะสม

2.    การคัดเลือกเนื้อหาและการออกแบบนิทรรศการ

3.    การจัดการเรื่องการติดตั้งผลงานและวัสดุที่จัดแสดง

4.    การออกแบบ การจัดระเบียบ หรือจัดนำชมและการฝึกปฏิบัติการสำหรับสาธารณชน

5.    การเข้าร่วมการประชุมและกิจกรรมกับประชาสังคมเพื่อส่งเสริมสถาบัน

6.    การกำกับและดูแลเจ้าหน้าที่ภัณฑารักษ์ เทคนิค และนักศึกษาฝึกงานที่เกี่ยวข้องกับสายงาน

7.    การวางแผนและดำเนินโครงการวิจัยพิเศษที่เกี่ยวข้องกับวัตถุจัดแสดงหรือวัตถุสะสม

นอกจากนี้ ในปัจจุบัน หน้าที่ภัณฑารักษ์ที่เพิ่มขึ้นมีส่วนเกี่ยวกับการระดมทุนและการส่งเสริมนิทรรศการ (fundraising and promotion) ซึ่งอาจรวมถึงการเขียนและทบทวนข้อเสนอทุน (include writing and reviewing grant proposals) การตีพิมพ์บทความในวารสาร และการสร้างสื่อประชาสัมพันธ์ นอกจากนี้ ภัณฑารักษ์หลายคนยังเข้าร่วมการประชุมและร่วมกิจกรรมในภาคสังคมด้วย

พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกเริ่มให้ความสนใจกับอัตลักษณ์ของตนมากขึ้น การสร้างพิพิธภัณฑ์ถือเป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยรักษาและเผยแพร่อัตลักษณ์ของตนได้อย่างยั่งยืน

ดังนั้น ภัณฑารักษ์ จึงไม่ใช่แค่ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์หรือนิทรรศการอย่างที่หลายคนมักเข้าใจ หากแต่เป็นผู้ถ่ายทอดอัตลักษณ์ เรื่องราวของพิพิธภัณฑ์หรือนิทรรศการนั้นๆ อย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ สามารถออกแบบวิธีการถ่ายทอดเรื่องราวได้อย่างสร้างสรรค์

ในระดับนานาชาตินั้น ได้ให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับอาชีพภัณฑารักษ์มาก

คนที่จะมาเป็นภัณฑารักษ์ต้องจบการศึกษาทางด้านนี้โดยเฉพาะ ไม่ใช่แค่จ้างใครก็ได้เข้ามาดูแลพิพิธภัณฑ์


ทักษะและบุคลิกที่ดีของคนที่เหมาะจะเป็นภัณฑารักษ์

1.      ภัณฑารักษ์ควรเป็นคนที่มีลักษณะนิสัยช่างสังเกต

2.      ภัณฑารักษ์ควรเป็นคนที่ชอบวิเคราะห์

3.      ภัณฑารักษ์ควรเป็นคนที่รู้จักการวิจารณ์ด้วยทัศนคติในแง่ดี

4.      ภัณฑารักษ์ควรเป็นคนที่ไม่ปิดกั้นข่าวสาร

5.      ภัณฑารักษ์ควรเป็นคนที่ชอบและหลงใหลในงานศิลปะ

6.      ภัณฑารักษ์ควรเป็นคนที่รักการอ่าน

7.      ภัณฑารักษ์ควรเป็นคนที่ไม่หยุดนิ่ง เห็นทุกเรื่องรอบตัวเป็นเรื่องสนุก

8.      ภัณฑารักษ์ควรเป็นคนที่ติดตามข่าวสารรอบด้าน ไฝ่รู้ รักการเรียนรู้เสมอ

9.      ภัณฑารักษ์ควรเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์

10.  ภัณฑารักษ์ควรเป็นคนที่รู้จัดคิดเชิงระบบและสังเคราะห์เนื้อหาให้กลายเป็นประเด็นที่น่าสนใจ

11.  ภัณฑารักษ์ควรเป็นคนที่มีทักษะในการสื่อสารที่ดี

12.  ภัณฑารักษ์ควรเป็นคนที่มีมนุษย์สัมพันธ์ดีเยี่ยม


สายงานการทำงานของภัณฑารักษ์

ด้วยกระบวนการทำงานของโลกเปลี่ยนไป สายงาน และหน้าที่ตำแหน่งงานของภัณฑารักษ์ จึงมีบทบาทเพิ่มเติมและครอบคลุมการทำงานมากยิ่งขึ้น

