โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ(jumpsuri@hotmail.com)
อาจารย์ประจำภาควิชาสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม
ผลงานศิลปะที่มีความเกี่ยวโยงกับสภาพความเป็นไปทางสังคมนั้นส่วนใหญ่มักถูกสร้างสรรค์ขึ้นจากศิลปินชายที่มีความสนใจในประเด็นดังกล่าวอย่างจริงจัง ซึ่งผลงานที่ออกมามักมีแสดงออกทางทัศนธาตุที่รุนแรงเกิดความรู้สึกสะเทือนใจอย่างเด่นชัด ด้านหนึ่งอาจจะเป็นการนำเสนออย่างตรงไปตรงมาของศิลปินมีต่อเหตุการณ์ในสังคมนั้นๆ ด้านหนึ่งศิลปินต้องการสื่อสารความรู้สึกส่วนตัวที่มีต่อเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างตรงๆ แต่ถึงที่สุดแล้วผลงานผลงานศิลปะที่สื่อสะท้อนความเป็นไปในสังคม โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวทางการเมืองนั้น ย่อมแสดงออกถึงบทบาทที่สำคัญของศิลปะที่มีต่อสังคมโดยรวม ดังนั้นศิลปินเองก็มีความจำเป็นที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคมผ่านผลงานศิลปะเช่นเดียวกัน
กัญญา เจริญศุภกุลเป็นศิลปินหญิงที่อยู่ในวงการศิลปะร่วมสมัยไทยมาหลายสิบปี กัญญาสร้างสรรค์ผลงานภาพพิมพ์ จิตรกรรม และสื่ออื่นๆ ในรูปแบบที่หลากหลาย แต่ผลงานที่มักถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นคือผลงานชุด "ธง" ซึ่งแก่นของแนวทางการสร้างสรรค์นั้นศิลปินได้รับแรงสะเทือนใจจากความเคลื่อนไหวทางการเมืองในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 และนำความรู้สึกจากประสบการณ์ในขณะนั้นมาสร้างเป็นผลงานจิตรกรรม โดยการใช้มือละเลงสีอย่างฉับพลันลงบนผืนผ้าใบทำให้เกิดร่องรอยและพื้นผิวที่หยาบ เต็มไปด้วยพลังฝีแปรงที่สร้างขึ้นจากมือของเธอเอง ทำให้เมื่อได้ชมผลงานจึงเกิดความรู้สึกที่ตรง ชัดเจนและทรงพลังอย่างเห็นได้ชัด
กัญญาได้นำแถบสีแดง ขาว และน้ำเงิน อันเป็นสัญลักษณ์ของธงชาติไทยมาเป็นกุญแจที่นำไปสู่การเปิดเผยความหมายผลงานของตัวเอง การตั้งชื่อผลงานที่สอดคล้องกับธงชาติไทยและเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 35 ก็เป็นรหัสที่นำไปสู่ความเข้าใจในเนื้อหาอันเข้มข้นของผลงานได้ง่ายขึ้น
ผลงานแต่ละชิ้นมิได้ถูกถ่ายทอดด้วยความรู้สึกที่ฉาบฉวย หากแต่ศิลปินต้องการสื่อสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวที่มีต่อความเก็บกด ความเจ็บช้ำ ความรุนแรง และการสูญเสียในเหตุการณ์ทางการเมืองดังกล่าวผ่านรูปร่างของธงชาติผิดปกติ บิดเบี้ยว เปรอะเปื้อน และเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน
ผลงานชุด “ธง” ของกัญญา เป็นผลงานที่มีแนวทางการสร้างสรรค์ที่เน้นการแสดงออกประจักษ์เชิงอารมณ์สะเทือนใจที่รุนแรง หรือ แบบเอ็กเพรสชั่นนิสม์ (Expressionism) หรือมีจุดประสงค์ในการสร้างสรรค์แบบเอ็กซ์เพรสสิวิสม์ (Expressivism) ซึ่งสามารถที่จะแบ่งรูปแบบผลงานของศิลปินได้เป็น 2 รูปแบบด้วยกัน คือ
รูปแบบที่ 1 เป็นผลงานจิตรกรรมสีอะคริลิคระบายเป็นแถบสีธงชาติไทย สีแดง สีขาว สีน้ำเงิน ประกอบไปด้วยผลงานชื่อ “ธง-ซากปรักหักพัง -พฤษภาคม 2535”, “ธง-ความหวัง”, “ธง- พฤษภาคม 2535”, “ธง-พฤษภาคม 2535 No.1”, “ธง-พฤษภาคม 2535 No.2”, “ธง-พฤษภาคม 2535 No.3” และ “ธง-พฤษภาคม 2535 No.4” ผลงานรูปแบบนี้ศิลปินได้ระบายเป็นริ้วธงชาติไทยอย่างหยาบ ๆ เต็มไปด้วยรอยฝีแปรง (Bush Stroke) ซึ่งใช้ฝ่ามือในการระบายด้วยความฉับพลัน ผลที่เกิดขึ้นทำให้ดูมีความเคลื่อนไหว สั่นสะเทือน ให้ความรู้สึกที่พลุ่งพล่าน สีธงชาติที่ปรากฏมิเพียงเป็นรูปลักษณ์ของธงชาติเท่านั้นหากแต่ยังบรรจุไว้ซึ่งอารมณ์ความรู้สึกของศิลปินผ่านทัศนธาตุ (Visual Element) ของพื้นผิวที่หยาบ (Texture) และเต็มไปด้วยความเคลื่อนไหวที่รุนแรง (Movement)
ภาพที่ 1 กัญญา เจริญศุภกุล “ธง- พฤษภาคม 2535” สีอะคริลิค, 90 x 115 ซม. (2535)
ภาพที่ 2 กัญญา เจริญศุภกุล “ธง-พฤษภาคม 2535 No. 1” สีอะคริลิค, ขนาด 90 x 170 ซม. (2535)
ภาพที่ 3 กัญญา เจริญศุภกุล “ธง-พฤษภาคม 2535 No. 2” สีอะคริลิค, ขนาด 90 x 160 ซม. (2535)
ภาพที่ 4 กัญญา เจริญศุภกุล “ธง-พฤษภาคม 2535 No. 3 ” สีอะคริลิค, ขนาด 90 x 170 ซม. (2535)
ภาพที่ 5 กัญญา เจริญศุภกุล “ธง-พฤษภาคม 2535 No. 4” สีอะคริลิค, ขนาด 90 x 225 ซม. (2535)
ภาพที่ 6 กัญญา เจริญศุภกุล “ธง-ความหวัง” สีอะคริลิค, ขนาด 90 x 225 ซม. (2535)
รูปแบบที่ 2 เป็นผลงานเทคนิคโมโนพริ้น (Mono Print) หรือภาพพิมพ์ครั้งเดียวบนกระดาษสาประกอบไปด้วยผลงานชื่อ “ธง - 17-20 พฤษภา 2535” และ“ธง- สาบสูญ พฤษภา 2535” ศิลปินไม่ได้จงใจสร้างภาพของธงชาติไทยที่เหมือนกับรูปแบบแรก แต่ใช้ตัวอักษร (Front) และตัวเลขที่มีความหมายถึงเหตุการณ์ที่ต้องการเชื่อมโยง โดยเขียนด้วยความฉับพลันทันทีจากจิตใต้สำนึกทิ้งร่องรอยอย่างหยาบ ๆ ในผลงาน “ธง- สาบสูญ พฤษภา 2535” ศิลปินจงใจทิ้งคราบสีดำคล้ายเขม่าอันเกิดจากควันอย่างจงใจ ซึ่งผลที่เกิดขึ้นย่อมทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกแห่งความสูญเสียที่เกิดจากการเผาไหม้และคราบควัน
ภาพที่ 7 กัญญา เจริญศุภกุล “ธง- 17-20 พฤษภา 2535” โมโนพริ้นบนกระดาษสาขนาด 232 x 167 ซม. (2535)
ภาพที่ 8 กัญญา เจริญศุภกุล “ธง- สาบสูญ พฤษภา 2535” โมโนพริ้นบนกระดาษสาขนาด 232 x 167ซม. (2535)
อรรฆย์ ฟองสมุทร อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ภัณฑารักษ์ และนักวิจารณ์ศิลปะ ได้เขียนถึงผลงานในชุด “ธง- พฤษภา 2535” ของกัญญาอย่างละเอียดเอาไว้ว่า
...กัญญาเลือกเอาจิตรกรรมเป็นสื่อสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง เป็นการส่งข้อความทางการเมืองผ่านสื่อจิตรกรรมในฐานะของคนทำงานศิลปะ ร่องรอยภาพลักษณ์ของธงไตรรงค์ที่เป็นสัญลักษณ์ของชาติระบอบการปกครองใหม่ทีถูกเน้นย้ำยิ่งขึ้นใช่วงรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลยสงคราม ในช่วงที่เรียกว่าการสร้างชาติที่ผลต่อความรู้สึกนึกคิดดังกล่าวยังคงปรากฏเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ถูกนำมาทาทับด้วยสีอะคริลิคทาบ้านผสมดินที่ทำให้เกิดคราบไคล...
...ธงชาติไทยในจิตรกรรมชุดนี้ไม่ได้แสดงความหมายเชิงสัญญะมากเท่ากับความหมายของการแสดงอารมณ์ความรู้สึก เนื่องจากว่าภาพเชิงประจักษ์ที่เลือนลางและเปรอะเปื้อนของธงไตรรงค์ กลับกลายเป็นภาษาศิลปะที่ข้ามพรมแดนของการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมมากกว่าที่จะดำรงอยู่ภายในภาษาศิลปะ อีกทั้งยังสามารถแปลความหรือถอดรหัสความหมายทางวัฒนธรรมได้ชัดเจนไม่ว่าจะในแง่ของความรู้สึก หรือในแง่ความคิดรวบยอด ทั้งนี้เพราะเหตุที่ว่าข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏบนธงไตรรงค์หรือธงชาติโดยธรรมชาตินั้นกินพื้นที่ความหมายที่กว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้สภาวะของความขัดแย้งหรือสภาวะของความไม่แน่นอนทางสังคมการเมือง[1]
ในช่วงปีพ.ศ. 2541-2542 กัญญาเริ่มสร้างผลงานในรูปแบบที่ต่างจากจิตรกรรมและภาพพิมพ์ นั่นคือสร้างรูปประติมากรรม 3 มิติ รูปนกพิราบสีขาวขนาดเท่าจริงด้วยปูนปลาสเตอร์จัดวางรอบๆ ลานเสาชิงช้า ผลงานชุด "พิราบขาว" นี้ มีลักษณะการนำเสนอในรูปแบบการติดตั้งผลงานตามบริบทของพื้นที่ (Site Specific Installation) ซึ่งศิลปินสร้างขึ้นตามโครงการศิลปกรรมกรุงเทพเมืองฟ้าอมร แม้ว่าผลงานชุดนี้จะหลีกหนีมิติของการรับรู้แบบ 2มิติ แต่ก็ยังคงกลิ่นอายของผลงานชุด "ธง" ในด้านของการนำเรื่องที่เกี่ยวกับสังคมและการเมืองไทย
กัญญาใช้ประติมากรรมนกพิราบสีขาวเป็นภาพสัญญะที่นำไปสู่ความเป็นตัวแทน (Representation) อันเกี่ยวโยงกับสันติภาพระหว่างมนุษย์กับสรรพสิ่ง นกพิราบนี้อาจเป็นความหมายของการสื่อสารจากคนสู่คน จากที่หนึ่งสู่อีกที่หนึ่ง หรือจากเวลาหนึ่งสู่อีกเวลาหนึ่ง[2] ซึ่งนกพิราบสีขาวถูกจัดวางเป็นกลุ่มราวกลับเป็นนกพิราบจริง ทว่าบางครั้งก็ดูหลอกหลอนคล้ายภาพของซากศพอันไร้วิญญาณของนกพิราบที่เสียชีวิตจากคำสั่งของผู้มีอำนาจในสังคมมนุษย์ที่พิพากษาสรรพสิ่งผ่านมายาคติของตนเอง นกพิราบขาวจึงเป็นสิ่งที่ทดแทนชีวิตของสัตว์ที่สูญเสียไป[3] หรือบางทีก็เปรียบได้กับชีวิตของผู้คนมากมายที่สูญสลายไปพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านของเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์แต่ละห้วงเวลา
ภาพที่ 9 กัญญา เจริญศุภกุล “พิราบขาว” ขนาดผันแปรตามพื้นที่ (2541-2542)
ภาพที่ 10 กัญญา เจริญศุภกุล “พิราบขาว” ขนาดผันแปรตามพื้นที่ (2541-2542)
ต่อมากัญญาได้นำประติมากรรมชุด "พิราบขาว" มาแสดงนิทรรศการอีกครั้งภายใต้บริบทการติดตั้งภายในพื้นที่หอศิลป์ ซึ่งแม้ว่าบริบทแวดล้อมของพื้นที่ทั้งทางความหมายสัมพัทธ์และประวัติศาสตร์จะขาดหายไป แต่ผลงาน "พิราบขาว" ก็ถูกจัดการและติดตั้งเพื่อสร้างภูมิทัศน์ให้กับผลงานขึ้นใหม่ ซึ่งในสวนนี้อรรฆย์ ฟองสมุทรได้เขียนบรรยายและวิเคราะห์งานอย่างน่าสนใจเอาไว้ว่า
ภาพที่ 11 กัญญา เจริญศุภกุล “พิราบขาว” ขนาดผันแปรตามพื้นที่ (2541-2542)
