วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

รอยแยกที่ผสานหรือความขัดแย้งที่กลมกลืน

โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ ภาควิชาสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม


 
ยี ซุก ยัง (Yeesookyung: 1963 - ) เป็นศิลปินเกาหลีที่มีความเคลื่อนไหวในวงการศิลปะร่วมสมัยนานาชาติและเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก เธอแสดงนิทรรศการศิลปะมาแล้วทั่วโลกนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1992 จนถึงปัจจุบัน
ยี ซุก ยัง เกิดในกรุงโซล โดยเธอจบการศึกษาจากวิทยาลัยวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยโซลแห่งชาติ (Seoul National University’s College of Fine Arts) ผลงานศิลปะของเธอนั้น เธอมักใช้การนำเสนอด้วยวัสดุสำเร็จรูป (ready made) เป็นสื่อในการเล่าเรื่องและมีความชาญฉลาดในการเลือกใช้สื่อแต่ละชนิดที่แตกต่างกันและมีความหมายในตัววัตถุที่หลากหลาย ผลงานที่ผ่านมาของเธอนั้นมักสื่อสะท้อนอัตลักษณ์ (identity) ภายในจิตใจเธอเอง เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ (cultural identity under globalization) ผ่านงานประติมากรรม จิตรกรรม, วิดีโอ (VDO), และศิลปะอินสตอลเลชั่น (installation art)
นิทรรศการปัจจุบันจัดแสดงในชื่อ “When I Become You was” ซึ่งอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์แทกู (Daegu Museum) ประเทศเกาหลี (Korea) ก่อนที่จะมาถึงที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งไทเป (Museum of Contemporary Art Taipei หรือ MOCA Taipei) นิทรรศการนี้เป็นการนำเสนอเสมือนในรูปแบบของการสนทนา การแสดงความเปลี่ยนแปลงจากแนวคิดที่อยู่ภายในใจสู่วัตถุทางกายภาพ ในกระบวนการของ การสนทนาและการเปลี่ยนแปลง” ศิลปินได้มีความคิดในการทบทวนคู่ตรงข้ามของสิ่งต่างๆ กล่าวคือ ระหว่างตะวันออกและตะวันตก ความเป็นประเพณีและความทันสมัย การมีสติและภาวะจิตไร้สำนึก และมุ่งที่จะสำรวจและยืนยันว่าวัฒนธรรมร่วมสมัยและความเป็นประเพณีในเชิงประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยรอยแยกของความขัดแย้ง ทว่ายังสามารถที่จะอยู่ร่วมกันได้ในสภาพของความเป็นจริง ผลงานที่นำมาจัดแสดงนี้มุ่งเน้นไปที่การผ่องถ่ายจากแนวคิดเนื้อเรื่องไปสู่การปรากฏเป็นวัตถุ ที่สำคัญยังเป็นการเปิดมุมมองรอยแยกระหว่างความเป็นประเพณีและความทันสมัยให้ไม่กลายเป็นความขัดแย้ง หากแต่สามารถที่จะอยู่ร่วมกันภายใต้บริบทของโลกยุคปัจจุบัน
ยี ซุก ยัง มุ่งมั่นที่จะสร้างผลงานที่รวบรวมหลักการทางศิลปะและจากการสนทนา โดยลดทอนหรือเปลี่ยนบริบทเดิมๆ ของเนื้อหาในตัวมันเองที่อยู่ในวัตถุต่างๆ ไปสู่ความคิดใหม่ อาทิ ความหมายผลงานชุด “Vase Series” อันเป็นประติมากรรมที่เกิดจากการผสานกันระหว่างแจกันที่แตกและรวมกันจนเกิดเป็นรูปลักษณ์ใหม่ ซึ่งเป็นเสมือสะพานเชื่อมระหว่างความเป็นประเพณีกับความเป็นร่วมสมัย ขณะที่ผลงานชุด “Island Adventure” เป็นผลงานวีดีโออินสตอลเลชั่น (video installation) ที่นำเสนอคำพูดของแต่ละบุคคลบนหน้าจอภาพ โดยแต่ละคนต่างเชื้อชาติ แต่จะพูดถึงวัตถุเดียวกันหรือคล้ายกัน และทุกๆ คนก็จะพูดถึงสิ่งนั้นๆ ในบริบทของตัวเอง ซึ่งวัตถุนั่นก็ถือถ้วยชามแบบจีนโบราณนั่นเอง จึงอาจจะกล่าวได้ว่าผลงานนี้เป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างการแสดงความคิดเห็นแบบตะวันตกกับตะวันออก ส่วนผลงานวาดเส้นในชุด “Daily Drawing Series” เป็นการแสดงออกถึงเรื่องราวของจิตไร้สำนึก
สำหรับผลงานใหม่ของเธอเพื่อการแสดงนิทรรศการที่ พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งไทเปครั้งนี้ในชื่อ “When I Become You” ถือเป็นชิ้นงานร่วมมือกับหมิงฮวาหยวน (Ming Hwa Yuan) นักแสดงโอเปร่าชาวไต้หวัน (Taiwanese opera actors) มาเป็นนางแบบ และผลงานชื่อ “The Very Best Statue” เป็นรูปลักษณ์ของวัตถุทางความเชื่อที่แสดงออกมาเป็นรูปเคารพที่เกิดจากการสำรวจข้อมูลของคนท้องถิ่นในไต้หวัน
นิทรรศการครั้งนี้ไม่เพียงทำให้ผู้ชมได้เกิดประสบการณ์เชิงสุนทรียะเท่านั้น หากแต่ยังช่วยให้ชาวไต้หวัน หรือแม้แต่ผู้ที่ไปชมผลงานได้ตั้งคำถามถึงรอยแยกในสิ่งต่างๆ ซึ่งรอยแยกนั้นแม้จะเป็นจุดกำเนิดของความขัดแย้งก็ตาม แต่ไม่จำเป็นเสมอไปที่จะพัฒนารอยแยกไปสู่ความขัดแย้ง หากแต่การจัดการความขัดแย้งนั้นเองก็หาใช่การผสานรอยต่อให้แนบเนียน แต่เป็นการอยู่กับรอยแยกนั้นได้อย่างผสมผสาน เพราะความแตกต่างเป็นปกติของสรรพสิ่ง รอยแยกและความขัดแย้งเองก็เป็นปกติวิสัยของโลกใบนี้

