วันจันทร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2556

สัญญะธงชาติไทยในผลงานศิลปะภาพถ่ายของมานิตย์ ศรีวานิชภูมิ

โดย: อ.สุริยะ ฉายะเจริญ (อาจารย์ประจำภาควิชาสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม)

     มานิตย์ ศรีวานิชภูมิ เป็นศิลปินภาพถ่าย (Photographer) ที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งในวงการศิลปะปัจจุบัน ผลงานของมานิตย์เต็มไปด้วยการเสียดสีสังคมที่ติดตลกแต่มีท่าทีจริงจัง ผลงานของเขามักตั้งคำถามในเรื่องประวัติศาสตร์ สังคม และการเมือง ซึ่งในผลงานชุด พิ้ง ขาว น้ำเงิน  เขาได้นำเอาธงชาติมาใช้ควบคู่กับรูปผู้ชายอ้วนสวมชุดสูทสีชมพูและร่วมกับสัญญะอื่น ๆ อีกด้วย

“พิ้ง ขาว น้ำเงิน #1 (เกียรติยศ)” ภาพถ่ายสี c print, ขนาด 35 x 29 ซม (2548)
ที่มา :  นิทรรศการนีโอ-ชาตินิยม,  นิทรรศการการเมืองร่วมสมัย   หอศิลปวิทยนิทรรศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร,
7 พฤศจิกายน - 17 ธันวาคม 2548 (สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2548), 70. 
 
     มานิตย์ ได้ให้สัมภาษณ์ กับ อิ๋ง กาญจนะวนิชย์ เอาไว้อย่างชัดเจนเกี่ยวกับผลงานของเขาในชุดดังกล่าวเอาไว้ว่า
 