...ประติมากรรมสามมิติรูปนกพิราบกับความเป็นพื้นที่เฉพาะกาลในโครงการกรุงเทพเมืองฟ้าอมรนั้น มีความหมายภายในสำหรับคนท้องถิ่นที่มีความผูกพันกับพื้นที่แสดงงานคือ ลานเสาชิงช้า บริเวณหน้าวัดสุทัศน์เทพวราราม การนำเอาประติมากรรมจัดวางที่มีอยู่เดิมมาใช้ ในบริบทของพื้นที่ใหม่ที่เป็นพื้นที่ปิดนำเสนอในเชิงสัมพัทธ์กับจิตรกรรมนามธรรมและผลงานที่สร้างขึ้นใหม่บางส่วน ได้สะท้อนร่องรอยของเรื่องราวในปัจจุบัน ความหมายใหม่นั้นจึงไม่ปรากฏวาระของเรื่องพื้นที่ หากดำรงความหมายในเชิงปรากฏการณ์มากกว่า ร่องรอยการแตกหักและบุบสลายบางส่วนของนกตัวเดิมถูกนำมาใช้โดยปราศจากการแต่งแต้มได้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่สมบูรณ์และความโรยราของสัญลักษณ์เพื่อความสันติสุขเหล่านั้น ความหมายของประติมากรรมรูปนกพิราบแปรเปลี่ยนไปสู่ความหมายสากลที่สะท้อนเรื่องภารดรภาพกับความหวังเล็กๆ ที่อยากเห็นความเป็นธรรมในสังคม...[4]
ดังนั้นจะเห็นว่าเมื่อผลงาน "พิราบขาว" ได้ถูกติดตั้งในพื้นที่เปิดอย่างลานเสาชิงช้า ซึ่งบริบทของพื้นที่มีความสัมพันธ์กันกับรูปประติมากรรมนกพิราบขาว เนื้อหาที่ต้องการนำเสนอจึงสื่อสะท้อนมีความสอดคล้องกันอย่างเด่นชัด ในขณะที่เมื่อได้นำผลงาน "พิราบขาว" เข้ามาจัดแสดงหอศิลป์ ศิลปินจึงจัดการผลงานใหม่ให้เข้ากับบริบทใหม่และสร้างความหมายใหม่ขึ้น
ภาพที่ 12 กัญญา เจริญศุภกุล “พิราบไทย พ.ศ. 2551 เมื่อไหร่จะไม่พิลาป (เสียที)” ขนาดผันแปรตามพื้นที่ (2551)
ภาพที่ 13 กัญญา เจริญศุภกุล “พิราบไทย พ.ศ. 2551 เมื่อไหร่จะไม่พิลาป (เสียที)” ขนาดผันแปรตามพื้นที่ (2551)
กัญญานำกระจกเงาสีปกติ กระจกเงาสีแดง และกระจกเงาสีน้ำเงินมาวางบนผ้าสีขาวตามพื้นที่ๆ จัดวางประติมากรรมนกพิราบขาว สิ่งที่เกิดขึ้นคือปรากฏแสงสะท้อนคล้ายสีธงชาติไทย ซึ่งตรงนี้อาจจะทำให้เกิดสมมุติฐานได้ว่าศิลปินต้องการเชื่อมโยงผลงานชุดนี้กับสัญญะของธงชาติไทยเป็นส่วนเสริมเนื้อหาหลักของผลงาน
ภาพที่ 13 กัญญา เจริญศุภกุล “พิราบไทย พ.ศ. 2551 เมื่อไหร่จะไม่พิลาป (เสียที)” ขนาดผันแปรตามพื้นที่ (2551)
โดยสรุปแล้วผลงานจิตรกรรมชุด "ธง"ของกัญญาเป็นผลงานที่จัดอยู่ในกลุ่มศิลปะแบบเอ็กซ์เพรสสิวิสม์ (Expressivism) ที่สะท้อนความเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชน ซึ่งมีรูปแบบการนำเสนอที่เน้นความเคลื่อนไหวและความรุนแรงทางทัศนธาตุเป็นหลัก ทั้งนี้เพื่อถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกที่มีต่อประสบการณ์การต่อสู้ทางการเมืองภาคประชาชนที่เข้มข้นเด่นชัด รอยฝีแปรงอันหยาบที่เห็นชัดเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงไปสู่เรื่องราวอันเห็นเหตุการณ์รุนแรงทางการเมือง ศิลปินใช้ทัศนธาตุเพื่อสอดรับกับประเด็นของเนื้อหา ธงชาติที่ปรากฏในผลงานสัมพันธ์กับแนวคิดชาตินิยมและความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างน่าสนใจ
ในขณะที่ผลงานในชุด "พิราบขาว" มีการนำเสนอที่เน้นแนวคิดเป็นแกนหลัก (Conceptual) โดยให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาการติดตั้งผลงานตามความผันแปรของพื้นที่ได้อย่างลงตัว(Site Specific Installation) ส่วนเนื้อหานั้นศิลปินยังคงนำเรื่องอันเกี่ยวการการเมืองและสังคมมาเป็นแรงบันดาลใจ ผ่านภาพสัญญะของรูปประติมากรรมนกพิราบสีขาว ผลงานในชุดนี้อาจจะสรุปได้ว่า ศิลปินสร้างสรรค์ผลงานในลักษณะศิลปะแบบอินสตรูเมนทัลลิสม์ (Instrumentalism) ที่สะท้อนความเคลื่อนไหวทางการเมืองและความเป็นไปในสังคมไทย
โดยสรุปแล้วบทบาทของผลงานศิลปะของกัญญา เจริญศุภกุลนั้น เป็นเสมือนบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่อุดมไปด้วยสุนทรียภาพ (Aesthetic)อันซับซ้อน ผลงานดังกล่าวนี้ไม่เพียงธำรงไว้ซึ่งอำนาจของสุนทรียภาพและความเพลิดเพลินทางอารมณ์ในระดับปัจเจกเท่านั้น หากแต่ผลงานศิลปะเหล่านี้ยังมีมิติในการสื่อสาร (Communication) ความเป็นไปในสังคมไทยร่วมสมัย เพื่อเป็นภาพตัวแทนและสื่อสะท้อนแนวคิดชาตินิยม ค่านิยมในสังคม วัฒนธรรมที่หลากหลาย ความเป็นไปของสังคม และความเคลื่อนไหวทางการเมืองไทย ผ่านผลงานศิลปะร่วมสมัยได้อย่างสมบูรณ์.
___________________________________________________________________________________________
ภาษาไทย
นิทรรศการกัญญาสนทนากับกัญญา. การแสดงศิลปกรรมของ รศ.กัญญา เจริญศุภกุล ณ หอศิลป์
สศร., 5 สิงหาคม - 5 กันยายน 2551. ม.ป.ท., 2535.
นิทรรศการกรุงเทพเมืองฟ้าอมร, สูจิบัตรมหกรรมศิลปะแห่งเอเชีย เอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่13 กรุงเทพเมืองฟ้าอมร, (ม.ป.ท., 2541), 84-85.
นิทรรศการครั้งที่ 7 ของอาจารย์คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.
การแสดงศิลปกรรมของคณาจารย์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์
มหาวิทยาลัยศิลปากร ณ หอศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์
มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ, 15 กันยายน - 5 ตุลาคม 2535. กรุงเทพมหานคร :
อมรินทร์พริ้นติ้ง, 2535.
วิโชค มุกดามณี. 6 ทศวรรษ ศิลปกรรมร่วมสมัยในประเทศไทย 2486-2546. กรุงเทพมหานคร :
อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2545.
ข้อมูลออนไลน์
Rama IX Art Museum Foundation. Kanya Chareonsukul [Online]. Accessed 25 December 2011, Available from http://www.rama9art.org/kanya/work301.html
[1]อรรฆย์ ฟองสมุทร, “1 ความเชื่อ 1 ความคิด 2 อารมณ์ กับการเป็น1 กัญญา เจริญศุภกุล” ใน นิทรรศการกัญญาสนทนากับกัญญา, ณ หอศิลป์ สศร., 5 สิงหาคม - 5 กันยายน 2551, (ม.ป.ท., 2551), 32-33.
[2] จักรพันธ์ วิลาสินีกุล, “พิราบขาว” ใน นิทรรศการกรุงเทพเมืองฟ้าอมร, สูจิบัตรมหกรรมศิลปะแห่งเอเชีย เอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่13 กรุงเทพเมืองฟ้าอมร , (ม.ป.ท., 2541), 84-85.
[3] ดร.เตยงาม คุปตะบุตร, บทนำ ใน นิทรรศการกัญญาสนทนากับกัญญา, ณ หอศิลป์ สศร., 5 สิงหาคม - 5 กันยายน 2551, (ม.ป.ท., 2551), 26.
[4]อรรฆย์ ฟองสมุทร, “1 ความเชื่อ 1 ความคิด 2 อารมณ์ กับการเป็น1 กัญญา เจริญศุภกุล” ใน นิทรรศการกัญญาสนทนากับกัญญา, 33.