วันอังคารที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2553

ยืนเด่นโดยท้าทาย : วิเคราะห์และเปรียบเทียบ “เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา” และภาพยนตร์จีนเรื่อง “Ip Man (2008)”

โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ (2552)

ท่ามกลางความจลาจลทางปัญญาของสังคมไทยในปัจจุบัน ปัญญาชนแต่ละกลุ่ม ผู้คนในสังคมแต่ละพวก ล้วนใฝ่หาข้ออ้างอันชอบธรรมให้กับกลุ่มของตัวเอง ทั้งนี้ก็เพื่อใช้ในการสถาปนาตัวตนต่อสังคม แต่ละฝ่ายมักยกอุดมการณ์ของตนเหนือวิสัยทัศน์ของผู้อื่นเสมอ บางกลุ่มแถลงอุดมการณ์ของตนด้วยความสัจจริง ทว่ายังมีอีกหลายกลุ่มเช่นกันที่มักสร้างอุดมคติอันเลอเลิศเพริศพริ้ง แต่แท้ที่จริงเป็นเพียงฉากหน้าเพื่อชักจูงประชาสัมพันธ์ไปสู่ผลประโยชน์เพียงกลุ่มของตนเองเท่านั้น
กว่าห้าปีที่ผ่านมา ความเคลื่อนไหวของการเมืองภาคประชาชนเกิดขึ้นคล้ายกับปรากฏการณ์ที่เคยมีในอดีต ฉากหน้าความเคลื่อนไหวของแต่ละกลุ่มต่างแสดงความชอบธรรมให้กับอุดมการณ์ของตน อีกทั้งชักจูงมวลชนด้วยบรรยากาศการชุมนุมต่างๆ เช่น การพูดบนเวทีในที่สาธารณะ มีการแสดงละครล้อการเมือง และที่ขาดไม่ได้คือการแสดงสดของดนตรีการเมือง

“เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา” ถือเป็นเพลงปลุกใจในการต่อสู้ทางการเมืองภาคประชาชนอยู่เสมอ ในห้วงเวลานี้ก็เช่นกัน ผู้ชุมนุมทางการเมืองแต่ละกลุ่มต่างก็มีการนำเพลงนี้มาร้องกันในระหว่างที่มีการชุมนุมอย่างมีความหมายเฉพาะของตน หลายครั้งเพลงนี้กลายเป็นเพียงเพลงพื้นๆที่ร้องรำกันอย่างแสนสามัญ แต่ถ้าหากเข้าไปดูประวัติศาสตร์ของเพลงนี้แล้ว จะทำให้ค้นพบความหมายที่ยิ่งใหญ่ซึ่งผูกพันกับผู้ประพันธ์ด้วย



จิตร ภูมิศักดิ์ นักปราชญ์ผู้ประพันธ์เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา

“เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา” เป็นเพลงที่ประพันธ์โดย จิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งเป็นเป็นนักคิดด้านการเมือง ประวัติศาสตร์ และภาษาศาสตร์ นับว่าเป็นหนึ่งในนักปราชญ์ นักปฏิวัติทางความคิด และวิชาการคนสำคัญแห่งยุคสมัย เขาถือเป็นนักวิชาการคนแรกๆที่กล้าถกเถียงและคัดค้านปราชญ์คนสำคัญด้วยวิธีคิดที่มีเหตุผลอย่างลุ่มลึก มีความโดดเด่นจากผลงานการค้นคว้าทางวิชาการที่แปลกใหม่และลึกซึ้ง ขณะเดียวกันก็ยังมีความคิดต่อต้านระบอบเผด็จการ และการใช้อำนาจกดขี่ของชนชั้นสูงมาโดยตลอด

ผลงานของจิตรแต่ละอย่างล้วนแสดงออกถึงความกล้าหาญในความคิด เขาวิเคราะห์สิ่งต่างๆด้วยเหตุผลได้กระจ่างอย่างน่าทึ่ง แม้ว่าบุคลิกที่ดูเรียบร้อยราวกับผ้าพับไว้ ทว่าวิถีชีวิตและมุมมองของเขาต่อสรรพสิ่งกลับโลดโผนเกิดผู้คนในยุคนั้นจะยอมรับได้ สิ่งเหล่านี้เองอาจจะเป็นหนึ่งในความเป็นตัวตนของจิตร ที่ทำให้เขาต้องประสบเคราะห์อยู่เสมอ ตั้งแต่กรณีถูกจับโยนบกในสมัยที่เป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตลอดจนถึงการติดคุกลาดยาวในระยะหลังของชีวิต (พ.ศ. 2503-2505) ตราบจนออกจากคุกจึงเดินทางสู่ไพรพนาหวังรับใช้อุดมการณ์ด้วยการจับปืนเป็นนักปฏิวัติ และไม่นานหลังจากนั้นเขาก็เสียชีวิตลงจากการถูกกระสุนปืน ณ ชายป่าแห่งหนึ่งในจังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2509

การเสียชีวิตของ จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นเพียงสายลมแผ่วๆ สำหรับผู้มีอำนาจในยุคนั้น เขามิได้มีความสำคัญเท่าใดนักกับชนชั้นปกครอง หากแต่การสูญสิ้นชีวิตของเขากลับกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ปัญญาชนคนหนุ่มสาวในยุคนั้นเริ่มให้ความสำคัญกับผลงานอันทรงคุณค่าของเขามากยิ่งขึ้น ยิ่งในช่วงก่อนและหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ผลงานของจิตรนับว่าเป็นประดุจหนึ่งในคัมภีร์ทองสำหรับปัญญาชนหัวก้าวหน้าในยุคนั้น อาทิเช่น “ศิลปะเพื่อชีวิตศิลปะเพื่อประชาชน” เป็นต้น และ ณ ห้วงเวลาเช่นนั้น “เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา” ก็ปรากฏขึ้นในเรือนใจท่ามกลางคนหนุ่มสาวเรือนแสนผู้ฝันใฝ่สังคมอันงดงาม

จิตร ภูมิศักดิ์ ได้ประพันธ์เพลงนี้ขึ้น ขณะที่ถูกคุมขังอยู่ในคุกลาดยาว ต่อมาเพลงนี้ถูกนำมาขับร้องโดยวงคาราวานในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 มีเรื่องเล่ากล่าวกันว่า ในยุคเผด็จการทรราชครองเมือง นักศึกษาบางส่วนถูกสังหารและบางส่วนถูกจับกุมคุมขังเขาไปอยู่ในคุก ท่าม กลางความท้อแท้ สิ้นหวัง หวาดกลัว เจ็บแค้นระคนปวดร้าว พลันก็มีคนๆหนึ่งส่งเสียงร้อง “เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา” ทำลายความเงียบงันของบรรยากาศในคุก เสียงนักโทษที่ร้องเพลงจากหนึ่งเสียงเพิ่มขึ้นทีละเสียงจนดังกังวานก้องไปทั่วพื้นที่ ดังแทรกเข้าไปสู่จิตวิญญาณของผู้เรียกร้องเสรีภาพและความเป็นธรรม

เนื้อเพลง แสงดาวแห่งศรัทธา มีอยู่ว่า

“พร่างพรายแสง ดวงดาวน้อยสกาว
ส่องฟากฟ้า เด่นพราวไกลแสนไกล
ดั่งโคมทอง ส่องเรืองรุ้งในหทัย
เหมือนธงชัย ส่องนำจากห้วงทุกข์ทน
พายุฟ้า ครืนข่มคุกคาม
เดือนลับยาม แผ่นดินมืดมน
ดาวศรัทธา ยังส่องแสงเบื้องบน
ปลุกหัวใจ ปลุกคนอยู่มิวาย
ขอเยาะเย้ย ทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ
คนยังคง ยืนเด่นโดยท้าทาย
แม้นผืนฟ้า มืดดับเดือนลับละลาย
ดาวยังพราย ศรัทธาเย้ยฟ้าดิน
ดาวยังพราย อยู่จนฟ้ารุ่งราง”

ในระยะเวลาต่อมา เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา กลายเป็นเพลงปลุกใจให้กับการต่อสู้ต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพื่ออุดมการณ์อันยิ่งใหญ่และความใฝ่ฝันอันแสนงาม ซึ่งหากเราพิจารณากันจริงๆ ก็จะพบว่าแท้ที่จริงแล้ว จิตรกำลังถ่ายทอดความรู้สึกที่มีต่อความศรัทธา กล้าหาญ และไม่ยอมพ่ายแพ้ ของตัวเองในขณะที่เขาอยู่ในคุก จะเห็นได้ว่าความโลดโผนแห่งโชคชะตาของจิตรมิเพียงเป็นคลื่นร้ายที่คอยทำลายเขาในวันที่ตกระกำลำบากเท่านั้น หากแต่ยังเป็นบททดสอบขนาดของหัวใจของชายหนุ่มที่ไม่เคยเห็นอุปสรรคที่กว้างใหญ่ไปกว่ามดปลวก ความพลิกผันของชีวิตกลับทำให้เขาเย็นชาต่อความทุกข์ยากทั้งปวง มองข้ามสายน้ำเชี่ยวแห่งชะตากรรมอันโหดร้ายไปสู่ฟากฝั่งแห่งความงดงาม ทั้งๆที่ความเป็นจริงแล้ว ในชีวิตของจิตรหาชัยชนะทางสังคมให้กับตัวเองได้ยากเต็มที

บทเพลงนี้จึงเป็นเสมือนการบ่งบอกถึงความศรัทธาในความเป็นมนุษย์ของ จิตร ภูมิศักดิ์ อีกทั้งแง่มุมในการมองโลกล้วนเต็มไปด้วยความหวังที่มีให้กับตัวเองอยู่ตลอดเวลา ดังเนื้อเพลงในท่อนที่ว่า

“...พายุฟ้า ครืนข่มคุกคาม
เดือนลับยาม แผ่นดินมืดมน
ดาวศรัทธา ยังส่องแสงเบื้องบน
ปลุกหัวใจ ปลุกคนอยู่มิวาย...”

จิตรเปรียบเปรยปรากฏการณ์ของธรรมชาติกับสภาวะจิตใจของมนุษย์ เขาได้ให้ทัศนะว่าความเป็นไปของคลื่นพายุใดๆจะนำพาความมืดมิดมาบดบังแสงจันทร์มิให้ส่องกระจ่าง ทว่าแสงของดวงดาวแม้มิได้มีขนาดและกำลังแสงที่ยิ่งใหญ่กว่าดวงเดือน แต่กลับยังคงมีแสงของตัวเองส่องประกายระยิบอยู่เบื้องบน เสมือนเป็นการสร้างความหวังและกำลังใจกับมนุษย์เสมอว่า ดวงดาวยังคงกระพริบแสงระยับอยู่แม้แสงเดือนจะเลือนลับหาย จุดนี้จิตรยังเน้นย้ำเขาไปอีกในช่วงสร้อยของเพลงอันทรงพลังว่า


“...ขอเยาะเย้ย ทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ
คนยังคง ยืนเด่นโดยท้าทาย
แม้นผืนฟ้า มืดดับเดือนลับละลาย
ดาวยังพราย ศรัทธาเย้ยฟ้าดิน...”

เนื้อหาในเพลงช่วงนี้ถือเป็นที่จดจำของผู้คนมากที่สุด หลายครั้งที่ใครก็ตามได้ฟังจนถึงช่วงนี้ของเพลงก็จะรู้สึกปลุกความหยิ่งทะนงอะไรบางอย่างที่มนุษย์พึงมีต่อชะตาชีวิตที่บีบเค้น จิตรได้เย้ยหยันในสรรพสิ่งที่เป็นเสมือนขวากหนามของชีวิต ความทุกข์ยากนานาที่มนุษย์พึงประสบนั้นจะยิ่งใหญ่เพียงใดก็ตาม แต่มนุษย์นั้นก็ยังคงมิได้พรั่นพรึง อีกทั้งยังมิกลัวและไม่เข็ดขยาดต่อสิ่งทั้งปวง ตรงกันข้ามเสียอีกว่า มนุษย์ยังขอท้าทายความทุกข์ยากต่างๆอย่างไม่หลบหลีก เขาได้อุปมาอุปไมยความอหังการของมนุษย์ที่ไม่ยินยอมให้ชะตาชีวิตมากดขี่โดยใช้ธรรมชาติเป็นฉาก บรรยายถึงความมืดมิดที่คลี่คลุมทั้งโค้งท้องฟ้าและดวงเดือน หากแต่แสงของดวงดาวยังคงสว่างกระจ่างย้ำเตือนเย้ยสรรพสิ่งในเอกภพ

ทั้งนี้ทั้งนั้นจะเป็นไปได้ไหมว่า ความมืดมิดและความทุกข์ยากที่ปรากฏในบทเพลงแท้ที่จริงอาจจะวิเคราะห์ได้สองแง่มุม กล่าวคือ

ในระดับปัจเจกบุคคล ความมืดมิดนี้เป็นทั้งความทุกข์ภายนอกและภายในของแต่ละบุคคล มนุษย์ต้องพานพบนานาสารพันปัญหาของชีวิต ปัญหานั้นมิใช่มีไว้เพื่อเป็นความระทมกับชีวิต แต่ต้องแก้ไขด้วยตัวของเราเอง ประกอบกับต้องไม่หวั่นไหว และยอมรับโชคชะตาอย่างไม่จำนน

แต่หากมองในระดับสังคมแล้ว ความมืดมิดทั้งปวงนั้นก็คือความมืดบอดของสังคมที่ไร้เสรี ภาพทางปัญญา ซึ่งจิตรได้ประพันธ์เพลงนี้ในยุคสมัยที่เขาได้เข้าไปอยู่ในคุก สิ่งที่เรียกว่าเสรีภาพและอิสรภาพเรียกได้ว่าหาได้น้อยเต็มที การเชื่อมโยงระหว่างเวลาและสถานที่ของผู้ประพันธ์ กับความเป็นไปของยุคสมัยทำให้บทเพลงนี้เต็มไปด้วยบริบทที่ขรึมขลังอยู่ตลอดกาล จุดนี้เองเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้นักเคลื่อนไหวทางสังคมต่างๆ นำเนื้อหาและบริบทของของบทเพลงนี้ไปเป็นความหมายในการเรียกร้องความเป็นธรรมในเรื่องต่างๆอยู่เสมอ

เมื่อมองในด้านทำนองของเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา กลับมิได้ปรากฏความเข้มเข็งแบบเพลงเดินแถว (March) แต่กลับเป็นทำนองช้าๆ ทว่าทุกๆเนื้อร้องจะเน้นคำอย่างชัดเจน เพลงค่อยๆดำเนินไปอย่างเนิบๆ แต่พอถึงท่อนสร้อยที่ว่า “...ขอเยาะเย้ย ทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ... (จนถึง) ศรัทธาเย้ยฟ้าดิน...” จะมีการร้องที่ย้ำคำแน่นกว่าในส่วนอื่นๆ ทั้งนี้เป็นการบ่งชี้ประเด็นในสิ่งที่ผู้แต่งและผู้ขับร้องต้องการจะสื่อกับผู้ฟังถึงจุดประสงค์ของเพลง ซึ่งความไม่รุนแรงของทำนองเพลงนี้ทำให้บรรยากาศของเพลงเต็มไปด้วยการปลอบประโลม ให้ความหวัง กำลังใจ ความศรัทธา ระคนกับการปลุกให้ลุกขึ้นต่อต้านโชคชะตาด้วยคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

ความหวัง ความศรัทธา และความทะนงในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์นี้เอง เป็นสิ่งหนึ่งที่ทรงคุณค่าในความเป็นมนุษย์ ซึ่งยังได้ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์จีนย้อนยุคที่แสดงถึงความรู้สึกชาตินิยมและศิลปะการต่อสู้ของคนจีน เรื่อง “Ip Man (2008)” ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างขึ้นอิงชีวประวัติจริงของครูมวย Wing Chun ซึ่งเป็นอาจารย์ที่สอนวิชาการต่อสู้ให้กับ Bruce Lee ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังกวาดรางวัลถึง 12 รางวัลในงาน Hong Kong Film Awards

ในภาพยนตร์เล่าถึงช่วงทศวรรษที่ 1930s - 1940s อันเป็นระยะเวลาสงคราม Second Sino-Japanese War โดยเล่าถึงบุรุษหนุ่มผู้เชี่ยวชาญมวยกังฟู Wing Chun นาม Ip Man เขาอาศัยอยู่ในเมือง Foshan ซึ่งถือเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยโรงเรียนสอนมวยกังฟู เปรียบเสมือนสวรรค์ของเหล่าผู้ต้องการเรียนศิลปะการต่อสู้ เขาเป็นผู้ที่มีฐานะดีและเป็นที่ยกย่องในวงสังคมของเมืองนั้น ครอบครัวของเขามีภรรยาและลูกชายที่ยังเล็ก หลายครั้งที่เหล่านักสู้และครูมวยต่างถิ่นมักมาประลองฝีมือกับเขาเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ อีกทั้งหวังว่าหากชนะ Ip Man พวกเขาก็จะมีชื่อเสียงขึ้นบ้าง แต่ทุกครั้งที่มีการประลองยุทธ์ Ip Man ก็มักเป็นฝ่ายชนะอยู่เสมอ


Ip Man ปรมาจารย์มวย Wing Chun ตัวจริง

เหตุการณ์ก้าวล่วงเข้าสู่ปี 1937 กองทัพญี่ปุ่นได้กรีฑาทัพเข้ามาควบคุมทุกหย่อมหญ้าของเมือง Foshan บ้านของ Ip Man ถูกกองทัพญี่ปุ่นยึด เขากลายสภาพจากผู้ร่ำรวยไปอาศัยในตึกร้างเล็กๆซอมซ่อ และต้องทำอาชีพเป็นกรรมกรเหมือนกับคนจีนทุกคนในขณะนั้นที่ถูกกองทัพญี่ปุ่นจับมาทำงานเพื่อแลกอาหารเพียงน้อยนิด ทว่าหนทางสำหรับผู้ต้องการอาหารที่มากกว่าปกติก็พอมี นั้นคือ การไปประลองยุทธ์กับทหารญี่ปุ่นที่ใช้วิชาการต่อสู้ คาราเต้ (Karate) คนจีนคนใดที่ชนะนักคาราเต้จะได้ข้าวสารหนึ่งถุงเป็นรางวัล สำหรับผู้แพ้ถ้าไม่สิ้นชีวิตก็ได้รับบาดเจ็บอย่างสาหัส


