โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ
*บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อประกอบการบรรยายเรื่อง
“สภาวะสมัยใหม่ในงานทัศนศิลป์ไทย” วิชาทัศนศิลป์วิจักษ์ หลักสูตรทัศนศิลปศึกษา
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร
บทนำ
บทความนี้ผู้เขียนได้เขียนขึ้นเพื่อประกอบการสอนวิชาทัศนศิลป์วิจักษ์
หลักสูตรทัศนศิลปศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร
ซึ่งผู้เขียนได้ประมวลความรู้ในเรื่องของประวัติศาสตร์ทัศนศิลป์ไทยสมัยใหม่มาวิเคราะห์เพื่อแบ่งประเภทผลงานเป็นหมวดหมู่ตามข้อสมมุติฐานของผู้เขียน
โดยใช้เกณฑ์ของรูปแบบและแนวเรื่องในการนำเสนอผลงานของศิลปินมาเป็นหลักสำคัญในการแบ่งกลุ่มของผลงาน
อนึ่งผู้เขียนได้จัดการแบ่งประเภทนี้เพื่อง่ายสำหรับการทำความเข้าใจถึงอิทธิพลศิลปะสมัยใหม่ที่แพร่กระจายอิทธิพลไปทั่วโลกตั้งแต่ราวปลายศตวรรษที่ 19 จวบจนถึงปัจจุบัน
เพราะฉะนั้นการนำเอารูปแบบของแนวทางลัทธิในงานศิลปะสมัยใหม่ของศิลปะตะวันตกมาเปรียบเทียบกับบริบทของงานทัศนศิลป์ร่วมสมัยของไทยนั้น
เป็นไปในเชิงของการเปรียบเทียบเชิงประติมาณ (Iconography) และรูปแบบ (Style) ทางกายภาพของผลงานศิลปะ
แต่กระนั้นก็มิได้ถือเอาการวิเคราะห์ของตัวผู้เขียนเองเป็นข้อการันตีที่สิ้นสุดจนมิอาจโต้แย้งได้
ทั้งนี้ถ้ามีผู้รู้ท่านใดตั้งข้อสังเกตหรือทำการศึกษาวิเคราะห์วิจัยไปจนถึงการแตกประเด็นที่หลากหลายกว่าบทความนี้ก็นับเป็นการต่อยอดที่มีคุณประโยชน์ไปสู่องค์ความรู้ที่จะพัฒนายิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ
และเป็นข้อดีต่อวงวิชาการทางด้านทัศนศิลป์ของไทยเป็นอย่างยิ่ง
สภาวะสมัยใหม่ในบริบทของงานทัศนศิลป์ไทย
สำหรับในบทความนี้ “สภาวะสมัยใหม่”
ในบริบทของงานทัศนศิลป์ไทย คือ การที่ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตโดยใช้อิทธิพลของศิลปะตะวันตกในศตวรรษที่
20 เป็นแนวทางในการทำความเข้าใจผลงานทัศนศิลป์ไทยสมัยใหม่
โดยนับตั้งแต่การเข้ามารับราชการของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ซึ่งเป็นผู้ร่วมวางระบบรากฐานการศึกษาศิลปะแบบตะวันตกในประเทศไทย
โดยที่วิทยาการความรู้ที่ท่านนำมาเป็นรากฐานการศึกษาให้กับนักศึกษานั้นเป็นการเรียนแบบหลักวิชาการทางศิลปะแบบคลาสิก
(Classic Art) มากกว่าจะเป็นศิลปะแบบสมัยใหม่ตามแบบ Modern Art ตะวันตก แต่ถึงกระนั้นก็ตาม การเปลี่ยนวิธีการสอนในระบบครูช่างแบบไทยเดิมมาเป็นแบบใช้เกณฑ์ตามหลักวิชาศิลปะมาสอนกับนักศึกษา
ก็นับว่าเป็นประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจศิลปะแบบตะวันตกให้กับนักศึกษาศิลปะในยุคสมัยนั้นเป็นอย่างมาก
“สภาวะสมัยใหม่”
ในบริบทนี้จึงหมายถึงการถือเอารูปแบบของศิลปะตะวันตกเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้และทำการวิวัฒนาการด้วยการประยุกต์ใช้กับเนื้อหาในบริบทของความเป็นไทยเพื่อเป้าหมายของการสร้างเอกลักษณ์ของผลงานศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย
แม้ปัจจุบันวงการทัศนศิลป์ไทยจะก้าวไปสู่ความเป็นสากลมากขึ้นแล้วก็ตาม
แต่ข้อสังเกตที่สำคัญก็คือ ศิลปินไทยเองก็พยายามที่จะก้าวให้เท่าทันกับความเป็นศิลปะร่วมสมัย
(Contemporary Art) ของนานาชาติที่แพร่กระจายไปอย่างกว้างขวางด้วยอิทธิพลของความเป็นโลกาภิวัฒน์ นั่นเท่ากับว่าปัจจัยสำคัญในการได้รับการยอมรับจากนานาชาติกลายเป็นความจำเป็นต่อคุณค่าและความสำคัญของผลงานศิลปะนั้นๆ
มากเท่ากับคุณภาพของตัวมันเอง ซึ่งในบทความนี้ผู้เขียนได้จำแนกประเภทของทัศนศิลป์ไทยสมัยใหม่ได้เป็น
13 ประเภท ดังนี้
1. ศิลปะเหมือนจริง
2. ศิลปะแบบคณะราษฎร
3. จิตรกรรมฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๙
4. ศิลปะแบบอิมเพรสชั่นนิสม์
5. ศิลปะคิวบิสม์
6. ศิลปะแบบแสดงอารมณ์
7. ศิลปะนามธรรม
8. ศิลปะเพื่อชีวิต
9. ศิลปะไทยสมัยใหม่
10. ศิลปะเฉลิมพระเกียรติ
11. ศิลปะแนววิพากษ์สะท้อนสังคมร่วมสมัย
12. ศิลปะสื่อผสมและอินสตอลเลชั่น
13. ศิลปะสื่อใหม่
ศิลปะเหมือนจริง
ศิลปะเหมือนจริงในบริบทของสภาวะสมัยใหม่ในงานทัศนศิลป์ไทย หมายถึง
ผลงานทัศนศิลป์ที่สร้างขึ้นด้วยแนวคิดความงามแบบอุดมคติตามหลักวิชาตะวันตก (Academic) โดยเป็นความจริงเชิงภาพสัญญะ (Icon) ที่นำไปสู่การสื่อความหมายตรงได้ชัดเจนว่าภาพลักษณ์ที่ปรากฏเป็นภาพของอะไร
ผลงานแบบเหมือนจริงดังกล่าวนี้มีทั้งประเภทจิตรกรรมและประติมากรรม อันถือเป็นพัฒนาการทางศิลปะที่เกิดขึ้นในยุคสมัยที่ศาสตราจารย์ศิลป์
พีระศรี เข้ามามีบทบาทในการสร้างสรรค์งานศิลปะและรวมไปถึงการก่อร่างสร้างตัวของมหาวิทยาลัยศิลปะการในระยะแรกเริ่ม
ลักษณะที่โดดเด่นของผลงานแบบเหมือนจริงคือผลงานศิลปะจะแสดงลักษณะทางกายภาพที่เป็นจริงเชิงอุดมคติ
ใช้การจัดวางองค์ประกอบที่ถูกต้องตามหลักทฤษฎีเพื่อให้เกิดเอกภาพขึ้นในผลงาน
ศิลปินผู้สร้างสรรค์วางระบบการทำงานเป็นขั้นตอนเพื่อให้ผลงานที่สำเร็จเป็นไปตามเป้าหมายของความสมบูรณ์แบบคล้านศิลปะแบบคลาสิกของตะวันตก
(Classic Art)
ศิลปะแบบคณะราษฎร
ในบริบทของสภาวะสมัยใหม่ในงานทัศนศิลป์ไทย หมายถึง
ผลงานทัศนศิลป์ที่สร้างขึ้นด้วยแนวคิดแบบอุดมคติตามหลักวิชาตะวันตก และนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในด้านของประสบการณ์เชิงสุนทรียะและด้านการเมืองในห้วงทศวรรษ
พ.ศ.2480-2500
ผลงานศิลปะส่วนใหญ่ในประเภทนี้จะเป็นงานจิตรกรรมและประติมากรรม
ซึ่งมีรูปลักษณ์ที่คล้ายกับศิลปะแบบเหมือนจริงมาก
เพียงแต่เป้าหมายของการสื่อความหมายของผลงานจะอยู่ในกรอบของการนำเสนอตามนโยบายของรัฐบาลในขณะนั้นที่ยังอยู่ในช่วงของหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณายาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย
อันนับเป็นช่วงของการก่อร่างสร้างแนวคิดเพื่อส่งเสริมให้สังคมเริ่มเข้าใจในเป้าหมายถึงการปกครองแบบใหม่ตามนโยบายรัฐนิยมในยุคสมัยนั้น
ศิลปะแบบคณะราษฎรสร้างขึ้นเพื่อเป้าหมายทางการเมืองและการปลุกเร้าให้ประชาชนรักชาติและภาคภูมิใจในความเป็นชาติไทยสมัยใหม่
โดยเนื้อหาของผลงานศิลปะจะอยู่ในขอบเขตของสำนึกชาตินิยม
