หลายคนที่ชื่นชอบผลงานของถวัลย์ ดัชนี อาจจะไม่ทราบว่า เขาได้เขียนจิตรกรรมบนผนังเรื่อง
“การกำเนิดจักรวาล” ไว้เมื่อช่วงปี พ.ศ. 2511-2512 (ลักษณ์ 2554: 39) ณ สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน เชิงสะพานหัวช้าง กรุงเทพฯ ซึ่งปัจจุบันถือว่าผุพัง เสียหาย ไปบ้างตามกาลเวลา
ถวัลย์ ดัชนี คือ ศิลปินไทยที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนวงการศิลปะไทยร่วมสมัยมาตลอดเกือบ
50 ปี
โดยเฉพาะผลงานจิตรกรรมและบุคลิกลักษณะการแต่งกายและการสนทนาที่โดดเด่น ถวัลย์
ดัชนีได้รับเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2557 ซึ่งเป็นการจากไปเพียงลมหายใจและทิ้งไว้ซึ่งตำนาน
เรื่องเล่า และผลงานศิลปะไทยอันมากมายและทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์
หนึ่งในผลงานจิตรกรรมที่น่าสนใจคือจิตรกรรมบนผนังเรื่อง “การกำเนิดจักรวาล”
ณ สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน (Student
Christian Center ) ซึ่งเป็นผลงานของถวัลย์ในชุดแรกๆ
ที่จัดแสดงในพื้นที่สาธารณะที่มีอยู่ไม่เยอะ ถวัลย์วาดรูปจิตรกรรมฝาผนังนี้แลกกับการได้พำนักที่นี่แทนการจ่ายเป็นเงิน
(ลักษณ์ 2554: 18)
ผลงานชิ้นนี้เป็นลักษณะของการนำเรื่องความเชื่อการกำเนิดจักรวาลมาเป็นแรงบันดาลใจ
โดยที่ถวัลย์ใช้รูปร่างของคนและสัตว์เป็นรหัสเพื่อสื่อความหมาย
เพราะฉะนั้นความสำคัญของความหมายอันเกิดจากรหัสเชิงสุนทรียะจึงเป็นการตีความในแบบอัตนัย
ทำให้เห็นว่าผลงานชิ้นนี้เป็นผลงานที่เน้นการตีความจากสัญลักษณ์ต่างๆ
ที่แบ่งเป็นกลุ่มของพื้นที่ในภาพ อันมีลักษณะคล้ายกับโลกแห่งความฝันเป็นจินตนาการในแบบศิลปะเซอร์เรียลลิสม์
(Surrealism) และศิลปะแบบแฟนตาซี
(Fantasy) ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญที่ถวัลย์ได้ใช้แนวทางดังกล่าวพัฒนาผลงานตัวเองจนกลายเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญและโดดเด่นมากในปัจจุบัน
จิตรกรรมบนผนังของถวัลย์ ดัชนีชิ้นนี้จึงเปรียบเสมือนหลักฐานชิ้นสำคัญที่จะทำให้เห็นถึงพัฒนาการการสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมของศิลปินที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง
ที่สำคัญอีกประการคือ การที่ผู้ดูผลงานจะได้เห็นผลงานอันเป็นประวัติศาสตร์ได้อย่างใกล้ชิด
เพราะสภาพแวดล้อมบริเวณจิตรกรรมฝาผนังในสำนักกลางนักเรียนคริสเตียนในทุกวันนี้ก็ดูเงียบๆ
และอาจจะมีน้อยคนที่จะรู้ว่า ภาพวาดบนฝาผนังเก่าๆ
นี้คือผลงานสำคัญชิ้นหนึ่งของศิลปินที่มีชีวิตและทำงานดุจตำนานที่จะถูกกล่าวขานอย่างไม่รู้จบ.
บรรณานุกรม
ลักษณ์ คูณสมบัติ. สุนทรียภาพในผลงานจิตรกรรมของถวัลย์
ดัชนี. วิทยานิพนธ์ศิลปมหาบัณฑิต สาขาทฤษฎีศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2554.