ปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ.2466
ศาสตราจารย์คอร์ราโด เฟโรจี (Corrado Feroci) ได้เดินทางจากนครฟลอเรนซ์
(Florence) ประเทศอิตาลี (Italy) พร้อมด้วยภรรยาและบุตรสาว
โดยเรือเดินสมุทรมาสู่ประเทศสยามเพื่อเข้ารับราชการเป็นช่างปั้นประจำกรมศิลปากร กระทรวงวัง[1]
ในช่วงระหว่างรับราชการนั้นท่านได้สร้างผลงานประติมากรรมที่สำคัญๆ หลายชิ้น เช่น พระรูปสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์
พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (เฉพาะพระพักตร์)
และพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
เพื่อสร้างเป็นอนุสาวรีย์ปฐมราชานุสรณ์เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองพระนคร 150 ปี[2]
เป็นต้น
ซึ่งผลงานในช่วงดังกล่าวนี้ล้วนสร้างขึ้นก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งสำคัญของประเทศสยาม
ดังนั้นผลงานส่วนใหญ่จึงเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ พระราชวงศ์ และชนชั้นสูง
หลังการเฉลิมฉลองพระนคร 150 ปี ไม่นาน เกิดการ“การปฏิวัติสยาม 2475” (Siamese revolution of 1932)ขึ้น ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยคณะราษฎร เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ประเทศสยามได้เปลี่ยนแปลงการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
(Absolute Monarchy) สู่ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญและพัฒนามาสู่การปกครองแบบประชาธิปไตยในลำดับต่อมา
ซึ่งศาสตราจารย์คอร์ราโด เฟโรจีก็ได้รับผลกระทบในด้านการปฏิบัติการราชการโดยเฉพาะในด้านการสร้างผลงานศิลปกรรม
เนื่องด้วยแต่เดิมท่านทำงานราชการกับคณะรัฐบาลเดิม (การบริหารในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์)
มาสู่การรับงานราชการกับคณะรัฐบาลใหม่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำให้การสร้างผลงานต้องคล้อยตามกับนโยบายของรัฐบาลในสมัยนั้น
จนทำให้ผลงานที่สร้างขึ้นเพื่อสาธารณะ (เช่น อนุสาวรีย์ เป็นต้น)
มีลักษณะที่สนับสนุนนโยบายของรัฐมากขึ้น
ต่อมาศาสตราจารย์คอร์ราโด เฟโรจี ได้เปลี่ยนสัญชาติอิตาเลียนเป็นสัญชาติไทยและได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น
“ศิลป์ พีระศรี” อันเป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2
ในขณะนั้นที่ประเทศอิตาลีแพ้สงคราม ทำให้กองทัพญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศไทยมีสิทธิ์ที่จะจับชาวตะวันตกสัญชาติอิตาเลียนในประเทศไทยไปเป็นเชลยได้เพื่อสร้างทางรถไฟไปพม่า
ดังนั้นการที่รัฐบาลไทยในขณะนั้นตัดสินใจเปลี่ยนสัญชาติคอร์ราโด เฟโรจี ให้เป็น
“ศิลป์ พีระศรี” จึงเกิดจากการพิจารณาแล้วว่า
ท่านสามารถที่จะทำคุณประโยชน์ต่อประเทศไทยในระยะยาวได้
ไม่ควรยอมให้ท่านกลายเป็นเชลยที่ไม่สามารถกำหนดชะตากรรมของตัวเองได้เลย
เมื่อกล่าวถึงผลงานของศาสตราจารย์ศิลป์
พีระศรีในช่วงหลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ที่สร้างขึ้นตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาลขณะนั้น
(กลุ่มคณะราษฎรซึ่งเป็นกลุ่มผู้ก่อการปฏิวัติสยาม 2475) ซึ่งเน้นผลงานที่สร้างความหมายให้กับนโยบายรัฐนิยมและแนวคิดชาตินิยมในระบอบการปกครองใหม่
(และขณะเดียวกันก็เปลี่ยนชื่อประเทศจาก "สยาม" เป็น "ไทย"
ในปี พ.ศ.2482) ผลงานศิลปกรรมของท่าน
ที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นจึงเป็นไปเพื่อสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลอย่างชัดเจน (ซึ่งหากพิจารณาอย่างตรงไปตรงมาจะพบว่าอำนาจของรัฐบาลในขณะนั้น
โดยเฉพาะสมัยจอมพล ป. พิบูลยสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีมีมากเกินกว่าจะมีผู้ใดต่อต้านได้
ดังนั้นการที่ศาสตราจารย์ศิลป์สร้างสัมพันธภาพอันดีกับจอมพล ป.
จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก
ไม่ว่าจะเป็นในด้านของการเป็นผู้มีอำนาจกับผู้ใต้บังคับบัญชาหรือแม้กระทั่งผลประโยชน์ในระยะยาวระหว่างสถาบันทางการเมืองกับสถาบันศิลปะภายใต้การนำของศาสตราจารย์ศิลป์เอง)
ภาระทางด้านการปั้นประติมากรรมขนาดใหญ่จำพวกอนุสาวรีย์ของศาสตราจารย์ศิลป์นั้น
จำเป็นอย่างมากที่ต้องใช้ช่างปั้นเพิ่มเติม
เพราะลำพังเพียงแค่ท่านคนเดียวไม่สามารถที่จะสร้างผลงานตามระยะเวลาที่กำหนดได้
ท่านจึงมีความคิดริเริ่มในการที่จะสร้างสถาบันการศึกษาทางศิลปะแบบตะวันตกเพื่อนำความรู้มาช่วยในปฏิบัติงานของท่านด้วยดังนั้นลูกศิษย์ในช่วงแรกๆ ของท่านจึงเป็นกลุ่มช่างปั้นที่กลายมาเป็นกำลังสำคัญในการสร้างงานอนุสาวรีย์ในประเทศไทยอยู่หลายแห่ง
เช่น อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นต้น
การกำเนิดสถาบันศิลปะอย่างมหาวิทยาลัยศิลปากรนั้นก็มีความเกี่ยวโยงระหว่างระหว่างจอมพล
ป. พิบูลสงครามกับศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีอยู่ไม่น้อย
ทั้งนี้อาจจะเนื่องด้วยศาสตราจารย์ศิลป์เป็นข้าราชการที่สร้างผลงานสนับสนุนงานของรัฐมาโดยตลอดจนจอมพล
ป. ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีเห็นความสำคัญของศิลปกรรมที่จะสามารถนำมาเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนนโยบายรัฐนิยม
จึงอนุมัติให้สถาปนามหาวิทยาลัยศิลปกรขึ้นดังที่ น. ณ ปากน้ำ หรือ ประยูร อุลุชาฎะ
หนึ่งในลูกศิษย์คนสำคัญของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีได้เขียนบรรยายเอาไว้ว่า
“มรดกอีกอย่างหนึ่งที่อาจจะถือได้ว่าเป็นผลพวงมาจากการประกวดประณีตศิลปกรรมก็คือ
การถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการของมหาวิทยาลัยศิลปากร เพราะในปี 2482 จอมพล ป. พิบูลสงครามได้มีโอกาสเข้าชมร้านศิลปากรในงานฉลองรัฐธรรมนูญ
ซึ่งภายในร้านศิลปากรส่วนหนึ่งใช้เป็นที่จัดแสดงผลงานการประกวดประณีตศิลปกรรม
และในการนี้จอมพล ป.
พิบูลสงครามได้มีโอกาสเห็นฝีมือทางศิลปะของนักเรียนฝ่ายประติมากรรม
ลูกศิษย์ของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี จนเป็นที่จับใจท่านเป็นอย่างยิ่ง
ในวันรุ่นขึ้นท่านจึงได้เดินทางไปดูการสอนที่ “โรงเรียนประณีตศิลปกรรม”
ซึ่งการมาดูงานครั้งนี้เป็นผลส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากรในเวลาต่อมา...[3]
สดชื่น
ชัยประสาธน์ได้บรรยายถึงการสนับสนุนกิจกรรมทางศิลปะของจอมพล ป. พิบูลสงคราม
ที่เกี่ยวข้องกับศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และมหาวิทยาลัยศิลปากร ไว้ว่า
“...ไม่ปรากฏหลักฐานว่าศิลปินช่วงก่อน
2507 ได้รับความอึดอัดคับข้องใจหรือถูกบีบคั้นจากสภาพสังคมการเมืองแต่อย่างใด
ตรงกันข้าม การที่จอมพล ป. (จอมพล ป. พิบูลยสงคราม: ผู้เรียบเรียง)
มีนโยบายที่จะพัฒนาประเทศให้เป็นสมัยใหม่ เป็นสากลทัดเทียมอารยประเทศ
และตระหนักถึงความสำคัญของศิลปะว่าเป็นวัฒนธรรมสาขาหนึ่งที่สำคัญยิ่งของชาติ
กลับส่งผลให้วงการศิลปะได้รับความสนใจส่งเสริมจากรัฐบาลมาก
เห็นได้จากการยกระดับโรงเรียนศิลปากรแผนกช่างเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากรในปี 2486 การสนับสนุนการจัดงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติตั้งแต่
พ.ศ. 2492 การให้ทุนจัดพิมพ์หนังสือแปลด้านศิลปะ (เช่น ศิลปะสังเคราะห์)
หรือการที่จอมพล ป. อนุมัติเงินการกุศลเนื่องในวันเกิดของตนจำนวน 14,000 บาท สำหรับจัดแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 5
ตลอดจนมาเป็นประธานแจกอนุปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ปี 2495และมอบรางวัลให้ศิลปิน เป็นต้น ทางด้านมหาวิทยาลัยศิลปากรอันมีศาสตราจารย์ศิลป์และลูกศิษย์ก็ได้ตอบสนองนโยบายรัฐของจอมพล
ป. ด้วยการสร้างอนุสาวรีย์ต่างๆ รวมทั้งประติมากรรม สำหรับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
(พ.ศ. 2482-2483) และอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (2484) ฯลฯ นับได้ว่าทั้งสองฝ่ายมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมิใช่น้อย[4]
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ถือเป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาศิลปะตามหลักวิชาศิลปะแนวคลาสสิก
(Classic
Art) และศิลปะยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (Renaissance: เรอนาส์ซอง)[5]
จากประเทศอิตาลี (The Academy of Fine Arts of Florence) ทำให้มีทักษะฝีมือขั้นสูงควบคู่ไปกับแนวคิดเชิงสุนทรียะแบบอุดมคติ (Idealism) อย่างศิลปะตะวันตก อันเป็นแก่นของแนวความคิดสำคัญที่
เป็นแนวคิดและกระบวนการสำคัญในการสอนเพื่อเผยแพร่แนวทางดังกล่าวให้เกิดขึ้นกับประเทศไทยอย่างฝังราก
ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า สำหรับบริบทของสังคมไทยแล้ว “ศิลป์
พีระศรีเป็นผู้ประศาสน์การยิ่งตอกย้ำแนวทางศิลปะหลักวิชาซึ่งเป็นเส้นทางของศิลปะเรอนาส์ซองอย่างโดดเด่น”[6]
ลักษณะการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยศิลปากรในระยะเริ่มต้นนั้นจึงใช้แนวคิดของศิลปะตามหลักวิชาการ
(Academy) แบบอิตาลีเป็นแนวคิดหลักในการอธิบายถึงลักษณะผลงานที่มีคุณภาพ
ซึ่งต้องประกอบไปด้วยทักษะและแนวคิดในเชิงอุดมคติแบบตะวันตก อันประกอบไปด้วยวิชาทางศิลปะ
เช่น กายวิภาควิทยา ทฤษฎีแสงเงา คอมโปสิชัน โปรเจกชัน ฯลฯ[7]
โดยศาสตราจารย์ศิลป์ ที่มีแนวทางการสอนยึดหลัก 3 ประการ คือ 1.
