วันจันทร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2556

นิทรรศการ: รูปภาพในบ้านหลังที่หนึ่ง



ผู้ร่วมแสดงนิทรรศการ:  
            พล.ต.ท.ชัยยันต์ มะกล่ำทอง, สุริยะ ฉายะเจริญ (พลเกิ้ง), วีรพงษ์ ศรีตระกูลกิจการ (อายิโน๊ะ), สุวิทย์ มาประจวบ (ราฮวม), อนุรักษ์ ชัยคงสถิต, เรวัติ รูปศรี, เพียงขวัญ คำหรุ่น (ขมิ้น)

สถานที่: หลังแรก บาร์
             (Hlung Raak Bar: บ้านเลขที่1 ซอยมหรรณพ1 ถนนมหรรณพ สำราญราษฎร์ พระนคร กรุงเทพฯ 10200)

ระยะเวลา: การเปิดงาน 19.00 น. วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม 2556
               เวลาแสดงงาน 7-30 พฤษภาคม 2556
               ตั้งแต่เวลา 11.00-24.00 น.

แนวคิด
            นิทรรศการรูปภาพในบ้านหลังที่หนึ่ง เป็นการแสดงผลงานจิตรกรรมอันหลากหลายที่แตกต่างทั้งในทางรูปแบบ เทคนิค และแนวความคิด หากแต่กลับเชื่อมโยงกันในด้านการติดตั้ง ซึ่งเป็นการจัดการที่มีบริบทของพื้นที่เป็นปัจจัยหลัก โดยแก้ปัญหาระหว่างพื้นที่ใช้สอยอื่นๆ ของบ้านเก่าที่เปิดเป็นร้านอาหาร กับการสมมุติพื้นที่ทางศิลปะ ซึ่งการจัดนิทรรศการเป็นการหาความกลมกลืนในความขัดแย้งของปัจจัยทางพื้นที่ จนเสมือนว่ารูปภาพแต่ละภาพมีเรื่องเล่าเป็นของตัวเองในพื้นที่ๆ ถูกทำให้กลายเป็นพื้นที่เฉพาะของแต่ละรูปภาพนั้น ดังนั้นพื้นที่ใช้สอยที่ถูกสมมุติให้กลายเป็นพื้นที่ทางศิลปะ จึงเป็นพื้นที่ๆ มีความพิเศษและความไม่พิเศษในขณะเดียวกัน นั่นหมายถึงการลดอำนาจของพื้นที่ทางศิลปะไปสู่ความเป็นพื้นที่แห่งความแบ่งบันระหว่างการใช้สอยปัจจัยภายนอกและประสบการณ์ทางสุนทรียะ

ติดต่อ: jumpsuri@gmail.com
โทร: 090-986-9937

Pictures in The First House
Art Exhibition

Artist: Group Pictures in The First House Art Exhibition

Concept
This exhibition is a display of paintings in different styles, techniques and ideas. But linked in the installation. The management of the context of the area is the main factor. To solve the problem, the other area. Of an old house turned into a restaurant. Vector space with art. The exhibition is harmony in the contradictions of factors. Picture it as if each image has it's own in the area. Was made into a specific area of ​​the image. Thus, the vector space into art space. The other area. A unique and extraordinary at the same time. That means reducing the power of the arts to be shared between the functional areas of business and aesthetic factors.

Opening Friday 7 May 2013 at 7:00 pm.
Hlung Raak Bar Restaurant Gallery
1  Soi Mahanop 1, Samranracha, Pha Nakorn, Bangkok 10200, Thailand.
Open every day : 2-30 May 2013
Time: 11:00 am to Midnight
Contract: jumpsuri@gmail.com

Work in Exhibition
 วีรพงษ์ ศรีตระกูลกิจการ

 วีรพงษ์ ศรีตระกูลกิจการ

 วีรพงษ์ ศรีตระกูลกิจการ

 วีรพงษ์ ศรีตระกูลกิจการ

 ชัยยันต์ มะกล่ำทอง

 ชัยยันต์ มะกล่ำทอง

 ชัยยันต์ มะกล่ำทอง

 สุริยะ ฉายะเจริญ

 สุริยะ ฉายะเจริญ

 สุริยะ ฉายะเจริญ

 สุวิทย์ มาประจวบ

 เรวัติ รูปศรี

 อนุรักษ์ ชัยคงสถิต

 เพียงขวัญ คำหรุ่น

 เพียงขวัญ คำหรุ่น

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับทัศนศิลป์ (โดยสังเขป)













