วันอังคารที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2556

อันเนื่องด้วยเส้น: "ลูกสาวซุปเปอร์แมน"

โดย สุริยะ ฉายะเจริญ (อาจารย์ประจำภาควิชาสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม)
การวาดเส้น (Drawing) นั้น เป็นพื้นฐานของงานทัศนศิลป์และการออกแบบ โดยการสร้างภาพสองมิติโดยวิธีที่ง่ายและรวดเร็ว ให้เกิดร่องรอยต่าง ๆ โดยใช้เครื่องมือที่อยู่ใกล้ตัว เช่น ถ่าน เศษไม้ หรือแม้แต่นิ้วมือของตนเอง แต่ในปัจจุบันนิยมใช้ ดินสอ ปากกาและหมึก เกรยอง ดินสอสี ดินสอถ่าน ชอล์ก ชอล์กสี ฯลฯ ซึ่งโดยมากจะเขียนลงบนกระดาษ หรือวัสดุอื่นอย่าง กระดาษแข็ง พลาสติก หนัง ผ้า กระดาน สำหรับการเขียนชั่วคราวอาจใช้กระดานดำหรือกระดานขาว หรือบนอะไรก็ได้[1]
การวาดเส้นนำไปสู่การร่างแบบ (Sketch) ซึ่งเป็นการวางแผนขั้นต้นก่อนจะเริ่มกระบวนการผลิตผลงานจริง แม้ผลงานศิลปะที่เน้นไปที่การแสดงออกเชิงความงาม อารมณ์ความรู้สึกหรือที่เน้นแนวความคิดก็ตาม ย่อมอาศัยการวาดเส้นเป็นพื้นฐานทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการวาดเส้นทางกายภาพด้วยดินสอ ปากกา ถ่าน หรือสิ่งอื่นๆ หรือการวาดเส้นด้วยการสร้างมโนภาพ (imagine) ขึ้นในใจ ก็นับได้ว่าเป็นการร่างแบบโดยใช้ความคิดเป็นเครื่องมือสำคัญเฉกเช่นเครื่องมือทางศิลปะอื่นๆ
           แม้ว่าโดยทั่วไปจะมีความเข้าใจว่า วาดเส้นนั้นเป็นพื้นฐานในการเรียนและผลิตผลงานศิลปะ ทว่าตัวผลงานวาดเส้นเองก็มีลักษณะอันทรงคุณค่าในตัวเองอยู่มากทีเดียว คุณค่านั้นอยู่ที่ผลงานวาดเส้นมักแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาด้วยสุนทรียะอันเกิดจากการประสานกันของทัศนธาตุ (Visual Element) ที่มีความคล้ายและแตกต่างกัน เพื่อวัตถุประสงค์ในการผลิตผลงานตามเป้าหมาย


            ผลงานวาดเส้นในนิทรรศการศิลปะ "Superman's Daughter : "ลูกสาวซุปเปอร์แมน"[2] ของจุฑารัตน์ ขยันสลุง (บุดาหงัน) เป็นเฉกเช่นที่ได้กล่าวมาข้างต้น นั่นคือ ผลงานวาดเส้นไม่เพียงเป็นแบบร่างชั้นต้นในการสร้างสรรค์ศิลปะเท่านั้น หากแต่ศิลปินใช้วาดเส้นเป็นเครื่องมือในการสื่อสารเชิงสุนทรียะเป็นหลัก ดังนั้นผลงานในชุดดังกล่าวจึงทำลายอำนาจของสีสัน (Colorful) และกลับไปเน้นที่แก่นของภาพแบบเอกรงค์แทน (Monochrome)
            ในนิทรรศการนี้แม้เป็นผลงานวาดเส้นทั้งหมดก็ตาม แต่อาจจะขาดความเป็นเอกภาพ (Unity) ในรายละเอียดของรูปแบบผลงานแต่ละชิ้น ศิลปินมุ่งเน้นที่จะนำเสนอเป็น 2 รูปแบบหลักๆ รูปแบบหนึ่งเกี่ยวพันกับภาพร่างกายของผู้หญิง ในอีกส่วนเป็นภาพเหมือน (Portrait) ของบุคคลสำคัญอันเป็นที่รู้จักทั่วโลก ซึ่งรูปแบบผลงานที่อาจจะดูขัดกันย่อมทำให้ภาพรวมในการนำเสนอผลงานอาจจะมีความขัดแย้งในการจัดการการนำเสนอทางความคิดอยู่บ้าง หากแต่ลักษณะชั้นเชิงทางทักษะฝีมือที่ปรากฏก็นับว่าเป็นชุดผลงานวาดเส้นที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย
            ผลงานชุดนี้ ศิลปินเลือกที่จะเป็นผู้ตั้งคำถามจากภาพวาดเส้นที่ปรากฏมากกว่าจะเป็นผู้ชี้ทางหรือผู้บอกเล่า ดังนั้นผู้ดูจึงต้องมีจินตนาการในการดูผลงานชุดนี้มากกว่าการตั้งความหวังว่าศิลปินจะต้องบอกความหมายของสิ่งที่ปรากฏทั้งหมดทั้งมวล ศิลปินจึงมีท่าทีในการนำเสนอที่อิสระจากการตั้งความหวังมากเท่ากับภาพลักษณ์ในผลงาน ที่ดูแล้วนิ่งสงบแต่มีท่าทีที่ท้าทายให้ค้นหาความหมายที่ซุกซ่อนภายอยู่อย่างน่าฉงน

