โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ
ในโลกที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม การจำเพาะเจาะจงในการสร้างสำนึกความเป็นชาติอย่างรุนแรงนับว่าเป็นแนวคิดในแบบสมัยใหม่ (Modern) ที่ดูออกจะล้าหลังไปเสียแล้ว การทำความรู้จักกับสังคมและวัฒนธรรมในมุมมองที่ต่างจาก "ความเป็นเรา" นับเป็นการยื่นสัมพันธภาพซึ่งอยู่นอกบริบทของสำนึกชาตินิยม (Nationalism) ที่เคยคุกรุ่นในช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (WW II) สิ่งดังกล่าวมิใช่สลายความเป็นชาติให้หายไปกับโลกที่กำลังเปลี่ยน หากแต่กลับเป็นการแสวงหาพื้นที่ที่สามารถอยู่ร่วมกับ "ความเป็นอื่น" (The other) ได้อย่างสันติ
งานศิลปะร่วมสมัยที่มีการนำเสนอนอกกรอบวัฒนธรรมของ "ความเป็นเรา" (หรือความเป็นไทย) อาจจะทำให้ผู้ดูไม่สามารถเชื่อมโยงเข้าสู้การรับรู้ในเชิงสุนทรียะจนเกิดเป็นประสบการณ์ได้ ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะเราเลือกที่จะรับรู้ในสิ่งที่ "ผู้มีอำนาจ" เลือกให้ว่าต้องการให้เราได้รู้อะไร กระทั้งสิ่งที่เราได้ถูกทำให้รับรู้นั้นเป็นความรู้ที่เต็มไปด้วยระเบียบวินัยและเน้นความเป็นเอกภาพมากว่าความหลากหลาย ทั้งนี้เพื่อให้ง่ายในการจัดการอำนาจของผู้ที่อยู่ด้านบนของโครงสร้างทางสังคมนั้นๆ ซึ่ง "ความเป็นเรา" จึงมีลักษณะของการผ่อนปรนและเจียมเนื้อเจียมตัวจนมิอาจทนทานกับความหลากหลายที่มีวิถีชีวิตหรือความคิดที่ต่างจาก "เรา" ได้อย่างสันติ
ดังนั้น "ความเป็นเรา" อาจจะเป็นมายาคติที่เสมือนม่านหมอกหนาที่คลี่คลุมภาวะทางการเห็น จนหลายครั้งทำให้เราเกิดความระคายเคืองในการเสพผลงานศิลปะที่มีความแตกต่างจาก "ความเป็นเรา" และกลายเป็นว่าบางครั้งผลงานเหล่านั้นดูหยาบ รุนแรง ผิดประเพณีความดีงาม หรืออาจจะผิดหลักเกณฑ์ความถูกต้องของรัฐ
ซึ่งนิทรรศการ "ร้อยเรียงเรื่องราว: Transnational Narration: Paperworks" ได้รวมรวมผลงานของศิลปินมากมายหลากหลายเชื้อชาติมานำเสนอ ผลงานโดยรวมถูกสร้างด้วยเทคนิควาดเส้น (drawing) ระบายสี (painting) หรือภาพพิมพ์ (print making) บนกระดาษ และผลงานที่เป็นภาพเคลื่อนไหว (moving picture) หรืองานอนิเมชั่น (animation) อย่างมีชีวิตชีวา ผลงานเหล่านี้มีลักษณะที่ก้าวผ่านสำนึกของความเป็นชาติและความเป็นเชื้อชาติมุ่งสู่การสื่อสารทางทัศนธาตุ (visual element) ถึงประเด็นอันหลากหลายของแต่ละพื้นถิ่นของศิลปิน หากแต่ความเป็นพื้นถิ่น (Local) ที่ปรากฏอยู่ในผลงานแต่ละชิ้นกลับเป็นภูมิศาสตร์ทางความคิด (Geography of thought) ที่จัดอยู่ใน "ความเป็นร่วมสมัย" อย่างเห็นได้ชัด ศิลปินไม่ได้แสดงภาวะของอัตลักษณ์ทางอำนาจของรัฐ (The identity of the state) แต่กลับแสดงอาการแข็งขืนและต่อต้านอำนาจด้วยการถ่ายทอดเป็นผลงานศิลปะ
การสื่อสารทางอวัจนภาษา (Nonverbal) ที่ปรากฏในผลงานนิทรรศการดังกล่าวมักให้ความหมายที่เป็นแบบวิพากษ์วิจารณ์ ศิลปินใช้ชั้นเชิงทัศนศิลป์เป็นสื่อในการร้อยเรียงเรื่องราวจากความเป็นพื้นถิ่นไปสู่ประเด็นความเป็นสากล โดยใช้ภาพตัวแทน (Representation) สถานการณ์ร่วมสมัยของแต่ละคนอย่างน่าสนใจ
ตัวอย่างผลงานเทคนิคผสมขนาดใหญ่บนกระดาษของ Jose Bedia ศิลปินชาว Cuba ได้ทำให้ผู้ดูได้เห็นการนำภาพของความทรงจำทางประวัติศาสตร์และภาพตัวแทนของอำนาจในภาวะของ "ความเป็นสมัยใหม่"ผ่านสัญลักษณ์ของเรือรบขนาดใหญ่ ซึ่งปรากฏเปรียบเทียบกับเรือพื้นถิ่นขนาดเล็กอย่างมีนัยสำคัญ ผ่านรูปแบบการสร้างสรรค์ผลงานในแบบ Expressionism ที่เน้นฝีแปรงที่หยาบเพื่อความเคลื่อนไหวที่รุนแรงทางการเห็นและประสบการณ์ทางความรู้สึกที่ฉับพลัน
ผลงานวาดเส้นสีชมพูสดบนกำแพงของ Manuel Ocampo ศิลปินชาว Philippines นำภาพสัญญะ (Signifier) อันหลากหลายมาประสานติดต่อกันเป็นเรื่องราวที่นำไปสู่ภาพสะท้อนทางการเมืองและการมีอยู่ของอำนาจเผด็จการ (Dictatorship) ศิลปินจัดองค์ประกอบภาพอย่างไม่จำเพาะเจาะจงจุดเด่นทำให้ผู้ดูมีอิสรภาพจากกรอบอำนาจของศิลปิน ผู้ดูเป็นผู้เลือกที่จะถอดรหัส (Decoding) จากภาพส่วนย่อยได้อย่างเสรี
ตัวอย่างของผลงานศิลปินทั้งสองคนต่างพื้นที่คนละมุมของโลก แต่กลับเล่าเรื่องที่มีถ้อยความที่คล้ายกัน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นทางประวัติศาสตร์ ความเป็นอาณานิคม (Colonial) ความเป็นไปทางการเมือง และอำนาจของภาวะสมัยใหม่ โดยศิลปินทั้งสองคนได้ใช้ภาพสัญญะอย่างชัดแจ้งจนทำให้ผู้ดูได้สัมผัสบางแง่บางมุมใน "ความเป็นเรา" ทั้งนี้เพราะอำนาจของเรื่องราวทางประวัติศาสตร์กลับเป็นตัวขับกล่อมให้เราพอจะเข้าใจในสิ่งที่ถูกถ่ายทอดออกมาอย่างทรงพลังและชัดเจนอย่างยิ่ง
ผลงานภาพพิมพ์ชุด Artland ของ Curro Gonsalez ศิลปินชาว Spain ได้ท้าทายประวัติศาสตร์ศิลปะและภาวะสมัยใหม่ผ่านสัญลักษณ์ที่ทำให้เราเชื่อมโยงกับผลงานศิลปะชิ้นสำคัญๆ และสัญลักษณ์ต่างๆ ที่คุ้นชิ้นตา ศิลปินสร้างภาพแผนที่เสมือนประหนึ่งเป็นสวนสนุกที่ผู้ดูอยู่ในกรอบของการรับรู้เรื่องราวเฉพาะภายในภาพที่ปรากฏ ศิลปินประชดประชันถึงความเชื่อในอำนาจของประวัติศาสตร์ศิลปะว่าเป็นเสมือนสวนสนุกที่คอยหลอกเด็กให้หลงอยู่ในความบันเทิงอย่างฉาบฉวย
ในส่วนของ Abraham Lacalle ศิลปินชาว Spain สร้างผลงานจิตรกรรมสีน้ำขนาดใหญ่ที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตประจำวันที่เต็มไปด้วยความรุนแรงและความว่างเปล่าของสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์ ทั้งนี้ศิลปินปลดปล่อยรูปแบบการนำเสนอให้อิสระโดยไร้เอกลักษณ์ของวัตถุใดวัตถุหนึ่งอย่างชัดแจ้ง แต่จงใจให้เกิดร่องรอยฝีแปรงและคราบเลอะในแบบ Expressionism ซึ่งทำให้ผู้ดูเกิดความตื่นเต้นจากความเคลื่อนไหวของร่องรอยที่เกิดขึ้น ในส่วนเนื้อหานั้นศิลปินมุ่งประเด็นความล่มสลายของ "ความเป็นภาวะสมัยใหม่" โดยแสดงออกผ่านภาพที่เป็นแง่มุมอันเลยผ่านในชีวิตประจำวันอย่างทิ้งความกำกวมในเอกลักษณ์ของบุคคลที่ปรากฏในภาพ
