วันอาทิตย์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2554

วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2554

โลกของการสร้าง (อุปาทาน)

โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ

การละสังขารของพระธรรมวิสุทธิมงคลหรือหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน เป็นข่าวดังที่สะเทือนอารมณ์ของลูกศิษย์ของท่านและพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศอยู่ไม่น้อย แต่สำหรับลูกศิษย์ที่เป็นพระป่ากรรมฐานของท่านก็คงเป็นเรื่องที่องค์หลวงตาได้ตระเตรียมไว้และได้สั่งสอนสัจธรรมให้กับลูกศิษย์ของท่านมาโดยตลอด ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในสภาวะธรรมขององค์หลวงตาก็คงมิได้สร้างความทุกข์โทมนัสมากมายเท่าไรนักสำหรับลูกศิษย์ของท่าน หากท่านเหล่านั้นได้เข้าถึงสภาวะไร้ความยึดมั่นถือมั่น แต่สำหรับปุถุชนคนธรรมดาคงเป็นเรื่องเสียดายมากพอเท่ากับเสียใจเพราะมารู้ว่าอีกนานเท่าใดที่พระสุปฏิปันโนระดับครูบาอาจารย์ชั้นสูง (ทางธรรม) จะอุบัติขึ้นในพิภพนี้อีก


ว่ากันตามจริงแล้วความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องเปลี่ยนผ่าน การผ่านพ้นไปเป็นผลจากการเปลี่ยนถ่ายหมุนวน สรรพสิ่งขับเคลื่อนไปตามกงจักรแห่งเหตุปัจจัยอย่างไม่หยุดนิ่ง สิ่งนี้อาจจะเรียกได้ว่าเรียกว่า วัฏฏะ ซึ่งมีองค์ประกอบหลักอยู่ 3 ลักษณะ นั้นคือ สภาวะความไม่เที่ยงแท้ผันแปรไปนิรันดร์ การทนอยู่กับสภาวะต่างๆ โดยไม่ผันแปรไม่ย่อมไม่มีในทุกสรรพสิ่ง และสรรพสิ่งนั่นเป็นของว่างเปล่าไร้ความหมายแห่งตัวตน

ทว่ามนุษย์เรามักมิปรารถนาให้วัฏฏะอันเป็นความจริงแท้นั้นหมุนไปตามเหตุผลของมันและพยายามทุกวิถีทางกับการสร้างเครื่องหยุดการเปลี่ยนแปลงทั้งในรูปของการบำรุงร่างกายสังขารโดยบำเรอตาม รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส หรือการสร้างความเพลิดเพลินลุ่มหลงให้กับจิตใจ ในด้านหนึ่งมนุษย์เราก็มักบอกว่าตนเองยอมรับในความเปลี่ยนแปลงอันเป็นธรรมดาของโลก แต่พฤติกรรมที่เกิดขึ้นกลับขัดแย้งกับสิ่งที่ได้กล่าวมาข้างต้น หลายครั้งที่เราอ้างว่าต้องเป็นอย่างนั้น ต้องทำอย่างโน้น บ้างก็ว่าเพื่อสิ่งนั้นหรือสิ่งนี้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการไม่ยอมรับในวัฏจักรแห่งหมุนเปลี่ยนนั้น ปัจจัยหนึ่งคือการประดิษฐ์สิ่งที่เรียกกันว่าอุปาทานให้บังเกิดขึ้นในจิตใจ

อุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่นในความมีตัวตน ซึ่งทำให้ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย และมุ่งเสพแต่สิ่งที่พึงพอใจโดยไม่เผื่อพื้นที่สำหรับสิ่งอื่นๆ ที่จะมาขัดแย้งและแตกต่างจากความเชื่อของตน อุปาทานเป็นไปด้วยความยินดีทางรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เกิดความยึดถือในความคิดและความเชื่อของตนโดยไม่ถอดถอนจากความคิดนั้นๆ อีกทั้งสร้างกรอบความเชื่อและความศรัทธาด้วยความงมงายจนครอบงำตัวเองด้วยอวิชชา สุดท้ายยึดมั่นถือมั่นในตัวกูและของกู หรือสร้างอัตตาตัวตนขึ้นในใจ รวมความแล้วอุปาทานคือกรงขังทางจิตวิญญาณที่มนุษย์เราไม่สามารถคลี่คลายไปสู่อิสรภาพที่แท้จริงได้