            แม้นิทรรศการนี้อาจจะมีข้อบกพร่องในความเป็นเอกภาพรูปแบบการนำเสนอนิทรรศการบ้าง แต่ด้วยคุณภาพผลงานย่อมแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของศิลปินที่ต้องการสื่อสารความเป็นตัวเองให้ผู้ดูได้สัมผัสกับมิติของความหมายเฉพาะ โดยเฉพาะการใช้ทักษะวาดเส้นที่มีความเป็นเฉพาะตัวนั้นย่อมถือว่า ผลงานวาดเส้นในชุดนี้เครื่องมือที่นำไปสู่การสร้างชุดความหมายที่ให้ผู้ดูเป็นผู้ให้คำตอบด้วยตัวเองเป็นสำคัญ



นิทรรศการศิลปะ "Superman's Daughter : "ลูกสาวซุปเปอร์แมน"
โดย จุฑารัตน์ ขยันสลุง (บุดาหงัน)...
จัดแสดงนิทรรศการตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน - 9 ธันวาคม 2556
เปิดนิทรรศการ : วันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2556 เวลา 19.30 น. เป็นต้นไป
ณ หลังแรก Bar Restaurant Gallery

วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ความสัมพันธ์ของธงชาติไทยกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชน

สุริยะ ฉายะเจริญ (อาจารย์ประจำภาควิชาสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม)
jumpsuri@hotmail.com
 
                 ชาตินิยมเป็นแนวคิดที่เกี่ยวพันกับทางการเมืองโดยตรง ความเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงในลักษณะการเข้าสู่อำนาจด้วยคณะบุคคล มักอ้างถึงความชอบธรรมของกลุ่มก่อการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างสิทธิ์อันชอบธรรม และสิ่งที่มักกล่าวอ้างคือการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำประชาชนไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้นหรือเพื่อความมั่นคงและพัฒนาประเทศชาติ ซึ่งในข้อเท็จจริงบางประการเชื่อมโยงกับการได้มาซึ่งอำนาจและการครอบครองทรัพย์มหาศาล แต่กระนั้นการกล่าวอ้างที่เกี่ยวกับชาติมักเป็นคำอ้างที่ส่งผลให้เกิดน้ำหนักที่ดูจะมีประโยชน์ไม่น้อยกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
                 การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองขนานใหญ่ที่เกิดขึ้นเมื่อรุ่งเช้าของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยคณะทหารและพลเรือนที่เรียกกลุ่มตนเองว่า คณะราษฎร ซึ่งกระทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบรัฐธรรมนูญ อันมีการปกครองโดยประชาชนหรือต่อมาเรียกกันว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเมื่อคณะราษฎรได้ทำการยึดพระที่นั่งอนันตสมาคมแล้วกระทำการปลดธงรูปครุฑที่อยู่เหนือโดมพระที่นั่งออกซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์ในการลดบทบาทอำนาจการปกครองของพระมหากษัตริย์อย่างชัดเจน
                 เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ถือเป็นยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน คือเหตุการณ์เรียกร้องรัฐธรรมนูญและนำไปสู่การปฏิวัติทางการเมืองโดยนักศึกษาและประชาชนครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด ในเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า 14 ตุลาคม 2516 หรือ 14 ตุลา 16 ซึ่งนิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้วิเคราะห์เกี่ยวกับชาตินิยมกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เอาไว้อย่างชัดเจนว่า
           ...เราอาจมองความเคลื่อนไหว 14 ตุลาฯ เป็นความเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยหรือความเคลื่อนไหวที่ได้รับอิทธิพลจากลัทธิมาร์กซ์ แต่แรงผลักดันที่สำคัญซึ่งประสานอุดมการณ์อันหลากหลายไว้ภายใต้ความเคลื่อนไหวอันเดียวกันนี้คือแรงผลักดันจากสำนึกทางชาตินิยม...[1]