Ip Man ในภาพยนตร์

ทั้งนี้เนื่องจากผู้บัญชาการกองทัพญี่ปุ่นชื่อ Miura เป็นผู้ที่มีความชื่นชอบและฝึกศิลปะการต่อสู้คาราเต้อยู่เสมอ การที่เขายื่นข้อเสนอให้นักมวยกังฟูเข้ามาประลองกับเหล่าทหารของตนที่เชี่ยวชาญวิชาคาราเต้ระดับสายดำเนื่องด้วยต้องการเรียนรู้มวยจีน และด้วยอุปนิสัยของเขาประกอบกับฐานะระดับสูงทางกองทัพ ทำให้เขาเป็นบุคคลที่เฉียบขาด เลือดเย็น และน่าพรั่นพรึงที่สุด


Ip Man คนเดียวสู้กับนักคาราเต้สายดำทั้ง 10 คน

วันหนึ่งเมื่อ Ip Man ได้รับข่าวว่าลูกศิษย์และมิตรสหายของเขาพ่ายแพ้ในการต่อสู้กับ Miura แต่ไม่ยอมจำนน ถึงขนาดสู้จนตัวตายอย่างทรมาน เขาจึงเข้ามาสู่เวทีการประลองด้วยความแค้นและสามารถชนะนักต่อสู้คาราเต้ในครั้งเดียวถึง 10 คนอย่างง่ายดาย ทำให้ Miura สนใจในบุรุษนิรนามชาวจีนผู้นี้เป็นอย่างสูง ถึงกับลงจากระเบียงที่ยืนดูมาที่เวทีประลอง พลันถามว่าคนจีนผู้นี้คือใคร อีกทั้งให้ข้าวถึง 10 ถุงในฐานะที่เป็นผู้ชนะ พร้อมยื่นข้อเสนอว่าหาก Ip Man สอนวิชากังฟูให้กับเขาและทหารในกองทัพญี่ปุ่น พวกเขาก็ให้ความสะดวกสบายทุกอย่าง หากแต่ Ip Man บอกแต่เพียงสั้นๆว่า เขาคือคนจีนคนหนึ่ง แล้วเดินจากไปโดยมิได้แยแสข้าวสารสักถุง ทั้งๆที่วันนั้นเขามีเพียงหม่านโถวเพียงสองก้อนสำหรับสามชีวิตในครอบครัวเท่านั้น

หลังจากวันนั้น Miura เฝ้าฝึกซ้อมคาราเต้อย่างหนักและให้ทหารคนสนิทหาตัว Ip Man ให้มาสอนวิชามวยให้ได้ ฝ่าย Ip Man เห็นอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับครอบครองของตนในอนาคต จึงให้เพื่อนสนิทของเขาช่วยพาครอบครัวเขาไปอยู่ที่ฮ่องกง หลังจากนั้นไม่นานเขาถูกกองทัพทหารญี่ปุ่นจับเข้าคุก โดยที่ Miura ยื่นข้อเสนอว่า หากเขาสอนวิชามวยแล้ว กองทัพญี่ปุ่นจะให้ความสุขสบายครอบครัวของเขา พร้อมทั้งท้าประลองยุทธ์ในที่สาธารณะ ซึ่งเมื่อทหารคนสนิทเข้ามาในคุกหลังจาก Miura ออกไปแล้ว ก็ได้ยื่นข้อเสนอว่าถ้า Ip Man ชนะเขาจะโดนยิง ดังนั้นทางเลือกสำหรับเขาคือ ต้องเป็นฝ่ายที่แพ้เท่านั้น

Ip Man ในยามร่ำรวย

ในวันประลองยุทธ์คนจีนจำนวนมากมารอเฝ้าชมอยู่หน้าเวทีการประลอง ทั้งนี้หากฝ่าย Ip Man ชนะก็จะถือเป็นการประกาศศักดิ์ศรีของชาวจีนด้วย และเมื่อทั้งคู่ก้าวขึ้นมาบนเวที การต่อสู้จึงเกิดขึ้นอย่างดุเดือด Miura ใช้วิชาคาราเต้ ส่วน Ip Man ใช้วิชามวย Wing Chun ทั้งคู่ต่างผลัดกันรุกและรับกันอย่างเท่าเทียม แต่ต่อมา Miura ก็เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ลงอย่างง่ายดาย เมื่อการเป็นเช่นนี้ทหารคนสนิท ของ Miura จึงใช้ปืนยิง Ip Man จากข้างหลังล้มลงคาเวที แต่สิ่งที่กองทัพญี่ปุ่นไม่คาดคือ เมื่อ Ip Man ซึ่งเป็นประดุจความหวังของเหล่าชาวจีนต้องล้มลง ฝูงมหาชนชาวจีนที่มาดูการประลองก็ลุกฮือขึ้นต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นอย่างไม่กลัวตายกลายเป็นจลาจลขึ้น หลังจากนั้น Ip Man ก็ถูกส่งตัวไปรักษาและอพยพไปอยู่ฮ่องกง เปิดสำนักมวย Wing Chun และอาศัยอยู่ที่นั่นตราบสิ้นชีวิต


Ip Manในช่วงสงคราม





Miura ใช้วิชาคาราเต้ต่อสู้กับ Ip Man ในฉากช่วงท้ายของภาพยนตร์

แม้ว่าหลายคนจะคุ้นชินกับการชมภาพยนตร์กังฟูที่มีอยู่มากมาย หลายเรื่องใช้เทคนิคต่างๆให้ดูน่าตื่นตาตื่นใจ มีภาพและฉากที่อลังการมากมายเพียงใด หากแต่เมื่อได้มาชมภาพยนตร์เรื่อง Ip Man (2008) แล้ว จะพบความประทับใจที่ต่างจากภาพยนตร์กังฟูหลายๆเรื่อง

ตลอดทั้งเรื่องเป็นฉากเมือง Foshan ในอดีต ซึ่งผู้สร้างได้เนรมิตขึ้นมาใหม่ โดยอาศัยภาพถ่ายเก่าๆของ Ip Man การเจาะลึกในการสร้างฉากทำให้เกิดความสมจริงสมจังในเวลาและสถานที่เป็นอย่างมาก ดนตรีประกอบแต่ละฉากเต็มไปด้วยอารมณ์แบบพรรณนา แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเสียงกลองมากกว่าเครื่องดนตรีอื่นๆ และมักจะเน้นหนักในฉากการต่อสู้

โทนสีของภาพเป็นลักษณะเอกรงค์ (Monotone) ภาพรวมส่วนใหญ่ประกอบไปด้วย สีขาว สีเทา และสีดำ โดยเฉพาะสีขาวและดำมักปรากฏอยู่เสมอ ทั้งนี้ผู้สร้างอาจต้องการเปรียบเทียบอะไรบางอย่าง เช่น Miura ใส่ชุดคาราเต้สีขาว Ip Man ใส่ชุดแบบจีนสีดำ เป็นต้น อย่างไรก็ตามลักษณะกลุ่มโทนดังกล่าวทำให้ขับเน้นโครงเรื่องที่เต็มไปด้วยโศกนาฏกรรม (Tragedy) ได้อย่างดี ตลอดทั้งเรื่องผู้ชมจะสนุกกับการต่อสู้ที่สมจริงสวยงาม และการที่ผู้สร้างได้เลือก Donnie Yen แสดงเป็น Ip Man ก็นับว่ามีความเหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง เพราะโดยส่วนตัวเขาเองเกิดในตระกูลครูมวยกังฟู มารดาของเขาเป็นผู้สอนวิชามวยจีนให้ตังแต่เด็ก ดังนั้นเขาจึงเป็นผู้ที่รู้วิชากังฟูดีพอสมควร ภาพการต่อสู่ที่ออกมาจึงทำให้แต่ละท่วงท่าในฉากมีความงดงามลงตัวอย่างน่าชื่นชม

เนื่องด้วย Ip Man เป็นบุคคลที่มีตัวตนจริง อีกทั้งในยุคก่อนมีการบันทึกภาพเคลื่อนไหวการซ้อมมวย Wing Chun ของเขา จึนสันนิษฐานได้ว่าผู้สร้างต้องนำภาพเคลื่อนไหวนี้มาศึกษาท่วงท่ากิริยาของ Ip Man พร้อมกับให้ผู้เชี่ยวชาญด้านมวย Wing Chun และวิชากังฟูอื่นๆ มาร่วมกันสร้างองค์ประกอบต่างๆในฉากการต่อสู้ ซึ่งนับว่าน่าจะเป็นภาพยนตร์กังฟูเรื่องหนึ่งที่มีฉากการต่อสู้ที่ดีและสมบูรณ์ที่สุด
เมื่อได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้จนจบ สิ่งที่ผู้ชมได้สัมผัสคือความไม่ย่อท้อของ Ip Man ต่อความทุกข์ยากรอบกาย ตลอดทั้งเรื่องเราจะไม่เห็นการตัดพ้อต่อชะตาชีวิตของเขาที่เรียกได้ว่าจากเกิดจากฟ้าและล่วงลงสู่ดิน ทั้งนี้เนื่องจากการปูพื้นเนื้อเรื่องในช่วงก่อนสงครามแสดงให้เห็นว่า เขามีฐานะทางสังคมที่ถือว่าเป็นผู้ดีมีชาติตระกูล มีทรัพย์ที่ใช้สอยได้อย่างสุขสบาย มีวิชาความรู้ที่เป็นที่ยกย่อง และเป็นต้นแบบให้กับผู้คนในชุมชน แต่เมื่อเหตุการณ์กลับกัน เขากลับมิได้ปริปากบ่นให้ครอบครัวต้องรู้สึกลำบากแต่อย่างใด ทั้งๆที่เขาต้องลำบากกับการเอาชีวิตรอดไปวันๆ เขายังต้องนึกถึงการดำรงอยู่ของภรรยาและลูกโดยไม่ให้ต้องหิวโหยและลำเค็ญจนเกินไป อีกทั้งต้องคอยเป็นผู้ให้กำลังใจกับครอบครัวตลอดทั้งๆที่ต้องอดทนขมกลืนความทุกข์ยากอยู่เพียงลำพัง ภาพรวมของสิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนอุปนิสัยของ Ip Man ตลอดทั้งเรื่องว่า เขาเป็นผู้ไม่ยอมพ่ายแพ้ต่อโชคชะตา ยังคงยืนหยัดในศักดิ์ศรีของตนอย่างทะนงตัว และเนื่องด้วยภาพรวมของภาพยนตร์เรื่องนี้เอง ทำให้เราได้หวนคำนึงถึงบทเพลง แสงดาวแห่งศรัทธา อีกครั้ง

สิ่งที่ “เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา” และ “Ip Man” ได้แสดงออกมา คือ เมื่อใดก็ตามที่ความมืดมิด ความทุกข์ยากลำบากของชีวิต กระทั่งความจลาจลทางปัญญาของสังคม ได้ห่มคลุมไปทั่วทุกพื้นที่แล้ว มนุษย์เราในฐานะปัจเจกบุคคลควรจะทำเช่นไรเพื่อก้าวไปสู่จุดที่แสงสว่างปรากฏ ทั้งเพลง แสงดาวแห่งศรัทธา และ Ip Man มิได้แสดงออกถึงการตั้งคำถามต่อผู้ฟังและผู้ชม ไม่ได้เป็นผู้สร้างประเด็นใหม่อะไรให้กับผู้เสพ แต่ทั้งสองสื่อกำลังส่งสารถึงผู้คนทุกยุคสมัยในการรู้จักและดำรงอยู่ของคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ อีกทั้งเชิญชวนให้ผู้เสพร่วมค้นหาความเป็นตัวเองท่ามกลางกระแสความเป็นไปของโลกธรรม เพราะการที่เราหมุนตัวตนไปตามโลกมากจนเกินไป หรือลื่นไหลไปบนธาราแห่งชะตากรรมด้วยความจำยอมย่อมมิใช่สิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งถ้าหันไปดูสิ่งต่างๆในธรรมชาติจะเห็นว่าสรรพสิ่งย่อมต้องย้อนแย้งกระแสโลกอยู่เสมอ อาทิเช่น ในโลกของปลาก็ไม่เคยมีมัจฉาชนิดใดที่ไม่ว่ายทวนน้ำ เป็นต้น มนุษย์เราก็เฉกเช่นกันหากไร้แรงเสียดทานที่มีต่อโลกบ้าง มีชีวิตอยู่ไปความหมายของลมหายใจคงน้อยเต็มที

ขณะที่เพลงแสงดาวแห่งศรัทธามีทำนองที่ไม่หวือหวาจนเกินอารมณ์ร่วม ไม่เข้มแข็งดังเพลงเดินแถว แต่ทุกห้วงทำนองที่นิ่มนวลกลับเต็มไปด้วยการเน้นคำแต่ละคำอย่างลึกซึ้ง ดื่มด่ำลุ่มลึกไปสู่ก้นบึ้งของหุบเหวแห่งความรู้สึก เฉกเดี่ยวกับวิชามวย Wing Chun ในเรื่อง Ip Man ที่ในยุทธภพกล่าวกันว่าเป็นมวยสตรีเนื่องด้วยผู้คิดค้นเป็นอิตถีเพศ กระทั่งการเคลื่อนไหวไม่ดุดันแบบมวยกังฟูชนิดอื่นดูพลิ้วไหวนุ่มนวล ที่สำคัญยังเป็นมวยประเภทรับมากกว่าจะเป็นฝ่ายรุก ซึ่งหากดูตลอดทั้งเรื่องจะเห็นว่า น้อยเต็มทีที่จะเห็น Ip Man เป็นฝ่ายรุกในการต่อสู้ ทว่าทุกท่วงท่าที่นุ่มนวลนั้น กลับเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างชัดเจน การตอบโต้แต่ละครั้งหนักหน่วงและแม่นยำ คล้ายกับทำนองของเพลงแสงดาวแห่งศรัทธาที่ทุกคำร้องจะเน้นคำอย่างชัดเจน

และเมื่อเราหันกลับไปดูประวัติจริงของ จิตร ภูมิศักดิ์ และ Ip Man ก็จะเห็นว่าทั้งสองคนเป็นบุคคลร่วมสมัยกัน ในขณะที่จิตรเป็นต้นแบบของปัญญาชนหัวก้าวหน้าในประเทศไทย Ip Man ก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับเหล่าคนจีนผู้รักชาติที่ไม่ยอมแพ้แก่กองทัพญี่ปุ่นผู้รุกราน ที่สำคัญทั้งสองเป็นนักต่อสู้กับโชคชะตาอย่างมิเคยพร่ำพรรณนา จิตรใช้ปัญญาและปากกาเป็นอาวุธในการต่อต้านระบอบเผด็จการและใฝ่หาสังคมอุดมคติ Ip Man มีวิชามวยจีนเป็นอาวุธในการต่อสู้กับศัตรูผู้รุกรานประเทศชาติและใฝ่หาอิสรภาพแห่งชาติพันธุ์ ทั้งสองต่างตกอยู่ในวงล้อมของชะตากรรมที่ดูเหมือนว่าจะไม่ปราณี แต่เขาทั้งสองกลับยืนขึ้นท้าทายความทุกข์ยากด้วยขนาดของจิตใจที่ใหญ่กว่าปกติ ทั้งนี้ก็ด้วยแรงขับเคลื่อนที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ทั้งสองใช้ในการต่อสู่บนเวทีชีวิต นั้นคือสิ่งที่เรียกกันว่า อุดมการณ์

อุดมการณ์ของจิตรวาดหวังในการสร้างสังคมใหม่ตามความคิดของเขา เขาเชื่อมั่นและศรัทธาอย่างแรงกล้าที่จะเป็นดวงดาว ซึ่งอานุภาพของแสงกระพริบระยิบระยับเหนือความมืดบอดทางปัญญาของสังคม ขณะเดียวกัน Ip Man มีอุดมการณ์ทางชาตินิยมคอยเป็นแรงพลังทางใจที่ทำให้เขาก้าวเข้าไปบนวิถีแห่งการประลองยุทธ์บนเวทีชีวิต พวกเขาทั้งสองมิพียงต่อสู้เพื่อให้ชีวิตของตนรอดพ้น หากแต่ยังอุทิศตนเพื่อองค์รวมของสังคมให้เป็นไปในทางที่ดี อัตลักษณ์ของจิตรที่ผ่านทางบทเพลงและความเป็น Ip Man ในภาพยนตร์ จึงมีความหมายที่ไม่ต่างกันนัก นั้นคือ ความกล้าหาญที่จะเงยหน้าเย้ยฟ้าและท้าปฐพีให้มาขีดลิขิตชีวิตโดยที่ตัวของพวกเขาเองจะไม่ดำเนินตามอย่างยอมจำนน

ในสภาพสังคมไทยปัจจุบัน เรามักเห็นผู้ที่สวมหน้ากากแห่งความกล้าหาญ ต่างลุกขึ้นยืนเรียงหน้าอยู่บนเวทีสังคม ต่างก็อ้างสิทธิความชอบธรรมของตนในการกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง พรรณนาถึงอุดมการณ์ของตนด้วยการยกยอถึงความดีงามที่ควานหาได้แต่เพียงลมปากอันเน่าเหม็น จิตวิญญาณอย่าง จิตร ภูมิศักดิ์ ที่มุ่งมันศรัทธาในการสร้างสังคมใหม่ที่งดงาม และความทะนงในศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ของ Ip Man กลับกลายเป็นวิถีชีวิตอันเพ้อเจ้อ เหลวไหล จนกระทั่งจางหายไปจากสังคมไทยปัจจุบันอันสุดแสนจะมืดมัวทางปัญญา ทุกคนต่างใฝ่หาความสุขสบายส่วนตัวแม้ทั่วทุกหัวระแหงจะเต็มไปด้วยความฉ้อฉลจนกลายเป็นมิจฉาทิฐิ และที่เลวร้ายที่สุดคือ ยอมกระทั่งแลกศักดิ์ศรีคุณค่าของความเป็นคน ตลอดจนยอมจำนนกับอำนาจของโชคชะตา กระทำสรรพสิ่งให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ส่วนตน.

วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2553

จาก Land Art และ Spiral Jetty สู่ นิเวศน์ศิลป์ ริมฝั่งแม่น้ำโขง

ยามใดที่ความพึงพอใจต่อระบอบและระบบการแสดงผลงานศิลปะแบบพึ่งพิงหอศิลป์ ไม่สามารถรองรับปัจจัยทางความคิดของศิลปินได้ ณ ห้วงนั้นศิลปินย่อมค้นหาพื้นที่นอกกรอบจารีตการแสดงออกแบบเดิมๆ หากเราย้อนดูความเคลื่อนไหวของศิลปะร่วมสมัย (Contemporary Art) ทั่วโลกในปัจจุบัน วาทกรรมเรื่องการมีอยู่ของพื้นที่ทางศิลปะ ทั้งพื้นที่ตามแบบแผน (Gallery, Museum, Art Space) หรือพื้นที่ทางเลือก (Alternative Space) ก็ตาม กลับมิใช่บริบทที่สร้างเป็นประเด็นอีกต่อไป เนื่องจากการเดินทางของโลกแห่งศิลปะร่วมสมัยนั้นได้ก้าวข้ามผ่าน ณ จุดนี้ไปหลายทศวรรษแล้ว

แต่เมื่อหวนกลับไปสู่ผลงาน ณ ห้วงเวลาระหว่างทศวรรษ 1960s - 1970s ประเด็นพื้นที่ทางศิลปะแบบจารีตได้ถูกท้าทายจากศิลปินที่ทำงานและแสดงผลงานสร้างสรรค์นอกห้องแสดงศิลปะ ความเสื่อมศรัทธาต่อระบอบหอศิลป์ ประกอบกับความฟุ้งเฟ้อของศิลปะสมัยใหม่ที่อิ่มตัวจนมีปัจจัยทางสังคมต่างๆ เข้ามาแทรกแซงพร้อมกับการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของระบบทุนนิยม (capitalism) ทำให้ศิลปินหัวก้าวหน้าในยุคนั้นต้องหาทางออกแบบใหม่ ทว่าเป็นการเปลี่ยนถ่ายกันระหว่างองค์ความรู้แบบโลกยุคสมัยใหม่ (Modern) กับการหวนไปหาจิตวิญญาณแบบอารยธรรมดั้งเดิม (Primitive) ศิลปินกลุ่มนี้เห็นคุณค่าของการสร้างสรรค์ผลงานที่อิงแอบไปกับภูมิทัศน์ของแต่ละพื้นที่ สำรวจรายละเอียดทางสภาพแวด ล้อมของพื้นที่นั้นๆ ไม่ว่าจะเป็น กระแสลม กระแสน้ำ หรือทัศนวิสัยอื่นๆ ด้วยการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่ต้องลงสู่พื้นที่ทางภูมิศาสตร์จริง สัมผัสกับธรรมชาติอย่างจริงจัง ทำให้เกิดคำนิยามผลงานของศิลปินเหล่านี้ว่า Land Art (หรือEarth Art หรือ Earthworks บางครั้งก็เรียก Environmental Art ทั้งหมดนี้เป็นชื่อที่แต่ละตำราทางศิลปะได้อธิบาย ซึ่งการจะเรียกอย่างไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับบริบทของการตีความว่าจะมองในมุมใด)

Land Art หรือ Earth Art เป็นลักษณะผลงานศิลปะที่สร้างสรรค์ด้วยวัตถุดิบจากธรรมชาติ เช่น หิน ทราย เป็นต้น ซึ่งมีการใช้ศัพท์เรียกศิลปะประเภทนี้ได้หลากหลาย เช่น Earthworks อันเนื่องจากผลงานในลักษณะแบบนี้นอกจากจะใช้วัตถุดิบที่ได้จากธรรมชาติแล้ว ยังมักจะมีโครงสร้างที่ใหญ่ครอบคลุมพื้นที่มหาศาล ศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานแนวนี้จะมีหลักการการแสดงออกที่คล้ายกัน คือ

ประการที่หนึ่ง มีการใช้พื้นที่ทางธรรมชาติเป็นบริบทหลักในการทำงาน โดยที่ศิลปินจะเป็นผู้เข้าไปจัดการภูมิทัศน์ จึงทำให้มีการเรียกผลงานประเภทนี้ว่า ภูมิศิลป์

ประการที่สอง วัตถุดิบต่างๆที่จะนำมาสร้างสรรค์ต้องเป็นผลผลิตจากธรรมชาติ แต่ผลงานที่สร้างต้องมิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ แต่เป็นการเข้าไปจัดการพื้นที่ โดยศิลปินใช้วัสดุขั้นปฐมภูมิของธรรมชาติมาสร้างเป็นรูปลักษณ์ขึ้นมา (Man made pattern) สิ่งต่างๆที่ศิลปินเอาเข้ามาจัดการ (เช่น หิน ดิน ทราย เป็นต้น) มิได้สื่อถึงสารัตถะของตัวมันเอง แต่กลับเป็นเสมือนสะพานที่เชื่อมระหว่างมนุษย์ไปสู่ความคิดในการสร้างสรรค์ศิลปะ เปิดประเด็นทางความคิดมากกว่าจะเป็นประเด็นโดยความหมายของวัตถุเดิม

ประการสุดท้าย ศิลปะประเภทนี้ได้รับอิทธิพลทั้งทางรูปแบบและแนวคิดบางอย่างจากศิลปะแบบ อนารยชน (Primitive) อารยธรรมโบราน และผลงานก่อนประวัติศาสตร์ กล่าวคือ ผลงานศิลปะในอดีตส่วนใหญ่สร้างขึ้นบนพื้นที่ธรรมชาติ เพื่อส่งสารกับสิ่งที่แต่ละชนเผ่าเชื่อ ซึ่งรูปลักษณ์ของงานในอดีตจะเป็นรูปทรงแบบง่ายๆ (Simple Form) เช่น รูปทรงสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยมและวงกลม สังเกตได้จากปิระมิด (Pyramid) ในอารยธรรมอียิปต์ที่ใช้รูปทรงสามเหลี่ยมเป็นโครงสร้าง หรืออิทธิพลของวัฒนธรรมหินตั้งในยุคก่อนประวัติศาสตร์ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยในการสร้างผลงาน Land Art ด้วยเช่นกัน

Land Art เป็นที่นิยมของศิลปินที่รักความท้าทายโดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา ศิลปินผู้สร้างงานศิลปะแนวนี้มีอยู่จำนวนไม่น้อย ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่สร้างผลงานแบบ Minimal Art และ Conceptual Artผสมผสานกันไป แต่ผลงานที่โดดเด่นที่สุดและมักถูกกล่าวอ้างอยู่เสมอคือ ผลงานที่ชื่อ Spiral Jetty

ภาพที่ 1 Spiral Jetty จากมุมทางอากาศมองเข้าหาฝั่ง
ที่มา : Brian Wallis, Land and Environmental Art, (Hong Kong: Phaidon Press Limited, 2005), 59.

Spiral Jetty (ภาพที่ 1) เป็นผลงานที่มีชื่อเสียงของ Robert Smithson ศิลปินชาวอเมริกัน ผลงานชิ้นนี้สร้างเมื่อเดือนเมษายน ปี 1970 ใช้เวลาสร้าง 6 วัน เขาใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติมาสร้างผลงาน ประกอบไปด้วย โคลน (mud) ผลึกเกลือ (salt crystals) หินบะซอลท์ (basalt rocks) ดิน (earth) และน้ำ(water) เมื่อมองในมุมสูงผลงานนี้จะเป็นรูปขดก้นหอยทวนเข็มนาฬิกายื่นจากชายฝั่งไปสู่ผืนน้ำทะเลสาบ Great Salt Lakeใกล้กับ Rozel Point (ภาพที่ 2) ใน Utah โดยรูปทรงมีความยาวมีความยาว 1500 ฟุต


ภาพที่ 2 Spiral Jetty มุมมองจาก Rozel Point
ที่มา : Wikipedia, Spiral Jetty, [Online] accessed 17 October 2009. Available from http://th.wikipedia.org/wiki

ในขณะที่เขาสร้างผลงานชิ้นนี้เป็นช่วงแล้งระดับน้ำจะลดลงกว่าปกติ หากแต่บางครั้งในช่วงระดับน้ำเป็นปกติผลงานชิ้นนี้จะจมอยู่ใต้น้ำ เขาเลือกจุดที่น้ำทะเลมีสีแดงซึ่งปรากฏแบคทีเรียที่สามารถอาศัยในน้ำเค็มได้ (salt-tolerant bacteria) และสาหร่ายที่เจริญเติบโตในสภาพน้ำเค็ม 27% ในบริเวณทางเหนือของทะเลสาบทั้งนี้เกิดจากการตัดขาดจากแหล่งน้ำสะอาดบริสุทธ์หลังจากการถมสร้างทางข้ามน้ำ (Causeway)ที่ Southern Pacific Railroad ในปี 1959.


ภาพที่ 3 Spiral Jetty มองจากมุมสูง
ที่มา : Brian Wallis, Land and Environmental Art, 58.