นิทรรศการ When I Become you” โดย ยี ซุก ยัง
ระหว่างวันที่ 9 มิถุนายน 2 สิงหาคม 2558
พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งไทเป (Museum of Contemporary Art Taipei หรือ MOCA Taipei)
กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน
 
  “Vase Series
  “Vase Series
  “Vase Series
  “Daily Drawing Series
  “Daily Drawing Series
 
 “Island Adventure
 “Island Adventure
 “Island Adventure
 “Island Adventure
 “Island Adventure

 
 

วันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ภาพฝาผนังของ จิมมี่ เลี่ยว สถานีหนานกัง ณ ไทเป

โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ ภาควิชาสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม

 
จิมมี่ เลี่ยว (Jimmy Liao) เป็นนักเขียนและนักวาดภาพประกอบชาวไต้หวันที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่ง ผลงานหนังสือของเขาได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งในแง่ของงานศิลปะและชั้นเชิงการเล่าเรื่อง ผลงานของเขาได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ ทั่วโลกรวมไปถึงภาษาไทยด้วย
สำหรับผู้ที่ชื่นชอบผลงานของจิมมี่ เลี่ยวย่อมทราบดีว่า ผลงานภาพประกอบในหนังสือของเขาได้นำมาขยายเป็นภาพพิมพ์ขนาดใหญ่ประดับชานชาลาและฝาผนังรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่สถานีหนานกัง (Nangang Station) ณ กรุงไทเป (Taipei) ประเทศไต้หวัน (Taiwan) ซึ่งย่อมแสดงให้เห็นว่าชื่อเสียงของเขาเป็นที่ยอมรับของชาวไต้หวันเป็นอย่างมากจนถึงขนาดให้พื้นที่ว่างของสาธารณะเพื่อประดับผลงานขยายส่วนของเขา
 
สิ่งที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือทางเมืองไทเปเองก็พยายามที่จะสร้างตัวเองให้เป็นเมืองของงานศิลปะและงานออกแบบ จะพบว่าไทเปเองเปิดพื้นที่ให้ศิลปินมาแสดงผลงานทั้งในรูปแบบนิทรรศการและเทศกาลในระดับนานาชาติหลายครั้งและอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกรณีของการนำผลงานของจิมมี่ เลี่ยว มาติดตั้งในพื้นที่สาธารณะนั้นก็ย่อมแสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนให้คนไต้หวันตามทันผลงานสร้างสรรค์ที่อยู่ในรูปแบบของงานศิลปะเป็นอย่างมาก ยังไม่นับรวมส่วนอื่นๆ อีกมากมายที่แสดงให้เห็นถึงการตระหนักในการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของคนทุกชนชั้น มิใช่เป็นผลงานเพียงเพื่ออยู่ในแวดวงจำกัดหรือบนหอคอยงาช้าง
แม้จิมมี่ เลี่ยวจะเป็นนักเขียนและนักวาดภาพประกอบ แต่คุณค่าของผลงานของเขานั่นก้าวล่วงเข้าสู่ความเป็นงานทัศนศิลป์ ซึ่งการที่เขาได้รับเชิญให้แสดงผลงานในพื้นที่สาธารณะดังกล่าว ก็ถือเป็นสิ่งที่ควรยกย่องรัฐบาลไต้หวันที่ตระหนักถึงคุณค่าทางสุนทรียะอันเป็นพื้นที่อันงดงามทางใจควบคู่ไปกับการพัฒนาทางวัตถุเพื่อความสุขสบายทางกาย





 



 
 
 


Taiwan International Miniature Sculpture Exhibition 2015

โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ

การได้มาเยี่ยมชมนิทรรศการนานาชาติประติมากรรมขนาดเล็กที่ไทเป ณ NATIONAL DR.SUN YAT-SEN MEMORIAL HALL ก็ถือว่าได้เห็นแนวทางประติมากรรมร่วมสมัยของไต้หวันไม่มากก็น้อย
สิ่งที่น่าชื่นชมนอกจากการติดตั้งผลงานและการใช้แสงที่ดีแล้ว การได้นำผลงานดีๆ มาแสดงกับสาธารณชนแบบฟรีๆ ก็แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ในการส่งเสริมศิลปะที่ชัดเจนขึ้นของรัฐบาลในการส่งเสริมพื้นที่ทางศิลปะที่เป็นสาธารณะมากยิ่งขึ้น