                 ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ นักวิชาการรัฐศาสตร์ และอดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับการเมืองภาคประชาชนไว้ว่า
           ...การเมืองภาคประชาชนเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเคลื่อนไหวในประชาสังคม แต่ไม่ใช่ส่วนทั้งหมด และการเมืองภาคประชาชนต่างจากขบวนปฏิวัติในสมัยก่อนตรงที่ไม่มีจุดหมายที่จะยึดกุมอำนาจรัฐมาดัดแปลงสังคมให้เป็นไปตามอุดมการณ์ที่ยึดมั่น หากประสงค์จะได้มาซึ่งฐานะในการกำหนดชีวิตของตนเอง (Self Determination) โดยไม่จำเป็นต้องผ่านรัฐเสมอไป...[2]
 
                 ตลอดการชุมนุมในเหตุการณ์ครั้งนั้น ฝ่ายนักศึกษาได้ชูสัญลักษณ์อันเกี่ยวข้องกับสถาบันทั้งสามตามความหมายของธงชาติไทย กล่าวคือมีการประดับธงชาติเคียงคู่ไปกับพระพุทธรูปและพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนารถบนเวทีปราศรัยชั่วคราวหน้าตึกโดมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งภาพที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความรู้สึกร่วมกันของผู้ชุมนุมที่มีสิ่งยึดเหนี่ยวอันเดียวกัน ทั้งนี้บางครั้งคราวมีการโบกธงชาติไทยเพื่อปลุกอารมณ์ความรู้สึกรักชาติ เมื่อคราวถึงเวลาที่จะต้องเคารพธงชาติทุกคนก็ยืนตรงเคารพและร้องเพลงชาติร่วมกัน นั่นยิ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ให้ความหมายของความเป็นชาติที่สถิตในธงชาติกลายเป็นรูปธรรมและพิธีกรรมที่ชัดเจนมากขึ้น
ริ้วขบวนธงชาติ ธงเสมาธรรมจักร ขบวนอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์
 
                 ลักษณะการเดินขบวนที่ได้ถูกออกแบบเป็นอย่างดี โดยมีขบวนธงชาตินำหน้า ตามด้วยธงเสมาธรรมจักรสีเหลืองและพระบรมฉายาลักษณ์ของพระพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนารถ ถือเป็นสัญลักษณ์ที่นำไปสู่ภาพตัวแทนของสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ที่ปรากฏขึ้นจริงมากกว่าเป็นเพียงอุดมการณ์
 ธงชาติเปื้อนเลือดของนายจิระ บุญมาก ผู้เสียชีวิตจากการถูกทหารยิง
ประชา  สุวีรานนท์,  “ธงชาติ : โวหารของความรักชาติ,”  ใน  ดีไซน์+คัลเจอร์ 2 (กรุงเทพฯ : อ่าน, 2552), 55.
 
                 ภาพเหตุการณ์ที่สำคัญอันหนึ่งที่มีผลทางความรู้สึกเป็นอย่างยิ่งเป็นภาพธงเปื้อนเลือดศพของนายจิระ บุญมากผู้เสียชีวิตจากการถูกทหารยิงคนแรก ซึ่งผู้ชุมนุมได้ชูธงชาติที่เปื้อนเลือดขึ้นอย่างไม่พอใจและยิ่งทวีความโกรธแค้นทหารที่ได้สังหารและทำร้ายประชาชนอย่างที่สุด ศพของเขาได้รับการกราบไหว้จากผู้เข้าร่วมชุมนุมและนำธงไตรรงค์ห่อคลุมร่างของเขาแล้วแห่ไปวางยังพานรัฐธรรมนูญ[3]
                 ภาพที่ปรากฏได้แสดงสัญญะของการสละชีพที่มิเพียงเพื่ออุดมการณ์เท่านั้น แต่เพื่อการต่อสู้ให้เกิดความชอบธรรม ธงชาติในภาพจึงเป็นภาพลักษณ์ของชาตินิยมที่มีผลอันเกี่ยวข้องทางการเมืองอย่างเด่นชัด โดยเฉพาะยิ่งเป็นการเมืองที่ภาคประชาชนคนชั้นกลางและเหล่าปัญญาชนได้ร่วมมือกันเป็นกำลังสำคัญแล้ว ก็ยิ่งยิ่งทำให้ความชอบธรรมของฝ่ายอำนาจรัฐยิ่งดูเลือนลางมากยิ่งขึ้น สุดท้ายยังเป็นการผลักดันให้ผู้มีอำนาจรัฐกลับกลายเป็นศัตรูของชาติไปด้วย
                 ในเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาและประชาชนเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ภาพของธงชาติที่นักศึกษานำมาคลุมศพในการแสดงละครเวทีเพื่อล้อการเมืองกลับกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้ใช้เป็นหนึ่งในข้ออ้างว่าผู้ชุมนุมมีลักษณะที่ฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์และต้องการล้มล้างระบอบการปกครองในห้วงเวลานั้น ซึ่งฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้อ้างว่า “...การกระทำดังกล่าวเป็นการเหยียบย่ำธงชาติ ซึ่งเป็นเครื่องหมายแห่งชาติไทยเราอย่างน่าอัปยศที่สุด อันนับได้ว่าเป็นการเหยียดหยามคนไทยทั้งชาติ...”[4] เหตุการณ์ดังกล่าวได้บานปลายไปสู่การล้อมปราบเข่นฆ่าผู้ชุมนุมโดยกลุ่มเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจและประชาชนฝ่ายอนุรักษ์นิยมอย่างไม่ปราณี อีกทั้งนำไปสู่การทำรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
                 ส่วนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬหรือเหตุการณ์จลาจลเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 มีความคล้ายคลึงกับการเคลื่อนไหวเมื่อคราว 14 ตุลาคม 2516 อยู่ไม่น้อย ทว่าความแตกต่างก็มีมากเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะประเด็นชาตินิยมโดยตรงจะไม่ปรากฏชัดเจนนัก หากแต่การเรียกร้องสิทธิประชาธิปไตยของชนชั้นกลางกลับเป็นประเด็นมากกว่าการต่อสู้ที่ผนวกกับแนวคิดความเป็นชาติ ธงชาติที่ปรากฏในเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเสมือนเครื่องหมายหนึ่งในการเรียกร้องของผู้ชุมนุม โดยเฉพาะขบวนการเคลื่อนไหวนั้นก็มิได้จัดการเป็นรูปแบบที่ขบวนชัดเจนดัง 14 ตุลาคม 2516 แต่กลับขับเคลื่อนขบวนเป็นกลุ่มก้อนและเข้ายึดพื้นที่ถนนราชดำเนินเพื่อต่อรองให้มีการเปลี่ยนอำนาจรัฐซึ่งมาจากการทำรัฐประหารในปีพ.ศ. 2534
ประชาชนรวมตัวประท้วงที่ถนนราชดำเนินในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535
 
                 นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้วิเคราะห์ประเด็นชาตินิยมกับเหตุการณ์พฤษาทมิฬ  2535 เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า
           ...เนื่องขากชาตินิยมไม่เป็นแรงผลักดันให้แก่ความเคลื่อนไหว จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องทบทวนให้เนื้อหาแก่ชาติกันใหม่อย่างจริงจัง ด้วยเหตุดังนั้นความเคลื่อนไหวพฤษภา’ 35 จึงไม่นำมาซึ่งการทบทวนและตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับวัฒนธรรมของชาติ...เป็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองแท้ ๆ ...[5]

                 ซึ่งแม้ว่าภาพรวมที่ปรากฏจะพยายามเอาความหมายของธงชาติออกมาใช้บางเป็นบางคราว แต่เมื่อเกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองธงชาติไทย (ธงไตรรงค์) ยังคงเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญเสมอดังเช่นในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535[6]
  กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือกลุ่มเสื้อเหลือง
กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการหรือกลุ่มเสื้อแดง
 
                 ในการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือกลุ่มเสื้อเหลืองและกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการหรือกลุ่มเสื้อแดงในยุคร่วมสมัยและหลังสมัย พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็คาบเกี่ยวกับการทำรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในปี พ.ศ. 2549 ธงชาติได้ถูกกลุ่มเคลื่อนไหวดังกล่าวนำมาชูขึ้นเพื่อเรียกร้องสิทธิความชอบธรรมทางการเมือง ทุกฝ่ายต่างตั้งธงชาติไทยขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงความเป็นชาติ เป็นตัวแทนของประชาชาติไทย เป็นตัวแทนความชอบธรรมในสังคมที่มีมากกว่าฝ่ายตรงกันข้าม ซึ่งถือเป็นสงครามเชิงสัญลักษณ์ที่สำคัญในยุคปัจจุบัน


                 [1] นิธิ  เอียวศรีวงศ์,  “ชาตินิยมในขบวนการประชาธิปไตย,” ใน  ชาติไทย, เมืองไทย,  แบบเรียนและอนุสาวรีย์  (กรุงเทพฯ : มติชน, 2537), 181-182.
                 [2] เสกสรรค์  ประเสริฐกุล,  “การเมืองภาคประชาชน,”  ใน  อำนาจแห่งความว่าง ความว่างแห่งอำนาจ: รวมปาฐกถาในรอบห้าปี (พ.ศ.2546-2551)  (กรุงเทพฯ : สามัญชน, 2551), 67.
                 [3] ชนิดา พรหมพยัคห์ เผือกสม, การเมืองในประวัติศาสตร์ธงชาติไทย, 265.
                 [4] เรื่องเดียวกัน, 254-255.
                 [5] นิธิ เอียวศรีวงศ์, “ชาตินิยมในขบวนการประชาธิปไตย,”  ใน  ชาติไทย,  เมืองไทย  แบบเรียนและอนุสาวรีย์, 187.
                 [6] ชนิดา พรหมพยัคห์ เผือกสม, การเมืองในประวัติศาสตร์ธงชาติไทย, 273.

วันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

“คุณพระช่วย” : ความหลากหลายที่กลมกลืน

สุริยะ ฉายะเจริญ (ภาควิชาสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม)
https://www.facebook.com/suriya.chaya            

 การกลับมาของวิถีศรัทธา 1” สีอะคลีลิคบนผ้าใบ 150 x 260 ซม. 2556
การเปลี่ยนผ่านทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ตลอดเวลาในประวัติศาสตร์มนุษย์เป็นสิ่งที่คอยย้ำเตือนให้เห็นถึงโครงสร้างและความสัมพันธ์กันระหว่างกรอบประเพณีที่แตกต่างกัน ซึ่งไม่เพียงเป็นคู่ความต่างแบบทวิลักษณ์ หากแต่เต็มไปด้วยความหลากหลายแบบพหุวัฒนธรรม (Multicultural) ดังนั้นจึงเกิดคำถามขึ้นว่า ในภาวะของความเป็นไปของสิ่งที่ได้กล่าวนี้ บริบทของความเป็นไทยควรถูกจัดวางไว้ ณ ตำแหน่งใดบนระนาบของการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย 
            ผลงานจิตรกรรมในนิทรรศการชุด “คุณพระช่วย” (Oh My God) ของธีรวัฒน์ นุชเจริญผล[i] มีลักษณะของความพยายามที่จะสื่อให้เห็นถึงการปะทะกันของวัฒนธรรมอันหลากหลายโดยใช้บริบทของความเป็นไทยเป็นแกนหลักเนื้อหาในการนำเสนอ ศิลปินแสดงให้เห็นถึงสภาวะของการไม่เข้ากันของรูปลักษณ์ (image) ที่ถูกนำมาใช้ ขณะเดียวกันความหมายทางสัญญะ (Signified) ของสิ่งที่นำมาจัดวางนั้นก็ยิ่งดูไม่เข้ากันในบางครั้ง ซึ่งถือเป็นเจตจำนงของศิลปินที่ต้องการบอกเล่าผ่านภาษาของภาพ
         ผลงานจิตรกรรมชุดนี้แสดงให้เห็นถึงการปะทะทางวัฒนธรรมไม่ได้ทำให้เกิดผลกระทบที่รุนแรง หากแต่เป็นการดูดกลื่นความแตกต่างให้อยู่ในสภาพของความเป็นปกติอย่างแนบเนียน สังเกตได้จากตัวละครจากภาพจิตรกรรมไทยถูกจัดวางปะปนและทับซ้อนรูปร่าง (shape) กับภาพที่ถูกวาดให้เป็นเสมือนจริง (realistic) เพื่อแสดงการเปรียบเทียบรายละเอียดของภาพลักษณ์ภายนอกและความหมายของตัวละครหรือสิ่งประกอบต่างๆ โดยใช้ภาษาของงานจิตรกรรมเป็นช่องทางในการนำเสนอ
 
“เสือ” สีอะคลีลิคบนผ้าใบ 60 x 80 ซม. 2556
 
           ศิลปินอาจไม่ได้มีเป้าหมายในการคัดง้างทางวัฒนธรรมที่แตกต่าง หากแต่แสดงออกถึงการจำยอมอย่างสันติในการอยู่ร่วมกันของความหลากหลายที่ถูกทำให้ดูเป็นปกติธรรมดา ทั้งนี้เนื่องจากรูปร่างของสิ่งต่างๆ ในภาพมีการจัดวางให้สอดรับและล้อเลียนกันอย่างแนบเนียน ผลงานบางชิ้นสร้างให้มีการทับซ้อน เหลื่อมล้ำจนเกิดความหมายเรื่องของเวลาที่ยอกย้อนไปมา สัญลักษณ์ที่มีความหมายเฉพาะถูกนำมาใช้เพื่อเป็นสะพานเชื่อมกันระหว่างภาพที่ปรากฏกับความหมายที่จำเป็นต้องอธิบาย
ทั้งนี้ศิลปินอาจจะมิได้แสดงเจตจำนงในแง่มุมของการยกย่องความเป็นไทยอย่างตายตัว หากแต่การนำสัญญะของศิลปะไทยมาใช้ในเชิงการเปรียบเทียบมากกว่าตั้งกระทู้ถามถึงท่าทีของความเป็นไทยกับโลกาภิวัตน์ (Globalization) ฉะนั้นแม้ลักษณะภายนอกผลงานในชุดนี้จะดูคล้ายกับการนำเสนอภาวะขัดแย้งระหว่างความเป็นไทยกับความเป็นอื่น แต่เมื่อพิจารณากันอย่างถี่ถ้วนกลับจะพบท่าทีของความเป็นมิตรของวัฒนธรรมคู่ขนานมากกว่าจะเป็นการต่อต้านแบบชาตินิยมแช่แข็ง
            ดังนั้นอาจจะกล่าวได้อย่างชัดเจน ว่าผลงานจิตรกรรมในนิทรรศการชุด “คุณพระช่วย” นี้ไม่เพียงแต่ทำให้ผู้ดูได้พบกับประสบการณ์ทางสุนทรียะผ่านผลงานที่แสดงให้เห็นถึงทักษะฝีมือทางจิตรกรรมที่ดีเยี่ยมเท่านั้น หากแต่ยังมีแง่มุมที่แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมของสังคมไทยปัจจุบันได้อย่างชัดเจน
 
 
      “ภาพเสมือนมนุษย์ 4” สีอะคลีลิคบนผ้าใบ        “ภาพเสมือนมนุษย์ 5” สีอะคลีลิคบนผ้าใบ



[i] นิทรรศการ : คุณพระช่วย (Oh My God!)
ศิลปิน : ธีรวัฒน์ นุชเจริญผล
 วันที่ : 13 – 26 พฤศจิกายน 2556
สถานที่ : ห้องนิทรรศการชั้น 1 ห้อง 2 หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 ติดต่อศิลปิน : 087-817-5547

วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

Timeline ศิลปะสมัยใหม่ไทย ระหว่าง พ.ศ. 2500-2532: สุนทรียะแห่งการต่อต้านและคู่ขนาน (โดยสังเขป)

โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ


2471-2480
2472…ชลูด นิ่มเสมอ เกิด
2473…จิตร ภูมิศักดิ์ (ปัญญาชนหัวก้าวหน้าฝ่ายซ้าย) เกิด
            อารี สุทธิพันธุ์ เกิด                 
            พรรคคอมมิวนิสต์สยาม (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) ก่อตั้งโดย โฮจิมินห์
2475…ปฏิวัติสยาม        
            ส. ศิวรักษ์ (สุลักษณ์ ศิวรักษ์: ปัญญาชนฝ่ายอนุรักษ์แนววิพากษ์) เกิด
            พุทธทาสภิกขุ ก่อตั้ง สวนโมกขพลาราม
2477…พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ
            พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรทรงขึ้นครองราชสมบัติ
            จ่าง แซ่ตั้ง เกิด
2478…ประเทือง เอมเจริญ เกิด

2481-2490
2482…เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 (2482-2488)
เปลี่ยนชื่อ "สยาม" มาเป็น "ไทย"
นโยบายรัฐนิยมของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม
2483…เปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (ผลงานการออกแบบของหม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล)
2484…พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต
           รัฐบาลไทยลงนามเป็นพันธมิตรทางการทหารกับฝ่ายอักษะ (ญี่ปุ่น)
            เกิดขบวนการเสรีไทย
2485…คอร์ราโด เฟโรชี - Corrado Feroci เปลี่ยนชื่อเป็น ศิลป์ พีระศรี
2486…สถาปนามหาวิทยาลัยศิลปากร (12 ตุลาคม)
2487…กมล ทัศนาญชลี เกิด
2488…สหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูบนแผ่นดินญี่ปุ่นที่ฮิโระชิมะและนะงะซะกิ
            ประเทศญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม (สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2)
2489… พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร สวรรคต (9 มิถุนายน)
            พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นครอบราชย์สมบัติ

2591-2500
2492…ปรีดี พนมยงค์ ลี้ภัยไปต่างประเทศและไม่ได้กลับประเทศไทยอีก
            สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน
2493…หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช (ปัญญาชนฝ่ายอนุรักษ์แนวประเพณี) ก่อตั้งหนังสือพิมพ์สยามรัฐ
2495…กบฏสันติภาพ
2498…เริ่มสงครามเวียดนาม
2500…จอมพลสฤษดิ์ ธนรัตน์ ทำรัฐประหาร (16 กันยายน)
            กำเนิดหนังสือ “ศิลปะเพื่อชีวิต เพื่อประชาชน” ของจิตร ภูมิศักดิ์
จิตรกรรม “กรุงเทพ 2500” โดย สมโภชน์ อุปอินทร์

2501-2510
2501…จิตร ภูมิศักดิ์ ถูกคุมขัง (2501 2507)
2503…จิตร ภูมิศักดิ์ แต่งเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” ในคุก (ประมาณ 2503-2505)
2504…สร้างกำแพงเบอร์ลิน (Berliner Mauer)
จ่าง แซ่ตั้ง (ศิลปินอิสระ) เขียนภาพนามธรรมแบบไร้รูปเป็นคนแรก
            อารี สุทธิพันธุ์ สำเร็จการศึกษาและกลับจาก USA แสดงงานครั้งแรกที่สถาบัน  AUA
2505…พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดการ แสดงศิลปกรรมแห่งชาติเป็นครั้งแรก (ครั้งที่ 13)
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ถึงแก่อสัญกรรม
พุทธทาสภิกขุสร้างโรงมหรสพทางวิญญาณ  ที่สวนโมกข์ฯ โดยมีแนวคิดใช้ศิลปะเพื่อให้คนถึงธรรมะ
2506…จอมพลสฤษดิ์ ธนรัตน์ ถึงแก่อสัญกรรม ( 8 ธันวาคม)
            ส. ศิวรักษ์ กำเนิดวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์
2507…14 ศิลปินไทยประท้วงผลการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 15 (ภาพชักกระดาน หมายเลข 2)
จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถึงแก่อสัญกรรม
2508... วันเสียงปืนแตก (7 ส.ค.: ตำรวจปะทะทหารป่า อ.นาแก นครพนม) มีนโยบาย "ต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ ใช้
            ชนบทล้อมเมือง และยึดเมือง"
            ศิลปะสะท้อนปัญหาสังคมเริ่มครั้งแรกใน ศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 16
-จิตรกรรม “สังขาร” โดย สันต์ สารากรบริรักษ์, “ละครโรงใหญ่” โดย ธนะ เลาหกัยกุล
2409… จิตร ภูมิศักดิ์ ถูกยิงเสียชีวิต
มหาวิทยาลัยศิลปากร ก่อตั้งภาควิชาภาพพิมพ์
2510… ภาพพิมพ์แกะไม้ “ใต้ระบอบเผด็จการทหาร” โดย ประพันธ์ ศรีสุตา

2511-2520
           ทศวรรษ 2510-2520 ช่วงรุ่งเรืองศิลปะนามธรรมในไทย (ปรีชา กรชุนกะ,พิษณุ ศุภนิมิตร, อิทธิพล ตั้ง โฉลก, กมล สุวุฒโท, เดชา วราชุน, ทวน ธีระพิจิตร, ธงชัย รักปทุม, กัญญา เจริญศุภกุล, อิทธิ คงคากุล, วิโรจน์ เจียมจิรวัฒน์, สมศักดิ์ เชาว์ธาดาพงษ์, อินสนธ์ วงศ์สาม, นนทิวรรษ จันทนผลิน, วิชัย สิทธิรัตน์, เขมรัตน์ กองสุข, ฯลฯ)
2511… จิตรกรรม “เลือด-เนื้อ-ศรัทธา” โดย ประเทือง เอมเจริญ นิทรรศการศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 18
            เกิดภาควิชาศิลปศึกษา วิทยาลัยประสานมิตร
2512… จิตรกรรม “ผนัง” โดย ประเทือง เอมเจริญ นิทรรศการศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 19
2514… จอมพล ถนอม กิตติขจร ทำรัฐประหาร (ตัวเอง)
เหตุการณ์ทำลายภาพเขียนถวัลย์ ดัชนี ณ สำนักงานกลางคริสเตียน (ข้อหาลบหลู่พุทธศาสนา)
            ศิลปินกลุ่มธรรม แสดงนิทรรศการ ครั้งแรก นำโดย ประเทือง เอมเจริญ แกนนำ
2515… จิตรกรรมสะท้อนสังคม “เจ้าแม่กาลีศตวรรษ 20” โดยสมชัย หัตถกิจโกศล ศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 21
2516… เหตุการณ์ 14 ตุลา (นักศึกษาและประชาชนในประเทศไทย รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญจาก 
             รัฐบาลเผด็จการของจอมพล ถนอม กิตติขจร นำไปสู่การใช้กำลังของรัฐบาล)
            จิตรกรรม “ธรรมะ อธรรม” โดย ประเทือง เอมเจริญ
            จิตรกรรม “จ่าง แซ่ตั้ง ในปี 1973” โดยจ่าง แซ่ตั้ง
2517… กำเนิดแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย
            นิทรรศการคัตเอาท์การเมือง เกาะกลางถนนราชดำเนิน ครบรอบ 2 ปี 14 ตุลา 16
            เปิดหอศิลป์ พีระศรี (14 พ.ค.)
             กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือนามปากกาว่า ศรีบูรพา เสียชีวิต
2518… สิ้นสุดสงครามเวียดนาม
ศิลปินกลุ่มธรรม แสดงนิทรรศการ ครั้งที่ 2
2519… เหมาเจ๋อตง ถึงแก่อสัญกรรม
ภาพเขียนขับไล่ฐานทัพอเมริกา รอบสนามหลวง โดย แนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย
จอมพลถนอม กิตติขจร กลับประเทศไทยโดยบวชเป็นสามเณร เกิดประท้วงขับไล่เป็นชนวนเหตุการณ์ 6 
ตุลา 19
เหตุการณ์ 6 ตุลา 19: การล้อมปราบนักศึกษาประชาชน (ธรรมศาสตร์, สนามหลวง)
มนัส เศียรสิงห์ ศิลปินนักกิจกรรมในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา และถูกกระสุนปืนเสียชีวิตเหตุการณ์ 6 ตุลา
19
ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ ลาออกจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันเนื่องจากเหตุการณ์ 6 ตุลา 19  
และเดินทางออกนอปกระเทศ
ศิลปินกลุ่มธรรม แสดงนิทรรศการ ครั้งที่ 3 (5 ตุลาคม 19 ต้องเอาผลงานออก)
มหาวิทยาลัยศิลปากร ก่อตั้งภาควิชาศิลปะไทย (เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, ปัญญา วิจินธนสาร)
ผลงานจิตรกรรมชุด “ทศชาติ” โดย ถวัลย์ ดัชนี
            จิตรกรรมชุด “แสง เงา” โดย ปรีชา เถาทอง เหรียญทอง 3 ครั้ง การประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ (2519-
            2521)
2520… วิวาทะ ประเด็น “ศิลปะเพื่อศิลปะ” “ศิลปะเพื่อชีวิต” (พิษณุ ศุภ.-อำนาจ เย็นสบาย)
            เปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ ถนนเจ้าฟ้า

2521-2532
2521… เกิดศิลปินกลุ่มกังหัน (กลุ่มโรงเรียนไทยวิจิตรศิลป์ 2521-2526) (สมบูรณ์ พวงดอกไม้, ไพศาล ธีรพงษ์
             วิษณุพร)
2522… ชมรมศิลปกรรมแห่งประเทศไทย (สมาคมศิลปกรรมไทย: แนวร่วมฯ) (กำจร สุนพงษ์ศรี เป็นแกนนำ)
            เปิดหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร
2523... คำสั่งที่ 66/2523 (เปลี่ยนแนวร่วมของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยให้กลับมาเป็นแนวร่วมของทาง
            ราชการ)
            กำเนิดหนังสือ “โลกศิลปะ” (อารี ฯ, ประเทืองฯ , สมโภชน์ฯ: ที่ปรึกษา_อำนาจ ฯ,วิรุณ ตั้งเจริญ: นัก
            เขียน) (2523-30)
            เกิดกลุ่ม “ศิลปะไทย 23” นำโดย เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, ปัญญา วิจินธนสาร
2524…เกิดกลุ่มประติมากรไทย นำโดย คณาจารย์ภาควิชาประติมากรรม คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร
2525... เกิด “กลุ่มไวท์” นำโดย วิโชค มุกดามณี, พิชิต ตั้งเจริญ และมณเฑียร บุญมา
            ผลงาน “ประติมากรรมชนบท” โดย ชลูด นิ่มเสมอ
2526…ปรีดี พนมยงค์ (ผู้อภิวัฒน์สยาม, ผู้สถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง) ถึงแก่อสัญกรรม
            เกิดศิลปิน “กลุ่มอีสาน”
เฟื้อ หริพิทักษ์ ศิลปินแห่งชาติ ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ
2527... โครงการเขียนจิตรกรรมฝาผนังวัดพุทธปทีป ณ ลอนดอน ประเทศอังกฤษ (2527 -30) นำโดย เฉลิมชัยฯ, ปัญญาฯ
2528…การแสดง “บทเพลงแห่งศิลปะที่ตายแล้ว” โดย กมล เผ่าสวัสดิ์
2530…ผลงาน “เสียงหัวเราะสีฟ้า” โดย อภินันท์ โปษยานนท์
2531…หอศิลป์ พีระศรีหยุดทำการลงถาวร
2532… การล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน
            “เรื่องราวแห่งท้องทุ่ง” นิทรรศการครั้งแรกของ มณเฑียร บุญมา