แบบอย่างศิลปะของประเทศ 2.
ศิลปะอย่างที่นิยมอยู่ในเวลานี้ 3. ความแพร่หลายของศิลปะสมัยแบบสากล[8]
เพราะฉะนั้น การฝึกฝนภายใต้คำแนะนำการสอนของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่มั่นคง ประกอบด้วยการศึกษาธรรมชาติแนวการสอนแบบตะวันตก ซึ่งประกอบด้วยการศึกษาศิลปะเหมือนจริงหรือสัจนิยม
(Realism) และประทับใจนิยม (Impressionism)[9]
หรืออธิบายได้ว่าแนวคิดการสร้างสรรค์ศิลปะตามหลักวิชาการในยุคสมัยนั้น
“เป็นศิลปะที่เน้นความเหมือนจริง (Realistic Art) ตามสภาพธรรมชาติที่ปรากฏแก่สายตา
(ความจริงเชิงประจักษ์) ไม่ว่าเป็นความเหมือนจริงของรูปทรง วัตถุ ทางกายวิภาค
แสงเงาที่ถูกต้องตามหลักทัศนียวิทยา ซึ่งแตกต่างจากศิลปะแบบจารีตของไทยที่เน้นสัญลักษณ์ในเชิงนามธรรม
(ความจริงในอุดมคติ)”[10]
ผลงานทางด้านการวางรากฐานศิลปะตะวันตกของศาสตราจารย์ศิลป์ในการสถาปนามหาวิทยาลัยศิลปากรมีความโดดเด่นเป็นอย่างมาก
ซึ่งการนำแนวคิดศิลปะเชิงอุดมคติแบบสถาบันมาเป็นแนวทางการเรียนการสอนนั้น
ย่อมถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างอัตลักษณ์ให้กับสถาบันหรือสำนักการศึกษา
(มหาวิทยาลัยศิลปากร)เพื่อให้เกิดเอกภาพในการทำงานแบบสกุลช่างศิลปะตะวันตก โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะผลิตช่างศิลปะที่สร้างผลงานสนับสนุนกิจการการสร้างวัฒนธรรมใหม่ตามนโยบายรัฐ
ตามเป้าหมายสำคัญ คือ ให้การศึกษาศิลปะแบบตะวันตกเพื่อให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาออกไปสร้างสรรค์ศิลปะอย่างศิลปิน
หรือทำงานราชการ หรือเอกชน ตามความต้องการของสังคมในขณะนั้น[11]
ในสังคมอดีตนั้น ผู้ที่สร้างสรรค์ศิลปะจะรู้จักกันในอาชีพช่าง
และคำว่า “ศิลปิน” ก็เป็นคำใหม่ที่ใช้แทนคำว่า “ช่าง”
เมื่อมีการเปิดสอนศิลปะในระดับมหาวิทยาลัย ดังนั้น
ผู้ที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากรในรุ่นแรกๆ
มักไม่สามารถดำรงชีวิตได้โดยการทำงานศิลปะเพียงอย่างเดียว
แต่ต้องประกอบอาชีพอื่นควบคู่กันไป”[12]
โดยสรุปแล้วการสถาปนามหาวิทยาลัยศิลปากรถือเป็นการสร้างสถาบันทางศิลปะแบบทางการขึ้น
ซึ่งหมายความว่าเป็นสถาบันการศึกษาศิลปะที่รัฐบาลขณะนั้นให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่
เพื่อมีวัตถุประสงค์สำคัญคือการผลิตช่างศิลปะหรืออาจจะเรียกว่า “ศิลปิน”
ในการที่จะมาสร้างสรรค์ผลงานตามแบบที่รัฐต้องการ ขณะเดียวกันวงการศิลปะไทยแบบสมัยใหม่ในสมัยนั้นยังคงอยู่ในแวดวงที่จำกัด
ดังนั้นการเกิดขึ้นของศิลปินโดยอาชีพจึงแทบจะเป็นไปได้ยากหรืออาจจะเป็นไปไม่ได้เลย
ทั้งนี้เนื่องด้วยหลายปัจจัย
ทำให้ศิลปินที่จบจากมหาวิยาลัยศิลปากรหลายคนยังคงกลายมาเป็นลูกทีมของศาสตราจารย์ศิลป์
พีระศรีในการสร้างศิลปะสำหรับรัฐ หรือบางคนก็กลับมาช่วยสอนในฐานะของอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรเอง
[1] ชุลีรัตน์
โสมะบุตร, 100 ปี ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี,ศิลปากร,
ปีที่35 ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2535), 6.
[2] วิบูลย์
ลี้สุวรรณ, ชีวิตและงานของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี (กรุงเทพฯ : ซิทก้า,
2530), 30.
[3]น. ณ
ปากน้ำ (ประยูร อุลุชาฎะ), “ที่มาของกำเนิดมหาวิทยาลัยศิลปากร”, เมืองโบราณ ปีที่ 18
ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม,2535), 92-93 อ้างใน ชาตรี ประกิตนนทการ, “มรดกตกทอดจากงานฉลองรัฐธรรมนูญ”
ใน คณะราษฎร ฉลองรัฐธรรมนูญ: ประวัติศาสตร์การเมือง
หลัง 2475 ผ่านสถาปัตยกรรม “อำนาจ”(กรุงเทพฯ:
มิตชน, 2548), 141.
[4] สดชื่น
ชัยประสาธน์, จิตรกรรมและวรรณกรรมแนวเซอร์เรียลิสต์ในประเทศไทย พ.ศ.2507-2527
(กรุงเทพฯ:สยามสมาคม, 2539),11.
[5] สุธี
คุณาวิชยานนท์ “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อการเมือง: จากสัจนิยมราชา
ถึง สัจนิยมสังคม และกลับสู่ สัจนิยมราชาวีรบุรุษ”, ศิลปวัฒนธรรม, ปีที่ 30, ฉบับที่ 7
(พฤษภาคม , 2552), 91.
[6] วิรุณ
ตั้งเจริญ, “ทางแยกระหว่างศิลปะหลักวิชากับศิลปะสมัยใหม่” ใน ศิลปาพิจารณ์
หนึ่ง: มติชนสุดสัปดาห์ 2530-2535 (กรุงเทพฯ: อีแอนด์ไอคิว, 2549), 230.
[7] ประยูร
อุลุชาฎะ, 5 รอบประยูร อุลุชาฎะ (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์พิฆเณศ, 2527), 116 อ้างถึงใน
วิรุณ ตั้งเจริญ, ศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย(กรุงเทพฯ:
โอ. เอส. พริ้นติ้ง เฮ้าส์, 2534), 109.
[8] วิบูลย์
ลี้สุวรรณ, ชีวิตและงานของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี (กรุงเทพฯ : ซิทก้า,
2530), 150.
[9] ผู้ช่วยศาสตราจารย์
ดร.ไพโรจน์ ชมุนีและอาจารย์เวอร์จิเนีย เฮนเดอร์สัน, “ห้าทศวรรษการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติในประเทศไทย: วิวัฒนาการศิลปะไทย”
ใน 5 ทศวรรษศิลปกรรมแห่งชาติ
(กรุงเทพฯ: อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด
(มหาชน), 62.
[10] ชาตรี
ประกิตนนทการ, “ศิลปะคณะราษฎร 2475-2490” ใน ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร:
สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์ (กรุงเทพฯ: มติชน, 2552), 118.
[11] วิบูลย์
ลี้สุวรรณ, ชีวิตและงานของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี (กรุงเทพฯ : ซิทก้า,
2530), 150.
[12] ดร.จิตติมา
อมรพิเชษฐ์กูล, “มองย้อนหลังห้าทศวรรษการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติในประเทศไทย” ใน 5
ทศวรรษศิลปกรรมแห่งชาติ (กรุงเทพฯ: อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง
จำกัด (มหาชน), 19.