ซึ่งอาจถือเป็นเรื่องดีที่ท้าทายสำหรับคนที่หลงใหลและสนใจอาชีพนี้

อีกทั้งองค์กร หรือหน่วยงาน ภาครัฐ หรือเอกชนต่างๆ ต่างก็ให้ความสนใจในอาชีพภัณฑารักษ์มากยิ่งขึ้น

เพราะด้วยขอบเขตการทำงานครอบคลุมถึงงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับงานศิลปะมากมาย เช่น โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และวัตถุที่มีคุณค่าในเรื่องราวต่างๆ ได้แก่ อารยธรรม ศิลปวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงทรัพย์สินอันมีค่าของแผ่นดิน


สถานที่ทำงานของภัณฑารักษ์

ภัณฑารักษ์ส่วนใหญ่ทำงานในพิพิธภัณฑ์ (museums), สวนสัตว์ (zoos), พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ (aquariums), สวนพฤกษศาสตร์ (botanical gardens), ศูนย์ธรรมชาติ (nature centers) และสถานที่ทางประวัติศาสตร์ (historical sites) สภาพการทำงานจึงแตกต่างกันไป

บางคนใช้เวลาในการทำงานกับสาธารณชนโดยให้ความช่วยเหลืออ้างอิงและบริการด้านการศึกษา

ภัณฑารักษ์บางคนทำการวิจัยหรือบันทึกกระบวนการ ซึ่งลดโอกาสในการทำงานร่วมกับผู้อื่น

ภัณฑารักษ์ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับซ่อมแซมและติดตั้งผลงานในนิทรรศการ หรือทำงานกับการขนส่งจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังและความละเอียดสูงมาก เพราะสัมพันธ์กับความปลอดภัยของวัตถุจัดแสดงโดยตรง


โดยสรุปแล้ว

ภัณฑารักษ์ต้องทำหน้าที่บริหารจัดการงานนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์ ดูแลสถานที่จัดแสดงและสิ่งของที่จะนำมาจัดแสดง โดยมีลักษณะงานที่ปฏิบัติเกี่ยวข้องนับตั้งแต่ การสำรวจ การจัดหา การเก็บรวบรวม การจัดทำบันทึกหลักฐาน การศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์ วิจัย การตรวจพิสูจน์เพื่อกำหนดอายุ ยุคสมัย ประวัติความเป็นมา การจำแนกประเภท การคุ้มครอง ดูแล อนุรักษ์ ซ่อมสงวนรักษา ไปจนถึงการจัดทำสื่อต่างๆ เพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ การให้ความรู้และให้บริการทางการศึกษา การประเมินคุณค่า ตลอดจนการพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการขออนุมัติอนุญาตในเรื่องต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด และปฏิบัติหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้อง


ข้อมูลอ้างอิง:

https://en.wikipedia.org/wiki/Curator

https://www.careerexplorer.com/careers/curator/

https://london.ac.uk/venues/blog/how-plan-exhibition

วันอาทิตย์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ทัศนศิลป์ร่วมสมัยวิวัฒน์ไปด้วยความคิด

โดย: ดร.สุริยะ ฉายะเจริญ


บทความนี้เป็นการบรรยายขนาดสั้นในงานการสนทนา “สุนทรียภาพแห่งการวิจัย: บทสนทนาว่าด้วยศิลปะร่วมสมัย” การนำเสนอข้อค้นพบในการวิจัยของผู้วิจัยสาขาทัศนศิลป์จากโครงการวิจัย "13 ตุลาคม 2559 กับความเบ่งบานของศิลปะไทย" ในวันศุกร์ที่ 21 พฤษภาคม 2564 เวลา 10.00-12.00 น. ผ่านทาง Facebook live TRF Criticism  https://www.facebook.com/thaicritic/live/


    งานทัศนศิลป์ร่วมสมัยของไทยนับตั้งแต่ทศวรรษ 2550 เป็นต้นมาเป็นการนำเสนอศิลปะที่ว่าด้วยเรื่องของความคิดอย่างเด่นชัด ซึ่งความคิดนี้ก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญเท่ากับการแสดงออกในเชิงทักษะฝีมือสำหรับสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ แม้ว่างานทัศนศิลป์ร่วมสมัยจะเป็นเรื่องของความคิดเป็นแก่นในปฏิบัติการทางศิลปะก็ตาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทักษะฝีมือในทางศิลปะก็ยังคงเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ชิดกับการสร้างสรรค์อยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน


    ศิลปินจึงมีหน้าที่สำคัญในการตีความจากประสบการณ์ส่วนตัวหรือการตีความปรากฏการณ์ทางสังคมให้ออกมาเป็นความคิดของพวกเขาเอง แล้วจากนั้นจึงนำไปสู่การถ่ายทอดหรือการแปรค่าความคิดนั้นให้ออกมาเป็นรูปธรรมในรูปแบบของผลงานศิลปะ ไม่เพียงเท่านั้น ศิลปินเองก็ต้องใช้ประสบการณ์และความคิดของพวกเขาในการออกแบบวิธีการปฏิบัติการสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของรูปแบบทางศิลปกรรม เทคนิควิธีการแสดงออก การนำเสนอ หรือแม้แต่การกำหนดพื้นที่ในการจัดแสดงผลงานของพวกเขา ซึ่งกระบวนการทำงานทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นกิจกรรมทางความคิดที่ศิลปินเองจะต้องจัดการ


    ความคิดของศิลปินที่ปรากฏในงานศิลปะเป็นสิ่งที่ถูกเชื่อมโยงอย่างปฏิเสธไม่ได้กับรูปและสัญลักษณ์ที่ปรากฏอยู่ในผลงานเช่นเดียวกัน งานศิลปะที่สร้างขึ้นจึงเป็นเสมือนสนามทดลองทางสายตาที่มีความหมายบางอย่างทั้งเปิดเผยและซุกซ่อนเอาไว้ เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นดังนี้แล้ว ผู้ชมหรือผู้เสพผลงานศิลปะ จึงมีหน้าที่สำคัญในการตีความจากสิ่งที่ปรากฏไปสู่การรับรู้ความหมายควบคู่ไปกับสุนทรียภาพในผลงานศิลปะชิ้นนั้น ๆ เพื่อนำไปสู่การประเมินคุณค่า ทั้งเป็นการประเมินคุณค่าเชิงปัจเจกของผู้ชมเองหรือแม้กระทั่งเป็นการประเมินคุณค่าโดยสาธารณชน


    ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ก็อาจจะกล่าวได้ว่า ศิลปะจึงไม่อาจเป็นเพียงวัตถุเพื่อจ้องมองกันเรื่องความงามแต่เพียงอย่างเดียว แต่ผลงานศิลปะมีความหมายบางอย่างที่แฝงเร้นในผลงานนั้น ๆ อยู่ตลอดเวลา อาจเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวของศิลปินก็เป็นได้ หรืออาจเป็นทัศนคติอันเกิดจากความตีความปรากฏการณ์ทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ทั้งนี้ไม่ได้หมายถึงแค่งานทัศนศิลป์ร่วมสมัยเท่านั้น แต่ยังหมายรวมไปถึงผลงานศิลปกรรมนับตั้งแต่อดีตเป็นต้นมาด้วยเช่นเดียวกัน


    งานศิลปะที่สำเร็จหลุดออกจากมือของศิลปินนั้น ได้กลายสภาพเป็นสิ่งสาธารณะที่ควรได้รับการชื่นชมเทียบเท่ากับการวิพากษ์วิจารณ์ไม่ว่าจะในแง่มุมใดก็ตาม ซึ่งสิ่งนี้ล้วนเป็นกิจกรรมทางความคิดอันเกิดจากการตีความทั้งสิ้น และผลที่เกิดขึ้นก็คือนำไปสู่การพัฒนาศิลปะร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็นทั้งฝ่ายศิลปินผู้สร้าง ผู้ชมหรือผู้รับ หรือแม้กระทั่งตัวผลงานเองที่เป็นสื่อกลาง


    เมื่อเป็นดังนี้ กระบวนการสร้างสรรค์และนำเสนอผลงานทัศนศิลป์ร่วมสมัยจึงเป็นกิจกรรมของกระบวนการตีความที่ก่อเกิดผลประโยชน์ทางความคิดควบคู่ไปกับเรื่องของสุนทรียภาพอันหลากหลายด้วยกันทั้งสิ้น และสิ่งนี้เองก็เป็นสภาวะอันสำคัญของงานทัศนศิลป์ร่วมสมัยในปัจจุบัน