เมื่อพิจารณากันทางรูปร่างของตัวงานเมื่อมองจากมุมสูง (Bird eye view) (ภาพที่ 3) จะเห็นผลงานชิ้นนี้เป็นรูปขดก้นหอย (Spiral) หมุนทวนเข็มนาฬิกา (counterclockwise) ลักษณะของลายขดก้นหอยนั้นเป็นสัญลักษณ์ที่ปรากฏอยู่ในศิลปะแบบโบราณทั่วโลก (เช่น ลายแจกันของอารยธรรมกรีก, ลายหม้อดินเผาที่บ้านเชียง, ขดพระเกศาของพระพุทธรูป, ลวดลายประดับในศิลปะจีน เป็นต้น) ทั้งนี้เป็นไปได้ว่าสัญลักษณ์ดังกล่าวมีความเป็นสากล มีรูปลักษณ์พื้นฐานง่ายๆที่มนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์ต่างสัมผัสได้


ในด้านการใช้วัตถุดิบและพื้นที่ จะเห็นว่าศิลปินได้ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติมาประกอบกันขึ้นเป็นผลงาน อีกทั้งเห็นถึงความคมคายของศิลปินที่ได้เลือกจุดที่เป็นทะเลสาบที่มีน้ำเค็มมากๆ ซึ่งประกอบด้วยแร่ธาตุและสาหร่ายที่มีความต่างจากแหล่งน้ำตามปกติจึงทำให้น้ำปรากฏสีแดง อันเนื่องมาจากการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมและทางข้ามน้ำเป็นปัจจัยให้ความสะอาดบริสุทธิ์ของน้ำได้ปรับเปลี่ยนไป เกิดความเปลี่ยนแปลงต่างๆในปรากฏการณ์ของน้ำ


ทั้งหมดนี้อาจเป็นไปได้ว่า ศิลปินต้องการนำเสนอผลงานที่แสดงถึงเจตจำนงของความคิดของตนถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศในพื้นที่นั้น ซึ่งความเค็มจัดของทะเลสาบและความผันแปรของพื้นที่อันเนื่องจากการสร้างทางข้ามทำให้ที่นี่อาจลดบทบาทหน้าที่บางอย่างของตัวเอง เขาจึงสร้างผลงานโดยใช้สัญลักษณ์สากลง่ายๆ และใช้ประโยชน์จากปฏิกิริยาทางธรรมชาติของพื้นที่ ทำให้เกิดการเปลี่ยนสีของน้ำทะเลบางส่วนให้เป็นสีแดง ตัดกับอีกส่วนที่ถูกกันโดยตัวผลงานที่เป็นสีน้ำเงิน ผลงานชิ้นนี้นอกจากจะมีความยิ่งใหญ่โดยขนาดของตัวมันเองแล้ว ยังส่งผ่านให้เกิดวาทกรรมทั้งทางศิลปะและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย


แม้ว่า Spiral Jetty จะเป็นผลงาน Land Art ที่สร้างขึ้นกว่า 3 ทศวรรษแล้วก็ตาม แต่คุณค่าของผลงานชิ้นนี้ก็ไม่เคยเจือจางไปจากแวดวงวิชาการศิลปะ สิ่งนี้เองอาจจะเป็นการส่งผ่านอิทธิพลทางความคิดให้ศิลปินหลากหลายคนทั่วโลกได้สร้างสรรค์และต่อยอดพัฒนาผลงานไปสู่การแสดงออกถึงแนวทางใหม่ๆ ในปี พ.ศ. 2549 (2006) ที่ผ่านมานี้เอง มีศิลปินหนุ่มคนหนึ่งที่ปรากฏบนจอโทรทัศน์ในรายการ คนค้นคน ทางช่องโมเดอร์นไนน์ทีวี (Modern Nine TV) เขาเดินทางล่องลำน้ำยมเป็นเวลา 86 วัน เพื่อสร้างงานศิลปะที่เรียกว่า นิเวศศิลป์ อันเนื่องมาจากก่อนหน้านี้ เขาได้เดินทางล่องแม่น้ำโขงจากสามเหลี่ยมทองคำซึ่งเป็นจุดประสบกันของสามประเทศคือ ประเทศไทย ประเทศพม่า และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และจุดหมายปลายทางคือ มหานทีสี่พันดอน ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายแดนลาว-กัมพูชาในแขวงจำปาศักดิ์ หรือที่เรียกกันว่าลาวใต้ ด้วยระยะทางโดยรวม 1,800 กิโลเมตร ใช้เวลา 142 วัน เป็นการเดินทางซึ่งไม่ได้สำรวจล่วงหน้า และได้รับความสนใจจากสื่อต่างๆ จากนั้นเขาจึงเดินทางทำงานศิลปะอีกครั้งในแม่น้ำยม ซึ่งเป็นการสร้างนิเวศศิลป์เป็นครั้งที่สอง


พิน สาเสาร์ คือ ศิลปินหนุ่มที่เดินทางล่องแม่น้ำโขงเพื่อสร้าง นิเวศศิลป์ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมของแม่น้ำโขง ซึ่งปัจจุบันกำลังเสื่อมโทรมจากโครงการพัฒนาตามแนวทางทุนนิยมอย่างหนัก โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อผลิตไฟฟ้าคือ เขื่อนมานวาน (Manwan) และ เขื่อนต้าจันซัน (Dachaoshan) ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและวิถีชีวิตผู้คนที่อยู่ใต้เขื่อนเป็นอย่างยิ่ง เช่น บางช่วงเกิดการตื้นเขินไม่สามารถล่องเรือได้ในบางช่วง เป็นต้น ที่สำคัญปัจจุบันกำลังสร้างเขื่อนเซี่ยวหวาน (Xiaowan) ซึ่งจะเสร็จในปี พ.ศ. 2555 โดยมีสันเขื่อนที่สูงมาก คาดกันว่าอาจจะเป็นสันเขื่อนที่สูงที่สุดในโลก และเมื่อถึงวันนั้นจีนก็จะกลายเป็นผู้ควบคุมสายน้ำโขงอย่างแท้


เมื่อมาดูคำที่เขาเรียกศิลปะที่ได้สร้างขึ้นว่า นิเวศศิลป์ ซึ่งไม่ใช่คำคุ้นหูกันในแวดวงศิลปะ เขาได้อธิบายง่ายๆ ไว้ในหนังสือว่า


“การทำงานของผมนั้นเป็นการทำงานศิลปะกับพื้นที่ธรรมชาติ ซึ่งผมเรียกมันว่า นิเวศศิลป์”


แน่นอนว่าหากอ่านเฉพาะคำว่า นิเวศศิลป์ เราอาจจะเข้าใจกันอย่างไม่ถ่องแท้เสียทีเดียว ว่ามันคืออะไรกันแน่ เพราะเขาอธิบายสั้นๆ ทว่ากลับเป็นการกว้างเหลือเกินที่จะนำมาสรุปความ แต่ถ้ากลับมาดูผลงานสร้างสรรค์นิเวศศิลป์ของเขา เราจะเข้าใจโดยทีเดียวว่า แท้ที่จริงนั้นเป็นลักษณะการทำงานศิลปะแบบ Land Art เพียงแต่ว่าผลงานของเขามิได้มีขนาดที่กินพื้นที่มโหฬาร เนื่องด้วยปัจจัยทางด้านค่าใช้จ่าย เวลา และสถานที่ ประกอบกับต้องเดินทางล่องไปตามแม่น้ำโขงจึงเป็นการไม่สะดวกนัก หากสร้างผลงานที่ต้องใช้ปัจจัยข้างต้นในจำนวนที่มาก


ลักษณะที่ตรงตามหลักการการสร้างผลงานแบบ Land Art คือ เขาเข้าไปสร้างผลงานศิลปะจากสถานที่จริง เข้าไปสัมผัสและใช้ชีวิตร่วมไปกับสถานที่แต่ละแห่งอย่างจริงจัง อีกทั้งการสร้างสรรค์ก็ใช้วัตถุดิบธรรมชาติจากแหล่งนั้นๆ แม้หลายครั้งจะนำของที่มิใช่วัสดุจากธรรมชาติมาสร้างสรรค์ แต่ก็เป็นของซึ่งมีบริบทอยู่ในพื้นที่ เช่น ถังน้ำมัน หรือสิ่งเหลือใช้อื่นๆ ที่สำคัญเขายังสร้างสรรค์ด้วยรูปลักษณ์ง่ายๆ (Simple Form) และรูปทรงที่ลดทอนให้ดูง่ายๆ (Simplify Form) ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นข้อสันนิษฐานอย่างหนึ่งว่า เขาอาจจะได้รับอิทธิพลทางความคิดและรูปแบบการสร้างสรรค์มาจากศิลปะแบบ Land Art หลักฐานที่สำคัญอีกอย่างคือ ในตอนแรกของรายการคนค้นคนก่อนล่องลำน้ำยม ซึ่งเป็นการเดินทางหลังจากล่องแม่น้ำโขงแล้ว เขาให้สัมภาษณ์กับพิธีกรว่า สิ่งที่เขาเรียกนิเวศศิลป์นั้นแท้จริงเป็นการศิลปะสมัยใหม่ทางโลกตะวันตกที่เรียกว่า Land Art บางครั้งก็เรียก Earthworks หรือ Environmental Art ตรงนี้เองเป็นหลักฐานได้เป็นอย่างดีว่า เขามีเจตจำนงในการสร้างสรรค์ นิเวศศิลป์ ซึ่งรับอิทธิพลมาจากการสร้างสรรค์แบบ Land Art


ภาพที่ 4 กำเนิดอารยธรรม
ที่มา: พิน สาเสาร์, 142 วัน 1,800 กม. นิเวศศิลป์ริมโขงของศิลปินนอกคอก, 15.