 






















วันศุกร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2556

ด้วยจิตคาวระปรีชา อรชุนกะ

*บทกล่าวนำในศิลปะสนทนา ในวันที่ มีนาคม 2555 ในนิทรรศการศิลปะย้อนหลัง 75 ปี ปรีชา อรชุนกะ ระหว่างวันที่ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ - 16  มีนาคม พ.ศ. 2555 ณ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กรุงเทพมหานคร โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ (อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม)

 อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์เป็นประธานกล่าวเปิดนิทรรศการนิทรรศการศิลปะย้อนหลัง 75 ปี ปรีชา อรชุนกะ 
ระหว่างวันที่ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ - 16  มีนาคม พ.ศ. 2555 
ณ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กรุงเทพมหานคร 

         อาจารย์ปรีชา อรชุนกะเป็นศิลปินที่มีความเชื่อมั่นในแนวทางการสร้างสรรค์มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ผลงานที่ปรากฏในนิทรรศการย้อนหลัง 75 ปีนี้  ไม่เพียงจะทำให้ผู้ชมได้สะอึกอึ้งกับสีสันที่วิ่งสลับกันบนผืนภาพอย่างอิสระเท่านั้น หากแต่จำนวนผลงานที่มากมายย่อมแสดงความประจักษ์แจ้งให้เราได้เห็นถึงสายธารของลมหายใจ ที่ศิลปินใช้ชีวิตด้วยการทำงานศิลปะมาโดยตลอด
            ในด้านผลงานสร้างสรรค์อันเป็นเลิศนั้น ผมคงมิอาจจะสาธยายออกมาเป็นถ้อยกระบวนความได้ดีเท่าที่ท่านทั้งหลายได้เยี่ยมชมและพินิจพิเคราะห์ด้วยตัวเอง แต่ผมจะขอเล่าบางแง่มุมที่ผมได้รู้จักกับอาจารย์ปรีชา ผู้ที่บัดนี้เป็นศิลปินที่ก้าวสู่ปฐมวัยของชรากาล

            ผมพบอาจารย์ปรีชาอยู่บ่อยครั้งในสมัยที่ผมยังเรียนที่คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่การพบเจอเป็นเพียงการผ่านพ้นกันเท่านั้น เนื่องจากผมรู้สึกว่าอาจารย์ปรีชามีวัยวุฒิและคุณวุฒิที่ผมคงมิอาจจะได้ร่วมวงสนทนาได้อย่างเป็นกันเองนัก แต่กาลต่อมาทำให้ผมได้รู้จักอาจารย์ปรีชามากขึ้น จากการพูดคุยสนทนาตั้งแต่เรื่องสามัญไปจนถึงวงการศิลปะ การร่วมวงดื่มสุราตั้งแต่พระอาทิตย์ไม่ตกยันพระจันทร์เลยศีรษะ และการร่วมงานกิจกรรมต่างๆ รวมถึงกิจกรรมที่กำลังจัดอยู่นี้ ผมได้พบว่าอาจารย์ปรีชาเป็นบุคคลที่มีความสำคัญกับวงการศิลปะร่วมสมัยไทยไม่น้อย ไม่เพียงอาจารย์เป็นที่รู้จักในวงการศิลปะทั้งประเทศไทย และต่างประเทศเท่านั้น หากแต่ยังเป็นที่รู้จักและนับถือจากแวดวงนักคิด นักเขียน ปัญญาชนไทย และผู้คนในวงการอื่นๆ อีกมากมาย
            สิ่งหนึ่งที่อยากจะกล่าวคืออาจารย์ปรีชาระลึกถึงคุณความดีของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี อยู่เสมอ อาจารย์ปรีชามีความคิดริเริ่มในการจัดงานนิทรรศการเพื่อระลึกถึงศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ทั้งวันคล้ายวันเกิด (15 กันยายน)และวันคล้ายวันเสียชีวิต (14 พฤษภาคม) ซึ่งคงมิได้เป็นสิ่งที่แปลกประหลาดแต่อย่างใดหากกิจกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นภายในกรอบรั้วสถาบันที่เกี่ยวข้อง หากแต่กิจกรรมดังกล่าวถูกจัดขึ้นอย่างเป็นกันเองภายในร้านอาหารและพื้นที่จัดแสดงเล็กๆ

