ความเรียงประกอบการสอนรายวิชาสัมมนาประเด็นปัจจุบันด้านสื่อดิจิทัล ภาควิชาสื่อดิจิทัล
คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม
โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ (อาจารย์ประจำภาควิชาสื่อดิจิทัล
คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม)
https://www.facebook.com/suriya.chayahttps://www.facebook.com/SuriyaCritic/
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (WW2)
เป็นยุคสมัยที่คลี่คลายจากการปะทะขนาดใหญ่และการล้างเผ่าพันธุ์ด้วยกำลังอาวุธ
หากแต่ก็ยังมีความขมึงตึงกับสถานการณ์ของขั้วอำนาจทางการเมืองระหว่างประเทศแบบซ้าย-ขวา (ลัทธิเสรีนิยม-ลัทธิสังคมนิยม)
ที่แพร่กระจายไปทั่วโลกในนามของปรากฏการณ์สงครามเย็น (Cold War) อันเป็นสถานะความตึงเครียดทางการเมืองและการทหารหลังสงครามโลกครั้งที่สองระหว่างประเทศในกลุ่มตะวันตก
(สหรัฐอเมริกา พันธมิตรนาโต้ ฯลฯ) และประเทศในกลุ่มตะวันออก
(สหภาพโซเวียตและพันธมิตรในสนธิสัญญาวอร์ซอ)[1]
สงครามเย็นทำให้ประเทศขั้วมหาอำนาจของโลกเร่งพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อผลิตอาวุธและภาคอุตสาหกรรมเพื่อแข่งขันจะเป็นผู้นำของโลกในยุคสมัยใหม่
ระบบเทคโนโลยีจักรกลอัจฉริยะถูกทำให้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับพัฒนามนุษย์ทั้งอาวุธสงคราม
ภาคอุตสาหกรรม หรือแม้แต่มิติของการสื่อสารมากขึ้นกว่าอดีต
การก้าวเข้าสู่ปีค.ศ.2000 พร้อมกับการแก้ไขระบบที่เกิดจากความหวาดกลัวในปัญหาวายทูเค
(Y2K problem[2]) ที่อาจจะเกิดขึ้นกับคอมพิวเตอร์ทั้งโลก และนำไปสู่การก้าวข้ามข้อจำกัดของเทคโนโลยีการสื่อสารแบบดิจิทัลในโลกยุคใหม่
สื่อมวลชน (mass media)
ที่มีมาก่อนระบบอินเตอร์เน็ตเริ่มปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้มีการสื่อสารที่รวดเร็วและแม่นยำมากยิ่งขึ้นโดยมีเป้าหมายในการก้าวไปสู่โลกาภิวัฒน์
(globalization) ที่แท้จริง โลกทั้งโลกเริ่มตั้งคำถามและละทิ้งความเชื่อแบบตะวันตกเป็นศูนย์รวมขององค์ความรู้และวิทยาการของสรรพสิ่ง
แต่โลกของข้อมูลข่าวสารสากลเริ่มเปิดพื้นที่ๆ มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมธรรมอันเป็นสภาพความเป็นจริงของโลกที่มากขึ้น
การสื่อสารของโลกถูกย่อลงผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารที่พัฒนาไปไกลกว่ายุคก่อนหน้า
โลกของการสื่อสารหลังปีค.ศ.2000 จึงไร้ซึ่งพรมแดนอย่างเห็นได้ชัด ความรู้ที่อยู่เฉพาะสถาบันการศึกษา
หอสมุด สิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ หรือแม้แต่ภาพยนตร์ เริ่มถูกเผยแพร่ในโลกไซเบอร์
(Cyber) ผ่านเทคโนโลยีเครือข่ายสากลมากขึ้นเรื่อยๆ ความฝันของมนุษยชาติที่ต้องการพัฒนาเทคโนโลยีสมองกลอัจฉริยะที่อยู่แต่ในนวนิยายวิทยาศาสตร์
(Science Fiction) ยุคก่อนๆ
กำลังก่อร่างสร้างตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจนเป็นความจริงมากขึ้นๆ
โลกของภาพ
นับตั้งแต่ศตวรรษที่
20 เป็นต้นมา “ภาพ” (Image) มีบทบาทที่สำคัญในมิติของการสื่อสาร
โดยเฉพาะการนำภาพมาจัดการเพื่อใช้เป็นสื่อ (Media) และสาร
(Message) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อันเป็นโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง
(Propaganda) ที่ทรงพลังอย่างที่สุดจนเกิดเป็นลัทธิชาตินิยมสุดขั้ว
(Nationalism) ซึ่งหลังจากนั้นโลกจึงตระหนักถึงความสำคัญของการสื่อสารด้วยภาพที่มากขึ้น
ไม่ว่าจะในส่วนของภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว หรือภาพยนตร์ก็ตาม
แม้ว่าโลกของตัวอักษรจะเป็นของการถอดรหัสความหมายจากสัญลักษณ์ที่มีข้อตกลงร่วมกันของผู้คนในสังคม
แต่โลกของตัวอักษรกลับมีประสิทธิภาพมากในการอรรถาธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ
ได้อย่างละเอียด
การรับสารที่เป็นตัวอักษรช่วยให้ผู้รับสารมีความเข้าใจในบริบทของข้อความมากที่สุดอย่างหนึ่ง
แต่ถึงกระนั้น
โลกของภาพก็มีส่วนสำคัญมากที่จะดำเนินควบคู่ไปกับการอธิบายความของตัวอักษร
ภาพไม่เพียงสื่อความหมายควบคู่กำกับกันและกันกับตัวอักษรหรือแม้แต่ข้อความในรูปแบบของเสียงเท่านั้น
แต่ภาพก็ยังสามารถสื่อสารได้ดัวยตัวของมันเองผ่านสัญญะ (Sign) ที่เรียงร้อยกันจนเกิดเป็นชุดความหมายขึ้น
ในขณะที่โลกของตัวอักษรเป็นกฎเกณฑ์ที่เกิดจากข้อตกลงเพื่อทำความเข้าใจในความหมายของมันเอง
แต่ตัวภาพกลับมีความเป็นสากลมากกว่าที่จะทำความเข้าใจในชั้นต้น
แม้ในระดับของความหมายแฝง (Connotation) แล้ว การอ่านตัวภาพจะขึ้นอยู่กับบริบทของวัฒนธรรมก็ตาม
แต่ตัวภาพก็ช่วยให้ผู้รับสารได้จินตนาการถึงสาระที่ผู้ส่งสารต้องการจะสื่อถึง
และเมื่อการก้าวมาถึงของภาพเคลื่อนไหวในรูปแบบที่แตกต่างกันไปเกิดขึ้น
ภาพที่เคลื่อนไหวนั้นก็ย่อมส่งเสริมให้เกิดการสื่อความหมายได้กระจ่างชัดมากกว่าเดิม
ผู้รับสารไม่เพียงอาศัยจินตนาการอย่างเดียวอย่างการอ่านตัวอักษรและภาพนิ่งเท่านั้น
หากแต่ตัวภาพเคลื่อนไหวเองจะสามารถอธิบายเนื้อหาของสารได้อย่างทรงพลังอย่างที่สุด
ผู้รับสารจะรู้สึกเสมือนอยู่ ณ สถานการณ์ที่เป็นจริงมากกว่าต้องใช้จินตนาการแต่เพียงอย่างเดียว
โลกของตัวอักษรเป็นโลกที่อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์การสื่อสารที่ตายตัวและมีแบบแผนที่สุด
การสร้างชุดคำใหม่จึงอาศัยความเปลี่ยนแปลงของบริบททางสังคม
ในขณะที่โลกของภาพนิ่งทั้งในส่วนของภาพวาดและภาพถ่ายแม้จะมีข้อจำกัดอยู่ในด้านของการอธิบายความหมาย
หากแต่ก็ให้อิสระและพื้นที่สำหรับจินตนาการสำหรับผู้จ้องมอง ส่วนภาพเคลื่อนไหวทั้งในรูปแบบของการ์ตูน
โทรทัศน์ หรือภาพยนตร์เองก็มีการจำกัดการสื่อสารด้วยชุดของช่วงเวลาในการนำเสนอ
ผู้จ้องมองหรือผู้เฝ้าดูจะคล้อยตามสิ่งที่ปรากฏบนจอภาพในห้วงยามที่กำลังฉายภาพ
ผู้รับสารไม่อาจจะจินตนาการแทรกลงไปในการรับรู้ ณ ชั่วขณะจิตนั้นได้
เพราะการรับรู้ของจิตนั้นสามารถรับรู้ความรู้สึกได้เพียงอาการเดียวเท่านั้น
เพราะฉะนั้นจินตนาการหรือความคิดที่มีต่อตัวสารผ่านช่องทางดังกล่าวจะปรากฏขึ้นในมโนสำนึกเมื่อช่วงเวลาของการฉายภาพได้สำเร็จลุล่วงไปแล้ว
ในทางเดียวกันนี้
หมายถึงผู้รับสารเองรับรู้ความหมายผ่านกฎเกณฑ์ชุดใดชุดหนึ่งที่ปรากฏบนจอภาพเพื่อกำกับการรับรู้เนื้อหานั้นๆ
มากกว่าจะเกิดมโนภาพขึ้นพร้อมกับการรับสารเฉกเช่นเดียวกับการอ่านข้อความผ่านตัวอักษร
วิถีของการอ่านภาพบนจอโทรทัศน์และภาพยนตร์นั้นมีความจำเป็นอย่างมากสำหรับการใช้เวลาที่ตายตัว
ทั้งนี้จังหวะที่เกิดจากการลำดับภาพเคลื่อนไหวที่ปรากฏถูกจัดสรรจจากผู้สร้างโดยอยู่ภายใต้ขอบเขตในเรื่องของเวลาที่กำหนด
การสื่อสารกับผู้จ้องมองต้องมีช่วงระยะของเวลาและระยะห่างในการจ้องมองอยู่มาก ผู้จ้องมองจึงต้องใช้สมาธิอย่างมากไม่น้อยกว่าการอ่านตัวอักษร
แต่ภาพเคลื่อนไหวล้วนให้ผู้ดูได้สัมผัสความรู้สึกที่เป็นจริงที่รับรู้จากการมองผ่านสายตาและส่งต่อภาพนั้นไปถอดความหมายในสมองจนแปลไปสู่กระบวนการทำความเข้าใจเนื้อหาสาระที่เกิดขึ้นจากภาพนั้น
ภาพเคลื่อนไหวจึงเป็นทั้งสื่อและสารที่นำพาผู้รับสารไปถึงเป้าหมายของเนื้อหาสาระได้อย่างครบครัน
ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับชุดรหัสของตัวสารด้วยว่าสามารถที่จะทำความเข้าใจกับกลุ่มเป้าหมายมากน้อยแค่ไหน
โลกภายในจอสี่เหลี่ยม
การถือกำเนิดของเครื่องคอมพิวเตอร์ในยุคที่สิ่งพิมพ์เติบโตอย่างคงที่และสื่อโทรทัศน์กำลังเบ่งบานหลังยุคสมัยสงครามเย็น
โดยเฉพาะพัฒนาการของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในช่วง ค.ศ.1980-2000 เป็นระยะเวลาประมาณ 20 ปีที่เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทในการสื่อสารในระดับมวลชนมากขึ้น
แม้ในระยะเวลาดังกล่าวจะเป็นห้วงยามอินเตอร์เน็ตเกิดขึ้นได้ราวกว่าทศวรรษแล้วก็ตาม
(อินเทอร์เน็ตเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1969[3])
แต่ความมั่นคงของระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเริ่มแข็งแกร่งขึ้นมากกว่าในครั้งแรกที่มันถือกำเนิด
ถึงกระนั้นก็ตามความมีเสถียรภาพของระบบก็ยังคงไม่เทียบเท่ากับปัจจุบัน
การสื่อสารบนหน้าจอคอมพิวเตอร์เริ่มมีบทบาทที่ชัดเจนขึ้นหลังปีค.ศ.2000 โดยมีการใช้คอมพิวเตอร์ในระดับบุคคลมากกว่าก่อนหน้านั้นที่เป็นเพียงเครื่องสำหรับการทำงานของภาครัฐและเอกชนในด้านต่างๆ
คอมพิวเตอร์กลายเป็นเครื่องมือที่แต่ละคนนำไปใช้เพื่อการค้นหาข้อมูลและติดต่อสื่อสารผ่านเครือข่ายที่เชื่อมต่อกันทั่วโลกที่เรียกกันว่าเวิลด์ไวด์เว็บ
(WWW: World Wide Web) ที่มักเรียกย่อๆ กันว่า “เว็บ” ซึ่งก็คือรูปแบบหนึ่งของระบบการเชื่อมโยงเครือข่ายข่าวสาร
ใช้ในการค้นหาข้อมูลข่าวสารบนอินเตอร์เน็ตจากแหล่งข้อมูลหนึ่งไปยังอีกแหล่งข้อมูลที่อยู่ห่างไกลให้มีความง่ายต่อการใช้งานมากที่สุด
เวิลด์ไวด์เว็บจะแสดงผลอยู่ในรูปแบบของเอกสารที่เรียกว่าไฮเปอร์เท็กซ์ (Hyper
Text) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลชนิดหนึ่งที่ทำหน้าที่รวบรวมข่าวสารข้อมูลที่อยู่กระจัดกระจายในที่ต่าง
ๆ ทั่วโลกให้สามารถนำมาใช้งานได้เสมือนอยู่ในที่เดียวกัน โดยใช้เว็บเบราเซอร์ (web browser) ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ช่วยในการดูหรืออ่านข้อมูลเหล่านั้น
เว็บเบราวเซอร์ที่นิยมใช้ เช่น Internet Explorer ,Firefox ,Google chrome เป็นต้น[4]
เพราะฉะนั้นระบบอินเตอร์เน็ตมีส่วนสำคัญที่ทำให้ความรู้ที่แต่เดิมเป็นเสมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่บนหิ้งที่สูงส่ง
แต่ปัจจุบันความรู้นั้นสามารถค้นหาได้บนหน้าจอคอมพิวเตอร์
การสื่อสารผ่านโครงข่ายอินเตอร์เน็ตที่เดิมมีเพียงภาครัฐและองค์กรเอกชนเป็นผู้ใช้เท่านั้นกลายมาเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ใครๆ
ก็มีสิทธิ์ถือครองและใครๆ ก็สามารถใช้ประโยชน์ได้เพียงแค่จ่ายเงินซื้อเครื่องและคลื่นสัญญาณเท่านั้น
ไม่ต่างกับการซื้อหาและการใช้โทรศัพท์มือถือในห้วงทศวรรษ 2000 ที่มีค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ถูกลงเพื่อการแข่งขันทางการตลาด ซึ่งใครๆ
ก็มีสิทธิ์ที่จะถือครองและใช้ได้อย่างอิสระเพียงแค่มีเงินจ่ายในจำนวนหนึ่ง
ความนิยมในการถือสิทธิ์ครองเครื่องคอมพิวเตอร์พกพามาพร้อมกับวิถีชีวิตที่เทคโนโลยีการสื่อสารได้พัฒนาไปอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการมาถึงของยุคดิจิทัล
ผู้คนในสังคมโลกเริ่มใช้ระบบอินเตอร์เน็ตในการทำงานและการสื่อสารต่างๆ
มากขึ้นเห็นได้ชัดหลังปีค.ศ.2000 การรับ-ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิคหรือ
“อีเมล์” (e-mail) เป็นที่นิยมมากพร้อมกับการมาของโปรแกรมการสนทนาอัจฉริยะหรือ
“แช็ท” (Chat) “เว็บไซต์” (website) ต่างๆ
เริ่มเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อรองรับวิถีการสื่อสารบนโลกไซเบอร์ ผู้คนมากกมายเลือกที่จะรับข่าวสารที่อยู่บนหน้าจอมากขึ้นทวีคูณกว่าทศวรรษก่อนหน้า
การเชื่อมร้อยเนื้อหาที่อยู่บนฐานคิดของการโยงคำสำคัญในไปสู่การค้นหาข้อมูลแบบ
“ลิงค์” (Link)
ซึ่งเปลี่ยนแปลงวิถีการอ่านตัวอักษรแต่เดิมที่อ่านจากซ้ายไปขวาและบนลงล่างแล้วพลิกหน้ากระดาษไปสู่ระบบของปุ่ม
“คลิก” เพื่อนำไปสู่ข้อมูลบนหน้าเว็บ ขณะเดียวกันรายการทางโทรทัศน์เริ่มแบ่งปันข้อมูลลงเว็บไซต์และรวมไปถึงการลงข้อมูลของรายการโทรทัศน์แบบย้อนหลังเพื่อรองรับผู้ใช้งานระบบอินเตอร์เน็ตด้วย
ต่อมานับตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 2000 เป็นต้นมา ได้เกิดเฟซบุ๊ก
(Facebook)
ซึ่งคือโปรแกรมหนึ่งในเครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือ “โซเชียลเน็ตเวิร์ค” (Social
Network) อันเป็นการที่ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตคนหนึ่ง
เชื่อมโยงกับเพื่อนอีกนับสิบ รวมไปถึงเพื่อนของเพื่อนอีกนับร้อย
ผ่านผู้ให้บริการด้านโซเชียลเน็ตเวิร์คบนอินเตอร์เน็ต[5]
ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตแต่ละคนสามารถสร้างตัวตนขึ้นมาให้ปรากฏบนสังคมออนไลน์ได้มากกว่ามิติของโลกทางกายภาพ
ผู้ใช้สามารถที่จะใส่รูปถ่ายของตัวเองพร้อมกับตัวอักษรเพื่อบรรยายความหมาย
รวมไปถึงสามารถถาม-ตอบมีปฏิสัมพันธ์ผ่านโปรแกรมดังกล่าว เฟซบุ๊กยังสามารถที่จะจัดสรรกลุ่มของผู้ที่สนใจในเรื่องต่างๆ
ที่ใกล้เคียงกันให้เกิดเป็นกลุ่มสังคมย่อยได้ ขณะเดียวกันก็ยังมีโปรแกรมแช็ทที่สามารถส่งข้อความ
ใส่รูปภาพ และถ่ายภาพวิดีโอโต้ตอบแบบปฏิสัมพันธ์ได้อีกด้วย
นอกจากโซเชียลเน็ตเวิร์คอย่างเฟซบุ๊กแล้ว
ยังมีโปรแกรมอื่นๆ อีก เช่น อินสตาแกรม (instagram), ทวิตเตอร์ (twitter), บล็อก (Blog), ยูทูบ (Youtube) เป็นต้น
ซึ่งแต่ละประเภทล้วนสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการใช้งานด้วยวิถีที่แตกต่างกันไปไม่ว่าจะเป็นข้อความ
ภาพนิ่งภาพเคลื่อนไหว เสียง หรือวิดีโอก็ตาม สิ่งเหล่านี้นับเป็นสื่อสังคมหรือโซเชียลมีเดีย
(Social Media) ที่มีบทบาทนำสังคมร่วมสมัยให้เดินไปในทิศทางใหม่ที่โลกดิจิทัลกับโลกของความเป็นจริงมีระยะห่างที่น้อยลงมากขึ้นเรื่อยๆ
และเดินทางอย่างคู่ขนานไปอย่างเห็นได้ชัด
สื่อสังคมจึงหมายถึงสังคมออนไลน์ที่มีผู้ใช้เป็นผู้สื่อสาร
หรือเขียนเล่า เนื้อหา เรื่องราว ประสบการณ์ บทความ รูปภาพ และวิดีโอ
ที่ผู้ใช้เขียนขึ้นเอง ทำขึ้นเอง หรือพบเจอจากสื่ออื่นๆ
แล้วนำมาแบ่งปันให้กับผู้อื่นที่อยู่ในเครือข่ายของตน
ผ่านทางเว็บไซต์โซเชียลเน็ตเวิร์คที่ให้บริการบนโลกออนไลน์ สื่อสังคมลดบทบาทของสื่อเดิมโดยผู้รับสารกับผู้ส่งสารเริ่มสลายความแตกต่างลงจนกลายเป็นผู้ทำการสื่อสารเหมือนกัน
ผู้ส่งกับผู้รับสารเป็นคนๆ เดียวกัน เปิดปฏิสัมพันธ์ในรูปแบบที่ทับซ้อนกันมากขึ้น
ผู้ทำการสื่อสารสามารถที่จะสร้างตัวตนขึ้นใหม่ภายใต้การผลิตสื่อดิจิทัล (Digital Media) ในรูปแบบที่แตกต่างกันไป เพื่อส่งเสริมความหมายของตัวเอง
ต่างกับการสื่อสารของโทรทัศน์ที่ผู้ดูสามารถมีปฏิสัมพันธ์ได้แค่ส่งข้อความเข้ารายการทางโทรทัศน์
การโทรศัพท์ หรือถ่ายทอดรายการสด
หากแต่เมื่อต้องการดูย้อนหลังกลับต้องอาศัยโครงข่ายอินเตอร์เน็ตสำหรับเชื่อมร้อยของข้อมูลออนไลน์ในเว็บไซต์
นับตั้งแต่ทศวรรษ 2010 เป็นต้นมาการกำเนิดขึ้นของโทรศัพท์อัจฉริยะ (Smartphone) และแท็บเล็ต (Tablet) ช่วยให้การสื่อสารของสื่อสังคมมีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว
วิถีชีวิตของผู้ทำการสื่อสารเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด
ผู้คนเริ่มจ้องมองโลกบนหน้าจอสี่เหลี่ยมของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ในรูปแบบต่างๆ
มากขึ้นจนอาจจะกล่าวได้ว่า โลกทั้งโลกนั้นได้ถูกย่อส่วนลงกลายเป็นพื้นที่เล็กๆ
สี่เหลี่ยมที่มีเครือข่ายยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์จะสามารถค้นพบ
วิถีการสื่อสารของหน้าจอคอมพิวเตอร์ของผู้ทำการสื่อสารทำให้การสื่อสารเป็นเรื่องของปัจเจกชนคนชั้นกลางมากขึ้น
เมื่อเปรียบเทียบกับการจ้องมองบนจอผ้าของภาพยนตร์แล้ว หน้าจอคอมพิวเตอร์ที่เล็กกว่าหลายเท่ากลับส่งอิทธิพลต่อสังคมที่มากมายเหลือคณานับ
นั่นย่อมพิสูจน์ว่าขนาดทางรูปธรรมของหน้าจอภายในกรอบสี่เหลี่ยมในโลกของภาพมิได้เป็นปัจจัยสำคัญ
หากแต่สำคัญที่โครงข่ายที่สามารถตอบโจทย์กับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปจากเดิมของมนุษย์ในทศวรรษที่
21 นั่นเอง
การแบ่งปัน
ลักษณะที่โดดเด่นของข้อมูลข่าวสารในโลกดิจิทัลคือมีค่าใช้จ่ายในการสื่อสารที่น้อยกว่าข่าวสารข้อมูลที่ปรากฏในสื่ออื่นๆ
ข้อมูลในโลกออนไลน์ถูกทำให้กลายเป็นโลกของเสรีภาพเนื่องจากมีรายจ่ายที่น้อยมาก
ผู้ทำการสื่อสารจึงใช้จ่ายเพียงแค่ค่าอุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่อระบบอินเตอร์เน็ตและรายจ่ายสัญญาณอินเตอร์เน็ตเท่านั้น
แต่ราคาของคลังข้อมูลอันมากมายกลับเป็นอิสระและราคาถูกกว่าสื่อสิงพิมพ์มาก
อีกทั้งข้อมูลบนโลกดิจิทัลเป็นข้อมูลที่ปราศจากกายภาพที่จับต้องได้
เฉพาะฉะนั้นข้อมูลแบบดิจิทัลจึงมีน้ำหนักการเคลื่อนย้ายที่แสนเบามากหากเทียบกับข้อมูลที่ปรากฏในสื่อสิ่งพิมพ์หรือสื่ออื่นๆ
ที่มีตัวตนทางกายภาพ
การแบ่งปันข้อมูลดิจิทัลผ่านโลกไซเบอร์เป็นการแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารที่ไม่สามารถที่จะกำหนดกลุ่มเป้าหมายได้
แต่ขณะเดียวกันผู้ส่งสารก็สามารถแบ่งปันให้อยู่ในรูปแบบที่ไม่เจาะจงผู้รับสาร
เป็นการแบ่งปันแบบสาธารณะ ซึ่งผู้ทำการสื่อสารที่เข้าไปในสื่อสังคมที่มีการแบ่งปันข้อมูลที่เป็นไฟล์ดิจิทัลก็สามารถที่จะรับและเสพข้อมูลดังกล่าวนั้นอย่างเสรี
เพราะการแบ่งปันผ่านช่องทางออนไลน์เป็นการลดบทบาทของรายจ่ายของผู้รับสารที่จะต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อข้อมูลนั้น
และที่สำคัญลักษณะการแบ่งปันนั้นเป็นการแบ่งปันแบบแพร่กระจายมากกว่าการส่งต่อแบบหนึ่งต่อหนึ่งแล้วจบสิ้น
แต่นำไปสู่การแพร่กระจายแบบปากต่อปากไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
การแบ่งปันจึงทำให้ข้อมูลต่างๆ
ในโลกออนไลน์กลายเป็นสิ่งที่มีชีวิตชีวาต่างจากข้อมูลที่อยู่ในรูปของกระดาษหรือแม้กระทั่งจอโทรทัศน์
เพราะข้อมูลที่ปรากฏบนจอสี่เหลี่ยมของคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ทก็ตาม ล้วนเกิดขึ้นท่ามกลางปรากฏการณ์ของปฏิสัมพันธ์ที่เกี่ยวโยงกับตัวตนบนโลกออนไลน์ของผู้ทำการสื่อสารทั่วโลก
ผู้ใช้เครื่องมือสื่อสารดิจิทัลสามารถใช้เครื่องมือนั้นในแบบหนึ่งต่อหนึ่งเสมือนกับเครื่องมือนั้นเป็นอวัยวะของแต่ละบุคคล
ทันทีที่ผู้ใช้เข้าระบบไปในโลกออนไลน์หรือระบบของสื่อสังคมออนไลน์การรับสารที่มีอย่างมากมายไม่จบสิ้นก็จะเกิดขึ้นตามมา
ซึ่งการใช้งานในโลกแห่งกายภาพที่แต่ละบุคคลอยู่เพียงลำพังมิอาจจะทำลายสัมพันธภาพที่ปรากฏผ่านชุดรหัสที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปบนหน้าจอคอมพิวเตอร์
สัมพันธภาพระหว่างผู้ทำการสื่อสารและข่าวสารบนโลกไซเบอร์อาจจะไม่แนบแน่นเท่ากับปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ผ่านตัวแทนที่ถูกสร้างตัวตนบนสื่อสังคมด้วยระบบของการแบ่งปัน
การแสดงความคิดเห็น และการสนทนาในรูปแบบต่างๆ
คำสำคัญ (keyword) หรือชุดคำสำคัญเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้การค้นหาในโลกออนไลน์เป็นไปอย่างง่ายดาย
ผู้ใช้เครื่องมือสื่อสารดิจิทัลเพียงใช้ปลายนิ้วสัมผัสหรือกดแป้นตัวอักษรจากนั้นข้อมูลต่างๆ
ในโลกออนไลน์ก็จะปรากฏขึ้น โดยผู้ค้นหาก็สามารถเลือกสรรข้อมูลต่างๆ
ที่ปรากฏให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการสืบค้น
การสืบค้นผ่านเครื่องมือสื่อสารที่เชื่อมโยงโลกออนไลน์นั้นไม่เพียงทำให้ข้อมูลถูกอ่านอยู่เสมอเท่านั้น
หากแต่เมื่อการสืบค้นนั้นนำไปสู่การแบ่งปันผ่านสื่อสังคมอีกชั้นหนึ่งก็ย่อมทำให้ข้อมูลนั้นๆ
มีชีวิตชีวามากขึ้น เพราะฉะนั้นโลกของการแบ่งปันข้อมูลดิจิทัลจึงเป็นโลกที่ไร้ซึ่งกาลเวลา
เพราะเมื่อใดที่เราค้นหาข้อมูลแม้เก่าเพียงใด หรือใหม่แค่ไหน
ก็สามารถที่จะปรากฏขึ้นบนหน้าจอโดยที่ไม่ชำรุดเหมือนสื่อบนกระดาษที่เมื่อผ่านกาลเวลา
กายภาพของวัตถุก็ย่อมเปลี่ยนแปลงไป
การแบ่งปันข้อมูลออนไลน์ถือเป็นหัวใจสำคัญของการสื่อสารในยุคดิจิทัล
ซึ่งข้อมูลในโลกออนไลน์ถือเป็นข้อมูลสุญญากาศที่มีพื้นที่อันไม่จำกัด
แม้ไร้น้ำหนักและปริมาตรทางกายภาพแต่กลับมีพลังอำนาจมากกว่าสื่ออื่นๆ
ก็เนื่องด้วยระบบของการแบ่งปันที่เป็นการกระจายตัวมากกว่าการส่งต่อเพียงหนึ่งต่อหนึ่งเท่านั้น
พลังอำนาจของการแบ่งปันมีเพียงพอที่จะเทียบได้เท่ากับหรือบางครั้งอาจจะมากกว่าเนื้อหาสาระของตัวสาร
เพราะตัวสื่อออนไลน์เองมีความเป็นอิสรเสรีมากกว่าจะถูกตัดทอนให้ถูกต้องตามระเบียบของรัฐ
เพราะฉะนั้นข้อมูลออนไลน์จึงเป็นตัวสารที่มีความสาธารณะเพราะมันถูกแบ่งปันไว้บนโลกออนไลน์อันเต็มไปด้วยเสรีภาพอย่างสุดขั้ว
เสรีภาพของโลกดิจิทัล
โลกดิจิทัลเป็นโลกของเสรีภาพอย่างสมบูรณ์
ผู้ทำการสื่อสารมีอิสระที่จะทำการสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์อย่างไม่มีข้อจำกัด
โดยใช้ทั้ง ถ้อยความ รูปภาพ เสียง ภาพเคลื่อนไหว และวิดีโอ หรือใช้อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นสื่อเพื่อจะแพร่กระจายให้เกิดปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในโลกไซเบอร์
ระบบการตรวจสอบของโลกดิจิทัลเป็นกฎเกณฑ์โดยอัตโนมัติและมีข้อตกลงทางด้านศีลธรรมอย่างกว้างๆ
เพราะฉะนั้นการตรวจสอบความผิดปกติของโลกไซเบอร์จึงกลายเป็นหน้าที่ของผู้ใช้งานเองที่จะเป็นผู้รายงานความผิดปกติวิสัยนั้นต่อชุมชนออนไลน์
ซึ่งแม้ว่าหลายกรณีของตัวสารที่ผิดกฎเกณฑ์ทางศีลธรรมหรือมารยาทในการสื่อสารออนไลน์
แต่กลับไม่ได้ผิดกฎหมายที่เป็นการกระทำความผิดของการสื่อสารในโลกไซเบอร์
หรือกฏหมายเองมิได้ครอบคลุมเรื่องนั้น
การตั้งกระทู้หรือการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อสังคมก็จะทำให้ประเด็นดังกล่าวเกิดมิติของการวิพากษ์วิจารณ์และมีความเป็นประชาธิปไตยในการสื่อสารเป็นอย่างมาก
หลายครั้งที่เสรีภาพของโลกออนไลน์นำไปสู่การสร้างสรรค์หรือมิติของการสื่อสารแบบใหม่จนทำให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง
หากแต่หลายครั้งเช่นกันที่เสรีภาพของสื่อออนไลน์นำไปสู่ปัญหาทางสังคมอันมากมายที่เกี่ยวโยงไปถึงอาชญากรรม
การฉ้อโกง ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และรวมไปถึงวัฒนธรรมของสังคมนั้นๆ ปรากฏการดังกล่าวนี้ย่อมพบเห็นได้ในสื่อสังคมปัจจุบันวันนี้และจะยิ่งเพิ่มทวีคูณมากขึ้น
ทั้งนี้เกิดจากผู้ใช้งานในระบบอินเตอร์เน็ตนับวันจะเพิ่มขึ้นโดยที่ระดับอายุผู้ใช้งานจะน้อยลงเรื่อยๆ
ซึ่งย่อมเชื่อมโยงไปถึงวุฒิภาวะทางความคิดของผู้ใช้งานที่จะทำการสื่อสารอย่างไร
และเข้าใจในเสรีภาพของสื่อดิจิทัลแค่ไหน หรือเข้าใจขอบเขตของการสื่อสารออนไลน์มากน้อยเพียงใด
เสรีภาพของโลกดิจิทัลจึงเรียงร้อยควบคู่ไปกับปัญหาของการกระทำผิดบนโลกออนไลน์ที่นับวันจะยิ่งมีพื้นที่อันอิสระมากขึ้นด้วย
การกระทำผิดบนโลกออนไลน์ย่อมโยงไปถึงวุฒิภาวะของผู้ใช้งานเป็นสำคัญ ซึ่งกรณีของผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตนั้น
โดยตัวกฎหมายเองก็มิได้จำกัดหรือมีกฎเกณฑ์ใดในการควบคุมหรือคัดเลือกผู้ทำการใช้งานว่ามีความเหมาะสมหรือไม่
หรือมีวัยวุฒิที่มีภาวะของการสื่อสารที่ดีหรือไม่ เพราะฉะนั้นการควบคุมการใช้งานของผู้ที่ยังไม่มีภาวะความเข้าในในการบวนการสื่อสารที่ถูกต้องย่อมต้องไปได้กับชี้แนะจากผู้ที่มีความรู้หรือมีวุฒิภาวะที่มากกว่า
หรือในอีกทางหนึ่งกลุ่มผู้ทำการสื่อสารในสังคมออนไลน์จะกลายเป็นผู้ตรวจสอบกันและกันเองซึ่งพบเห็นเป้นกรณีต่างๆ
ในปัจจุบันจำนวนไม่น้อย
สรุป
เมื่อมนุษย์ก้าวเข้าสู่ห้วงยุคปัจจุบัน
โลกของดิจิทัลแผ่อาณานิคมไปสู่ทุกอณูของการสื่อสารควบคู่ไปกับโลกทางกายภาพ
มนุษย์ไม่เพียงเป็นผู้สร้างกฎระบบการสื่อสารบนโลกดิจิทัลเท่านั้น หากแต่ก็ต้องเป็นผู้ปฏิบัติตามสิ่งตัวเองเป็นผู้สร้างเองอย่างเคร่งครัด
เพราะโลกดิจิทัลเป็นโลกของเสรีภาพที่จะสร้างตัวตนใหม่หรือแบ่งปันข้อมูลต่างและรวมไปถึงการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระที่สุด
กฎระเบียบของศีลธรรมและมารยาทในการใช้สื่อดิจิทัลที่ไม่ละเมิดผู้อื่นหรือกระทำผิดในรูปแบบต่างๆ
ย่อมเป็นสิ่งจำเป้นอย่างมาก และอาจจะต้องถูกควบคุมทั้งโดยระบบของตัวมันเองหรือโดยรัฐเพื่อการอยู่ร่วมกันของมนุษย์อย่างสันติ
โลกดิจิทัลทำให้วิถีของการจ้องมองเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
มนุษย์เปลี่ยนพฤติกรรมการรับรู้ข่าวสารเกือบจะโดยสิ้นเชิงภายใต้อาณานิคมของโลกดิจิทัล
ซึ่งผู้ทำการสื่อสารล้วนอาศัยเครื่องมือสื่อสารต่างๆ เพื่อเชื่อมโยงตัวตนทางกายภาพไปสู่ตัวตนในโลกไซเบอร์และสร้างอาณานิคมของตัวเองบนพื้นที่ว่างในดินแดนของโปรแกรมออนไลน์
มนุษย์ไม่เพียงสร้างความหมายผ่านชุดรหัสอันมากมายที่ล่องลอยอยู่อย่างอิสระทั้งข้อความ
ภาพ เสียง หรือภาพเคลื่อนไหว บนโลกดิจิทัลที่ไร้กาลเวลาและพื้นที่ทางภูมิกายา
ภูมิประเทศของโลกดิจิทัลเป็นดินแดนที่ไร้ซึ่งรูปกายที่จะสามารถบอกปริมาตรที่แน่นอน
มันเป็นโลกที่เสมือนไม่มีจุดสิ้นสุดไม่ต่างจากจักรวาลที่หาเส้นขอบฟ้าไม่ได้
มิติของโลกดิจิทัลเป็นมิติที่บิดเบี้ยวเคลื่อนไหวไปมามากกว่าบ่งบอกรูปร่างรูปทรงได้อย่างชัดเจน
โลกดิจิทัลเป็นโลกที่ไม่มีความแน่นอนเช่นเดียวกับโลกของความเป็นจริงที่สรรพสิ่งอยู่ภายใต้กฎของอนิจจัง
ทุกขัง และอนัตตา ข้อมูลข่าวสารหรือตัวตนที่ถูกสร้างซึ่งล่องลอยในโลกออนไลน์มันย่อมถูกสถิตอยู่ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์และในระบบอินเตอร์เน็ตที่ไร้กาลเวลา
สุดท้ายแล้วอาจจะไม่มีมนุษย์ผู้ใดจะสามารถกำหนดความเป็นโลกดิจิทัลได้อย่างสมบูรณ์เท่ากับการมีชีวิตและพัฒนาการของตัวมันเอง
หรืออาจจะกล่าวได้ว่า แม้มนุษย์จะเป็นผู้สร้างโลกดิจิทัลขึ้นมาก
แต่มนุษย์ก็ไม่สามารถที่จะจัดการปัญหาต่างๆ ของโลกดิจิทัลได้ทั้งหมด รวมไปถึงไม่สามารถทำลายมันได้มากพอกับการที่ไม่สามารถควบคุมมันได้อย่างเบ็ดเสร็จ
และแม้มนุษย์จะปลาสนาการไปแล้วก็ตาม แต่โลกดิจิทัลย่อมดำรงอยู่ได้อย่างไร้กาลเวลา
เพียงแค่มีเครื่องมือสื่อสารที่มีเทคโนโลยีดิจิทัลเท่านั้นก็เพียงพอ
[1] วิกิพีเดีย
สารานุกรมเสรี. (2559) สงครามเย็น. เข้าถึงจาก https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%A2%E0%B9%87%E0%B8%99 (วันที่ค้นหาข้อมูล 19 มกราคม 2559)
[2] วิกิพีเดีย
สารานุกรมเสรี. (2559) ปัญหาปี ค.ศ. 2000. เข้าถึงจากhttps://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%9B%E0%B8%B5_%E0%B8%84.%E0%B8%A8._2000
(วันที่ค้นหาข้อมูล 19 มกราคม 2559)
[3]
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. (2559) อินเทอร์เน็ต. เข้าถึงจากhttps://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%9B%E0%B8%B5_%E0%B8%84.%E0%B8%A8._2000
(วันที่ค้นหาข้อมูล 20 มกราคม 2559)
[4] MINDPHP. (2555) WWW คืออะไร
เวอลด์ วายด์ เว็บ คือ เน็ตเวิร์คที่มีการเชื่อมต่อกันไปทั่วโลก มักเรียกสั้นๆว่า
เว็บ. เข้าถึงจากhttp://www.mindphp.com/%E0%B8%84%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD/73-%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3/2024-www--%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3.html
(วันที่ค้นหาข้อมูล 20 มกราคม 2559)
[5] M.Phat. (2556) Social Network คืออะไร
ใช้งานอย่างไร.
เข้าถึงจาก http://www.microbrand.co/social-network-%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3-%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3/
(วันที่ค้นหาข้อมูล 21 มกราคม 2559)
ขอบคุณค่ะ
ตอบลบ