ผลงานชิ้นแรกของการสร้างนิเวศศิลป์ริมฝั่งโขง ชื่อ “กำเนิดอารยธรรม” (ภาพที่ 4) โดยมีแรงบันดาลใจในวัฒนธรรมหินตั้ง ซึ่งเป็นอารยธรรมก่อนประวัติศาสตร์ที่ปรากฏอยู่มากมายแถบภาคอีสานของไทยและดินแดนของลาว วัฒนธรรมหินตั้งนั้นเป็นการรังสรรค์ของบรรพชนเพื่อแสดงอาณาเขตศักดิ์สิทธิ์ในการประกอบพิธีบูชาผีฟ้าพญาแถน ต่อมาเมื่อมีพุทธศาสนาเผยแผ่เข้ามา ก็ได้รับการพัฒนาจนกลายเป็นใบเสมา เขาต้องการแสดงอาณาเขตศักดิ์สิทธิ์ให้ดินแดนสองฟากแม่น้ำโขงให้รอดพ้นจากหายนภัยในการทำลายสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนและระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขง


ผลงานชิ้นนี้ศิลปินได้นำหินซึ่งพบทั่วไปในแถบนั้นมาเรียงกันเป็นเส้นโค้ง จากริมผาถึงชายน้ำ โดยแรงบันดาลใจเรื่องวัฒนธรรมหินตั้งเป็นความคิดแบบศิลปะก่อนประวัติศาสตร์ การที่เขานำมาสร้างสรรค์ผลงานชุดนี้ กลายเป็นว่าเขาได้ใช้ความเชื่อพื้นถิ่นเองมาเป็นแนวคิดสร้างสรรค์โดยมีความสัมพันธ์กับพื้นที่ เพื่อแสดงถึงการหวนหาและหวงแหนลำน้ำโขงที่อุดมสมบูรณ์มาตั้งแต่อดีต แต่ปัจจุบันระดับน้ำและความสมบูรณ์ตามริมฝั่งกลับลดลงด้วยผลกระทบจากการพัฒนาโครงการทุนนิยมของประเทศต้นน้ำ


ภาพที่ 5 อารยธรรมสองฝั่งโขง
ที่มา: พิน สาเสาร์, 142 วัน 1,800 กม. นิเวศศิลป์ริมโขงของศิลปินนอกคอก, 41.


ภาพที่ 6 พิน สาเสาร์ กำลังสร้างผลงานชื่อ อารยธรรมสองฝั่งโขง
ที่มา: พิน สาเสาร์, 142 วัน 1,800 กม. นิเวศศิลป์ริมโขงของศิลปินนอกคอก, 44.

ผลงานอีกชิ้นที่มีลักษณะเดียวกันคือ “อารยธรรมสองฝั่งโขง” (ภาพที่ 5) ศิลปินได้นำเอาหินที่มีในบริเวณนั้นมาเรียงต่อกัน 2 แถว ยาวล้อไปกับเส้นทางเดินน้ำของแม่น้ำโขง เพื่อสื่อสารถึงวิถีชีวิตของผู้คนสองฝั่งแม่น้ำโขงที่พึ่งพาอาศัยกันอยู่ตลอดเวลา แม้มีสายน้ำผ่าผ่านแต่กลับมิได้มีวิถีแห่งอารยธรรมที่ต่างกัน ตรงกันข้ามเสียอีกว่า ลักษณะเผ่าพันธุ์และภาษากลับคล้ายกันจนเรียกว่าเป็นพวกเดียวกันด้วยซ้ำ


เมื่อมาวิเคราะห์ผลงานทั้งสองชิ้นในรูปแบบทางศิลปะ (Style of Art) จะเห็นว่าทำให้นึกถึงกลิ่นอาย Spiral Jetty ของ Robert Smithson อยู่บ้าง เห็นได้จากการที่พินให้ความสำคัญกับการใช้ลักษณะเส้นในการแสดงออกเป็นหลัก ซึ่ง Spiral Jetty เองก็ใช้เส้นเป็นทัศนธาตุ (Visuals Element)หลักในการแสดงออกเช่นเดียวกัน แม้ว่าเขาจะแสดงชัดว่าได้รับแรงบันดาลใจจากอารยธรรมโบราณในแถบสองฝั่งแม่น้ำโขง เรื่องการใช้หินในการบอกอาณาเขตศักดิ์สิทธิ์ก็ตาม แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าเขาต้องได้ศึกษาผลงานของ Spiral Jetty ของ Smithson ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มิได้หมายความว่าเขาได้ลอกตามแบบ Spiral Jetty ตรงกันข้ามเสียอีกว่าเป็นการพัฒนาต่อยอดจนกลายเป็นลักษณะเฉพาะตัว ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ เป็นไปได้หรือไม่ว่า วัฒนธรรมหินตั้งนั้นมิใช่วัฒนธรรมของพื้นถิ่นที่ใดที่หนึ่ง หากแต่เป็นวัฒนธรรมร่วมของทั่วโลก เพราะหากดูกันอย่างกว้างๆ จะเห็นว่า สโตนเฮนจ์ (Stonehenge) ซึ่งเป็นหินตั้งเป็นวงกลม มีอายุอยู่ราว 2000-1000 ปีก่อนคริสต์ศักราช อยู่ทางตอนใต้ของประเทศอังกฤษเอง ก็มีลักษณะการจัดวางหินเช่นกัน หรือประติมากรรมหินยุคอนารยชนในหมู่เกาะแถบโอเชียนเนียร์ (Oceania) ก็เช่นเดียวกัน ดังนั้นทั้ง Robert Smithson และ พิน สาเสาร์ ต่างก็สร้างสรรค์ผลงานที่เป็นต้นแบบของตัวเองตามแรงบันดาลใจจากอารยธรรมแห่งอดีตของตน


ผลงานที่น่าสนใจอีกชิ้นหนึ่งคือ เมื่อเขาเดินทางมาถึง คอนวัว ในเขตประเทศลาว มีภาพสลักเป็นร่องสมัยโบราณจำนวนมากอยู่ตามเพิงผาและหินขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นภาพสัตว์และการล่าสัตว์ โดยเฉพาะลายสลักที่เป็นรูปขดโค้งคล้ายหางกระรอกนั้น ทำให้เขาประทับใจในสัญลักษณ์ดังกล่าว จึงนำแรงบันดาลใจจากข้างต้นมาสร้างเป็นผลงานขึ้นบนผืนทรายขนาดกว้างริมแม่น้ำโขงบริเวณเดียวกัน



ภาพที่ 7 สัญญะ
ที่มา: พิน สาเสาร์, 142 วัน 1,800 กม. นิเวศศิลป์ริมโขงของศิลปินนอกคอก, 193.

“สัญญะ” (ภาพที่ 7) เป็นผลงานอีกชิ้นหนึ่งซึ่งสร้างขึ้นโดยเดินไปบนเนินทรายละเอียดทำเป็นเส้นขดเป็นวงหางกระรอก ซึ่งล้อไปกับสัญลักษณ์หางกระรอกที่พบมีความยาวเกือบคืบ แต่เขาสร้างเป็นสัญลักษณ์ใหม่มีความยาวราว 200 เมตร ล้อไปกับภาพสัญลักษณ์เดิม ผลงานชิ้นนี้เป็นการบ่งชี้ถึงการพบสัญลักษณ์เล็กๆหากแต่ตีความได้ว่า อาจจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัของบรรพชนมาตั้งแต่โบราณกาล


วิธีการแสดงออกทางศิลปะชิ้นนี้ เขาใช้สิ่งที่พบเห็นและหลักฐานทางโบราณคดีดังกล่าวเป็นต้นคิดต่อยอดจากรูปลักษณ์เดิมกลายเป็นสิ่งใหม่ขึ้นโดยกระบวนการนิเวศศิลป์ของเขา ซึ่งสังเกตแล้วจะเห็นว่าต่างจากผลงานทั้งสองชิ้นข้างต้น (คือ กำเนิดอารยธรรม และ อารยธรรมสองฝั่งโขง) เพราะผลงานทั้งสองชิ้นนั้นใช้แรงบันดาลใจที่มีต่อพื้นที่โดยจินตนาการจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ (วัฒนธรรมหินตั้ง) มาประกอบกับสิ่งที่ปรากฏตรงหน้า (แม่น้ำโขง) แต่สำหรับ “สัญญะ” จะเป็นการรับความประทับใจต่อสิ่งที่มีอยู่จริง (ภาพสลักหางกระรอก) แล้วจินตนาการไปสู่การจัดการบนพื้นที่ตรงหน้า (หางกระรอกในจินตนาการของศิลปินไปสู่การสร้างผลงานบนผืนทราย)


ผลงานนิเวศศิลป์ที่ดูจะต่างไปจากผลงานข้างต้นทั้งสาม สร้างขึ้นเมื่อล่องตามลำน้ำโขงและหยุดอยู่แถบจังหวัดหนองคาย ซึ่งริมแม่น้ำโขงแถบนี้ถูกปกคลุมไปด้วยสีเขียวเข้มของต้นและจุดสีแดงที่เป็นผลของมะเขือเทศ เหล่าชาวบ้านผู้เป็นเกษตรกรต่างกำลังเก็บผลผลิตนี้อย่างขะมักเขม้น พื้นที่ในส่วนนี้เดิมเคยเป็นพื้นที่ของกองทัพปลดแอกแห่งประเทศไทยที่หยิบอาวุธขึ้นต่อสู้กับอำนาจรัฐ หรืออาจเรียกได้ว่าเคยเป็นพื้นที่สีแดง ในสมัยที่ความขัดแย้งรุนแรงนั้นผู้คนแถบนี้เต็มไปด้วยความหวาดระแวงกันและกัน ต่างคนต่างสู้เพื่ออุดมการณ์ทางการเมืองที่ตนเชื่อ แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นการต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดี โดยอาศัยความสมบูรณ์ของผืนดินและแม่น้ำโขงเป็นฐานที่มั่น จากสีแดงทางการเมืองกลายเป็นสีแดงของมะเขือเทศ


ภาพที่ 8 แดง
ที่มา: พิน สาเสาร์, 142 วัน 1,800 กม. นิเวศศิลป์ริมโขงของศิลปินนอกคอก, 171.