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2555 เปิดนิทรรศการนิทรรศการศิลปะย้อนหลัง 75 ปี ปรีชา อรชุนกะ 
ณ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กรุงเทพมหานคร 


            สำหรับงานนิทรรศการคล้ายวันเกิดของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีนั้น อาจารย์ปรีชาได้เชิญศิลปินอิสระ ผู้ที่อยู่ในแวดวงนักคิดนักเขียน และศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยศิลปากร มาร่วมจัดกันอย่างเรียบง่าย ทั้งนี้ด้วยวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้เกิดการระลึกถึงคุณความดีของศาสตราจารย์ศิลป์ที่มีต่อสังคมไทยกันในวงกว้าง นิทรรศการที่จัดขึ้นจึงเสมือนเป็นการสร้างเครือข่ายที่สำคัญของคนชายขอบวงการศิลปะที่เต็มไปด้วยมิตรภาพอย่างอบอุ่น
 รีชา อรชุนกะ เซ็นชื่อในสูจิบัตร

            อาจารย์ปรีชามีบทบาทในการให้คำปรึกษา "การจัดนิทรรศการคิดถึงอาจารย์ศิลป์" ซึ่งเป็นนิทรรศการศิลปะที่จัดขึ้นในวาระครบรอบวันเสียชีวิตของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี นิทรรศการครั้งแรกมีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 ณ ร้านพระนครบาร์แอนด์แกลเลอรี่ โดยมีอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์เป็นประธานในพิธีเปิด ในการจัดงานครั้งนั้นผม กลุ่มเพื่อนศิษย์เก่าคณะจิตรกรรมฯ และชมรมศิษย์อาจารย์ศิลป์  พีระศรี ช่วยกันลงแรงและออกค่าใช้จ่าย โดยไม่ได้ขอกำลังเงินสนับสนุนจากองค์กรใดๆ และมุ่งที่จะสร้างนิทรรศการขึ้นเพื่อบูชาคุณของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีเท่านั้น  
            ชื่อนิทรรศการนั้นตั้งขึ้นตามคำที่อาจารย์ศิลป์ได้กล่าวว่า "ถ้าฉันตาย นายคิดถึงฉัน นายทำงาน" ดังนั้นงานศิลปะที่ได้สร้างขึ้นและนำมาจัดแสดงจึงเสมือนดอกไม้ธูปเทียนในการบูชาและระลึกถึงศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีผู้สถาปนามหาวิทยาลัยศิลปากร และบิดาศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย
            ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2554 มีการจัดนิทรรศการคิดถึงอาจารย์ศิลป์ ครั้งที่ 2 กลุ่มผมก็ได้เชิญชวนศิษย์เก่าและนักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมจัดนิทรรศการศิลปะขึ้น    โดยในวันเปิดนิทรรศการอาจารย์ปรีชาเป็นประธานในการกล่าวเปิดพิธีอย่างเป็นกันเอง
            วันที่ 18 ตุลาคม 2554 กลุ่มของผมได้เชิญชวนศิลปินที่อาจารย์ปรีชานับถือและนักศึกษาคณะจิตรกรรมฯ ส่วนหนึ่งร่วมจัดนิทรรศการศิลปะเล็กๆ ณ ร้านพระนครบาร์แอนด์แกลเลอรี่ เนื่องในโอกาสคล้ายวันเกิดของอาจารย์ปรีชา ซึ่งแม้จะมีผู้ร่วมงานไม่มากนักแต่นิทรรศการนั้นก็เต็มไปด้วยความเป็นกันเองและความอบอุ่นที่พวกเราได้มอบให้ด้วยจิตคารวะแด่อาจารย์ปรีชา
  
ศิลปะสนทนา ในวันที่ มีนาคม 2555 ในนิทรรศการศิลปะย้อนหลัง 75 ปี ปรีชา อรชุนกะ 
ณ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กรุงเทพมหานคร 

          เมื่อกลับมาชมนิทรรศการครั้งนี้แล้วผมก็อดที่จะกล่าวไม่ได้ว่าผลงานที่มากมายเหล่านี้นอกจากจะสำแดงถึงพลังชีวิตอันยิ่งใหญ่และอัจฉริยภาพทางสีสันของอาจารย์ปรีชาแล้ว แต่อีกด้านหนึ่งของตัวตนของอาจารย์ปรีชาคือความกตัญญูต่อครูบาอาจารย์อย่างศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และความนับถือต่อปูชนียบุคคลที่มีคุณค่าต่อสังคมไทยอย่าง ดร.ป๋วย อึ้งภากร ผู้มีบทบาทในการกำเนิดหอศิลป์ในประเทศไทย หรือ   น. ณ ปากน้ำ (ประยูร อุลุชาฎะ) ปราชญ์แห่งศิลปะไทย และอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนที่ยิ่งใหญ่แห่งยุคสมัย
  
