The
process of creating drawings for use in "Colorful Community" to
produce 2016 Greeting Cards Gain on The Doi Kham Company.
โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ (อาจารย์ประจำภาควิชาสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม)
*งานวิจัยเรื่อง “กระบวนการสร้างสรรค์ภาพวาดลายเส้นสำหรับใช้ในกิจกรรม
“สีชุมชน” เพื่อผลิตบัตรอวยพร ส.ค.ส. ประจำปี 2559 ให้กับบริษัทดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร
จำกัด” นำเสนอผลงาน ในการประชุมวิชาการงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ทางนิเทศศาสตร์
ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2559
ณ มหาวิทยาลัยสยาม กรุงเทพฯ
บันทึกในรายงานสืบเนื่องประชุมวิชาการงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ทางนิเทศศาสตร์
ครั้งที่ 6. หน้า 238-244.
บทคัดย่อ
วิจัยนี้เป็นการเขียนอธิบายกระบวนการสร้างสรรค์ภาพวาดลายเส้นสำหรับใช้ในกิจกรรม
“สีชุมชน” เพื่อผลิตบัตรอวยพร ส.ค.ส. ประจำปี 2559
ให้กับบริษัทดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด โดยมีการศึกษา วิเคราะห์และสังเคราะห์โดยได้ผลสรุป
คือ ภาพวาดลายเส้นชุดนี้สร้างสรรค์ด้วยเทคนิควาดเส้นด้วยการใช้ลายเส้นมีความหมายในเชิงปรณัย
โดยสื่อถึงวิถีชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของชุมชนในอำเภอเต่างอย จ.สกลนคร
ที่อยู่ในบริเวณรอบโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๓ (เต่างอย) ภาพวาดลายเส้นชุดนี้เป็นกระบวนการนำภาพลายเส้นที่อยู่ในบริบทของงานทัศนศิลป์มาปรับประยุกต์ใช้ในงานทางด้านนิเทศศาสตร์เพื่อประโยชน์ในด้านของการประชาสัมพันธ์แก่องค์กร และเป็นการบูรณาการระหว่างผลงานสร้างสรรค์
การบริการวิชาการ และการวิจัย เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อวงวิชาการทางด้านนิเทศศาสตร์และศาสตร์สาขาอื่นๆ
ด้วย
คำสำคัญ: ภาพวาดลายเส้น,
บัตรอวยพร ส.ค.ส., บริษัทดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด
Abstract
This research describes the process of creating
drawings for use in "Colorful Community" to produce 2016
Greeting Cards Gain for The Doi Kham Company. The study analyzes
and synthesize, the conclusions is drawing this innovative technique with lines
that are meaningful in terms of objectivity by human-life social in theoretical
Sufficiency Economy of the district area known as Tao-ngoy, Sakon Nakorn
province, to collect the data around The Third Royal Factory (Tao-ngoy). This
is the process of drawing the line drawings in the context of visual
communication applications adapted to use in the field of public relations for
the organization also integrate the creative works. And the integration of the
creative work. Academic services and research to the benefits of the academia
in the field of Communication Arts and Sciences, among others.
Keyword: Drawing, Greeting
Cards Gain, The Doi Kham Company
ความเป็นมาและความสำคัญ
โครงการจิตอาสาพัฒนาเต่างอย
แผนงานส่งเสริมการเรียนรู้ศาสตร์แห่งพระราชา กิจกรรมพัฒนาศักยภาพผู้นำเยาวชนเต่างอย
ประจำปี 2558 ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 17-19 กันยายน 2558 และ
ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 18-20 พฤศจิกายน 2558 ณ
โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๓ (เต่างอย) จ.สกลนคร จัดขึ้นโดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และบริษัทดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร
จำกัด และได้รับความร่วมมือจากกลุ่มภาคีจิตอาสาอันประกอบไปด้วย นายปราชญ์ นิยมค้า นักออกแบบผ้าครามเจ้าของแบรนด์
“แมน คราฟท์” (mann craft) อาจารย์เวทิต ทองจันทร์ และอาจารย์สุริยะ
ฉายะเจริญ จากภาควิชาสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม นางสาวเพียงขวัญ คำหรุ่น นักวาดภาพอิสระและเจ้าของผลิตภัณฑ์แบรนด์
“ขมิ้น” นิสิตคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร และมีนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัถยมศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกจากโรงเรียนในเขตพื้นที่อำเภอเต่างอย
จังหวัดสกลนคร อันประกอบไปด้วย โรงเรียนนางอยโพนปลาโหล
โรงเรียนอนุบาลเต่างอย โรงเรียนหนองบึงทวาย
โรงเรียนบ้านจันทร์เพ็ญ และโรงเรียนเต่างอยพัฒนาศึกษา
เป็นกลุ่มเยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการ
กิจกรรมพัฒนาศักยภาพผู้นำเยาวชนเต่างอยทั้งสองครั้งนี้อยู่ภายใต้โครงการอันมีแนวคิดที่ว่า
“โรงงานสีเขียว สีเดียวกับชุมชน” ซึ่งเป็นโครงการที่ให้เยาวชนผู้เข้าร่วมกิจกรรมเรียนรู้ในการที่จะใช้วัสดุธรรมชาติที่อยู่ในชุมชนมาสกัดเป็นสีเพื่อใช้ในงานทางด้านศิลปะและหัตถกรรมด้วยกลวิธีการระบายสีและการยอมสีผ้า
ทั้งนี้วัตถุดิบที่จะนำมาสกัดออกเป็นสีธรรมชาตินั้น
กลุ่มเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการต้องทำการสำรวจ ทดลอง
และศึกษาวัสดุทางธรรมชาติที่อยู่ในชุมชน ไม่ว่าจะเป็น ต้นไม้ ใบไม้ ผลของต้นไม้ และดินในชุมชน
แล้วจึงนำมาสกัดเป็นสีด้วยวิธีธรรมชาติ เช่น การบด การทุบ การคั้น การปั่น
และการต้ม ด้วยอุปกรณ์ต่างๆ
และเมื่อได้น้ำของสีแล้วจึงนำมาแยกเป็นขวดเพื่อสะดวกต่อการใช้งาน
กิจกรรมนี้เยาวชนผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องสร้างสรรค์ผ้าทอมือมัดย้อมสีธรรมชาติที่นำมาเป็นผ้าคลุมไหล่และผ้าพันคอเพื่อนำไปเป็นชุดของขวัญปีใหม่กับเครือข่ายผู้ที่สนับสนุนโครงการต่างๆ
ภายใต้การดำเนินงานของบริษัทดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด
ขณะเดียวกันเยาวชนผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องสร้างสรรค์บัตรอวยพร ส.ค.ส. ประจำปี 2559 ที่ใช้สีธรรมชาติมาระบายภายใต้กิจกรรมย่อยที่เรียกว่า