จากแรงบันดาลใจนี้เอง เขาได้สร้างสรรค์ผลงานที่ชื่อ “แดง” (ภาพที่ 8) โดยการยืมตะกร้าสีแดงที่ใส่ผลมะเขือเทศที่มีผลเต็มตะกร้ามาเรียงกันเป็นแนวยาว ทว่าไม่ใช่เส้นตรงแบบไม้บรรทัด แต่เป็นเส้นอิสระเสมือนชีวิตของเกษตรกรและผู้คนแถบนี้ ที่มีความสัมพันธ์กับนิยามของคำว่าสีแดงที่ต่างยุคสมัย ความแตกต่างของผลงานชิ้นนี้คือมิได้ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติอย่างเดียวแต่ใช้วัสดุที่มนุษย์ผลิตขึ้น ทว่าเป็นวัสดุที่มีความเกี่ยวโยงกันกับพื้นที่ ที่พิเศษกว่านั้นอีกคือ ความหมายของวัตถุ (ตะกร้า) นั้นยังสื่อถึงเกษตรกรในพื้นที่ด้วย เนื่องจากเป็นเป็นวัตถุที่ผู้คนบนพื้นที่นั้นใช้ประกอบอาชีพเป็นประจำ กลายเป็นสิ่งที่กลมกลืนไปกับบริบทของพื้นที่นั้นด้วยเช่นกัน


หากจะวิเคราะห์ผลงานนิเวศศิลป์ของพิน สาเสาร์ในทางศิลปะแล้ว จะพบว่า


ประการที่หนึ่ง พินได้รับแรงบันดาลใจในรูปแบบโดยร่วมการสร้างสรรค์มาจาก Land Art และเป็นไปได้ทีเดียวว่าผลงาน Spiral Jetty ก็อาจจะเป็นหนึ่งในแรงดลใจที่สำคัญที่ทำให้เขาปรารถนาสร้างนิเวศศิลป์ขึ้น


ประการที่สอง นอกจากแรงบันดาลใจจาก Land Art แล้ว เขายังผสมผสานการสร้างสรรค์ที่มีแรงบันดาลใจจากศิลปะก่อนประวัติศาสตร์มาใช้ทั้งในด้านแนวคิดและรูปแบบการแสดงออก


ประการที่สาม เขาใช้วัตถุดิบทั้งจากธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้นที่อยู่ร่วมกับสภาพแวดล้อมนั้นๆ มาสร้างเป็นผลงาน นิเวศศิลป์ (เช่น ผลงานที่ชื่อ “แดง” ที่ใช้ตะกร้าผลไม้มาสร้างเป็นงานร่วมกับผลมะเขือเทศด้วย)


ประการที่สี่ ผลงานนิเวศศิลป์ของเขามักสร้างจากรูปร่างและรูปทรงง่ายๆ โดยเฉพาะลักษณะการใช้เส้น มักเป็นทัศนธาตุประเภทที่พบอยู่มากในผลงานของเขา


ประการสุดท้าย หลังจากที่สร้างผลงานเสร็จมีการถ่ายภาพนิ่ง (Photo) และภาพเคลื่อนไหว (Moving Picture-Video Document Record) ซึ่งเป็นสื่อที่บันทึกผลงานศิลปะ ทั้งสองอย่างนี้มิได้เป็นผลงานศิลปะ ดังนั้นผู้ดูจึงมีโอกาสดูเพียงภาพบันทึกเท่านั้นไม่สามารถดูงานจริงได้ด้วยเงื่อนไขต่างๆของเวลาและสถานที่ (Time-Space)


หลังจากการเดินทางล่องแม่น้ำโขงและการสร้างนิเวศศิลป์สิ้นสุดโดยใช้เวลา 286 วัน พินได้นำภาพถ่าย และภาพเคลื่อนไหวที่บันทึกทั้งหมดตลอดการเดินทาง มาจัดแสดงนิทรรศการที่ Hof Art Gallery ย่านรัชดาภิเษก ทั้งนี้เขามิได้ใช้พื้นที่หอศิลป์เป็นการแสดงนิทรรศการผลงานศิลปะ แต่เป็นการแสดงบทและภาพที่บันทึกผลงานศิลปะที่เขาสร้างขึ้น เนื่องจากผลงานได้ประทับอยู่แต่ละพื้นที่ที่เดินทางผ่านและถูกลบเลือนหายไปกับกาลเวลา ผู้ชมนิทรรศการจึงเห็นเพียงภาพบันทึกเท่านั้น


การเปิดตัวสู่สังคมครั้งนี้พินย่อมพร้อมรับคำถามอย่างมากมายว่า นิเวศศิลป์คืออะไร และเขากำลังทำอะไรกันแน่ เมื่อคำถามเกิดขึ้นจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่สื่อทั้งหลายเริ่มให้ความสำคัญกับสิ่งที่เขาสร้างขึ้น ผู้คนเริ่มรู้จักเขาบ้าง และเกิดการโต้เถียงกันในทางศิลปะขึ้นว่าเป็นหรือไม่เป็นงานศิลปะ หากแต่ผลกระทบที่สำคัญคือ มีการพูดถึงระบบนิเวศวิทยาของแม่น้ำโขงและพื้นที่ริมชายฝั่ง ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการถ่ายทำรายการ คนค้นคน ชื่อตอนว่า นิเวศศิลป์ พิน สาเสาร์ (ล่องลำน้ำยมเป็นเวลา 86 วันสร้างนิเวศศิลป์) เพื่อตอบคำถามกับสังคมถึงสิ่งที่เขาทำ เกิดการพูดคุยกันขึ้นในเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม และนั้นอาจจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ตัวของเขาเองต้องการ คือ เป็นกระบอกเสียงให้กับธรรมชาติผ่านผลงานศิลปะที่เขาสร้างสรรค์ด้วยชีวิตและประสบการณ์โดยตรงที่เรียกว่า นิเวศศิลป์.

*หมายเหตุ
1. นิเวศศิลป์ พิน สาเสาร์ เป็นตอนหนึ่งของรายการ “คนค้นคน” โดยทีวีบูรพา ออกอากาศเวลาสี่ทุ่มทุกวัน
อังคาร ตลอดเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2551ช่องโมเดอร์นไนน์ทีวี ติดตามย้อนหลังได้ในเว็บไซด์
http://hiptv.mcot.net/player/hipPlayer.php?id=16359
2. รู้จักผลงานนิเวศศิลป์ ของ พิน สาเสาร์ มากขึ้นในหนังสือ
2.1 พิน สาเสาร์. 142 วัน 1,800 กม. นิเวศศิลป์ริมโขงของศิลปินนอกคอก.กรุงเทพฯ: แพรว
สำนักพิมพ์, 2551.
2.2 พิน สาเสาร์. 86 วัน นิเวศศิลป์แม่น้ำยม. กรุงเทพฯ: แพรวสำนักพิมพ์, 2552.

บรรณานุกรม

ภาษาไทย
พิน สาเสาร์. 142 วัน 1,800 กม. นิเวศศิลป์ริมโขงของศิลปินนอกคอก.กรุงเทพฯ: แพรว, 2551.
จิระพัฒน์ พิตรปรีชา, ผู้ช่วยศาสตราจารย์. โลกศิลปะศตวรรษที่ 20 .กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2545.

ภาษาอังกฤษ
Brian Wallis. Land and Environmental Art. Hong Kong: Phaidon Press Limited, 2005.
Ian Chilvers. Art and Artists. 2nd Edition. New York: Oxford, 1996. Ldward Lucie- Smith. Art Terms. London: Thames and Hudson, 1980.

ข้อมูลจาก World Wide Web
รายการคนค้นคน, นิเวศน์ศิลป์ พิน สาเสาร์ . [Online] Accessed 19 October 2009. Available from
http://hiptv.mcot.net/player/hipPlayer.php?id=16359
Wikipedia, Spiral Jetty. [Online] Accessed 17 October 2009. Available from
http://th.wikipedia.org/wiki

สุริยะ ฉายะเจริญ (2552)