    หากย้อนไปถึงช่วงทศวรรษ 2530 เราจะเห็นได้ว่า ผลงานศิลปะของมณเฑียร บุญมา มีความโดดเด่นในการริเริ่มนำวัสดุพื้นถิ่นและวัสดุสามัญมาสร้างสรรค์งานประติมากรรม และอินสตอลเลชั่น (Installation Art) หรือศิลปะจัดวางอย่างโดดเด่นมาก ในยุคนั้น งานศิลปะเช่นนี้อาจเป็นของแปลกปลอมที่อยู่ในพื้นที่ศิลปะ แต่ขนาดเดียวกันมันก็เป็นความก้าวหน้าทางความคิดของศิลปินที่นำอิทธิพลศิลปะร่วมสมัยตะวันตกอย่างศิลปะจัดวางและศิลปะแบบอาร์เตโพเวร่า (Arte povera) มาคิดใหม่ในบริบทของตัวเอง มณเฑียรประยุกต์ใช้แนวทางตะวันตกกับวัตถุไทยเพื่อทดลองแปรค่าวัสดุธรรมดาไปสู่วัตถุทางศิลปะที่เชื่อมโยงความหมายเดิมเข้ากับความหมายใหม่ในบริบทของงานทัศนศิลป์ที่ศิลปินเองเป็นทั้งผู้ตีความและสร้างข้อความให้กับมหาชนได้ร่วมตีความด้วย


มณเฑียร บุญมาสองทุย (2532)

ที่มา: มณเฑียร บุญมา2532


มณเฑียร บุญมาเจดีย์กล่องผงซักฟอก (2532)

ที่มา: มณเฑียร บุญมา2548


    แม้ว่าแนวทางศิลปะจัดวางเป็นการแสดงออกทางทัศนศิลป์ที่ดูจะร่วมสมัยอย่างมากก็ตาม แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่างานเทคนิคการแสดงออกที่คุ้นชินอย่างงานจิตรกรรมแบบเหมือนจริงยังคงผลิตออกมาอย่างต่อเนื่อง 


    ในกรณีนี้งานจิตรกรรมของนที อุตฤทธิ์ มีความโดดเด่นด้วยการตีความรูปลักษณ์และความหมายของวัตถุต้นแบบ แล้วสร้างออกมาเป็นภาพจิตรกรรมที่แทนความหมายโดยนัย การใช้หุ่นนิ่งมาเป็นเนื้อหาในผลงานจิตรกรรมของนทีดูราวกับเป็นเรื่องของการสร้างงานจิตรกรรมแบบยุคเก่าของตะวันตก หรืออาจจะดูเป็นการสร้างจิตรกรรมหุ่นนิ่งเหมือนจริงตามปกติ หากแต่เมื่อพิจารณาความหมายของวัตถุที่เป็นภาพตัวแทนในผลงานและเชื่อมโยงเข้ากับบริบททางสังคมและการเมืองแล้ว เราจึงจะได้เห็นความหมายเชิงวิพากษ์ที่นทีได้ซ่อนอยู่ได้ภาพหุ่นนิ่งอันแสนสงบ แม้เราจะชื่นชมในทักษะฝีมือทางจิตรกรรมที่มีความพิเศษอย่างสูงก็ตาม แต่ยิ่งเราเข้าสู่กระบวนการตีความหมายในผลงานมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งทำให้เราเกิดการเข้าถึงซึ่งแง่มุมเชิงสุนทรียะและแง่มุมของความหมายที่คมคายอย่างยิ่ง


นที อุตฤทธิ์, King of Sparrow (2554) 

ที่มาสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม, 2559


นที อุตฤทธิ์, Country (2554) 

ที่มา: Asian Art Biennial 2013, 2013


    ขณะที่กรณีงานทัศนศิลป์ของปัญญา วิจินรธนสาร ที่มีรากฐานจากจิตรกรรมฝาผนังและประติมากรรมไทยนั้น ได้พัฒนางานศิลปะของตัวเองมาโดยตลอดภายใต้เนื้อหาที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา 


    ปัญญานำรากฐานทางความคิดคติในทางพุทธศาสนามาผสมผสานกับการตีความที่เกี่ยวข้องกับสังคมและโลกาภิวัตน์ จนนำมาสู่รูปแบบของผลงานที่สร้างขึ้นโดยการประกอบขึ้นของวัตถุอุตสาหกรรมอย่างฝากระโปรงรถ แล้วมาประกอบขึ้นกับวัสดุอื่น ๆ สร้างรองรอยบนฝากระโปรงรถด้วยวิธีการวาดเส้นเป็นภาพและตัวอักษร แต่โดยภาพรวมของผลงานกลายเป็นภาพเหมือนใบหน้าของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งดูแล้วผู้คนที่ติดตามผลงานของปัญญาก็อาจจะคุ้นชินไม่ต่างจากพระพักตร์ของพระพุทธรูปที่ปัญญาเคยสร้างไว้มาอย่างต่อเนื่อง 


    ในกรณีนี้ เราเห็นถึงวิธีความในการจัดการวัสดุเพื่อสร้างสรรค์ใหม่ของปัญญา เพราะในเส้นทางศิลปะร่วมสมัยแล้ว การทำความเข้าใจและหยิบใช้วัสดุกลายเป็นสิ่งสำคัญต่อกระบวนการสร้างสุนทรียภาพและกระบวนการสื่อสารความหมายในผลงานศิลปะนั้น ๆ ด้วย สุดท้ายแล้ว แม้วัสดุในการสร้างสรรค์ที่เปลี่ยนไป แต่เนื้อหาสาระทางความคิดของศิลปินยังคงแฝงอยู่ และสิ่งนี้คือกลิ่นอายที่ซ่อนอย่างเป็นนามธรรมในผลงานและรอผู้ชมมาร่วมตีความ


ปัญญา วิจินธนสาร: UNHAPPY (2557)

ที่มาสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม, 2557

                                      

    ส่วนอริญชย์ รุ่งแจ้ง สร้างประติมากรรมจัดวางด้วยประติมากรรมรูปหยดน้ำสีทองจำนวนมากห้อยทิ้งตัวจากแผงด้านบนลงมาลอยอยู่ในพื้นที่ว่าง และประกอบเป็นโครงสร้างของรูปทรงกลมขนาดใหญ่ จากหน่วยย่อยของประติมากรรมไปสู่โครงสร้างของทรงกลม สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นว่า ศิลปินไม่ได้เพียงแค่นำประติมากรรมมาติดตั้งจัดวางเฉย ๆ เท่านั้น แต่มันคือการคำนวณทางคณิตศาสตร์สำหรับการติดตั้งผลงาน นอกจากนี้ ยังควบคู่ไปกับฉายสื่อวิดีโอที่สัมพันธ์กับประติมากรรมจัดวางนี้ด้วยตัวเนื้อหาสาระที่เชื่อมร้อยอดีตและปัจจุบันกับเรื่องราวต่าง ๆ ทางสังคม การเมือง ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ผ่านนิยามของคำว่า ทองหยอด ซึ่งเป็นขนมหวานที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา 


    สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงเป็นฝีมือของศิลปิน แต่ใช่หรือไม่ว่ามันคือกระบวนการทำงานทางความคิดในการตีความของนิยามเรื่องทองหยอด มาสู่ความคิดในการสร้างสรรค์ผลงานร่วมสมัย และนำออกสู่สายตานานาชาติ การเชื่อมโยงเรื่องราวอันมหาศาลจากอดีตมาปัจจุบันภายใต้บริบททางศิลปะ ใช่หรือไม่ แก่นสำคัญไม่ใช่เพียงแค่ผลงานที่น่าสนใจอย่างมาก แต่กระบวนการทำงานทางความคิดของศิลปินก็ย่อมมีความสำคัญมาก ๆ เช่นเดียวกัน


อริญชย์ รุ่งแจ้ง, Golden Teardrop (2556) 

ที่มาhttps://www.artsy.net/artwork/arin-rungjang-golden-teardrop-5





อริญชย์ รุ่งแจ้ง, Golden Teardrop (2556) 

ที่มาhttps://www.artsy.net/artwork/arin-rungjang-golden-teardrop-5


    ขณะเดียวกัน นิทรรศการเดี่ยวย้อนหลัง Die Schöne Heimat หรือ “บ้านเกิด เมืองใด เรือนใจ เมืองงาม” ของ สมบูรณ์ หอมเทียนทอง แสดงงานทัศนศิลป์ที่หลากหลายที่สร้างขึ้นในช่วงเวลาแตกต่างกัน ซึ่งทำให้เห็นว่า เมื่อศิลปินมีความคิดเป็นแกนนำ รูปแบบ เทคนิค และวัสดุจึงไม่ใช่ปัญหาในการสร้างสรรค์ เมื่อแก่นสำคัญของการสร้างสรรค์คือความคิดและการค้นหาตัวตน เพราะฉะนั้น รูปแบบ เทคนิค และวัสดุ จึงเป็นเครื่องมือในการพิสูจน์ความคิดสร้างสรรค์ของสมบูรณ์ สิ่งนี้ทำให้ผลงานศิลปะของสมบูรณ์ได้ก้าวพ้นอัตลักษณ์บางอย่างในทางรูปแบบของตัวเองได้ แต่ยังคงมีกลิ่นอายของความคิดอันลึกซึ้งของศิลปินที่ผู้ชมเองมีภาระหน้าที่ในการตีความจากผลงานที่ปรากฏเป็นรูปธรรม


นิทรรศการ  “บ้านเกิด เมืองใด เรือนใจ เมืองงาม” ของ สมบูรณ์ หอมเทียนทอง

ที่มาhttps://www.wurkon.com/blog/236-somboom-hormtientong


    ในกรณีเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 (Bangkok Art Biennale หรือ BAB) ครั้งที่ 1 เราเห็นผลงานศิลปะจัดวางในพื้นที่จริง (Site Specific) ของ สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ ที่สร้างพื้นที่ที่ผู้ชมต้องเข้าไปมีส่วนร่วม (Participation Art) เพื่อค้นหาความหมายของสภาวะภายในและภายนอกด้วยการแปรสภาพเขามอที่วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหารเป็นพื้นที่แห่งการตีความใหม่ 



สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์: Across the Universe and Beyond (2561)

ที่มา: ธันยพร หงษ์ทอง2561


    เช่นเดียวกันกับศิลปะจัดวางของนีโน่ สาระบุตร ที่นำเซรามิกรูปหัวกะโหลกสีขาวขนาดเล็กจำนวนนับแสนชิ้นวางลงบนพื้นทางเดินรอบระเบียงอัฐิจำนวนมากที่ล้อมพระบรมธาตุมหาเจดีย์ของวัดประยูรวงศาวาสวรวิหาร ผลงานนี้กระตุ้นให้ผู้ชมเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยการเดินเปลือยเท้าบนผืนประติมากรรมหัวกะโหลกเหล่านั้น ราวกับการเปรียบเทียบได้กับมรณานุสติทุกย่างก้าวของชีวิต ทั้งสนิทัศน์และนีโน่ทำให้เห็นถึงกระบวนการคิดภายใต้คติความเชื่อแนวพุทธ แล้วนำมาปรับใช้ควบคู่กับพื้นที่สาธารณะทางศาสนาได้น่าสนใจอย่างยิ่ง


นีโน่ สาระบุตร: What Will You Leave Behind (2555)

ที่มา: favforward, 2562


นีโน่ สาระบุตร: What Will You Leave Behind (2555)

ที่มา: favforward, 2562


    ส่วนความเคลื่อนไหวของเทศกาลศิลปะขอนแก่นแม่นอีหลี: เหลื่อม มาบ มาบ #1 (KHONKAEN MANIFESTO : FLASHY FLASHES #1) หรือ ขอนแก่นเมนิเฟสโต้ ที่มีถนอม ชาภักดี เป็นภัณฑารักษ์ มีความน่าสนใจที่เชื่อว่า ศิลปะที่เป็นการสร้างพื้นที่และกิจกรรมที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยการเข้าสู่ชุมชนและสังคม อีกทั้งเป็นพื้นที่ในการวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองผ่านปฏิบัติการศิลปะอย่างเสรี


    ในกรณีนี้ ผลงานจิตรกรรมสีน้ำของ ตะวัน วัตถุยา ที่แสดงใบหน้าสีแดงของเหล่าผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่น่าสะเทือนใจ ไม่ใช่เพียงใช้เทคนิคจิตรกรรมสีน้ำเพื่อความงาม แต่เป็นเสมือนข้อความบางอย่างที่ศิลปินตีความจากปรากฏการณ์ทางสังคมและการเมืองสู่งานจิตรกรรมที่ต้องครุ่นคิดมากกว่าแค่จ้องมองปกติ 