“สีชุมชน” อันเป็นการใช้สีธรรมชาติที่สกัดได้จากวัตถุดิบธรรมชาติที่อยู่ในชุมชนมาระบายลงบนกระดาษเพื่อทำเป็นบัตรอวยพร
ดังนั้นผู้วิจัยในฐานะเป็นวิทยากรหลักในกิจกรรม “สีชุมชน”
ที่เป็นกิจกรรมการระบายสีด้วยสีธรรมชาติ
จึงต้องออกแบบภาพลายเส้นเพื่อให้เกิดเป็นรูปลักษณ์ที่สามารถสื่อความหมายถึงโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่
๓ (เต่างอย) จ.สกลนคร วิถีชีวิตของคนในชุมชนรอบโรงงานหลวงฯ และเยาวชนในชุมชน อ.เต่างอย
จ.สกลนคร เพื่อให้ผู้รับชุดของขวัญปีใหม่ได้เห็นบัตรอวยพรที่สร้างจากการระบายสีธรรมชาติโดยเยาวชนในชุมชน
ทำให้เกิดความเข้าใจในวิถีชีวิตของชาว อ.เต่างอย จ.สกลนคร ที่ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงมาดำเนินชีวิต
โดยมีโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๓ (เต่างอย) ที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นศูนย์กลางการพัฒนาและบูรณาการระหว่างภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเพื่อให้ประชาชนในชุมชนมีอาชีพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นยั่งยืน
ซึ่งการออกแบบภาพวาดลายเส้นสำหรับใช้ในกิจกรรม
“สีชุมชน” เพื่อผลิตบัตรอวยพร ส.ค.ส. ประจำปี 2559
ให้กับบริษัทดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด นี้ ผู้วิจัยต้องทำการสำรวจวิถีชีวิตในชุมชนรอบโรงงานหลวง
บันทึกมาเป็นภาพลายเส้นและภาพถ่าย แล้วจึงนำมาออกแบบให้เกิดเป็นรูปร่างที่ง่ายต่อการนำไประบายสี
และภาพลายเส้นที่ปรากฏต้องเป็นรูปร่าง (shape) ที่ง่ายต่อการถอดความหมายตรงเพื่อให้ผู้รับสารสามารถที่จะทำความเข้าใจความหมายในภาพลายเส้นได้ง่าย
วัตถุประสงค์
1. เพื่อผลิตผลงานสร้างสรรค์ในรูปแบบภาพวาดลายเส้นและนำไปใช้ประโยชน์ในด้านของการประชาสัมพันธ์บริษัทดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร
จำกัด ซึ่งเป็นการบูรณาการผลงานสร้างสรรค์กับพันธกิจด้านการบริการวิชาการแก่สังคม
2. เพื่อศึกษาและวิเคราะห์กระบวนการสร้างสรรค์ภาพวาดลายเส้นสำหรับใช้ในกิจกรรม
“สีชุมชน” เพื่อผลิตบัตรอวยพร ส.ค.ส. ให้กับบริษัทดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด
3. เพื่อเป็นการบูรณาการ ผลงานสร้างสรรค์
การบริการวิชาการแก่สังคม และการวิจัย ให้เกิดประโยชน์ทางวิชาการในสาขานิเทศศาสตร์และศาสตร์สาขาอื่นๆ
ด้วย
ขอบเขตของการทำงาน
ภาพวาดลายเส้นสำหรับใช้ในกิจกรรม
“สีชุมชน” มีจำนวน 3
ภาพ ซึ่งออกแบบขึ้นเพื่อใช้ในกิจกรรมที่อยู่ภายใต้โครงการจิตอาสาพัฒนาเต่างอย
แผนงานส่งเสริมการเรียนรู้ศาสตร์แห่งพระราชา กิจกรรมพัฒนาศักยภาพผู้นำเยาวชนเต่างอย
ประจำปี 2558 โดยให้เยาวชนผู้เข้าร่วมกิจกรรมใช้สีน้ำที่สกัดจากธรรมชาติระบายลงบนกระดาษเพื่อนำไปประยุกต์เป็นบัตรอวยพร
ส.ค.ส. ให้กับบริษัทดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้น 2
ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 17-19
กันยายน 2558 และ ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 18-20 พฤศจิกายน
2558 ณ โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๓ (เต่างอย) จ.สกลนคร
วิธีดำเนินวิจัย
แนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง
1. ผู้วิจัยใช้แนวคิดและเทคนิคการวาดภาพลายเส้นในรูปแบบลายเส้น
(Line
Drawing หรือ Delineation Drawing) ซึ่งเน้นเฉพาะการใช้ลายเส้นในการแสดงออกเท่านั้น
(สมพร รอดบุญ ใน สูจิบัตรนิทรรศการ Multiple drawing, 2535: ไม่ปรากฏเลขหน้า)
ในที่นี้เป็นการใช้เส้นในการสร้างรูปร่างเสมือนจริงที่ใช้สื่อความหมายตรงได้อย่างชัดเจน
2. ผู้วิจัยใช้แนวคิดสัญญะวิทยา (Semiology) ด้านการสื่อสารความหมายด้วยสัญญะที่ประกอบกันจนเกิดเป็นรหัส
(code) ของลายเส้นที่ทำหน้าที่ทั้งเป็นตัวสื่อ (media) และตัวสาร (message) โดยมีชุดสัญญะที่สื่อความหมายตรง
(denotation meaning) และความหมายแฝง (connotation
meaning) (มณเฑียร ศุภโรจน์, 2541: 20) ซึ่งผู้รับสารสามารถทำความเข้าใจภาพวาดลายเส้นคล้ายกับการทำความเข้าใจทางประติมาณวิทยา
(Iconology) อันประกอบด้วยกฎระเบียบของสาระสำคัญของตัวบท (text)
ที่มีความหมายอยู่เบื้องหลังจากสิ่งที่ปรากฏ (Richard 2003: 147)
กระบวนการสร้างสรรค์ผลงาน
ภาพที่
1
แผนที่ชุมชน อ.เต่างอย จ.สกลนคร ในบริเวณใกล้เคียงโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่
๓ (เต่างอย)
1. ศึกษาข้อมูลลงพื้นที่ชุมชน อ.เต่างอย
จ.สกลนคร ในบริเวณใกล้เคียงโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๓ (เต่างอย) เพื่อเก็บภาพถ่ายและภาพร่างลายเส้น
(sketch) และสร้างแผนที่ของชุมชนด้วยภาพลายเส้นปากการะบายสีน้ำ (ภาพที่ 1)
2. นำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อสร้างเป็นต้นแบบภาพลายเส้น
3. สร้างภาพลายเส้นด้วยปากกาหมึกดำบนกระดาษเพื่อสร้างเป็นรูปสัญญะที่สื่อถึงวิถีชีวิตของชุมชนในบริเวณใกล้เคียงโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่
๓ (เต่างอย) (ภาพที่ 2)
4. นำภาพลายเส้นที่วาดด้วยปากกาหมึกดำบนกระดาษถ่ายโอนเป็นภาพกราฟิกและปรับแต่งลายเส้นและขนาดของภาพด้วยโปรแกรมอะโดบี้
โฟโต้ชอป (Adobe
Photoshop) (ภาพที่ 3) เพื่อนำไปพิมพ์ลงบนกระดาษวาดเขียนพิเศษที่มีความหนา
200 แกรม ซึ่งมีคุณสมบัติสำหรับการระบายสีน้ำ
5. พิมพ์ภาพลายเส้นออกมาบนกระดาษขนาด 4x6 นิ้ว จำนวน 1,000 แผ่น
6. นำภาพลายเส้นไปใช้ในกิจกรรมสีชุมชน
ภายใต้แนวคิด “โรงงานสีเขียว สีเดียวกับชุมชน” ณ โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๓
(เต่างอย)
7. เมื่อเสร็จแล้วจึงนำบัตรอวยพรเก็บไว้ในที่แห้งไม่ชื้นเพื่อป้องกันเชื้อรา
8. นำมาใช้เป็นบัตรอวยพร ส.ค.ส. ประจำปี
2559 ให้กับบริษัทดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด
ภาพที่ 2 วาดภาพลายเส้นด้วยปากกาบนกระดาษ
ภาพที่ 3
ปรับแต่งภาพด้วยโปรแกรมอะโดบี้ โฟโต้ชอป
ผลงานสร้างสรรค์ภาพลายเส้นที่สมบูรณ์
ภาพที่ 4 โรงงาน
ภาพที่ 5 คนขับรถอีแต๊กขนผลไม้
ภาพที่ 6 เด็กผู้ชายปั่นจักรยาน
สรุปผลการวิจัย
1.
ลักษณะของภาพวาดลายเส้น
ภาพต้นแบบบัตรอวยพร
สร้างสรรค์ด้วยเทคนิควาดเส้นด้วยการใช้ลายเส้น (line drawing) เป็นทัศนธาตุ
(Visual Element) หลักในการสร้างรูปร่าง (shape) ที่เลียนแบบรูปลักษณของสถานที่และวัตถุจริง เพื่อสื่อให้เห็นเป็นรูปที่มีความหมายทั้งในเชิงปรณัย
(objectivity) ผู้รับสารจะสามารถเข้าใจความหมายตรงจากรหัสของลายเส้นที่ถูกประกอบขึ้นเป็นรูปร่างที่สื่อถึงวัตถุในเชิงรูปธรรมเข้าใจได้ง่าย
2.
การสื่อความหมายของภาพลายเส้น
รูปภาพลายเส้นที่เป็นต้นแบบสำหรับใช้ในกิจกรรมสีชุมชนเพื่อผลิตบัตรอวยพร
ส.ค.ส. ประจำปี 2559 ให้กับบริษัทดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ใช้แนวคิดเรื่องสัญวิทยาเป็นแนวคิดหลักในการสร้างความหมายของภาพที่มีลักษณะเป็นสัญญะประเภทไอคอนหรือภาพเสมือน
(icon) ซึ่งมีความเหมือนหรือเลียนแบบหรือมีความคล้ายในบางส่วนของสิ่งที่ถูกหมายถึง
(Anne D'Alleva, c2012: 29) โดยมีความหมายตรง (denotation meaning)
ที่สื่อถึงสิ่งที่ปรากฏในภาพนั้นๆ และมีความหมายแฝง (connotation
meaning) ที่สื่อถึงวิถีชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของชุมชนในอำเภอเต่างอย
จ.สกลนคร ที่อยู่ในบริเวณรอบโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 (เต่างอย)
โดยสร้างภาพลายเส้นที่มีสัญญะอันสื่อถึงรูปธรรมของวัตถุและสถานที่ๆ เกี่ยวโยงกับวิถีชีวิตและสภาพแวดล้อมในชุมชนนั้น
ซึ่งภาพลายเส้นแต่ละภาพตัดทอนรายละเอียดที่เหมือนจริง เช่น ทัศนียวิทยา มิติ
หลักแสงเงา ลักษณะพื้นผิว และสัดส่วนจริง โดยใช้ลายเส้นสร้างเป็นชุดรหัสที่สื่อความหมายเป็นภาพแทน
(representation) อันได้แก่
2.1 ภาพลายเส้น “โรงงาน” (ภาพที่ 4) สื่อความหมายถึง โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่
๓ (เต่างอย) จ.สกลนคร เป็นโรงงานแปรรูปอาหารที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เพื่อพัฒนาอาชีพและเสริมรายได้ของราษฎรในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนให้ยั่งยืน (โรงงานหลวงฯ
ที่ ๓ (เต่างอย) 2557: ระบบออนไลน์) อันเป็นการเสริมสร้างรายได้ของประชาชนให้เลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้
อีกทั้งยังเป็นโรงงานแปรรูปอาหารที่ใส่ใจในสภาพแวดล้อม ภูมิทัศน์ และบูรณาการระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับวิถีชุมชน
2.2 ภาพลายเส้น “คนขับรถอีแต๊กขนผลไม้”
(ภาพที่ 5) สื่อความหมายถึง
อาชีพเกษตรกรอันเป็นวิถีชีวิตที่ดำรงอยู่ด้วยการทำเกษตรกรรมซึ่งถือเป็นอาชีพหลักของชาว
อ.เต่างอย จ.สกลนคร เกษตรกรชาว อ.เต่างอย มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนผลผลิตทางการเกษตรที่ดำเนินขึ้นตามหลักทฤษฎีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เกิดเป็นอาชีพหลักที่สามารถพัฒนาชีวิตได้อย่างยั่งยืน
เกษตรกรจึงมีรายได้อย่างต่อเนื่องจากการค้าขายผลผลิตทางการเกษตรให้กับชุมชนและยังสามารถแบ่งจำหน่ายให้กับทางโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่
๓ (เต่างอย) เพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปที่ได้คุณภาพและส่งออกไปสู่ผู้บริโภคในวงกว้างได้
2.3 ภาพลายเส้น “เด็กผู้ชายปั่นจักรยาน”
(ภาพที่ 6) สื่อความหมายถึง เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นภายใต้สภาพแวดล้อมของ
อ.เต่างอย จ.สกลนคร ที่มีอากาศบริสุทธิ์ ไร้มลภาวะทางอากาศและมลภาวะทางเสียงอันเกิดจากยานพาหนะอย่างเช่นชุมชนเมือง
ซึ่งจักรยานนั้นเป็นพาหนะที่อาศัยแรงปั่นของมนุษย์ในการขับเคลื่อนโดยปราศจากก๊าซพิษ
ส่งผลทำให้ไม่เกิดมลภาวะทางอากาศ ภาพลายเส้นนี้ยังสื่อถึงวิถีชีวิตที่พอเพียงไม่มีความรีบเร่งเท่ากับวิถีชีวิตแบบชุมชนเมืองขนาดใหญ่ที่ต้องอาศัยพาหนะที่มีความเร็วเป็นปัจจัยสำคัญในการคมนาคม
3. การประยุกต์ภาพวาดลายเส้นเพื่อนำไปใช้ประโยชน์
ภาพลายเส้นชุดนี้ ประกอบไปด้วยภาพ “โรงงาน”
“คนขับรถอีแต๊กขนผลไม้” และ “เด็กผู้ชายปั่นจักรยาน” ได้ถูกนำไปใช้พิมพ์เป็นภาพวาดลายเส้นจำนวน
1,000
แผ่น เพื่อให้กลุ่มเยาวชนและผู้เข้าร่วมกิจกรรม “สีชุมชน” ได้นำสีที่สกัดจากธรรมชาติบริสุทธิ์มาระบายลงไปบนแผ่นกระดาษที่มีภาพลายเส้นที่ผ่านกระบวนการพิมพ์ลงบนกระดาษที่มีความหนา
200 แกรม (ภาพที่ 7 - ภาพที่ 9) จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการเก็บรักษาให้อยู่ในที่แห้งและไม่ชื้น (ภาพที่
10 - ภาพที่ 13) เพื่อกันการเกิดขึ้นรา
แล้วจึงนำไปเป็นบัตรบัตรอวยพร ส.ค.ส. ประจำปี 2559
ให้กับบริษัทดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด โดยบัตรอวยพรนี้ได้นำไปบรรจุควบคู่กับผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายทอมือคลุ่มไหล่และผ้าพันคอที่ย้อมสีธรรมชาติโดยเยาวชนและผู้ร่วมกิจกรรมฯ
เพื่อใช้เป็นชุดของขวัญ 1,000 ชุด สำหรับมอบให้ผู้มีส่วนสนับสนุนโครงการต่างๆ
ของบริษัทดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด (ภาพที่ 14)
ภาพที่ 7 ภาพที่ 8
ภาพที่ 13
ภาพที่
14 บัตรอวยพร ส.ค.ส. นำไปบรรจุควบคู่กับผลิตภัณฑ์ผ้าคลุ่มไหล่และผ้าพันคอทอมือที่ย้อมสีธรรมชาติโดยเยาวชนผู้ร่วมกิจกรรมฯ
เพื่อใช้เป็นชุดของขวัญปีใหม่ประจำปี 2559 ของบริษัทดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด
(ภาพถ่าย
โดย อาจารย์เวทิต ทองจันทร์ ภาควิชาสื่อดิจิทัล สตร์ มหาวิทยาลัยสยาม)
ภาพที่ 15 งานแถลงข่าว กิจกรรมพัฒนาศักยภาพผู้นำเยาวชนเต่างอย ประจำปี 2558 ในโครงการจิตอาสาพัฒนาเต่างอย ภายใต้แนวคิด “โรงงานสีเขียว
สีเดียวกับชุมชน – ผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติ” ณ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร
จำกัด เขตราชเทวี กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558
4. องค์ความรู้ที่เกิดขึ้น
1.
จากกระบวนการสร้างสรรค์ภาพวาดลายเส้นสำหรับใช้ในกิจกรรมสีชุมชนเพื่อผลิตบัตรอวยพร
ส.ค.ส. ประจำปี 2559 ให้กับบริษัทดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ถือเป็นการนำภาพลายเส้นที่อยู่ในบริบทของงานทัศนศิลป์มาปรับประยุกต์ใช้ในงานทางด้านนิเทศศาสตร์เพื่อประโยชน์ในด้านของการประชาสัมพันธ์แก่องค์กรภาคเอกชน
2.
ผลงานสร้างสรรค์ภาพลายเส้นชุดนี้ถือเป็นการนำทักษะและความรู้มาผลิตผลงานสร้างสรรค์มาบูรณาการกับพันธกิจด้านการบริการวิชาการแก่สังคมจนเกิดประโยชน์แก่องค์กรภายนอก
3.
งานวิจัยนี้เป็นการบูรณาการระหว่าง งานสร้างสรรค์
การบริการวิชาการ และการวิจัย เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อวงวิชาการทางด้านนิเทศศาสตร์และรวมไปถึงการต่อยอดความรู้ในศาสตร์ต่างๆ
ที่เกี่ยวข้องได้ในอนาคต
ข้อเสนอแนะ
ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะว่า แม้การภาพวาดลายเส้นหรือภาพวาดเส้นจะอยู่ภายใต้ร่มเงาของทัศนศิลป์
(visual
art) เป็นสำคัญ แต่เมื่อภาพวาดลายเส้นนั้นถูกนำไปประยุกต์ใช้เพื่องานทางด้านการสื่อสารโดยเชื่อมโยงกับหลักแนวคิดและทฤษฎีทางนิเทศศาสตร์
ภาพวาดลายเส้นนั้นก็มีสถานะเป็นทั้งตัวสื่อและตัวสารที่อยู่ในกระบวนการสื่อสารความหมาย
ซึ่งการนำภาพวาดลายเส้นหรือภาพวาดเส้นมาทำการศึกษาในบริบทของการสื่อสารก็นับเป็นการเปิดประตูให้ศาสตร์ทางการสื่อสารได้ทำการศึกษาครอบคลุมทุกสื่อที่สร้างขึ้นในปัจจุบันอันเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย
บรรณานุกรม
ภาษาไทย
มณเฑียร
ศุภโรจน์. การวิเคราะห์การใช้การ์ตูนสื่อความหมายเพื่อการรณรงค์โรคเอดส์ (พ.ศ.
2535-2539). วิทยานิพนธ์นิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาสาขาสื่อสารมวลชน บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2541.
สูจิบัตรนิทรรศการ
Multiple
drawing.
(2535).
จัดแสดง 24 สิงหาคม - 9 กันยายน
2535 ณ หอศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์
มหาวิทยาลัยศิลปากร. กรุงเทพฯ : อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ.
ภาษาอังกฤษ
Anne D'Alleva.
(c2012) Methods & Theories of Art History.
London: Laurence King.
Howell,
Richard, Dr. (c2003). Visual
Culture. Cambridge: Polity Press; Malden, MA: Blackwell Publishers.
ข้อมูลออนไลน์
โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่
๓ (เต่างอย) จังหวัดสกลนคร. (2556). ประวัติโครงการปรับปรุงและพัฒนาโรงงานหลวงฯ
ที่ ๓. วันที่สืบค้น 15 มิถุนายน
2559. เข้าถึงจาก http://www.thirdroyalfactory.siam.edu/site-map/articles/2014-01-24-03-22-58
*บทความที่ลงในบันทึกในรายงานสืบเนื่องประชุมวิชาการงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ทางนิเทศศาสตร์
ครั้งที่ 6. หน้า 238-244.