ความเป็นไปต่างๆ ที่บังเกิดขึ้นในโลกล้วนมีสาเหตุหนึ่งมาจากอำนาจอับไพศาลของอุปาทานหรือความยึดมั่นถือมั่นที่มนุษย์เรานั้นเป็นผู้รังสรรค์ขึ้นจากความไม่รู้เท่าทันความเป็นจริงแห่งสิ่งทั้งปวงและด้วยความไม่ยอมรับในกฏของวัฏจักรของธรรมชาติ ที่สำคัญอุปาทานนี้เองคือหนทางที่ประดิษฐ์ทุกข์อันเป็นความหม่นหมองทั้งทางกายและกิดกลืนกินความกระจ่างแจ้งในจิตใจของมนุษย์เรา

ทุกข์อันเกิดจากความยึดมั่นถือมั่นนั้นเป็นสิ่งที่ยากยิ่งในการถอดถอนหากมิรู้เท่าทั้น ซึ่งในระดับปุถุชนธรรมดาผู้ยังเพลิดเพลินอยู่ในโลกียสุขนั้น การที่จะก้าวข้ามไปสู่ขั้นบรรลุหลุดพ้นจากอุปาทานคงยากแสนเหลือกำลัง หากแต่การลดความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนให้น้อยลงกว่าเดิมลงบ้าง นอกจากตัวของเราจะพบความเบาสบายใจขึ้นบ้างแล้ว อาจจะทำให้เรามองความเป็นไปในสรรพสิ่งได้อย่างไม่สุดขั่วจนเกินไป สุดท้ายแล้วเราอาจจะเห็นว่าโลกที่เราคุ้นเคยนั้นน่าอยู่กว่าเดิมบ้าง

ทุกวันนี้ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในสังคมโลกย่อมเป็นผลจากความอ่อนแอทางปัญญาของมนุษย์ และอำนาจของมันยังสามารถแพร่ประจายไปอย่างไร้ขอบเขตกลายเป็นอุปาทานมวลหมู่แห่งมหาชน ตัวอย่างเช่น สงครามต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก กรณีระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีน กรณีการสังหารพระสงฆ์และประชาชนในประเทศพม่าโดยรัฐบาลทหารที่ยึดอำนาจมาอย่างยาวนาน กรณีการโค่นล้มอำนาจรัฐโดยประชาชนในประเทศแถบแอฟริกา ความวุ่นวายของการเมืองไทยในระยะ พ.ศ. 2548-ปัจจุบัน หรือแม้แต่กรณีปัญหาชายแดนและพื้นที่เขาพระวิหารระหว่างราชอาณาจักรไทยและราชอาณาจักรกัมพูชา เป็นต้น

โฆษณาชวนเชื่อที่มากมายหลากหลายรูปแบบและวิถีทางทั้งจากฝ่ายรัฐ ผู้มีความคิดเห็นตรงข้ามกับรัฐ และสื่ออันเป็นเอกเทศไม่เพียงนำเสนอข้อมูลของตนอย่างธรรมดาเท่านั้น หากแต่เรียกได้ว่าพยายามยัดเยียดผู้เสพให้เลือกและยึดถือในแนวทางความคิดของตน ความเชื่อของตน และสินค้าของตน โฆษณาชวนเชื่อในรูปแบบต่างๆ เหล่านี้ ล้วนนำไปสู่ประตูแห่งความเสื่อมทางจิตวิญญาณ เพราะเป็นการแสดงถึงความมุ่งหมายที่จะสร้างสร้างอุปาทานหมู่ที่ครอบงำมนุษย์เพื่อสร้างฐานอำนาจทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองให้กับฝ่ายของตัวเอง สิ่งนี้เป็นเสมือนเงาเมฆมืดทะมึนบดบังพุทธปัญญาหากมิอาจก้าวพ้นไปจากร่มของเงาแห่งอวิชชานั้น

ความขัดแย้งทางความคิดที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งหากมนุษย์เราได้มีพื้นที่ว่างบ้างเพื่อยอมรับความแตกต่างได้อย่างไม่ทุกข์ร้อนอะไรก็คงไม่มีปัญหาที่วุ่นวายอะไรมาก แต่มนุษย์กลับคับแคบไม่ค่อยยอมรับความหลากหลายทางวิถีชีวิต ความคิด ความเชื่อ สังคม และการเมือง ทำให้ปัญหาที่จุดประกายจากสิ่งเล็กๆกลายเป็นเงื่อนไขไปสู่ความหายนะได้ โดยเฉพาะประเทศไทยที่เคยมีสมยานามว่าดินแดนแห่งรอยยิ้ม กลับถูกเกมส์ทางการเมืองและความเสื่อมทรุดทางศีลธรรมถาโถมทำลายกันเองอย่างพินาศ ความแตกแยกทางสังคมที่ไม่ยอมรับความคิดเห็นที่ต่างจากตนเองนั้นก็เกิดจากความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ตนหลงยิ่งทำให้ความร้อนแห่งโทสจริตปะทุขึ้นทีละน้อยๆ จนระเบิดออกมาเป็นกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ความเป็นไปตามความเสื่อมนี้ทำให้ผมหวนกลับไปคิดถึงการรวบรวมทรัพทย์สิน เงิน และทองคำ ในกองผ้าป่าช่วยชาติของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 ตราบจนท่านละสังขารไปแล้ว


กองผ้าป่าช่วยชาติของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน เกิดขึ้นด้วยการที่คนทั้งประเทศยอมสละสิ่งที่มีค่าในทางโลกอันเป็นทรัพทย์ที่ถือกันว่าเป็นของส่วนตนมากบ้าง น้อยบ้าง ตามกำลังของแต่ละหมู่ แต่ละคน ก็เพื่อจุดมุ่งหมายหลักคือการนำทรัพย์นี้ไปช่วยเป็นทุนสำรองของประเทศในการกู้วิกฤตทางเศรษฐิกิจต่างๆ หรือปลดหนี้สถาบันการเงินต่างประเทศ หากแต่นัยยะที่สำคัญคือ การสละทรัพย์ทางโลกอันเป็นสิ่งหนึ่งที่เป็นเหตุปัจจัยในยึดมั่นถือมั่นอย่างหนึ่งของมนุษย์เพื่อนำช่วยแก้ปัญหาทางโลก ซึ่งการที่เราจะสละทรัพย์ที่มีได้ก็ต้องมีจิตใจที่รู้จักคำว่าพอในตัวเอง เมื่อมนุษย์รู้จักความพอแล้ว ความยึดถือก็ย่อมจะจางคลายลงและนำไปสู่ความสุขอย่างแท้จริงได้ ซึ่งไม่ว่าทรัพย์สินต่างๆ จะมีมูลค่ามากมายมหาศาลขนาดไหน จะนำไปช่วยการเงินและเศรษฐกิจของประเทศชาติได้หรือไม่ คงไม่ใช่สิ่งที่สำคัญมากเท่ากับวิริยบารมีขององค์หลวงตาที่ทรงสอนทางอ้อมในเรื่องการสละทรัพย์สิ่งของที่มีค่าและผลประโยชน์ส่วนตนลงบ้าง เพื่อรู้จักการใช้ชีวิตที่มิใช่มุ่งแต่กอบโกยผลประโยชน์ให้กับตัวเองดดยไม่รู้จักพอ หากแต่ต้องรู้จักความสันโดษในสิ่งเสพบ้างอันจะนำไปสู่การอยู่กับตัวเองและอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขได้ด้วย

ทรัพย์สินกองผ้าป่าช่วยชาตินี้คงเป็นเพียงเศษธุลีที่ไร้ความหมาย หากผู้ที่ร่วมในยุคสมัยกับองค์หลวงตาทั้งหลายมิได้เรียนรู้ในปริศนาธรรมที่ท่านได้แทรกไว้ทั้งทางตรงและทางอ้อม สิ่งสำคัญที่สุดของผ้าป่าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์นี้คือหลักธรรมที่ว่าด้วยความสามัคคี ความสันโดษในสิ่งเสพ และการลดอุปาทานหรือการยึดมั่นถือมั่นลงบ้าง เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งมูลค่ากองผ้าป่าช่วยชาติอันมหาศาลที่ได้มานั้นคือการแสดงพลังจิตใจที่ดีงามของคนในสังคมไทยที่ปรารถนาธรรมนำชีวิตไปสู่หมุดหมายแห่งความสงบสุข ในภาวะแห่งความหดหู่ที่สุดที่เกิดขึ้นในห้วงปี พ.ศ. 2539-2540 เป็นต้นมา ประเทศไทยทุรนทุรายกับพิษทางเศรษฐกิจอย่างหนักที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ทว่าองค์หลวงตาได้ชี้ทางออกอย่างง่ายๆ ให้กับสังคมไทยนั้นคือ การรู้จักคำว่าพอ และรู้จักคำว่าให้ ซึ่งการบริจาคทรัพย์ให้กับกองผ้าป่าช่วยชาติก็เป็นการแสดงถึงน้ำใจอันเผื่อแผ่ของมนุษย์ที่สร้างขึ้นอย่างไม่ยาก จิตใจของผู้ที่นำเงินมาทำบุญช่วยชาติย่อมประกอบไปด้วยคุณค่าในการคลายความยึดถือส่วนตนลงบ้าง ไม่เช่นนั้นทรัพย์สินกองผ้าป่าอันมหาศาลนี้คงมีแต่คนแอบอ้างว่าเป็นของตนมากกว่าจะบอกว่าเป็นของคนไทยทั้งชาติ

ผ้าป่าช่วยชาติขององค์หลวงตาจึงเป็นอุบายที่แทรกอยู่ในรูปธรรมของพิธีการที่สามารถนำไปปรับประยุกต์กับวิถีชีวิตของเราได้อย่างมีประโยชน์ โดยหลักธรรมในเรื่องความเสียสละ ความสามัคคี ความพอเพียง และการลดอุปาทาน คือปัจจัยทางธรรมที่ทำให้กองทรัพย์อันมหึมานั้นเป็นทรัพย์ทิพย์ ซึ่งประกอบขึ้นด้วยความหวังถึงสิ่งที่ดีงามจะปรากฏขึ้นในอนาคตกาล


การละสังขารขององค์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ไม่ใช่สิ่งที่น่าเสียใจอะไรจนเกินขอบเขตของสัจธรรมบทสุดท้ายของชีวิต นั่นเพราะท่านได้หลุดพ้นจากการวนเวียนในสารบบแห่งภพภูมิแล้ว สิ่งที่องค์หลวงตาทิ้งไว้ไม่ใช่เพียงพระธาตุ เถ้าอัฐิ วัดป่าบ้านตาด สิ่งก่อสร้างต่างๆ หรือแม้แต่กองผ้าป่าช่วยชาติ เท่านั้น หากแต่เป็นตำนานแห่งมหาบุรุษคนหนึ่งที่มีอยู่เป็นตัวเป็นตนจริง ซึ่งเกิดขึ้นมาจากชนชั้นธรรมดาและฝึกฝนพัฒนาตัวเองสู่ความเป็นอริยบุคคลอันประเสริฐ องค์หลวงตาสามารถสร้างบารมีทางด้านต่างๆ ได้มากมาย สามารถหาอำนาจทางโลกได้อย่างไม่ยาก สร้างสิ่งสะดวกสบายทางกายด้วยวัตถุสิ่งเสพที่หาได้ไม่ยาก ซึ่งหากยังเป็นบุคคลธรรมดาย่อมลุ่มหลงกับกองวัตถุสิ่งต่างๆ อันพึงมีอย่างมหาศาลนั้น หรือแม้กระทั่งนักบวชหากยังไม่ถึงฟากฝั่งแห่งการดับกองทุกข์ ก็คงเพลินไปกับลาภสักการะหั้งหลายเหล่านั้น

แต่สำหรับองค์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน สิ่งต่างๆ ในโลกล้วนว่างเปล่าไม่ใช่สาระอีกเสียแล้ว เพราะท่านคลายความยึดมั่นถือมั่นในอัตตาตัวตนจนหมดสิ้น ดังพุทธภาษิตที่ว่า “คนทั้งหลายย่อมหลุดพ้นเพราะไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน”