วันศุกร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2566

ว่าด้วย SUPHAN's Echoes ณ 1984+1 gallery

โดย: ดร.สุริยะ ฉายะเจริญ 

(อาจารย์ประจำหลักสูตรบัณฑิตศึกษา สาขาการจัดการศิลปกรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี) e-mail: jumpsuri@gmail.com

 

SUPHAN's Echoes: นิทรรศการกลุ่มโดยศิลปินทั้ง 16 คน ณ 1984+1 gallery จ.สุพรรณบุรี คือ นิทรรศการศิลปะร่วมสมัยที่ว่าด้วยเสียงสะท้อนของศิลปะร่วมสมัยในสุพรรณบุรีผ่านผลงานศิลปะของศิลปินที่ร่วมตั้งคำถามกับมุมมองทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ชุมชน ความเชื่อ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

ความน่าสนใจของผลงานแต่ละชิ้นคือบทสนทนาขององค์รวมภายใต้บรรยากาศของพื้นที่จัดแสดงงานที่ปรับเปลี่ยนบริบทจากโรงเก็บข้าวสู่พื้นที่ทางศิลปะ ผลงานแต่ละชิ้นที่แม้มีเรื่องราวและความหมายของตนเองแต่กก็กลับให้ความรู้สึกที่ปรับเปลี่ยนไปตามบรรยากาศของพื้นที่อันมีองค์ประกอบในด้านของแสงและอุณหภูมิเป็นปัจจัยที่ช่วยกำหนดทิศทางการรับรู้เมื่อผู้ชมได้ก้าวเข้าในพื้นที่สามัญอันแปลกประหลาด

จากโรงเก็บข้าวสู่การสถาปนาพื้นที่ศิลปะที่ดูราวกับมหาวิหารที่เงียบสงบพาให้เราก้าวเดินไปแต่ละจุดที่จัดแสดงผลงานอันกว้างขวางประหนึ่งดินแดนที่อยู่นอกเหนือจากความเข้าใจในความเป็นหอสิลป์แต่เดิม

ผลงานแต่ละชิ้นเปล่งบทสนทนาในเรื่องราวของตนเองอย่างแผ่วกระซิบ ถ้อยแถลงของผลงานแต่ละชิ้นแผ่วเบาจนทำให้ต้องเงี่ยหูและเงี่ยใจไปสัมผัส ไม่นับกับความหมายที่ทับซ้อนไปกับบริบทที่เกี่ยวข้องกับสุพรรณบุรีที่เราต้องก้าวเข้าไปสู่โลกของการตีความ สิ่งนี้จึงอาจเรียกได้ว่า ศิลปะทำหน้าที่ในการส่งสารบางอย่างให้ผู้ดูให้ค่อย ๆ ครุ่นคิดอย่างเงียบ ๆ กับบรรยากาศที่สงัดงัน แต่กลับมีสายลมแผ่ว ๆ ค่อยพัดผ่านภายในพื้นที่อย่างน่าฉงน

การชื่นชมและเพ่งพินิจผลงานจึงอยู่ในบรรยากาศที่แปลกหูแปลกตาสำหรับผู้ที่คุ้นชิ้นอยู่กับหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์ที่วัตถุต่าง ๆ มักอยู่ภายใต้แสงไฟที่จับจ้องและจัดวางสิ่งของไว้อย่างวัตถุศักดิ์สิทธิ์ แต่ผลงานศิลปะที่จัดวางและติดตั้งในนิทรรศการนี้กลับดูสามัญและให้อารมณ์ในแบบเป็นกันเองอย่างสุขุม ราวกับว่าจะเอ่ยปากบอกเรื่องราวสักอย่าง แต่ก็เป็นเสียงกระซิบที่แผ่วผิว ทว่าเนื้อหากลับเข้มข้น แต่ไม่บีบคั้นให้คิดตามมากจนเกินไป

นิทรรศการนี้จึงเป็นเสมือนการนำบทสนทนาของเหล่าศิลปินมาปะทะสังสรรค์กันอย่างสุภาพด้วยขนาดพื้นที่ขนาดใหญ่ ความกว้างใหญ่ของพื้นที่ยิ่งทำให้ตัวของเราเองเล็กจนเกินไป บทสนทนาแห่งเสียงกระซิบนั้นกลับดูให้เรามาทบทวนบางความคิดให้พินิจไปเรื่องบางเรือง พื้นที่บางพื้นที่ คนบางคน และอดีตบางอย่างที่ประสบการณืของแต่ละคนจะพึงมี

เสียงสะท้อนที่ล่องลอยมาตามสายลมของสุพรรณบุรีจึงกลายเป็นบทสนทนาและเรื่องเล่าที่ไม่บังคับให้ผู้ชมต้องเชื่อ

แต่ผู้ชมต้องตีความจากบทสนทนาด้วยภาษาที่มาจากการเห็น

แม้การจ้องมองและการเห็นด้วยตาจะเป็นสัมผัสหลักที่เราพึงกระทำเมื่อได้ชมผลงานในนิทรรศการนี้ก็ตาม

แต่การคิดสำคัญกว่า

เพียงแต่ว่าจะแง่ไหน มุมไหน เหลี่ยมไหน

ก็สุดแท้แต่เรา ๆ ท่าน ๆ จะจินตนาการตามสายลมอุ่น ๆ ที่โชยผ่านมาในพื้นที่ และผ่านออกไปสู่ท้องทุ่งกว้างของสุพรรณบุรี





























นิทรรศการ SUPHAN's Echoes  1984+1 gallery จ.สุพรรณบุรี

โดย ชานนท์ ทัสสะ, วิสูตร สุทธิกุลเวทย์, ประกิต กอบกิจวัฒนา, วิศิษฐ พิมพิมล, กริช จันทรเนตร, รุจน์ ถวัลย์อรรณพ, อัญชลี อนันตวัฒน์, พชร ปิยะทรงสุทธิ์, ตฤณภัทร ชัยสิทธิศักดิ์, ขวัญชัย สินปรุ, นพนันท์ ทันนารี, ชญานิษฐ์ ม่วงไทย, พรยมล สุทธัง, วัชรนนท์ สินวราวัฒน์, วาฬร์ จิรชัยสกุล, วิทธวัช สุกใส

จัดแสดงระหว่างวันที่ 3 มิถุนายน - 6 สิงหาคม 2566 เปิดทุกวัน ตั้งแต่ 10.00 - 17.30

หรือตามนัดหมาย โทร 0871566965

อีเมล artsherbetau@gmail.com

facebook : 1984+1 gallery

*ขอขอบคุณ คุณปรีชา รักซ้อน: ศิลปินและเจ้าของพื้นที่ 1984+1 gallery จ.สุพรรณบุรี

 

 

วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2565

การสร้างสรรค์สุนทรียะจิตภาวนา: ศิลปะเชิงสัมพันธ์จากการบูรณาการวาดเส้นกับการปฏิบัติสมาธิ

 การสร้างสรรค์สุนทรียะจิตภาวนา: ศิลปะเชิงสัมพันธ์จากการบูรณาการวาดเส้นกับการปฏิบัติสมาธิ

โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ

จากดุษฎีนิพนธ์เรื่อง: “การสร้างสรรค์สุนทรียะจิตภาวนา: ศิลปะเชิงสัมพันธ์จากการบูรณาการวาดเส้นกับการปฏิบัติสมาธิ” หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตสาขาทัศนศิลป์และการออกแบบ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

บรรยายให้กับนักศึกษาคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2564 ผ่านระบบออนไลน์