ขณะที่ Robert Langenegger ศิลปินชาว Philippines นำเสนอผลงานสีน้ำบนกระดาษที่เป็นภาพคล้ายการ์ตูนช่องเดียวในหน้าหนังสือพิมพ์ประจำวัน (Strip Comic) ศิลปินเสียดสีอย่างตรงไปตรงมาถึงความเป็นไปในสังคมปัจจุบัน บางภาพดูมีความรุนแรง บางภาพแฝงไว้ด้วยความหยาบโลนอนาจาร บางภาพแสดงถึงเรื่องราวอันผิดจารีตประเพณีและศีลธรรม แต่กระนั้นก็ตามเราก็สามารถทำความเข้าใจอย่างเปิดเผยได้อย่างตรงไปตรงมา และกล่าวได้ว่าผลงานชุดนี้เต็มไปด้วยความจริงของอีกแง่มุมในสังคม ซึ่งศิลปินมิใช่ผู้ชี้แนะแนวทางที่ควรจะเป็นอย่างถูกต้อง แต่ศิลปินเป็นเพียงผู้ตีแผ่และวิพากษ์เพื่อให้เกิดความเข้าใจในระดับสาธารณะเท่านั้น
ผลงานสีน้ำบนกระดาษ ชุด The Birds ของ Manuel and Juliana ศิลปินชาว Argentine เต็มไปด้วยเรื่องราวความรู้สึกหวาดกลัวอะไรบางอย่าง โดยศิลปินสมมุติสถานการณ์ขึ้นอย่างน่าสนใจ ผลงานปรากฏภาพนกสีดำมาพร้อมกับท้องฟ้าสีมืดครึ้ม ทำให้เห็นใบหน้าที่แสยะ หวาดกลัว ตระหนกและสะพรึงของผู้คนที่ปรากฏในภาพ หรือกระทั่งผู้คนหวีดร้องและหลีกหนี สิ่งนี้ทำให้เห็นถึงด้านหนึ่งของจิตมนุษย์นั้นคือความกลัว แต่กระนั้นเอง นกที่เป็นภาพตัวแทนของผู้ร้ายกลับทำให้จินตนาการไปถึงความยอกย้อนของผู้ไร้อำนาจที่กลับมารวมตัวเพื่อต่อต้านกับผู้มีอำนาจหากการใช้อำนาจนั้นเป็นไปอย่างไร้ความเป็นธรรม
ตัวอย่างผลงานของศิลปินทั้งสี่คน เป็นเสมือนการตั้งคำถาม ตีแผ่ เสียดสี แสดงภาวะของสังคมร่วมสมัย และอำนาจของรัฐที่มีในบริบททางจารีตประเพณีและประวัติศาสตร์ ทั้งนี้ศิลปินดังกล่าว ต่างมีที่มาจากต่างพื้นถิ่น แต่กลับมีแนวเรื่องในการนำเสนอผลงานที่ไปในแนวทางที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นเรื่องของการนำความจริงในแบบที่ไม่ประนีประนอมกับความถูกต้องของรัฐมาเปิดเผย หรือกล่าวกันอย่างตรงไปตรงมาคือ ศิลปินนำเสนอในด้านลบของสังคมร่วมสมัยเพื่อให้เกิดการตั้งคำถามในประเด็นที่เปิดกว้าง
นอกจากนี้นิทรรศการครั้งนี้ยังคงมีผลงานที่อยู่ในรูปแบบของภาพเคลื่อนไหวอีก อย่างเช่น ผลงาน Video ของ Marcel Dzama ศิลปินชาว Canada ที่นำภาพสัญญะที่สื่อลักษณะ (Character) ของทหาร มีการจัดขบวนทัพ การเดินขบวน และทำสงคราม ศิลปินสร้างภาพของความแข็งกร้าวและความรุนแรงที่หลอกหลอนมนุษย์มาตลอดประวัติศาสตร์นั้นคือสิ่งที่เราเรียกกันว่า "สงคราม" มนุษย์ใช้สิ่งดังกล่าวในการสนับสนุนในอำนาจของตน ซึ่งเห็นได้ชัดจากสงครามโลกทั้งสองครั้งที่ทำให้มนุษยชาติได้สัมผัสถึงแรงสั่นสะเทือนของ "ภาวะสมัยใหม่" ที่เน้นความคิดแบบเผด็จการอำนาจนิยม (Authoritarian dictatorship) และนำไปสู่กระบวนการสร้างฐานอำนาจทางการทหารอันเป็นจิตวิทยาการเมืองที่เด่นชัดในช่วงสงครามเย็น
ผลงาน Animation Drawing ของ Lazaaro Saavedra ศิลปินชาว Cuba กลับใช้เส้นสีดำเป็นสิ่งสร้างความเคลื่อนไหว (Movement) ซึ่งสร้างให้ภาพที่ปรากฏเป็นภาพเคลื่อนไหวที่มีโทนเคร่งขรึมและดูน่าสะพรึงในบางครั้ง ศิลปินใช้สถานการณ์ธรรมดาปกติของมนุษย์มาเล่าเรื่องราวที่นำไปสู่ประเด็นทางสังคมอย่างน่าสนใจ ศิลปินนำเสนอถ้อยความด้วยการใช้ภาพที่แสดงถึงการมีอำนาจในการเลือกที่จะมีอำนาจเป็นของตัวเองมากกว่าจะยอมให้ผู้อื่นมีอำนาจผ่านภาพเหตุการณ์ตัวการ์ตูนที่กำลังสอยผลไม้รูปดวงตามาให้กับตัวเองที่มีช่องตาที่กลวงโบ๋สีดำ
หรือผลงาน Animation Drawing ของ Zilla Leutenegger ศิลปินชาว Switzerland ที่สร้างเป็นภาพลายเส้นคนนอนนิ่งและกำลังสูบบุหรี่โดยที่มีควันเคลื่อนไหว ศิลปินมุ่งเสนอในสาระของการที่ปัจเจกบุคคลเลือกที่จะมีชีวิตอย่างเสรี แม้บางครั้งการเลือกนั้นอาจจะมิใช่แนวทางการใช้ชีวิตที่สมบูรณ์ที่สุดก็ตาม แต่การมีอำนาจในการเป็นผู้เลือกย่อมดีกว่าการเป็นผู้ที่ถูกเลือกจากผู้ที่มีอำนาจ
จากตัวอย่างผลงานของศิลปินที่มีมากมายทำให้เห็นได้ว่าจุดเชื่อมโยงของความหลากหลายของผลงานในนิทรรศการครั้งนี้นั้น ไม่เพียงเป็นผลงานที่ถูกสร้างขึ้นลงบนกระดาษและเป็นผลงานภาพเคลื่อนไหว หรือเป็นผลงานประเภทที่ใช้เส้นเป็นทัศนธาตุหลักในการนำเสนอเท่านั้น หากแต่ประเด็นของเนื้อหาที่เปิดกว้างให้ผู้ดูได้เกิดจินตนาการในการรับรู้อย่างไร้ขอบเขตนั้น ย่อมทำให้ "ความหลากหลาย" นั้นมีประเด็นของการตั้งคำถามถึงภาวะความมีอยู่ของความเป็นสมัยใหม่ อำนาจของรัฐ ประวัติศาสตร์ การเมือง และความเป็นไปในสังคมอย่างเด่นชัด
ผลงานเหล่านี้อาจจะดูต่างจาก "ความเป็นเรา" และดูจะระคายเคืองสำหรับผู้ที่ยังนิยม "ความเป็นแบบแผน" (Conservatives) แต่กระนั้นเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าผลงานที่มี "ความเป็นอื่น" นั้น กลับกล้าที่จะวิพากษ์วิจารณ์ในบริบททางสังคมของเขาอย่างตรงไปตรงมาจนทำให้เราได้คิดถึงแง่มุมหนึ่งของ "ความเป็นเรา"
"ความเป็นเรา" อาจจะเป็น "ความเป็นอื่น" ได้หากไร้ซึ่งการยอมรับใน "ความหลากหลาย" ทั้งทางรูปแบบวิถีชีวิตและแนวความคิด ในขณะที่ "ความเป็นอื่น" อาจมี "ความเป็นเรา" ได้ หากได้รับการเติมเต็มในการยอมรับใน "ความหลากหลาย" ข้ามกรอบความคิด ข้ามกรอบความต่าง ข้ามกรอบสายพันธุ์ ข้ามกรอบอำนาจรัฐ และข้ามกรอบของ "ความเป็นเรา" นั่นเอง
(บทความ "ข้ามกรอบของความเป็นเรา" : นิตยสาร Fine Art ฉบับเดือนมกราคม 2556)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น