ผู้เขียนกับปรีชา อรชุนกะ

         สุดท้ายแล้วผมต้องขอกล่าวอีกว่า อาจารย์ปรีชา อรชุนกะเป็นศิลปินที่มีความเชื่อมั่นในแนวทางการสร้างสรรค์มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ผลงานที่ปรากฏในนิทรรศการย้อนหลัง 75 ปีนี้  ไม่เพียงจะทำให้ผู้ชมได้สะอึกอึ้งกับสีสันที่วิ่งสลับกันบนผืนภาพอย่างอิสระเท่านั้น หากแต่จำนวนผลงานที่มากมายย่อมแสดงความประจักษ์แจ้งให้เราได้เห็นถึงสายธารของลมหายใจ ที่อาจารย์ปรีชาได้ใช้ชีวิตเดิมพันด้วยการดำรงตนเยี่ยงศิลปินอย่างแท้จริงนับเนื่องมาอย่างยาวนาน.

ภาพทิวทัศน์บนศิลปะภาพพิมพ์แกะไม้ยุคสมัยเอโดะ (Ado Period)

โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ (อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม)
                ภาพพิมพ์แกะไม้ยุคสมัยเอโดะหรือภาพพิมพ์ยูกิโยเอะ (Ukiyo-e) เป็นยุครุ่งเรืองของภาพพิมพ์แกะไม้ ยูกิโยเอะไม่ไช่สกุลช่างทางศิลปะ หากแต่เป็นความเคลื่อนไหวการสร้างสรรค์จิตรกรรมและภาพพิมพ์ที่ต้องการนำเสนอสาระของสภาพชีวิตชนชั้นกลางอันแสนสามัญในยุคนั้น (ภาพที่ 1)
แรกเริ่มทีเดียวภาพพิมพ์ยูกิโยเอะดำรงสถานภาพตัวเองเป็นเพียงสื่อโฆษณาหรือเป็นลักษณะพานิชศิลป์ (Commercial Art) อาทิเช่น ป้ายโฆษณา โปสเตอร์แผ่นประกาศกำหนดการแสดงละคร ภาพสวยงามประดับบ้าน และภาพโป๊ (Pornographic Print) เป็นต้น ซึ่งแนวคิดของภาพพิมพ์ยูกิโยเอะไม่ได้เกิดขึ้นด้วยปัจจัยภายนอกหรืออิทธิพลศิลปะจากจีน แต่เป็นพัฒนาการจากสังคมญี่ปุ่นในยุคนั้นที่ต้องการหาสุนทรียภาพอย่างง่ายๆ ลักษณะของเนื้อหาของภาพจึงออกมาในลักษณะที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนในสังคม เช่น ภาพแหล่งบันเทิง ย่านโลกีย์ ทิวทัศน์ที่ดูสบายสวยงาม เป็นต้น
ด้วยเหตุดังกล่าว ยูกิโยเอะ จึงมีความหมายถึง ภาพของโลกที่ล่องลอย (Floating world) หรือโลกที่ไม่มีความแน่นอน หรือโลกมายา หรือโลกแห่งความฟุ้งเฟ้อสนุกสนานไร้สาระ[1] ซึ่งแนวคิดของชื่อเองก็ได้สะท้อนความเป็นไปของยุคสมัยนั้นได้อย่างดีเยี่ยม

                   
ภาพที่ 1 “View of Mount Fuji from Harajuku” (1850) โดย Hiroshige แสดงถึงชีวิตสามัญ
ที่มา: Wikipedia, Ukiyo-e, [Online] accessed 16 January 2010. Available from
http://en.wikipedia.org/wiki/Ukiyo-e

ลักษณะภาพพิมพ์ยูกิโยเอะสามารถผลิตได้เป็นจำนวนที่มากกว่าสื่อหรือศิลปะในด้านอื่น อีกทั้งผลิตได้ในเวลาที่ไม่ช้าจนเกินไปและมีความสะดวกในการเก็บสะสม ประกอบกับภาพลักษณ์ของผลงานดูง่ายซึ่งตรงกับรสนิยมของคนญี่ปุ่นในยุคนั้น และที่สำคัญคือมีราคาที่ไม่สูงนัก ภาพพิมพ์ยูกิโยเอะจึงกลายเป็นที่นิยมกันมาก ด้วยปัจจัยต่างๆเหล่านี้เอง ภาพพิมพ์ยูกิโยเอะจึงมีการพัฒนาทั้งทางด้านกระบวนการผลิตและรูปแบบการแสดงออกอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นผลงานศิลปะที่ทรงคุณค่าทางสุทรียภาพอย่างสูงตราบจนปัจจุบัน
รูปแบบ
แรกเริ่มภาพพิมพ์ยูกิโยเอะเป็นภาพที่แสดงออกถึงความงามเชิงเส้น ใช้ลักษณะของเส้นเป็นตัวกำหนดขอบเขตพื้นที่ของตัวภาพ (Linear space) ไม่มีการสร้างแสงเงาเป็นเพียงแผ่นสีเรียบๆ ผลงานจึงดูเป็น 2 มิติแบนๆ (decorative spatial concept) ไม่ได้สร้างมิติด้วยน้ำหนักของภาพเท่าไร ดังนั้นในยุคต้นๆจะสร้างผลงานในลักษณะเป็นเพียงเส้นหรือมีลักษณะที่เป็นสีแบบเอกรงค์ (ภาพที่ 2)

                 
ภาพที่ 2 “Bathhouse Women โดย Torii Kiyonaga ใช้เส้นเป็นหลักมีลักษณะสีเอกรงค์
            ที่มา:
Wikipedia, Torii Kiyonaga, [Online] accessed 17 January 2010. Available from http://en.wikipedia.org/wiki/Torii_Kiyonaga
สี
ในระยะแรกจะมีการใช้ลักษณะโครงสีแบบเอกรงค์ (Monochrome) ใช้เพียงสีโทนเดียวหรือ 2-3 สี แต่ต่อมาด้วยปัจจัยต่างๆทำให้ศิลปินภาพพิมพ์ได้พัฒนาผลงานออกมาให้ดูสวยสดงดงามขึ้น มีการสร้างแม่พิมพ์โดยใช้สีที่มากขึ้น มีสีสันที่สดใสดูราวกับผลงานจิตรกรรม แม้จะมีการสร้างให้สีมีความอ่อนแก่ที่ต่างกันเพื่อผลทางมิติ ทว่าก็มิได้ทำให้เกิดความลึกของภาพเท่าใดนัก หากแต่จะใช้เส้นเป็นตัวสร้างมิติมากกว่าใช้สี
องค์ประกอบ
          ลักษณะเด่นของการจัดองค์ประกอบของภาพพิมพ์ยูกิโยเอะคือ
                ประการที่หนึ่ง พื้นหลังของภาพ (Background) มักสร้างเป็นพื้นที่อันไร้ขอบเขต (Infinite space) ไม่สร้างให้เป็นขอบเขตจำกัด ทั้งนี้อาจจะเกี่ยวเนื่องกับแนวคิดที่เกี่ยวกับโลกแห่งความล่องลอยตามนิยามยูกิโยเอะ: ภาพของโลกที่ล่องลอย (Floating world)
                ประการที่สอง ภาพพิมพ์ยูคิโยเอะจะจัดองค์ประกอบภาพแบบอสมมาตร (Unbalance) กล่าวคือองค์ประกอบของด้านแต่ละด้านจะมีลักษณะที่ไม่เท่ากัน
                ประการที่สาม ใช้เส้นดำเป็นตัวกำหนดขอบเขตของรูปร่างในภาพ ผลที่เกิดขึ้นทำให้ภาพมีลักษณะเป็นแบบ 2 มิติ แม้ว่าผลงานของศิลปินบางคนจะมีการไล่ค่าน้ำหนักก็ตาม แต่ด้วยความชัดเจนของเส้นจึงทำให้ภาพไม่เกิดมิติแบบเหมือนจริง (ภาพที่ 3)

                                 
ภาพที่ 3 “Asakusa Hongan-ji temple in the Eastern capitalโดย Hokusai
มีลักษณะเด่นขององค์ประกอบทั้ง 3 ประการ
ที่มา:
Wikipedia, Thirty-six Views of Mount Fuji, [Online] accessed 16 January 2010. Available from http://en.wikipedia.org/wiki/36_Views_of_Mount_Fuji_(Hokusai)

วิธีการสร้าง
วิธีการพิมพ์ข้อความและตัวภาพจะคล้ายคลึงกัน ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดก็แต่ตรงปริมาณที่พิมพ์ และความซับซ้อนของสีที่ใช้ถ้าเป็นการพิมพ์ภาพ ภาพประกอบหนังสือส่วนใหญ่จะเป็นภาพเอกรงค์ที่ใช้หมึกดำเท่านั้น และในช่วงระยะเวลาหนึ่งการพิมพ์งานศิลปะจะเป็นแต่การพิมพ์เอกรงค์หรือเพียงสองหรือสามสีเท่านั้น
การพิมพ์ก็จะเริ่มด้วยการวาดตัวหนังสือหรือภาพบน กระดาษวะชิ” (washi) และปิดบนแผ่นไม้ที่มักจะเป็นไม้เชอร์รี จากนั้นก็จะทำการแกะไม้ตามรอยที่วาดไว้ในรูป หลังจากนั้นก็ใช้ ประคบบะเร็ง (Baren) กดกระดาษให้ติดกับพิมพ์ที่ทาหมึกเพื่อให้ลวดลายหรือตัวหนังสือปรากฏบนกระดาษ ในระยะแรกการประคบก็อาจจะทำด้วยมือแต่ต่อมาก็ได้มีการประดิษฐ์เครื่องมือที่ใช้ในตรึงแม่แบบไว้ให้แน่นก่อนที่จะกดพิมพ์ ซึ่งทำให้การพิมพ์หลายสีทำได้ง่ายขึ้นเมื่อต้องการจะพิมพ์สีแต่ละสีซ้อนไปบนสีที่พิมพ์อยู่แล้วอย่างเหมาะเจาะ
ดังที่กล่าวแล้วว่าเนื้อหาของหนังสือและภาพส่วนใหญ่ที่พิมพ์จะเป็นเอกรงค์ แต่ความนิยมภาพยูกิโยเอะที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ความต้องการของจำนวนสีที่ใช้และความซับซ้อนในการพิมพ์มากและซับซ้อนตามขึ้นไปด้วย การวิวัฒนาการของการพิมพ์แบ่งได้เป็นช่วงๆ ดังนี้
ภาพพิมพ์หมึก (Sumizuri-e) - ภาพพิมพ์เอกรงค์ที่ใช้แต่หมึกดำ
ภาพพิมพ์สีแดง (Benizuri-e) - ภาพพิมพ์ที่มีรายละเอียดเป็นหมึกสีแดง หรือเน้นด้วยมือด้วยหมึกสีแดงหลังจากที่พิมพ์เสร็จแล้ว หรือบางครั้งก็จะใช้สีเขียวด้วย
ภาพพิมพ์เน้นสีส้ม (Tan-e) - ภาพพิมพ์ที่เน้นด้วยสี่ส้มโดยใช้รงควัตถุสีแดงที่เรียกว่า tan
ภาพพิมพ์สีครามหรือภาพพิมพ์สีม่วง (Aizuri-e), (Murasaki-e) และภาพพิมพ์ลักษณะอื่นที่เพิ่มสีขึ้นอีกหนึ่งสีนอกไปจากสีดำ หรือแทนที่สีดำ
ภาพอุรุชิ ( Urushi-e) ภาพพิมพ์ที่ใช้กาวผสมสีเพื่อให้สีมีความหนาขึ้นทำให้ภาพดูเข้มข้นขึ้น นอกจากนั้นก็ยังมีการประดับด้วยทอง ไมคา และ วัตถุอื่นๆ เพื่อเพิ่มคุณค่าทางศิลปะของภาพให้มากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นภาพอุรุชิยังหมายถึงการวาดภาพบนเครื่องแล็คเคอร์แทนที่จะเพียงแต่ทาสีด้วย
ภาพนิชิคิ (Nishiki-e) เป็นวิธีการพิมพ์ที่ใช้แม่แบบหลายแม่แบบที่แต่ละแม่แบบก็สร้างขึ้นเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของภาพ ที่ทำให้สามารถใช้ในการพิมพ์ภาพที่มีหลายสีที่สร้างความซับซ้อนและรายละเอียดให้แก่ภาพได้ แม่พิมพ์แต่ละส่วนก็จะแกะขึ้นต่างหากจากกัน และจะใช้แต่เฉพาะส่วนหนึ่งส่วนใดของภาพเฉพาะสีเดียวเท่านั้น แม่พิมพ์แต่ละส่วนก็จะได้รับเครื่องหมายที่เรียกว่า เคนโต เพื่อที่จะได้ประสานแม่พิมพ์ส่วนต่างของภาพได้อย่างสะดวก[2]
คะสึชิกะ โฮะกุไซ (Katsushika Hokusai: 1760 - 1849)
                คะสึชิกะ โฮะกุไซ เป็นศิลปินภาพพิมพ์ยูกิโยเอะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่ง เขามีทักษะทางศิลปะที่สูง สร้างทั้งผลงานจิตรกรรม ภาพพิมพ์ และภาพประกอบต่างๆ เขาเป็นผู้ที่รักการศึกษาสรรพสิ่งรอบตัวไม่ว่าจะเป็นทิวทัศน์ ผู้คน สัตว์ นก ดอกไม้ และแมลงโดยได้ถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานศิลปะ
                โฮะกุไซมักเดินทางอยู่เสมอ เขาศึกษาวิธีการวาดภาพทิวทัศน์ของจิตรกรยุโรปด้วยตนเองอย่างช่ำชอง โดยเฉพาะการศึกษาวาดภาพทิวทัศน์ของจิตรกรสกุลช่างชาวดัตช์ จากนั้นจึงนำมาวิเคราะห์ถึงลักษณะต่างๆ แล้วจึงสังเคราะห์เป็นผลงานให้กลายเป็นรูปแบบเฉพาะของตนเอง แต่กระนั้นก็ตามเขาก็ไม่ได้นิยมในการจัดวางองค์ประกอบที่เน้นให้เห็นมิติของภาพที่มากมาย แต่พอใจกับการวางองค์ประกอบแบบเรียบง่าย ชัดเจน เน้นความสวยงามเชิงตกแต่ง แสดงออกถึงโลกที่สดสวยผ่านผลงานภาพพิมพ์แกะไม้

                                   
ภาพที่ 4 “Great Wave off Kanagawa” (1829–32) ผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของ Hokusai
ที่มา: Wikipedia, The Great Wave off Kanagawa, [Online] accessed16 January 2010. Available from http://en.wikipedia.org/wiki/The_Great_Wave_off_Kanagawa

โฮะกุไซเป็นจิตรกรอยู่เป็นเวลานานแต่งานชิ้นสำคัญๆเกิดขึ้นหลังจากที่อายุ 60 แล้ว งานที่มีชื่อเสียงที่สุดชุด ทัศนียภาพ 36 มุมของภูเขาฟูจิเขียนระหว่าง ค.ศ. 1826 ถึง ค.ศ. 1833 ที่อันที่จริงแล้วมีด้วยกันทั้งหมด 46 ภาพ (10 ภาพเป็นภาพที่มาเขียนเพิ่มภายหลัง)[3] ซึ่งนักทฤษฎีและนักประวัติศาสตร์ศิลปะเห็นพ้องต้องกันว่านี่เป็นภาพทิวทัศน์ที่ยิ่งใหญ่ภาพหนึ่งของโลก ไม่ว่าจะเป็นภาพที่รู้จักกันไปทั่วโลกอย่างภาพ คลื่นใหญ่นอกคะนะงะวะ (Great Wave off Kanagawa)[4] (ภาพที่ 4) หรือ ภาพฟ้าผ่าด้านล่างภูเขา และ ภาพฟูจิแดงเช้าวันอากาศดีจากลมทางทิศใต้ (Red Fuji southern wind clear morning) (ภาพที่ 5)

                                     
ภาพที่ 5 “Red Fuji southern wind clear morningหนึ่งในผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของ Hokusai
ที่มา: Wikipedia, Thirty-six Views of Mount Fuji, [Online] accessed16 January 2010. Available from http://en.wikipedia.org/wiki/Thirty-six_Views_of_Mount_Fuji

อุตะงะวะ ฮิโระชิเงะ (Utagawa Hiroshige: 1797-1858)
                อุตะงะวะ ฮิโระชิเงะ เริ่มมีชิอเสียงจากผลงานภาพพิมพ์แกะไม้ชุดผู้หญิงสาวสวย ต่อมาเมื่อได้ตั้งสำนักพิมพ์ของตนเองโดยมีลูกศิษย์และเป็นลูกมือด้วย เขาก็หันไปสร้างผลงานที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับนกและดอกไม้ จากนั้นมาก็หันมาสร้างผลงานแนวทิวทัศน์และทำต่อเนื่องจวบจนตลอดชีวิต
                ผลงานของฮิโระชิเงะมีความโดดเด่นเรื่องการใช้สีและแสงที่แสดงความเป็นไปของบรรยากาศตามแต่ละฤดูกาลได้อย่างสวยงาม คล้ายกับวิธีการบันทึกบรรยากาศสีของศิลปินกลุ่มอิมเพรชชั่นนิสม์ในตะวันตก (Impressionism)  และด้วยความที่เขาเองก็เป็นจิตรกรเช่นเดียวกันเขาจึงมักออกเดินทางเพื่อศึกษาภูมิทัศน์ต่างๆอยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกับโฮะกุไซ แต่ลักษณะผลงานของเขาจะแสดงออกถึงความละเมียดละไมของบรรยากาศในภาพ มีอารมณ์เชิงกวี มีความสงบ โดดเดี่ยว สันโดษ และอ่อนโยนในเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นการสะท้อนอารมณ์โดยรวมของชาวญี่ปุ่นได้อย่างน่าสนใจ
ผลงานชุด ทัศนียภาพ 8 ทางของทะเลสาบบิวะ (Eight Views of Lake Biwa) และ สถานที่สำคัญ 10 แห่งทางตะวันออกของเมืองหลวง (Ten Famous Places in the Eastern Capital) ภาพสองชุดนี้ได้รับความสำเร็จพอประมาณ แต่ในปี ค.ศ. 1832 ฮิโระชิเงะได้รับเชิญให้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มทูตโชกุนในพระราชสำนักหลวงที่เกียวโต ขณะที่เดินทางไปเกียวโต ฮิโระชิเงะก็สังเกตทิวทัศน์ของถนนโทไกโด (Tokaido road) หรือถนนฝั่งทะเลตะวันออกซึ่งเป็นถนนที่คดเคี้ยวเลียบฝั่งทะเลและภูเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะไปพลาง ผ่านทะเลสาบบิวะจนในที่สุดก็ถึงเกียวโต เขาจึงสร้างผลงานซึ่งได้แรงบันดาลใจจากการเดินทางครั้งนั้น ในชุด สถานี 53 สถานีบนเส้นทางโตไกโด (The Fifty-Three Stations of the Tokaido) (ภาพที่ 7)ซึ่งเป็นงานพิมพ์ที่ประสพความสำเร็จมากและสร้างชื่อเสียงให้ฮิโระชิเงะเป็นศิลปินอย่างเต็มตัว[5]

                
ภาพที่ 6 (ซ้าย) "Great Bridge, Sudden Shower at Atake" ผลงานในชุด One Hundred Famous Views of Edo ของ Hiroshige เป็นต้นแบบภาพ"The Bridge in the Rain" ของ Vincent Van Gogh (ขวา)
ที่มา: Wikipedia, Hiroshige, [Online] accessed16 January 2010. Available from http://en.wikipedia.org/wiki/File:Hiroshige_Van_Gogh_2.JPG

ภาพที่ 7 “Night Snow at Kambara" ผลงานในชุด The Fifty-Three Stations of the Tokaido ของ Hiroshigeที่มา: Wikipedia, Hiroshige, [Online] accessed16 January 2010. Available from http://en.wikipedia.org/wiki/File:Hiroshige_nuit_de_neige_%C3%A0_Kambara.JPG




[1] กำจร สุนพงษ์ศรี, ประวัติศาสตร์ศิลปะญี่ปุ่น, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2551), 170.
[2] วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, ภาพพิมพ์แกะไม้ในประเทศญี่ปุ่น, [Online] accessed 15 January 2010. Available from http://th.wikipedia.org/wiki
[3] วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, คะสึชิกะ โฮะกุไซ, [Online] accessed 16 January 2010. Available from http://th.wikipedia.org/wiki
[4] ชัยยศ อิษฏ์วรพันธุ์, คะซึชิคะ โฮะกุไซ Katsushika Hokusai, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สารคดี, 2552), ไม่ปรากฏเลขหน้า.
[5] วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, อุตะงะวะ ฮิโระชิเงะ, [Online] accessed 16 January 2010. Available from http://th.wikipedia.org/wiki