การปลูกฝังค่านิยมแบบรัฐทหาร
และคุณค่าของปัจเจกชนที่เป็นส่วนประกอบของความเป็นรัฐชาติแบบสมัยใหม่
จิตรกรรมฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
จิตรกรรมฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในบริบทของงานทัศนศิลป์ไทย
หมายถึง ผลงานจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ซึ่งถือว่าทรงเป็น “อัครศิลปิน”
ทรงเป็นนักสร้างสรรค์ศิลปะหลากหลายสาขาที่มีรูปแบบงานสร้างสรรค์เฉพาะตัวเป็นอย่างมาก
ไม่ว่าจะเป็นงานดนตรี วรรณกรรม และงานทัศนศิลป์ โดยเฉพาะพระอัจฉริยภาพด้านงานจิตรกรรมของพระองค์ท่าน
ซึ่งมีแนวทางการแสดงออกแบบสมัยใหม่แบบตะวันตก
ทั้งนี้อาจเป็นข้อสัณนิษฐานได้ว่าพระองค์ท่านทรงประสูติและทรงได้รับศึกษาจากสถาบันการศึกษาจากประเทศแถบตะวันตก
จึงอาจซึมซับลักษณะของผลงานศิลปะแบบสมัยใหม่ตะวันตกที่เจริญรุ่งเรืองมากในยุคสมัยนั้น
จิตรกรรมฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีลักษณะที่โดดเด่นด้วยรูปแบบที่พัฒนาจากการวิเคราะห์ด้วยประสบการณ์ทางการเห็น
การแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึก และการสังเคราะห์ด้วยกระบวนคิด โดยผลงานที่ปรากฏแสดงชัดเจนถึงการคลี่คลายในเชิงรูปร่างและรูปทรงจากเหมือนจริงไปสู่ลักษณะของนามธรรมที่แสดงออกถึงสภาวะทางใจ
ผลงานจิตรกรรมของพระองค์ท่านมีรูปแบบไปในทางเดียวกันกับแนวจิตรกรรมแบบสมัยใหม่ในตะวันตกหลากหลายแนวทาง
เช่น Realism, Post Impressionism, Expressionism, Cubism,
Futurism และ Abstract Art
ศิลปะแบบอิมเพรสชั่นนิสม์ในบริบทของสภาวะสมัยใหม่ในงานทัศนศิลป์ไทย หมายถึง
ผลงานทัศนศิลป์ที่สร้างขึ้นด้วยกระบวนการแบบศิลปิน Impressionist โดยศิลปินไทยเองได้เรียนรู้กระบวนการและกลวิธีสร้างงานจิตรกรรมตามแบบศิลปินอิมเพรสชั่นนิสต์ตะวันตกที่ศึกษาในเรื่องของทฤษฎีสี
องค์ประกอบของภาพ และเนื้อหาการสื่อสารที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวเชิงสามัญวิสัย
ศิลปะแบบอิมเพรสชั่นนิสม์ในวงการทัศนศิลป์ไทยแม้ไม่ต่างจากการสร้างสรรค์แบบตะวันตกมากนัก
กล่าวคือ การมุ่งประเด็นการศึกษาในเรื่องของสีและแสงเป็นสำคัญ
แต่ด้วยลักษณะของภูมิอากาศและภูมิประเทศไทยเองที่อยู่ในแถบเขตร้อนชื้น
ทำให้การปรากฏของแสงและสีมีความแตกต่างจากประเทศในแถบยุโรปเป็นอย่างมาก
ผลงานที่เกิดขึ้นจึงมีรูปแบบเฉพาะตัวที่น่าสนใจ เช่น
ลักษณะการตัดกันของแสงและสีที่ชัดเจนรุนแรง
หรือลักษณะของสีของต้นไม้ที่เป็นสีเขียวจัดและเมื่อมีแสงแดดส่องจะเกิดประกายสีเรืองแสงที่มากกว่าประเทศในทวีปยุโรปที่มักมีหมอกผสมอยู่ในฉับพลันของสีและแสง
เป็นต้น
ศิลปะแบบคิวบิสม์ในบริบทของสภาวะสมัยใหม่ในงานทัศนศิลป์ไทย หมายถึง ผลงานทัศนศิลป์ที่สร้างขึ้นด้วยการวิเคราะห์รูปร่างรูปทรงของศิลปินตามแบบศิลปะ
Cubism แล้วสังเคราะห์ออกมาเป็นผลงานที่ปรากฏเป็นเหลี่ยมมุมเพื่อแสดงการวิเคราะห์รูปร่าง
รูปทรง พื้นที่ว่าง และเวลา
ทั้งนี้แม้รูปลักษณ์โดยรวมของผลงานศิลปะในแนวทางดังกล่าวจะมีการวิเคราะห์รูปร่างและรูปทรงที่ตายตัวและมุ่งไปสู่การคลี่คลายรูปลักษณ์เป็นแบบเส้นและเหลี่ยมมุมก็ตาม
แต่ศิลปินไทยได้นำเอามาพัฒนาจรชนเกิดเป็นรูปแบบเฉพาะตัวที่แตกต่างจากศิลปะสมัยใหม่ตะวันตก
โดยลักษณะเด่นคือการนำลักษณะของความเป็นไทยเข้ามาใช้ในผลงานบ้าง
ซึ่งถือเป็นการนำเอาเนื้อหาใกล้ตัวของศิลปินมาจัดการภายใต้กฏเกณฑ์ของการคลี่คลายรูปลักษณ์
แม้ความมุ่งหมายขั้นสูงสุดของศิลปะคิวบิสม์ในตะวันตกคือการวิเคราะห์ไปในด้านของพื้นที่ว่างและเวลาของวัตถุอันนำไปสู่การจัดการกับวัตถุที่เป็นต้นแบบของศิลปิน
หากแต่สำหรับบริบทของทัศนศิลป์ไทย ศิลปินกลับมุ่งไปที่การคลี่คลายในเชิงรูปแบบและองค์ประกอบของภาพมากกว่าเพื่อนำไปสู่ความลงตัวของภาพที่ปรากฏและประสบการณ์เชิงสุนทรียะแบบใหม่ที่แตกต่างจากศิลปะแบบประเพณี
ศิลปะแบบสำแดงอารมณ์ในบริบทของสภาวะสมัยใหม่ในงานทัศนศิลป์ไทย หมายถึง ผลงานทัศนศิลป์ที่สร้างขึ้นด้วยการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาของศิลปินไทยผ่านผลงานศิลปะที่เน้นไปที่การแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึกคล้ายการทำงานศิลปะของศิลปินกลุ่ม
Expressionism
ลักษณะทางกายภาพของผลงานศิลปะแบบสำแดงอารมณ์ คือ ร่องรอยของการกระทำของศิลปินที่ทิ้งไว้บนผลงานโดยปรากฏในเชิงกายภาพที่เด่นชัดอันเกิดจากการท่าทีที่ผสานกันระหว่างร่างกายกับสภาวะความรู้สึกของศิลปิน
โดยเฉพาะลักษณะของฝีแปรงในงานจิตรกรรมประเภทนี้จะมีการปรากฏตัวของร่องรอยที่หยาบกระด้างและไม่เกลี่ยเรียบจนเกิดเป็นพื้นผิวที่เด่นชัด
ภาพผลงานจิตรกรรมจะเป็นไปในเชิงที่ไม่เหมือนจริงแบบอุดมคติและเน้นไปที่คุณลักษระของเส้น
สี ร่องรอย ฝีแปรง และพื้นผิวที่ปรากฏชัด
ศิลปะแบบสำแดงอารมณ์อาจคลี่คลายรูปร่างรูปทรงไปสู่ภาพลักษรที่ง่ายต่อการสื่อความหมาย
และเน้นไปที่คุณลักษณะของฝีแปรงหรือพื้นผิว เพื่อให้ผุ้ดูได้เห็นถึงสภาวะอังหลงเหลือจากการแสดงออกเชิงความรู้สึกของศิลปินที่ทิ้งไว้บนผืนผ้าใบในจิตรกรรมหรือร่องรอยพื้นผิวในงานประติมากรรม
ศิลปะนามธรรมในบริบทของสภาวะสมัยใหม่ในงานทัศนศิลป์ไทย หมายถึง
ผลงานทัศนศิลป์ที่สร้างขึ้นด้วยการคลี่คลายรูปร่างและรูปทรงไปสู่รูปลักษณ์อันบริสุทธิ์
แสดงถึงความงามของทัศนธาตุ (Visual Element) คล้ายกับรูปแบบศิลปะแบบ
Abstract, Abstract Expressionism (Action Painting และ Color field Painting) และ Minimalism
แม้งานศิลปะแบบ Abstract, Abstract Expressionism (Action Painting และ Color field Painting) และ Minimalism ในประเทศตะวันตกจะมีความเคลื่อนไหวที่โดดเด่นและมีเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงสู่การเปิดประตูของแนวทางการสร้างสรรค์ใหม่ๆ
และยังได้รับความนิยมไปทั่วโลกจนกลายเป็นกระแสสากลก็ตาม แต่ในบริบทของทัศนศิลป์ไทยที่เรียกว่างานประเภทนามธรรมนั้น
กลับถูกนำมาใช้อย่างประยุกต์ได้อย่างโดดเด่นจนกลายเป็นกระแสความเคลื่อนไหวทางศิลปะที่เข้มแข็งในช่วงทศวรรษ
พ.ศ.2510-2530 โดยศิลปินไทยมักหยิบยกเนื้อหาเฉพาะตัวและบริบทของความเป็นไทยมาใช้ในการสื่อถึงเนื้อเรื่องบางอย่าง
เช่น สังคม การเมือง ความเชื่อ ศาสนา และปรัชญาตะวันออก
ทั้งนี้ผลงานนามธรรมในงานทัศนศิลป์ไทยแพร่กระจายออกในวงกว้างและครอบคลุมรูปแบบของการสร้างสรรค์หลากหลายเทคนิค
อาทิ จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ศิลปะไทยสมัยใหม่ และศิลปะสื่อผสม
ศิลปะเพื่อชีวิตในบริบทของสภาวะสมัยใหม่ในงานทัศนศิลป์ไทย หมายถึง
ผลงานทัศนศิลป์ที่สร้างขึ้นโดยมีแนวคิดในเรื่องของศิลปะประท้วง การสะท้อนสังคม วิพากษ์การเมือง
ระบบเศรษฐกิจ และโครงสร้างทางชนชั้นในสังคม โดยผลงานศิลปะเพื่อชีวิตในไทยนี้มีแนวคิดที่เชื่อมโยงไปทางมาร์กซิสม์
(Marxism) และสังคมนิยม (Socialism) ที่เป็นกระแสของความคิดทางการเมืองที่เด่นชัดให้ในช่วงทศวรรษที่ พ.ศ.2510-2530
ผลงานศิลปะเพื่อชีวิตได้รับอิทธิพลเป็นอย่างมาจากหนังสือเรื่อง “ศิลปะคืออะไร”
โดยนักเขียนระดับโลกอย่าง Leo Tolstoy และ หนังสือ “ศิลปะเพื่อชีวิต
ศิลปะเพื่อประชาชน” ที่เขียนโดยปัญญาชนหัวก้าวหน้าอย่าง จิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งเป็นหนังสือสองเล่มสำคัญที่มีส่วนผลักดันให้ศิลปินรุ่นใหม่ในช่วงเวลานั้นสนใจแนวทงการแสดงออกเชิงสุนทรียะที่มีท่าทีในการรับผิดชอบต่อสังคมและการเมือง
ศิลปะเพื่อชีวิตมีเติบโตขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงความเคลื่อนไหวทางการเมืองในเหตุการณ์
14 ตุลาคม 2516
และเป็นที่เฟื่องฟูมากขึ้นในทศวรรษต่อมา
แม้เหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 6
ตุลาคม 2519 จะเป็นฉนวนสำคัญที่ให้ปัญญาชนหัวก้าวหน้าเข้าป่าเพื่อต่อสู้ทางการเมืองกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็ตาม
แต่ศิลปะเพื่อชีวิตยังคงดำเนินต่อไปโดยประยุกต์เนื้อหาของผลงานไปวิจารณ์ไปที่โครงสร้างทางสังคมและการคอรัปชั่นมากกกว่าจะวิพากษ์ทางการเมืองและปัญหาชนชั้นตามแบบลัทธิมาร์กที่นิยมมาในยุคก่อนเกิดเหตุการณ์เมื่อวันที่
6 ตุลาคม 2519
ผลงานศิลปะเพื่อชีวิตในวงการทัศนศิลป์ไทยมิได้ยึดติดในรูปแบบของการแสดงออก
แต่เน้นไปที่การวิพากษ์วิจารณ์สังคมในแง่มุมต่างๆ
และสะท้อนเรื่องราวของการปฏิวัติโดยประชาชนโดยมีเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป้นอุดมคติขิงความสำเร็จ
ซึ่งผลงานศิลปะเพื่อชีวิตนี้คล้ายกับผลงานศิลปะสมัยใหม่ตะวันตกอยู่หลายแนวทาง เช่น
Realism, Surrealism และ Social Realism
ศิลปะเหนือจริงในบริบทของสภาวะสมัยใหม่ในงานทัศนศิลป์ไทย หมายถึง
ผลงานทัศนศิลป์ที่สร้างขึ้นโดยมีรูปแบบตามจินตนาการของศิลปิน คล้ายกับการคลี่คลายรูปลักษณ์และการแสดงออกของผลงานศิลปะ
Surrealism ในตะวันตก ซึ่งศิลปินไทยมักนำเอาบริบทของสังคมและความเป็นไทยมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์
ศิลปะเหนือจริงในทัศนศิลป์ไทยมีความแตกต่างจากศิลปะแบบ Surrealism ของตะวันตกอยู่ไม่น้อย เพราะศิลปะแบบ Surrealism มีเนื้อหาของการต่อต้านสงคราม การนำหลักจิตวิเคราะห์มาใช้ในกระบวนความคิดในการสร้างสรรค์
หรือการใช้จิตอันฉับพลันในการก่อร่างสร้างรูปลักษณ์ของภาพ (Automatic
Drawing) ในขณะที่ศิลปะเหนือจริงในทัศนศิลป์ไทยเป็นการจัดการรูปลักษณ์ของงานศิลปะเพื่อแสดงถึงความแปลกประหลาดและการประกอบสร้างของสัญญะที่มากกว่าหนึ่งตัวและนำไปสู่เนื้อหาสาระที่มีความหมายเป็นอื่นมากกว่าความหมายตรงจากสิ่งที่ปรากฏ
หรืออาจจะกล่าวได้ว่าเป็นผลงานที่สร้างขึ้นด้วยการคลี่คลายผสานกับจินตนาการส่วนตัวเพื่อให้เกิดภาพลักษณ์หรือความหมายที่เกินกว่ารูปสัญญะที่ปรากฏ
เป็นผลงานที่สื่อความหมายแฝงที่อยู่ภายใต้ภาพของความผิดปรกติ
ลักษณะศิลปะเหนือจริงในทัศนศิลป์ไทยมีรูปแบบและเทคนิคที่หลากหลาย
และศิลปินมีอิสรภาพในการสร้างสรรค์และนำเสนอ
โดยศิลปินหลายคนมักนำเอาบริบทของความเป็นไทยและเนื้อหาทางศาสนามาผสมผสานกับเนื้อหาของสังคมร่วมสมัยมาใช้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์
ศิลปะไทยสมัยใหม่ในบริบทของสภาวะสมัยใหม่ในงานทัศนศิลป์ไทย หมายถึง
ผลงานทัศนศิลป์ที่สร้างขึ้นโดยนำรูปแบบหรือเทคนิคหรือเนื้อหาที่เป็นแบบไทยตามประเพณีนิยมหรือลักษณะของสังคมร่วมสมัยมาพัฒนาสู่รูปลักษณ์ศิลปะไทยในรูปแบบที่ต่างจากแบบประเพณีเดิม
ศิลปินใช้ทัศนคติส่วนตัวไปใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ
โดยลักษณะส่วนใหญ่จะมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตไทย ปรัชญาตะวันออก
สถาบันหลักของชาติ และคติทางศาสนา
ทั้งนี้แม้งานศิลปะแบบไทยจะมีข้อจำกัดในการแสดงออกเชิงสุนทรียะที่ตายตัวและมีแบบแผนอย่างเด่นชัดมาเป้นระยะเวลานานก็ตาม
หากแต่ศิลปินในยุคสสมัยปัจจุบันได้นำความรู้ทั้งในเชิงทฤษฎีและปฏิบัติจากศิลปะตะวันตกมาผสานเข้ากับเนื้อหาของแรงบันดาลใจเพื่อให้เข้าไปอยุ่ในชุดวามคิดที่เป็นแบบร่วมสมัย
จากนั้นจึงนำมาสังเคราะห์จนเกิดเป็นผลงานศิลปะที่มีแนวทางโดดเด่นเป็นอย่างมากในปัจจุบัน
ศิลปินในปัจจุบันที่สร้างสรรค์ผลงานในแนวศิลปะไทยสมัยใหม่มีวิถีการสร้างสรรค์และการแสดงออกที่หลากหลายมากขึ้น
ทั้งนี้เนื่องด้วยศิลปะแบบประเพณีเดิมมีขึ้นภายใต้ร่มเงาของการรับใช้ศาสนาและชนชั้นสูง
เพราะฉะนั้นผลงานจึงปรากฏอยู่ในเขตของวัดและวังเท่านั้น หากแต่สภาวะของความเป็นสมัยใหม่ที่กรอบความคิดทางสังคมและการเมืองการปกครองที่เปลี่ยนไป
ทำให้ศิลปินไทยที่สร้างสรรค์ผลงานในแนวนี้สร้างสรรค์ผลงานเพื่อสื่อสารกับสาธารณชนในบริบทของความเป็นศิลปะแบบปัจเจกมากขึ้น
ผลงานที่ปรากฏจึงมีความหลากหลายมากขึ้นกว่าเดิมมาก โดยมีการแสดงออกด้วยรูปแบบต่างๆ
คล้ายศิลปะตะวันตก เช่น ลักษณะของแสง-เงา
หลักทัศนียวิทยา สีในงานจิตรกรรม รูปร่างรูปทรง การใช้สัญลักษณ์
และรวมไปถึงการใช้สื่อและวัสดุที่หลากหลายมาประกอบเข้าเป็นผลงานมากขึ้น
ศิลปะเฉลิมพระเกียรติในบริบทของสภาวะสมัยใหม่ในงานทัศนศิลป์ไทย หมายถึง
ผลงานทัศนศิลป์ที่สร้างขึ้นโดยมีเนื้อหาในการเฉลิมพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยในด้านของพระบารมีและพระมหากรุณาธิคุณด้านต่างๆ
ของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งรูปแบบผลงานมักจะอยู่ในรูปแบบเหมือนจริง
ศิลปะไทยสมัยใหม่ และแนวสัญลักษณ์นิยม
โดยผลงานจะต้องสื่อถึงเนื้อหาที่ดีเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย
ศิลปะเฉลิมพระเกียรติมีเนื้อหาสำหรับสื่อความหมายที่ชัดเจน
กล่าวคือ เป็นเนื้อหาที่ดี มีทัศนคติที่ดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
โดยรูปแบบของผลงานมีความหลากหลายแนวทางเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรูปแบบการแสดงออกในทางศิลปะตามแต่ความชำนาญของศิลปินแต่ละคน
แต่ลักษณะโดยส่วนใหญ่แล้ว ผลงานประเภทนี้มักมีรูปแบบคล้ายศิลปะ Realism, Social Realism และ Symbolism
ศิลปะแนววิพากษ์สะท้อนสังคมร่วมสมัยในบริบทของสภาวะสมัยใหม่ในงานทัศนศิลป์ไทย
หมายถึง ผลงานทัศนศิลป์ที่สร้างขึ้นโดยมีเนื้อหาศิลปะที่สะท้อนและหรือวิพากษ์วิจารณ์สังคมร่วมสมัย
โดยเนื้อหาอาจจะนำเสนอในด้านบวกหรือด้านลบของศิลปินที่มีต่อสภาพสังคมร่วมสมัยอย่างไรก็ได้
ลักษณะเด่นของศิลปะแนววิพากษ์สะท้อนสังคมร่วมสมัย คือ
ศิลปินมีโอกาสในการแสดงออกได้อย่างหลากหลายและอิสระ
ศิลปินนำแรงบันดาลใจที่เกิดจากการสัมผัสแง่มุมต่างๆ
ในชีวิตประจำวันหรือข้อมูลแบบทุติยภูมิจากสื่อต่างๆ
มาวิเคราะห์และสังเคราะห์ออกมาเป็นผลงานศิลปะที่มีรูปแบบที่หลากหลายไม่กำหนดแนวทาง
ผลงานในแนวทางแบบนี้ถือว่ามีความโดดเด่นเป็นอย่างมากในปัจจุบัน
เพราะศิลปะสามารถที่จะแสดงออกทัศนคติของตนเองออกมาเป็นผลงานศิลปะได้อย่างไม่มีข้อกำหนด
ศิลปินสามารถแสดงออกอย่างมีนัยยะหรือตรงไปตรงมาได้อย่างอิสระ
โดยที่สาธารณชนผู้ดูสามารถนำสาระของผลงานศิลปะไปประยุกต์สู่กระบวนคิดต่างๆ ได้
ศิลปะแนววิพากษ์สะท้อนสังคมร่วมสมัยนี้
มีรูปแบบศิลปะที่คล้ายกับหลากหลายแนวทางการสร้างสรรค์ในแบบศิลปะสมัยใหม่ในตะวันตก
เช่น Realism, Post Impressionism, Expressionism, Pop Art, Performance
Art, Conceptual เป็นต้น
ศิลปะสื่อผสมและอินสตอลเลชั่นในบริบทของสภาวะสมัยใหม่ในงานทัศนศิลป์ไทย
หมายถึง ผลงานทัศนศิลป์ที่สร้างขึ้นโดยด้วยกระบวนวิธีและมีการแสดงออกทางศิลปะแบบ Mixed Media ที่มีการเน้นไปที่การจัดการของวัตถุที่แปรสภาพมาเป็นสื่อ
2 ชนิดเป็นต้นไป มาประกอบสร้างขึ้นจนเกิดเป็ผลงานขึ้น และ Installation
Art ที่เป็นผลงานศิลปะที่จัดการภายใต้บริบทของพื้นที่ทางศิลปะในรูปแบบที่หลากหลาย
ศิลปะสื่อผสมและอินสตอลเลชั่นในงานทัศนศิลป์ไทยมีแนวทางการจัดการเพื่อให้เกิดความเป็นศิลปะคล้ายกับงาน
Mixed Media และ Installation Art มาก ทั้งนี้เพราะแนวทางศิลปะทั้งสองแนวทางนั้นเป็นความเคลื่อนไหวในวงการศิลปะสากลนับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่
1980s จวบจนถึงปัจจุบัน
อันถือเป็นแนวทางการสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยที่โดดเด่นมากในระดับนานาชาติ
สำหรับในด้านของศิลปินไทยที่สร้างสรรค์ผลงานในแนวทางศิลปะสื่อผสมและอินสตอลเลชั่นนั้น
มีรูปแบบการแสดงออกที่หลากหลายมาก ศิลปินนำเอาบริบทของความเป้นไทยในด้านต่างๆ อาทิ
วัฒนธรรม การเมือง สังคม ศาสนา เป็นต้น
มาเป็นแรงบันดาลใจหรือเป็นแนวคิดเพื่อนำไปสู่การแสดงออกทางศิลปะในรูปแบบดังกล่าว
ซึ่งไม่เพียงแต่ศิลปินไทยเองที่ได้ทดลองแนวทางการแสดงออกในเชิงสุนทียะเท่านั้น
หากแต่สาธารณชนในฐานะผู้ดูงานศิลปะเองก็ได้สัมผัสผลงานศิลปะในรูปแบบที่แตกต่างจากเดิมอีกด้วย
ศิลปะสื่อใหม่ในบริบทของสภาวะสมัยใหม่ในงานทัศนศิลป์ไทย หมายถึง
ผลงานทัศนศิลป์ที่สร้างขึ้นโดยด้วยกระบวนวิธีและนำเสนอผลงานศิลปะที่หลากหลาย
ซึ่งในที่นี้อาจจะไม่ได้จำกัดอยู่ในบริบทของงานศิลปะแบบ New Media Art แบบตะวันตกเท่านั้น หากแต่รวมไปถึงการสร้างสรรค์งานศิลปะที่หลากหลายมากกว่านั้น
อาจจะนับไปถึงงานศิลปะแบบ conceptual Art ด้วย
เพราะฉะนั้นผลงานในแบบศิลปะสื่อใหม่ในที่นี้จึงถือว่าไม่มีรูปแบบการแสดงออกทางศิลปะที่ตายตัว
ศิลปินมีอิสรภาพในการนำเสนออย่างที่สุด ศิลปินมีวัตถุประสงค์สำคัญในการมุ่งเน้นไปที่กระบวนคิดรวบยอดเพื่อนนำไปสร้างสรรค์ศิลปะ
ลักษณะของผลงานศิลปะที่ปรากฏจึงมีความแตกต่างหลากหลายคละเคล้ากันไปตามการแสดงออกเชิงบุคคลของศิลปิน
และศิลปินเองก็มีกลวิธีการนำเสนอที่อาจจะทำให้ผู้ดูเองเกิดความฉงนสงสัย
อาจนำไปสู่การตั้งคำถามในประเด็นต่างๆ ในสังคมหรือวงการศิลปะ
ศิลปะในแนวทางดังกล่าวนี้เป็นการหลอมรวมสื่อและวัสดุและแนวคิดต่างๆ
เพื่อนำไปสู่เป้าหมายของการสื่อสารความหมายต่อสาธารณชนในรูปแบบที่แปลกกว่างานจิตรกรรมหรือประติมากรรมแบบที่รู้จักกันแบบเดิมๆ
ซึ่งผลงานที่ปรากฏมีลักษณะโดยรวมที่คล้ายกับงานศิลปะแบบ Combine, Mixed Media, Land Art &
Environmental Art, Installation Art, Video Art, New Media Art และ
Conceptual Art เป็นต้น
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า
ผู้เขียนได้ทำการแบ่งประเภทผลงานทัศนศิลป์ไทยสมัยใหม่ขึ้นมาด้วยข้อสังเกตส่วนตัวเพื่อนำไปใช้ในการวิเคราะห์วิจารณ์และทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้น
และที่สำคัญเพื่อให้ผู้อ่านหรือแม้แต่ผู้เขียนเองได้ทบทวนสาระสำคัญโดยสังเขปเพื่อที่จะซาบซึ้งไปถึงคุณค่าของผลงาน
“ทัศนศิลป์ไทยสมัยใหม่” หรืออาจจะเรียนกว่า “ศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย”
หรืออาจจะเรียกว่า “ศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย” ก็สุดแท้แต่ผู้ใดจะนิยาม
โดยผู้เขียนได้ตั้งข้อสัณนิษฐานว่า
วิวัฒนาการงานทัศนศิลป์ไทยสมัยใหม่นั้น มีปัจจัยสำคัญอันเนื่องจากอิทธิพลทางศิลปะตะวันตกแบบ
Modern Art ที่เป็นกระแสศิลปะอันรุนแรงในศตวรรษที่
20 แทรกซึมเข้ามาผ่านระบบการศึกษาในสถาบันศิลปะของไทยภายใต้ร่วมเงาของโลกาภิวัฒน์อันเป็นการย่อโลกที่กว้างใหญ่ในอดีตให้เหลือเพียงการสื่อสารที่เข้าถึงทุกปัจเจกชน
เค้าโครงอันสำคัญนี้เองเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้งานทัศนศิลป์ไทยสมัยใหม่ไปสู่กระแสของนานาชาติได้อย่างมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจและน่าศึกษาในแง่มุมที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น