            ...ผมคิดว่าลัทธิบริโภคนิยมเอาลัทธิชาตินิยมมาทำมาหากิน...ไอ้เรื่องแคมเปญชาตินิยม หรือรักชาตินั้น มันมักถูกรัฐบาลเกือบทุกยุคทุกสมัยใช้เป็นข้ออ้างมาตลอด มันเหมือนกล่องกระดาษสีธงชาติ ที่เอาเข้าจริงแล้วเนื้อในของสินค้าจะมีสรรพคุณตรงตามข้างกล่องหรือไม่นั้นมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง...แต่ก่อนตัวละครการเมืองที่พูดเรื่องรักชาตินั้น จะเป็นบุคคลในเครื่องแบบ คือเผด็จการทหารอย่างที่เรารู้กัน แต่ในวันนี้ตัวละครเปลี่ยนไปเป็นบุคคลใส่สูทเป็นนักธุรกิจหรือจะพุดตรง ๆ คือ นายทุน...
           ...เรื่องตัวงานผมแบ่งออกได้ประมาณ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกเป็นเรื่องอารมณ์ของการแสดงความรักชาติ (sentiment) จะเป็นพิ้งค์แมนยืนเดี่ยว ๆ หน้าฉากสีน้ำเงิน แสดงอาการองอาจ ฮึกเหิม เมื่อห่มธงชาติเหมือนเวลาเราเห็นนักกีฬาหรือนักมวยใช้ธงห่มตัวก่อนขึ้นเวที บางรูปก็แสดงการอาการซาบซึ้งสุดขีดแบบที่เราเห็นแคมเปญรักชาติของรัฐบาลทางโทรทัศน์...
            ...ส่วนในกลุ่มที่สองก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับ “ผู้นำและผู้ตาม” ผู้นำคือพิ้งค์แมน เป็นผู้นำที่มีภาพทันสมัย ที่ไม่ต้องแต่งชุดทหารอีกแล้ว เป็นผู้นำใส่สูทเป็นมิตรสดใสไม่เคร่งขรึมแบบทหารในอดีต ส่วนผู้ตามคือเด็กไทย ซึ่งเป็นอนาคตของชาติ เด็ก ๆ แต่งชุดลูกเสือเพราะว่า ถ้าโยงเรื่องลูกเสือก็จะเป็นเรื่องการปลูกฝังความรักชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ ซึ่งเป็นความคิดที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 6 …เป็นชาตินิยมแบบเก่า...
          ...ผมคิดว่ามีความขัดแย้งในตัวมันเองระหว่างการมีชาตินิยมกับการมีประชาธิปไตยไปพร้อม ๆ กัน...[1]
           ...คำว่าชาติมันถูกทำให้นึกถึงการชูธง เป็นพวกเดียวกัน ต้องคิดเหมือนกัน ต้องเฮไหนเฮนั่น เพราะฉะนั้นคำว่า “ชาติ” หรือ Nation ความหมายของมันถูกทำให้เสื่อม และแคบลง...ผมเยาะเย้ยขบวนการสร้างมายาคติแห่งความเป็นชาติ อยากให้คนตระหนักว่าแท้จริงแล้ว ชาตินิยมคืออะไร...ทันทีที่มีเรื่องชาติเมื่อไร ก็ต้องมีเขา มีเรา มันต้องมีศัตรูทันที เพราะชาตินิยมจะอยู่ได้มันก็ต้องมีศัตรู ผมรักบ้านเมืองนี้ ผมถึงต้องล้อเลียนด้วยความเป็นห่วง ด้วยความหวังดี เพราะไม่อยากเห็นเมืองไทยเป็นชายอ้วนใส่สูทสีชมพู[2]
“พิ้ง ขาว น้ำเงิน #2 (ซาบซึ้ง)” ภาพถ่ายสี c print, ขนาด 24x29 ซม. (2548)
ที่มา :  นิทรรศการนีโอ-ชาตินิยม,  นิทรรศการการเมืองร่วมสมัย  ณ หอศิลปวิทยนิทรรศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร,
7 พฤศจิกายน - 17 ธันวาคม 2548 (สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2548), 70. 
“พิ้ง ขาว น้ำเงิน #3 (หอม)”   ภาพถ่ายสี c print, ขนาด 24 x 29 ซม. (2548)
ที่มา :  นิทรรศการนีโอ-ชาตินิยม,  นิทรรศการการเมืองร่วมสมัย  ณ หอศิลปวิทยนิทรรศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร,
7 พฤศจิกายน - 17 ธันวาคม 2548 (สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2548), 70. 
“พิ้ง ขาว น้ำเงิน #4 (อนาคต)”  ภาพถ่ายสี c print, ขนาด 57 x 47ซม.(2548)
ที่มา :  นิทรรศการนีโอ-ชาตินิยม,  นิทรรศการการเมืองร่วมสมัย  ณ หอศิลปวิทยนิทรรศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร,
7 พฤศจิกายน - 17 ธันวาคม 2548 (สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2548), 67.

         ผลงานของมานิตย์ ศรีวานิชภูมิที่สร้างขึ้นเป็นลักษณะที่มีการจัดฉากเพื่อสร้างภาพจำลอง ซึ่งสิ่งที่ปรากฏในภาพแม้จะมีการเน้นเนื้อหาทางความงามในด้านการจัดแสง การใช้สี และจัดวางองค์ประกอบที่ลงตัวก็ตาม แต่สาระของผลงานกลับมิใช่รูปลักษณ์ภายนอก หากแต่เป็นประเด็นทางความคิดที่ศิลปินได้สื่อสารผ่านสัญญะต่าง ๆ ที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นคนใส่สูทสีชมพู ธงชาติไทย เด็กนักเรียน และฉากสถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งทั้งหมดเป็นเพียงสื่อที่มีสารคือแนวความคิดเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
 
“พิ้ง ขาว น้ำเงิน #5 (ว่าตามฉัน)”   ภาพถ่ายสี c print, ขนาด 35 x 29 ซม. (2548)
ที่มา :  นิทรรศการนีโอ-ชาตินิยม,  นิทรรศการการเมืองร่วมสมัย  ณ หอศิลปวิทยนิทรรศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร,
7 พฤศจิกายน - 17 ธันวาคม 2548 (สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2548), 68.
 
 
“พิ้ง ขาว น้ำเงิน #6 (ตามฉันมา)”   ภาพถ่ายสี c print, ขนาด 49 x 59 ซม. (2548)
ที่มา :  นิทรรศการนีโอ-ชาตินิยม,  นิทรรศการการเมืองร่วมสมัย  ณ หอศิลปวิทยนิทรรศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร,
7 พฤศจิกายน - 17 ธันวาคม 2548 (สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2548), 69. 
    แม้ผลงานของมานิตย์จะเป็นภาพถ่ายซึ่งนับเป็นสื่อที่สามารถถ่ายทอดออกมาเป็นงานศิลปะได้ดีไม่ต่างจากผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม  หรือรูปแบบอื่นๆ  โดยเฉพาะผลงานในชุดดังกล่าวนี้ ก็จะเห็นได้ชัดว่ามีความแตกต่างจากผลงานภาพถ่ายโดยทั่วไป ศิลปินได้จัดฉากขึ้นมาแล้วถ่ายภาพเพื่อนำเสนอประเด็นทางความคิดมากกว่าจะเน้นไปที่คุณค่าทางความงามแบบอุดมคติ

     ธงชาติไทยที่ปรากฏในผลงานชุดนี้ศิลปินจงใจที่จะแสดงความชัดเจนค่อนข้างมาก ทั้งนี้เนื่องด้วยแนวคิดที่ศิลปินเองต้องการสะท้อนแนวคิดชาตินิยม ความรักชาติ ความคลั่งชาติ ที่อยู่ในบริบทต่าง ๆ ในสังคมไทยผ่านสัญลักษณ์ของธงชาติไทยอันเป็นเครื่องหมายรูปธรรม ศิลปินใช้ธงชาติไทยเป็นตัวเชื่อมโยงเข้าสู่ประเด็นชาตินิยมและใช้ภาพลักษณ์ของผู้ชายชุดสูทสีชมพูอันหมายถึงผู้ที่มีอำนาจสังคมเป็นผู้แสดงบทบาทร่วมกับธงชาติไทย ศิลปินจงใจที่จะเสียดสีประชดประชันชาตินิยมที่มีการปลุกขึ้นใหม่ในยุคร่วมสมัย ซึ่งแม้ผลงานชุดนี้จะมิได้สรุปถึงประเด็นแนวคิดชาตินิยมว่าควรจะมีทิศทางอย่างไร แต่ก็เป็นส่วนสะท้อนที่สำคัญในการสื่อสารไปสู่สังคมให้ตระหนักถึงการใช้ชาตินิยมในเส้นทางที่ไม่คลั่งไคล้จนเกิดขอบเขตที่สมเหตุสมผล

บทความนี้ตัดตอนและเรียบเรียงใหม่จากวิทยานิพนธ์ของสุริยะ ฉายะเจริญ เรื่อง “ธงชาติไทยในศิลปะร่วมสมัย” 
หลักสูตรศิลปมหาบัณฑิต ภาควิชาทฤษฎีศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
 
[1] สัมภาษณ์ มานิต ศรีวานิชภูมิ โดย อิ๋ง กาญจนะวนิชย์, “พิ้งค์/ขาว/น้ำเงิน” ใน  นิทรรศการนีโอ-ชาตินิยม, 65-66.
[2] เรื่องเดียวกัน, 71-72.


วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2556

สายพันธุ์ (มนุษย์) ต่างดาว

 
โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ

เมื่อเราทอดสายตาไปบนโค้งฟ้าที่เต็มไปด้วยหมู่ดวงดาวกระจัดกระจายอย่างเป็นอิสระยามค่ำคืน เราอาจมองเวิ้งฟ้าอันหาจุดสิ้นสุดไม่ได้ด้วยทัศนะที่แตกต่างกัน บางคนอาจคิดไปถึงสัมพันธภาพตามหลักดาราศาสตร์ บางคนอาจหวนไปถึงนิทานหรือเรื่องราวปรัมปราแต่อดีต บางคนอาจคิดคำนึงไปในเชิงของวรรณกรรมและปรารถนาจะพรรณนาเป็นถ้อยความอันเต็มไปด้วยความหมาย ยังไม่นับอีกหลากหลายผู้คนที่อาจจะมิเคยแหงนมองท้องฟ้าในยามที่ดวงดาราปรากฏตัว ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ว่ามนุษย์เราจะเอาใจใส่หรือให้ความสำคัญกับท้องฟ้า ดวงดารา หรือจักรวาลหรือไม่ แต่เราก็มิอาจปฏิเสธการมีอยู่อย่างเป็นนิรันดร์ของสิ่งดังกล่าวอย่างเลี่ยงไม่ได้เช่นเดียวกัน
 
                ความเชื่อเรื่องดวงดาวและโครงสร้างของจักรวาลหรือเอกภพนั้นทำให้มนุษย์ตั้งคำถามการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตเผ่าพันธุ์อื่นที่อยู่นอกดาวโลก ตลอดเวลาที่มนุษย์เริ่มที่จะมีข้อสงสัยในสิ่งมีชีวิตนอกโลก มนุษย์เองก็พยายามค้นหาร่องรอยทางประวัติศาสตร์หรือสถานที่ต่างๆ ที่ปรากฏสัญลักษณ์บางอย่างที่มิอาจบรรยายสัณฐานได้ว่าเป็นสิ่งทางกายภาพใดๆที่มนุษย์รู้จัก และนำไปสู่การสมมุติฐานถึงการเกิดขึ้นจากผลการกระทำของสิ่งมีชีวิตนอกโลก หรือมนุษย์ต่างดาว
"Blurior"
 
                สัญลักษณ์อันแปลกประหลาดที่เกิดขึ้นในสถานที่แปลกประหลาดรวมไปถึงสถานที่ที่เป็นแหล่งอารยธรรมที่ล่มสลายลงไปแล้วย่อมแสดงถึงการมีอยู่จริงของมนุษย์ก่อนปัจจุบัน ตลอดรวมไปถึงตำนานและเรื่องเล่าโบราณอย่างอาณาจักรโบราณที่เจริญรุ่งเรืองหรือนครที่สาบสูญก็ย่อมแสดงให้เห็นถึงความเชื่อที่ว่ามีอารยธรรมที่เกิดขึ้นเจริญรุ่งเรืองอย่างสูงสุดและล่มสลายหายไป เช่น นครแอตแลนติส (Atlantis)[1] เป็นต้น เรื่องเล่าดังกล่าวนี้ถูกโยงไปกับการมีอยู่ของมนุษย์ต่างดาวในจินตนาการของผู้ที่เลือกจะเชื่ออย่างนั้น
"Bizarre Love"
 
                ทั้งนี้สัญลักษณ์อันแปลกประหลาดที่ปรากฏ ณ ส่วนต่างๆ ทั่วโลกล้วนเสริมจินตนาการถึงความเป็นอื่น (the other) มากเท่ากับการทำสัญลักษณ์ที่ถูกถอดความหมายเป็นภาพตัวแทนของการมีอยู่ของความเป็นเรา (มนุษย์โลก) ความเป็นอื่นจึงไม่ได้ถูกแทนค่ากับความเป็นมนุษย์ต่างดาว (Alien) เท่านั้น ด้านหนึ่งก็มีนัยยะไปถึงมนุษย์หรือสิ่งที่เกิดขึ้นในโบราณกาล ซึ่งนั่นย่อมทำให้ประวัติศาสตร์อันไกลได้ถูกตัดขาดจากความเป็นปัจจุบัน ดังนั้นความเป็นมนุษย์ต่างดาวจึงถูกฝังรากเข้ากับประวัติศาสตร์อันไกล (ประวัติศาสตร์ก่อนการประดิษฐ์อักษรแบบปัจจุบัน) ได้แนบสนิทกว่าประวัติศาสตร์อันใกล้ (หรือประวัติศาสตร์ที่มนุษย์รับรู้ผ่านตัวอักษร) นั้นย่อมหมายความว่า มนุษย์บางกลุ่มอาจเชื่อว่าบางตำนานที่มนุษย์ต่างดาวมีสัมพันธภาพกับมนุษย์โลกในอดีตนั้นอาจจะเป็นความจริงได้ (ในโลกอดีตหรือปัจจุบันก็ตาม) ซึ่งสิ่งเหล่านี้หลายครั้งถูกถ่ายทอดออกมาเป็นสื่อภาพยนตร์อย่างเห็นได้ชัด เช่น Independence Day (1996)[2], The Fifth Element (1997)[3] และ Prometheus (I) (2012)[4] เป็นต้น
 
                นิทรรศการ FIRST STEP of  DCXIX & THE GANG OF STAR[5] เป็นนิทรรศการเดี่ยวของ เกียรติศักดิ์ รุ่งรัตนพัฒนา ซึ่งนำเสนอผลงานวาดเส้นและภาพพิมพ์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวโยงกับจินตนาการเรื่องมนุษย์ต่างดาวและสิ่งมีชีวิตที่อยู่นอกเหนือไปจากสามัญรูป ผลงานของเกียรติศักดิ์ไม่ได้เป็นการตั้งคำถามหรือการแสดงออกว่ามนุษย์ต่างดาวที่เขาเชื่อนั้นมีอู่จริงหรอไม่ แต่เพียงเป็นการแสดงความคิดเห็นของศิลปินเองว่ามีความเชื่ออย่างไรในเรื่องนี้ ศิลปินมิได้ยัดเยียดในการตั้งชื่อผลงานแต่ละชิ้นให้ดูเสมือนว่าเป็นการบังคับให้ผู้ดูเป็นฝ่ายเชื่อถือในสิ่งที่เขาเชื่อ แต่เพียงแค่เป็นการบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่เขาต้องการนำเสนอผ่านผลงานทัศนศิลป์ 2 มิติเท่านั้น
"Autobot"

"Blow Your Mind"
 
                รูปแบบผลงานในนิทรรศการ FIRST STEP of  DCXIX & THE GANG OF STAR เป็นผลงานที่ประกอบไปด้วยจิตรกรรม วาดเส้น และภาพพิมพ์ โดยที่ผลงานแต่ละชิ้นล้วนเป็นรูปลักษณ์ (image) เดี่ยวบนพื้นที่ว่างในผลงาน ศิลปินมิได้สร้างองค์ประกอบของภาพให้เป็นโครงสร้างที่มีลำดับชั้นความสำคัญของแต่ละสัญญะ เพียงแต่ผลงานแต่ละชิ้นล้วนเป็นรูปร่างที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวอิสระจากกัน บ้างล่องลอยอยู่บนพื้นทีที่มีพื้นผิวเรียบ ว่างเปล่า บ้างอยู่บนพื้นผิวที่ละเอียดและหยาบคละเคล้ากันไป ซึ่งศิลปินเองก็จงใจที่จะนำเสนออย่างหลากหลายรูปแบบเช่นเดียวกัน
"Appear"
 
                ในขณะที่รูปร่างงหลักนั้นเป็นการประกอบขึ้นจากทัศนธาตุแบบอิสระ (Freeform) ไม่ยึดโยงกับความเป็นธรรมชาติ (Natural) หรือความเป็นจริง (Realistic) รูปทรงอิสระนั้นจึงไม่ใช่ภาพแทน (Represent) ความหมายของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเป็นอิสระตัดขาดจากสภาพความเป็นจริง ซึ่งถึงแม้ผลงานบางชิ้นจะมีสัญลักษณ์บางอย่างที่มีส่วนคล้ายกับมนุษย์หรือสัตว์โลกบางชนิด แต่ผลที่เกิดขึ้นไม่ได้นำไปสู้ความหมายขั้นแรก (ความหมายโดยตรงจากสิ่งที่ปรากฏ) หากแต่นำไปสู่การตีความหมายในแบบปัจเจกมากกว่าเป็นการถอดรหัสความหมายอย่างตายตัวตามโครงสร้างของชุดความหมายแบบทฤษฎีการสื่อสาร  
"Fuqaima"

                ผลงานในนิทรรศการครั้งนี้นอกจากจะเป็นเสมือนเสียงสะท้อนถึงทัศนคติของศิลปินที่มีต่อความเชื่อเรื่องมนุษย์ต่างดาวโดยส่วนตัวแล้ว ยังเป็นการแสดงออกถึงการใช้ทัศนธาตุที่แทนค่าภาพของสิ่งมีชีวิตนอกกรอบของการรับรู้ของมนุษย์ด้วยการตั้งสมมุติฐานมากกว่าการค้นหาข้อมูลในเชิงกายภาพของศิลปิน ดังนั้นรูปลักษณ์ที่เกิดขึ้นในผลงานจึงเกิดขึ้นด้วยจินตนาการของศิลปินมากกว่าด้วยเหตุผลใดๆ
"Taste"
 
                ผลงานในนิทรรศการ FIRST STEP of  DCXIX & THE GANG OF STAR จึงเป็นการแสดงสาระของจินตนาการของศิลปินที่มีต่อเรื่องราวเกี่ยวกับมนุษย์ต่างดาวและถูกผลิตออกมาเป็นภาพผลงานศิลปะได้อย่างน่าสนใจ แม้ว่าในภาพรวมของผลงานชุดนี้จะมีทีท่าที่ไม่สมบูรณ์ในด้านเทคนิคการสร้างสรรค์ขั้นสูงเสียทีเดียว แต่จากผลงาที่ปรากฏย่อมพิสูจน์ความจริงใจของศิลปินที่กล้าที่จะนำเสนอในเนื้อหาที่อยู่นอกกรอบบริบทของความเป็นกระแสหลักในวงการศิลปะปัจจุบัน


[5] นิทรรศการ "FIRST STEP of DCXIX & The Gang of Star Art Exhibition" โดย เกียรติศักดิ์ รุ่งรัตนพัฒนา จัดแสดงนิทรรศการตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน - 30 กันยายน 2556 เปิดนิทรรศการ : วันเสาร์ที่ 7 กันยายน 2556 เวลา 19.00 น. เป็นต้นไป ณ หลังแรก Bar Restaurant Gallery

แนวความคิด (Concept)
ความกว้างใหญ่ลึกลับของท้องฟ้า บรรยากาศอันลึกลับน่าค้นหายามราตรี ทำให้ข้าพเจ้าตั้งคำถามถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆในอวกาศอันกว้างใหญ่ ซึ่งอาจมีรูปแบบของชีวิตที่อาจเหนือความเข้าใจของมนุษย์ จีงเป็นแรงปรารถนาอันยิ่งใหญ่ที่ทำให้ข้าพเจ้าสร้างสรรค์ผลงาน มโนภาพของรูปทรงที่เกิดขึ้นจากความคิดฝัน ได้ก่อกำเนิดขึ้นเป็นชีวิตใหม่ ในสภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่ดูราวกับไร้กาลเวลารูปทรงที่ดูประหลาดเกิดขึ้นมาจากการที่ข้าพเจ้ามองรูปทรงของสีที่ไหลลงบนกระดาษรวมกับประสบการณ์และทัศนคติของตนเองแต่งเติมลงไปเปรียบไดักับการมองก้อนเมฆที่เปลี่ยนรูปร่างไปตามลมและตีความว่าคล้ายกับอะไร ซึ่งถือเป็นการใช้ความคิดที่สนุกกับการสร้างสรรค์อย่างไร้กฎเกณฑ์ ล่องลอย บางเบา และเพ้อฝัน