จิตรกรรมสีน้ำ 18 ชิ้น ของ ตะวัน วัตถุยา   

ที่มา: ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์, 2561


    นอกจากนี้ยังมีศิลปะแสดงสด (Performance Art) ผสมบทกวีของซะการีย์ยา อมตยา กวีรางวัลซีไรต์ ที่เขียนรายชื่อผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่ตากใบบนพื้นด้วยมือ แล้วลบด้วยเท้า และอ่านบทกวีอย่างเกรี้ยวกราด คลอไปด้วยเสียงสวดภาวนาแด่ผู้ตายจากเครื่องเสียง ซึ่งสิ่งนี้ทำให้เห็นถึงการผสมผสานกันของศิลปะที่เป็นกวีเข้ากับศิลปะแสดงสดเพื่อสื่อสะท้อนความหมายเชิงวิพากษ์ที่สามารถแสดงออกได้อย่างน่าคิด


ซะการีย์ยา อมตยา แสดงสดประกอบกวี

ที่มา: ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์, 2561


    จากทั้งหมด เป็นเพียงข้อคิดเห็นจากกรณีตัวอย่างในประเด็นที่ผมได้มาร่วมบรรยายสั้น ๆ นี้ ซึ่งอาจจะไม่สามารถครอบคลุมหรือยกประเด็นของทัศนศิลป์ร่วมสมัยได้ทั้งหมด เป็นเพียงแง่มุมตามหัวข้อที่มีเป้าหมายสำคัญที่จะแสดงให้เห็นว่า ความคิดของศิลปินนั้นมีความสำคัญต่อการพัฒนาทัศนศิลป์ร่วมสมัยของไทยเป็นอย่างสูง 


    เมื่อทั้งศิลปินและผู้ชมงานศิลปะจำเป็นต้องใช้ความคิดและการตีความเพื่อสร้างสรรค์และเข้าถึงผลงานนั้น ๆ ได้แล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่า ทัศนศิลป์ร่วมสมัยวิวัฒน์ไปด้วยความคิด เช่นนี้แล้ว โลกของทัศนศิลป์ร่วมสมัยจึงเป็นโลกของความคิด การตีความจึงเป็นกิจกรรมสำคัญที่นำไปสู่การถอดรหัสทางความคิดที่ซุกซ่อนในผลงานศิลปะนั่นเอง

 

การอ้างอิง


Asian Art Biennial 2013. (2013). Natee UTARIT. Retrieved from Asian Art Biennial 2013: https://www.asianartbiennial.org/2013en/portfolio/natee-utarit/

favforward. (30 กันยายน 2562). เมื่องานศิลป์ทำได้มากกว่า “ใช้ตาดู” รวม Activities สุดคูลจากงาน BAB 2018. เข้าถึงได้จาก favforward: https://favforward.com/lifestyle/art/50765.html

https://www.artsy.net/artwork/arin-rungjang-golden-teardrop-5

https://www.wurkon.com/blog/236-somboom-hormtientong

ธันยพร หงษ์ทอง. (2561). BANGKOK ART BIENNALE 2018. เข้าถึงได้จาก I AM EVERYTHING: https://www.iameverything.co/contents/bangkok-art-biennale-2018

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์. (30 ตุลาคม 2561). ขอนแก่นเมนิเฟสโต้ การเปิดพื้นที่ทางศิลปะอันดิบเถื่อน และทรงพลังแห่งแดนอีสาน (จบ). เข้าถึงได้จาก มติชนสุดสัปดาห์: https://www.matichonweekly.com/art/article_144053

มณเฑียร บุญมา. (2532). ผลงานสื่อประสมของมณเฑียร บุญมา "เรื่องราวจากท้องทุ่ง". กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.

มณเฑียร บุญมา. (2548). ตายก่อนดับ: การกลับมาของมณเฑียร บุญมา. กรุงเทพฯ: สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม.

สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม. (2559). ไทยเนตร. กรุงเทพฯ: สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม

สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม. (2557). มนต์เสน่ห์ไทย : มรดก + พลังสร้างสรรค์. กรุงเทพฯ: สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม.