วันอาทิตย์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2558

กระบวนการสอนเชิงปฏิบัติการเพื่อสื่อความหมายภาพจิตรกรรมในหัวข้อ “วาดฝัน ฉันจะเป็น...” ภายใต้โครงการจิตอาสาพัฒนาเต่างอย

Workshops to teach the meaning of art in "Dreams I will be ..." under the Volunteer Development Tao-ngoy District.
(ตีพิมพ์ในวารสารนิเทศสยามปริทัศน์ ปีที่ 13 ฉบับที่ 15 ประจำปี 2557, หน้า 93-101)

สุริยะ ฉายะเจริญ[1]
Suriya Chayacharoen[2]
 
บทคัดย่อ

บทความนี้เป็นการศึกษากระบวนการสอนเชิงปฏิบัติการเพื่อสื่อความหมายภาพจิตรกรรมในหัวข้อ วาดฝัน ฉันจะเป็น...ภายใต้โครงการจิตอาสาพัฒนาเต่างอย ให้กับเยาวชนในชุมชนอำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป ที่ ๓ (เต่างอย) กิจกรรมนี้เป็นสอนเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรม โดยดำเนินการภายใต้แนวคิดการสร้างภาพแทนความหมายและการเล่าเรื่องแบบข้ามพ้นสื่อ และจากการการเก็บข้อมูลจากการปฏิบัติงาน แบบสอบถาม และวิเคราะห์จากผลสัมฤทธิ์ก็พบว่า กิจกรรมนี้สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนถ่ายทอดจินตนาการเกี่ยวกับอาชีพในอนาคตและมีจิตอาสาที่จะนำความรู้มาพัฒนาชุมชนของตัวเองออกมาในรูปของจิตรกรรมที่สื่อสารได้อย่างชัดเจน

คำสำคัญ : การสอนเชิงปฏิบัติการ ภาพแทนความหมาย การเล่าเรื่องแบบข้ามพ้นสื่อ

Abstract

This article explores the process of teaching workshops to meaning a painting titled "Dreams I will be ..." under the voluntary development to youth in the community Tao-ngoy District. Sakolnakorn which is home to the Third Royal Factory (Tao-ngoy). This activity is teaching workshops to create works of art. The implementation of the concept of visual representation and transmedia storytelling. And from storage, query and analyze the performance of achievement was found. This activity can inspire the young imagination about future career and volunteer to contribute to their own development in the form of painting to communicate clearly.

Keyword: Teaching workshops, representation, transmedia storytelling

ที่มาและความสำคัญ

โครงการจิตอาสาพัฒนาเต่างอยภายใต้แผนงานส่งเสริมการเรียนรู้ศาสตร์แห่งพระราชาได้จัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพผู้นำเยาวชนเต่างอย ครั้งที่ 3 ขึ้น จากความร่วมมือกันของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ บริษัทดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด คณาจารย์ภาควิชาสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม นิสิตคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร คุณปราชญ์ นิยมค้า นักออกแบบผลิตภัณฑ์ผ้าคราม คุณรติกร ตงศิริ เกษตรกรฝึกหัด คุณเพียงขวัญ คำหรุ่น ศิลปินอิสระ และนักเรียนที่ได้รับการคัดเลือกจากโรงเรียนในเขตพื้นที่อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร อันประกอบไปด้วยโรงเรียนเต่างอยพัฒนาศึกษา  โรงเรียนบ้านจันทร์เพ็ญ  โรงเรียนหนองบึงทวาย  และโรงเรียนนางอยโพนปลาโหล จำนวนทั้งสิ้น 39 คน ซึ่งกิจกรรมนี้จัดขึ้น โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป ที่ ๓ (เต่างอย) จ.สกลนคร[3] ระหว่างวันที่ 20-22 พฤศจิกายน 2557

โครงการจิตอาสาพัฒนาเต่างอยเกิดขึ้นเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนโดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่าง บ้าน (ชุมชน) วัด และโรงเรียน (ราชการ) บูรณาการสร้างสรรค์สังคมให้ร่มเย็น (โรงงานหลวงฯ ที่ ๓ (เต่างอย) 2557: ระบบออนไลน์) โดยมีโรงงานหลวงฯ ที่ ๓ (เต่างอย) เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ทั้งนี้กิจกรรมพัฒนาศักยภาพผู้นำเยาวชนเต่างอยเป็นหนึ่งกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่ออบรมเยาวชนในชุมชนเต่างอยให้มีความรู้และความเข้าใจในหลักการพัฒนาชุมชนตามแนวทางพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างความเป็นผู้นำ ความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนเอง รวมไปถึงสร้างความรักความสามัคคีให้กับเยาวชนด้วยรูปแบบกิจกรรม ค่ายเยาวชน

ซึ่งกิจกรรมที่จัดขึ้นครั้งนี้ถือเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ภายใต้กิจกรรมค่ายเยาวชนที่เน้นไปที่การสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนมีความคิดสร้างสรรค์และสร้างสำนึกจิตอาสาเพื่อนำมาพัฒนาชุมชนของตนเอง โดยให้หัวข้อในการร่วมทำกิจกรรมว่า วาดฝัน ฉันจะเป็น...

แนวคิดที่เกี่ยวข้อง

การสร้างสื่อสำหรับนำไปสอนวาดภาพเพื่อสื่อสารความหมายในหัวข้อ วาดฝัน ฉันจะเป็น...ให้กับเยาวชนฯ[4]นั้น จำเป็นอย่างยิ่งในการสร้างเนื้อหาที่สามารถสื่อสารได้ง่าย ทั้งนี้เนื่องด้วยปัจจัยของระดับการศึกษาที่ยังอยู่ในช่วงของมัธยมศึกษาประกอบกับประสบการณ์ของเยาวชนแต่ละคนที่อาจจะไม่สามารถเข้าใจในชุดรหัสที่ซับซ้อนเกินไปได้ เพราะฉะนั้น จึงต้องออกแบบสื่อที่นำเสนอด้วยภาพที่เข้าใจได้ง่ายด้วยการสร้างภาพแทนความหมายเพื่อสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในกรณีนี้จึงใช้แนวคิดในการสร้างภาพแทนความหมายในการผลิตสื่อ ซึ่ง ภาพแทน (Representation) คือ ผลผลิตความหมายของสิ่งที่คิด (concept) ในสมองของเราผ่านภาษา เป็นการเชื่อมโยงระหว่างความคิดและภาษา ซึ่งทำให้เราสามารถอ้างอิงถึงโลกวัตถุจริงๆ ผู้คน เหตุการณ์ หรือจินตนาการถึงโลกสมมุติ ผู้คน และเหตุการณ์สมมุติได้ ซึ่งแนวทางการศึกษาภาพแทนที่เชื่อว่าภาพแทน คือ การประกอบสร้าง” (constructionist approach) ความหมายผ่านภาษา เชื่อว่า ไม่มีสิ่งใดหรือแม้กระทั่งปัจเจกผู้ใช้ภาษาคนใดสามารถจะคงความหมายต่างๆ ในภาษาไว้ได้ สิ่งต่างๆ ไม่ได้มีความหมายใดๆ แต่เป็นเราที่สร้างความหมายขึ้นมา โดยการใช้ระบบภาพแทน ซึ่งได้แก่ ความเข้าใจ (concept) และสัญญะ (sign) ต่างๆ (เอกรัฐ เลาหทัยวาณิชย์ 2556: ระบบออนไลน์)

ขณะเดียวกันการสร้างสื่อตัวอย่างเพื่อใช้ในกิจกรรมนี้ เริ่มต้นจากการถ่ายภาพเยาวชนในชุมชนรอบโรงงานหลวงฯ ที่ ๓ (เต่างอย) จากนั้นก็นำภาพถ่ายมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างเป็นภาพจิตรกรรมขึ้น โดยสื่อสารความหมายถึงภาพของเยาวชนคนนั้นในอนาคต ซึ่งทั้งภาพถ่ายและภาพจิตรกรรมต่างก็สื่อความหมายภายใต้โครงเรื่องเล่า (Storytelling) เดียวกัน และเมื่อนำมาใช้ประกอบกับการบรรยายที่มุ่งนำเสนอให้เยาวชนฯ เกิดแรงบันดาลใจในวิชาชีพในอนาคตและรู้สึกสำนึกรักในชุมชนของตนเองก็จะยิ่งทำให้เนื้อหาของการสื่อสารสมบูรณ์ขึ้น วิธีการสื่อสารข้ามสื่อที่หลากหลายด้วยโครงเรื่องเดียวกันนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการนำเสนอเรื่องเล่าแบบข้ามพ้นสื่อ (Transmedia Storytelling) ซึ่ง เฮนรี่ เจนกินส์ (Henry Jenkins) ให้นิยามว่า “คือภาพแทนองค์ประกอบพื้นฐานเรื่องราวย่อยต่างๆ ที่ดูเหมือนจะกระจัดกระจาย แต่จริงๆ ได้ถูกบูรณาการเข้าไว้ด้วยกัน ผ่านช่องทางสื่อที่หลากหลาย โดยที่แต่ละเรื่องจะมีวัตถุประสงค์จำกัดเฉพาะอย่างของมันเอง เพื่อสร้างประสบการณ์ความบันเทิงให้กับผู้ชม ในทางอุดมคติแล้ว แต่ละสื่อจะทำหน้าที่นำพาสารและคลี่คลายพัฒนาเนื้อหาสาระเรื่องราวนั้นได้ด้วยตัวมันเอง” (ธาม เชื้อสถาปนศิริ 2557: ระบบออนไลน์) เป็น “การนำเสนอเรื่องเล่า (Story) ผ่านสื่อหลากหลายแพลตฟอร์ม (platform) โดยมิใช่เป็นเพียงแค่การดัดแปลงเรื่องเล่าข้ามสื่อ หากแต่ควรจะเป็นการเล่าหลากเรื่องในหลากหลายสื่อ โดยนำจุดแข็งที่ดีที่สุดของแต่ละสื่อมาใช้ ทั้งนี้ แต่ละเรื่องย่อยในแต่ละแพลตฟอร์มจะมีความเป็นอิสระต่อกัน ใช้วิธีการเล่าเรื่องที่แตกต่างกัน แต่สามารถนำมาประกอบขึ้นเป็นภาพใหญ่ของเรื่องเล่าได้” (มรรยาท อัครจันทโชติ 2557: 3)

เพราะฉะนั้นกระบวนการสอนเชิงปฏิบัติการวาดภาพจิตรกรรมในหัวข้อ วาดฝัน ฉันจะเป็น...จึงมีแนวคิดในเรื่องของการสื่อสารความหมายของสื่อที่หลากหลายภายใต้โครงสร้างของเรื่องเล่าที่เกี่ยวโยงกับอนาคตของชุมชน อ. เต่างอย ผ่านจินตนาการของเยาวชนฯ

กระบวนการสอนเชิงปฏิบัติการ

          กิจกรรมนี้เริ่มต้นด้วยการวางแผนงานเพื่อสร้างโครงเรื่องที่ต้องการจะเล่าผ่านสื่อที่หลากหลาย ซึ่งต้องสร้างกิจกรรมที่ช่วยสนับสนุนให้เยาวชนฯ เกิดแรงบันดาลใจในการค้นหาความหมายของชีวิตและภาคภูมิใจในวิถีชีวิตของตัวเองภายใต้บริบทของชุมชนที่ตัวเองอาศัยอยู่ผ่านการสอนเชิงปฏิบัติการด้วยการวาดภาพและจัดนิทรรศการ

          ขั้นตอนต่อมาคือการคัดเลือกภาพถ่ายเยาวชนในบริเวณชุมชนที่ใกล้กับโรงงานหลวงฯ ที่ ๓ (เต่างอย) ที่บันทึกโดยอาจารย์เวทิต ทองจันทร์ ภาควิชาสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ซึ่งเป็นผู้ที่ได้ลงพื้นที่สำรวจและบันทึกภาพวิถีชีวิตบริเวณชุมชนดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง จากนั้นจึงนำมาสร้างเป็นผลงานภาพจิตรกรรมขึ้นใหม่โดยอาจารย์สุริยะ ฉายะเจริญ ซึ่งภาพจิตรกรรมที่วาดขึ้นนี้มีต้นแบบเค้าโครงบุคคลจากภาพถ่าย ทั้งนี้ภาพจิตรกรรมที่วาดขึ้นใหม่เป็นการสร้างภาพสมมุติแทนความหมายถึงอาชีพในอนาคตของเยาวชนที่อยู่ในภาพถ่ายนั้น อีกทั้งในอนาคตพวกเขามีความเกี่ยวข้องกับชุมชนของพวกเขาอย่างไรบ้าง เมื่อนำภาพถ่ายและภาพจิตรกรรมมาประกอบกันจึงมีภาพตัวอย่างทั้งหมด 8 ชุด (ภาพที่ 1) ซึ่งนอกจากจะเป็นสื่อที่ใช้ประกอบการบรรยาย และการสอนเชิงปฏิบัติการแล้ว ยังนำไปจัดนิทรรศการร่วมกับผลงานของเยาวชนฯ ณ บริเวณอาคารสำนักงานโรงงานหลวงฯ ที่ ๓ (เต่างอย) อีกด้วย

ภาพที่ 1 ภาพถ่ายโดยอาจารย์เวทิต ทองจันทร์ และภาพจิตรกรรมโดยอาจารย์สุริยะ ฉายะเจริญ

          ในช่วงต้นของกิจกรรมมีการบรรยายเพื่อสร้างทัศนคติและสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชน ในประเด็น “จิตอาสา” และ “การสำนึกรักบ้านเกิด”  โดยคุณปราชญ์ นิยมค้า ซึ่งเป็นการบรรยายและยกตัวอย่างผลงานผ้าย้อมครามอันเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านไปประยุกต์สู่ผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย ในขณะที่ คุณวรติกร ตงศิริ ที่ผันตัวเองมาเป็นเกษตรกรฝึกหัดโดยทำการเกษตรตามหลักทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง หลังจากนั้นเป็นช่วงของการบรรยายแรงบันดาลใจในการถ่ายภาพเยาวชนในชุมชนรอบโรงงานหลวงฯ ที่ ๓ (เต่างอย) โดยอาจารย์เวทิต ทองจันทร์ ต่อด้วยการบรรยายแรงบันดาลใจในการวาดภาพโดยคุณเพียงขวัญ คำหรุ่น และบรรยายเกี่ยวกับภาพถ่ายและภาพจิตรกรรมที่นำมาเป็นตัวอย่างทั้งหมด 8 ชุด โดยอาจารย์สุริยะ ฉายะเจริญ

หลังจากนั้น กลุ่มนิสิตคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นกลุ่มอาสาสมัครในการเป็นพิธีกรของกิจกรรมได้ให้เยาวชนฯ เขียนเรียงความโดยสังเขปโดยมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับจินตนาการถึงอาชีพของตัวเองในอนาคต และอาชีพนั้นได้ทำประโยชน์ต่อชุมชนอย่างไรบ้าง ซึ่งเรียงความนี้ก็ถือเป็นต้นแบบของแนวความคิดที่กลุ่มเยาวชนฯ ต้องนำไปสร้างเป็นภาพจิตรกรรมที่สื่อความหมายตรงตามที่ต้องการนำเสนอ

ในขั้นตอนของการปฏิบัติการ (Workshop) ก็ให้เยาวชนฯ สร้างเป็นผลงานจิตรกรรมขึ้นในหัวข้อ “วาดฝัน ฉันจะเป็น...” ซึ่งเยาวชนฯ ก็มีความเข้าใจในหัวข้อดังกล่าวว่าต้องวาดภาพอะไรเพื่อสื่อสารสิ่งที่คิดให้เกิดเป็นภาพแทนความคิด เพราะฉะนั้น ภาพจิตรกรรมของเยาวชนฯ ที่เสร็จสมบูรณ์จึงเกิดขึ้นจากจากจินตนาการและทัศนคติของเยาวชนฯ แต่ละคนที่มีต่อวิชาชีพต่างๆ ตามประสบการณ์ที่แตกต่างกันไป


ภาพที่ 2 ภาพกิจกรรมการสอนเชิงปฏิบัติการเพื่อสื่อความหมายภาพจิตรกรรมในหัวข้อ วาดฝัน ฉันจะเป็น...

หลังจากเยาวชนฯ ได้สร้างสรรค์ภาพจิตรกรรมเสร็จแล้ว ก็นำภาพจิตรกรรมนั้นมาติดกับแผ่นกระดาษแข็งสีเทาที่ทำหน้าที่เป็นกรอบของภาพ ขณะเดียวกันก็นำกระดาษที่เขียนอธิบายแนวความคิดซึ่งได้จากการย่อเรียงความที่ได้เขียนก่อนหน้านี้มาติดควบคู่ไปด้วย อีกทั้งยังรวมไปถึงนำภาพถ่ายของเยาวชนฯ แต่ละคนมาติดในพื้นที่เดียวกันอีกด้วย ซึ่งก็จะช่วยให้ภาพผลงานของเยาวชนฯ สามารถที่จะสื่อความหมายได้อย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังช่วยให้ผู้ที่เข้ามาชมนิทรรศการที่จัดแสดงผลงานงานในครั้งนี้มีความเข้าใจในผลงานของเยาวชนฯ ได้อย่างดี

ผลสัมฤทธิ์ของการสอนเชิงปฏิบัติการ

          จากกระบวนการสอนเชิงปฏิบัติการเพื่อสื่อความหมายภาพจิตรกรรมในหัวข้อ วาดฝัน ฉันจะเป็น...ภายใต้โครงการจิตอาสาพัฒนาเต่างอย ถือเป็นการเล่าเรื่องข้ามสื่อภายใต้โครงเรื่องเดียวกัน โดยที่มีกระบวนการสร้างเรื่องเล่าด้วยภาพถ่ายไปสู่ภาพวาดและการบรรยาย จากนั้นเยาวชนฯ ซึ่งเป็นผู้รับสารก็กลายเป็นผู้ผลิตหรือผู้ส่งสารผ่านการเขียนเรียงความและการวาดภาพ สุดท้ายจึงนำไปสู่การจัดแสดงผลงานผ่านนิทรรศการอันประกอบไปด้วยสื่อที่แตกต่างกัน (ภาพถ่าย ภาพวาด และเรียงความ) แต่นำเสนอภายใต้บริบทของโครงเรื่องเดียวกัน และสามารถจะเขียนเป็นแผนผังได้ดังนี้


แผนผังที่ 1 การเรื่องเล่าแบบข้ามพ้นสื่อในการสอนเชิงปฏิบัติการเพื่อสื่อความหมายภาพวาด

ขณะเดียวกันมีการเก็บข้อมูลจากแบบสอบถามในเรื่องของกระบวนการสอนเชิงปฏิบัติการเพื่อสื่อความหมายภาพจิตรกรรมในหัวข้อ วาดฝัน ฉันจะเป็น... โดยมีคำถามดังนี้

1.       เยาวชนผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีความเห็นว่าภาพถ่ายและภาพจิตรกรรมที่นำมาตัวอย่างทั้ง 8 ชุด สามารถสื่อสารเข้าใจได้โดยง่ายหรือไม่

2.       เยาวชนผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีความเห็นว่า กิจกรรม วาดฝัน ฉันจะเป็น...ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนฯ ได้เกิดแรงบันดาลใจว่าในอนาคตอยากมีอาชีพอะไรที่จะช่วยพัฒนาชุมชนเต่างอยหรือไม่

3.       เยาวชนผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีความเห็นว่า กิจกรรม วาดฝัน ฉันจะเป็น...ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนฯ มีจิตอาสาและเกิดความภาคภูมิใจในชุมชนเต่างอยหรือไม่

จากแบบสอบถามดังกล่าวสามารถสรุปผลตามตารางที่ 1 ได้ดังนี้

ข้อ
คำถามจากแบบสอบถาม
จำนวนนักเรียน (คน)
คิดเป็น
ร้อยละ
1
เยาวชนผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีความเห็นว่าภาพถ่ายและภาพจิตรกรรมที่นำมาตัวอย่างทั้ง 8 ชุด สามารถสื่อสารเข้าใจได้โดยง่าย
34
87.18
2
เยาวชนผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีความเห็นว่า กิจกรรม วาดฝัน ฉันจะเป็น...ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนฯ ได้เกิดแรงบันดาลใจว่าในอนาคตอยากมีอาชีพอะไรที่จะช่วยพัฒนาชุมชนเต่างอย
38
97.44
3
เยาวชนผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีความเห็นว่า กิจกรรม วาดฝัน ฉันจะเป็น...ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนฯ มีจิตอาสาและเกิดความภาคภูมิใจในชุมชนเต่างอย
36
92.31
ตารางที่ 1 ผลสรุปจากแบบสอบถามในเรื่องของกระบวนการสอนเชิงปฏิบัติการเพื่อสื่อความหมายภาพจิตรกรรมในหัวข้อ วาดฝัน ฉันจะเป็น...

จากผลงานภาพจิตรกรรมของเยาวชนฯ สามารถสรุปได้ว่า เยาวชนฯ สามารถสื่อสารความคิดผ่านภาพจิตรกรรมที่สร้างขึ้นเอง ซึ่งการสื่อสารความหมายที่ตั้งอยู่บนแนวคิดการนำเสนอภาพแทนความนี้ใช้รหัส (code) ของเครื่องแต่งกายและสิ่งแวดล้อมในภาพเป็นสำคัญ เยาวชนฯ สามารถที่จะนำสัญญะ (sign) ต่างๆ มาประกอบเข้าจนเป็นชุดรหัสที่สามารถสื่อสารได้เข้าใจง่าย เช่น ครูใส่ชุดข้าราชการสีกากียืนสอนอยู่หน้าชั้นเรียน โดยที่มีเบื้องหลังเป็นกระดานดำ หรือลักษณะของแพทย์ที่ต้องใส่ชุดขาว และมีสัญลักษณ์กากบาทสีแดง (Red Cross) เป็นต้น

          ข้อมูลจากผลงานภาพวาดและเรียงความของเยาวชนผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถสรุปแรงบันดาลใจวิชาชีพในอนาคตของเยาวชนฯ ได้ตามตารางที่ 2 ดังนี้


แรงบันดาลใจวิชาชีพในอนาคต
ชาย (คน)
หญิง (คน)
ครู/ อาจารย์
0
17
แพทย์
1
6
วิศวกร
3
0
หัวหน้าพ่อครัว/ เชฟ (chef)
1
1
ทหาร
2
0
มัคคุเทศก์
0
2
นักกีฬา
1
0
พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน (Air Hostess)
0
1
นักร้องหมอลำ
1
0
นักแสดง/ ดารา
0
1
ตำรวจ
1
0
หัวหน้าฝ่ายการเกษตรโรงงานหลวงฯ (เต่างอย)
0
1
รวม
39
ตารางที่ 2 ผลสรุปแรงบันดาลใจวิชาชีพในอนาคตที่ได้จากข้อมูลในภาพวาด


ภาพที่ 3 ภาพผลงานจิตรกรรมของเยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการในหัวข้อ วาดฝัน ฉันจะเป็น...

เยาวชนฯ จำนวนมากเลือกที่จะจินตนาการอนาคตของตัวเองให้มีอาชีพครูและแพทย์ ซึ่งด้วยบริบทของพื้นที่ชุมชนในต่างจังหวัดประกอบกับประสบการณ์ส่วนตัวมีผลทำให้เยาวชนฯ มีทัศนคติต่ออาชีพดังกล่าวว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติ เป็นที่นับหน้าถือตาในชุมชน มีความมั่นคงในวิชาชีพสูง และสามารถที่นำไปสู่การพัฒนาชุมชนได้  ในขณะที่ภาพจิตรกรรมของเยาวชนฯ บางคนสื่อถึงบางอาชีพที่ไม่ปรากฏในพื้นที่ เช่น หัวหน้าพ่อครัวหรือเชฟ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน นักแสดง และทหาร ซึ่งนั่นย่อมหมายความว่า เยาวชนฯ กลุ่มนี้ได้รับรู้อาชีพดังกล่าวจากสื่ออื่นๆ ที่มากกว่าประสบการณ์ตรง เช่น หนังสือ นิตยสาร โทรทัศน์ ภาพยนตร์ สื่อออนไลน์ หรือสื่ออื่นๆ ซึ่งย่อมแสดงให้เห็นได้ว่า ถึงแม้ว่าเยาวชนฯ จะอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน แต่ก็สามารถการถ่ายทอดจิตนาการของตัวเองของมาเป็นภาพจิตรกรรมได้อย่างหลากหลาย ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์โดยตรงของเยาวชนฯ เองหรือจากการรับสื่อในช่องทางต่างๆ ตามแต่ละบุคคลจะเข้าถึง

สรุป

          กิจกรรมพัฒนาศักยภาพผู้นำเยาวชนเต่างอย ครั้งที่ 3 ที่มีการสอนเชิงปฏิบัติการเพื่อสื่อความหมายภาพจิตรกรรมในหัวข้อ “วาดฝัน ฉันจะเป็น...” ภายใต้โครงการจิตอาสาพัฒนาเต่างอยเป็นกิจกรรมที่มุ่งที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มเยาวชนฯ และส่งเสริมให้เกิดความภาคภูมิใจในวิถีชีวิตของตัวเองตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

การสอนเชิงปฏิบัติการเพื่อสื่อความหมายภาพจิตรกรรมในหัวข้อ “วาดฝัน ฉันจะเป็น...” นี้ เป็นการนำแนวคิดเรื่องการสื่อสารแบบข้ามพ้นสื่อหรือการใช้สื่อที่หลากหลายนำเสนอเรื่องเล่าภายใต้โครงเรื่องเดียวมาเป็นหลักสำคัญในการดำเนินการ ซึ่งผลที่ได้รับไม่เพียงเป็นการให้บริการทางวิชาการกับชุมชนเท่านั้น แต่ยังถือเป็นการสถาปนาโครงสร้างของเรื่องเล่าเพื่อพัฒนาไปสู่ความรู้สึกภาคภูมิใจในศักยภาพของกลุ่มเยาวชนฯ เอง และนำไปสู่ความสำนึกรักและภาคภูมิใจชุมชนของพวกเขาอีกด้วย

ข้อเสนอแนะ

กิจกรรมที่เกิดจากกระบวนการสอนเชิงปฏิบัติการเพื่อสื่อความหมายภาพวาดในหัวข้อ วาดฝัน ฉันจะเป็น... ภายใต้โครงการจิตอาสาพัฒนาเต่างอยนี้ ควรจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี และปรับเปลี่ยนไปสู่กิจกรรมที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน อ.เต่างอย จ.สกลนคร อันเป็นที่ตั้งของโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป ที่ ๓ (เต่างอย) ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

บรรณานุกรม

ธาม เชื้อสถาปนศิริ. TRANSMEDIA STORYTELLING: เล่าเรื่องข้ามสื่อในยุคดิจิทัล (ตอน 1) [ออนไลน์]. เข้าถึงเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2557. เข้าถึงได้จาก http://www.positioningmag.com/content/transmedia-storytelling-%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%84%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%A5-%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%99-1

มรรยาท อัครจันทโชติ (2557). การข้ามพ้นสื่อ (Transmedia) : การข้ามพ้นเทคโนโลยีไปสู่ปรัชญาการสื่อสารแบบมีส่วนร่วม. วารสารนิเทศศาสตร์ ปีที่ 32 ฉบับที่ 1 2557 หน้า 1-18. คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๓ (เต่างอย) จังหวัดสกลนคร. โครงการจิตอาสาพัฒนาเต่างอย [ออนไลน์]. เข้าถึงเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2557. เข้าถึงได้จาก http://www.thirdroyalfactory.siam.edu/sample-sites

เอกรัฐ เลาหทัยวาณิชย์. แนวคิดการสร้างภาพแทน (Representation)” ใน หลังสมัยใหม่: การสร้างภาพแทน โลกาภิวัตน์ และแนวคิดการบริโภค [ออนไลน์]. เข้าถึงเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2557. เข้าถึงได้จาก http://phdcommunication.wordpress.com/2013/03/07/%e0%b9%81%e0%b8%99%e0%b8%a7%e0%b8%84%e0%b8%b4%e0%b8%94%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%aa%e0%b8%a3%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%9e%e0%b9%81%e0%b8%97%e0%b8%99-representation/


[1] ภาควิชาสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม 38 ถนนเพชรเกษม เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร 10160 ประเทศไทย
[2] Digital Media Department, Faculty of Communication Arts, Siam University. 38 Petkasem Road, Pasicharoen, Bangkae, Bangkok 10160, Thailand.
[3] เมื่อใช้ในการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร ให้ใช้เลขไทยทั้งในคำย่อและคำเต็ม และให้วงเล็บระบุท้ายคำว่า เต่างอย ด้วย เนื่องจากเป็นคำเฉพาะ ยกตัวอย่างเช่น โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๓ (เต่างอย) หรือ  โรงงานหลวงฯ ที่ ๓ (เต่างอย)
[4] นับแต่นี้จะใช้คำว่า “เยาวชนฯ” แทนความหมายถึง เยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ อ.เต่างอย จ.สกลนคร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น