วันพุธที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ว่าด้วยนิทรรศการเชิดชูเกียรติศาสตราจารย์เกียรติคุณกัญญา เจริญศุภกุล

โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ jumpsuri@gmail.com



หากจะกล่าวว่า ผลงานศิลปินหญิงที่สร้างสรรค์ผลงานศิลปะในวงการศิลปะร่วมสมัยไทยมาโดยตลอดและมีแนวทางเฉพาะตัวที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่งคนหนึ่ง สำหรับผมแล้ว ผลงานศิลปะของศาสตราจารย์เกียรติคุณกัญญา เจริญศุภกุล หรือ อ.กัญญา ถือเป็นกรณีศึกษาลำดับแรกก่อนศิลปินไทยผู้หญิงท่านอื่นๆ ซึ่ง อ.กัญญาได้เริ่มสร้างสรรค์ผลงานมาตั้งแต่ห้วงทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา

อ.กัญญาฯ จบ ปริญญาตรี (ภาพพิมพ์) ที่คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร และจบ ปริญญาโท M.F.A. (printmaking) The School of the art institute of Chicago, USA. หรือกล่าวง่ายๆ คือ ท่านจบทางด้านศิลปะภาพพิมพ์ทั้ง 2 ปริญญา ซึ่งในยุคสมัยนั้น นักศึกษาศิลปะของไทยที่จบในสาขานี้มีไม่มากนัก ยิ่งจบจากต่างประเทศแล้วยิ่งหาได้ยาก

อ.กัญญา กลับมาจาก USA. โดยเป็นผู้บุกเบิกการเรียนการสอนศิลปะภาพพิมพ์หินอย่างจริงจังที่มหาวิทยาลัยศิลปากร หากแต่ท่านเองก็มิได้หยุดนิ่งในการสร้างสรรค์แต่เพียงภาพพิมพ์เท่านั้น

ท่านยังค้นหากระบวนแบบทางเทคนิคและวิธีคิดในการสร้างสรรค์งานศิลปะของตัวเองในวิถีทางใหม่ๆ อยู่ตลอด ผลงานภาพพิมพ์หินในรูปแบบนามธรรม (Abstraction) ของท่านจึงปรากฏขึ้นในช่วงระยะเวลาหนึ่งหลังจากกลับมาจากศึกษาต่างประเทศเท่านั้น

อ.กัญญาจึงไม่ได้วางตัวเองให้อยู่ในกรอบของการเป็นศิลปินภาพพิมพ์ (Printmaker) ตามขนบมากนัก ซึ่งในทัศนะของผมแล้ว อ.กัญญากลับใช้วิธีคิดแบบภาพพิมพ์มาประยุกต์ใช้กับการสร้างสรรค์ที่หลากหลาย และหาความเป็นไปได้ทางศิลปะ (possibility) ซึ่งผลที่ออกมาจึงทำให้ผลงานขางท่านมีกลิ่นอายของภาพพิมพ์ที่แปลกกว่าศิลปินท่านอื่นๆ ไม่มากก็น้อยในห้วงทศวรรษ 2520-30

แต่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ถือเป็นจุดสำคัญที่ อ.กัญญาเริ่มใช้ผลทางจิตรกรรมโดยตรงในการนำเสนอปรากฏการณ์ทางความรู้สึกที่มีต่อเหตุการณ์ดังกล่าว โดยลดทอนความซับซ้อนกระบวนการทางภาพพิมพ์ไปสู่การสร้างจิตรกรรมโดยตรง หรือเป็นภาพพิมพ์ครั้งเดียว (Monoprint) เพื่อแสดงถึงแรงปะทะทางอารมณ์ความรู้สึกจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง โดยอาศัยสัญญะ (เครื่องหมาย: sign) ของธงชาติไทยให้ปรากฏเป็นจินตภาพใหม่ (New Image) อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งผลงานในชุด “ธงชาติ” จึงเป็นเสมือนผลงานอันเป็นภาพตัวแทน (represent) ของการเป็นเอกลักษณ์อันสำคัญของ อ.กัญญา มาจวบจนถึงปัจจุบัน

แม้ในระยะต่อมา อ.กัญญาจะนำเสนอผลงานในรูปแบบสามมิติ (Sculpture) และศิลปะเชิงจัดวางมากขึ้น (Installation Art) โดยใช้มโนทัศน์ (Conceptual) เป็นตัวนำเทคนิคและกระบวนการนำเสนอในรูปแบบใหม่ โดยมีความต่างจากผลงานที่อยู่บนระนาบบนผนังกำแพงที่สร้างขึ้นก่อนหน้านั้นก็ตาม แต่สำหรับผมแล้ว การต่อยอดจากชุดธงชาติไปสู่ภาพจิตรกรรมนามธรรม (Abstract Painting) ที่ใช้รหัสของสีธงชาติไทยเข้าไปมีส่วนร่วมหลักและส่วนรองในผลงาน

ซึ่งยังคงแสดงกลิ่นอายที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญของท่าน ที่ผู้ติดตามผลงานในแต่ละชุดย่อมประจักษ์ถึงพลังอันหนักแน่นของผืนระนาบที่หยาบไปด้วยผิดผิวและวัสดุอันหลากหลาย หากแต่กลับซุกซ่อนความละเอียดอ่อนทางใจของท่านผ่านทัศนธาตุอันยิบย่อยบนผิวจิตรกรรมที่หยาบหนา

ส่วนตัวผมเอง มีทัศนะว่าการบรรลุซึ่งจิตรกรรมนามธรรมของ อ.กัญญา ได้แสดงออกอย่างประจักษ์แจ้งในชุด “กรีด” (Slash) ที่ อ.กัญญาใช้สีดำแสดงร่องรอยอันฉับพลันลงบนผืนผ้าใบสีขาวสะอาด ซึ่งผลที่ปรากฏจึงเป็นร่องรอยที่บริสุทธิ์และแสดงสัจจะทางมโนทัศน์อันเด็ดขาดที่ผ่านการสังเคราะห์ทางใจมาอย่างเป็นระบบ จิตรกรรมในชุดนี้ ไม่เพียงไม่แสดงรูปลักษณ์ที่เป็นสัญญะใดๆ หากแต่เป็นร่องรอยของการกระทำที่เป็นท่วงทีของเส้นที่หนาหนักแต่ฉัพพลันของสีดำที่ไร้ซึ่งการประกอบสร้างของธาตุส่วนย่อยที่มีเป้าหมายเพื่อการแทนความหมายด้วยภาพสัญญะ หากแต่เป็นจิตรกรรมที่แสดงรหัสเชิงสุนทรียะ (Aesthetic Code) แบบอัตวิสัย (Subjectivity) ดังนั้น ผลงานชุดนี้จึงเป็นการพิสูจน์ความจริงแท้ในแนวทางนามธรรมของท่านที่บริบูรณ์ขั้นสูงสุดในบรรดาผลงานทุกยุคสมัยของท่าน

แต่กระนั้น ผมคงไม่ได้กล่าวว่าผลงานของ อ.กัญญาจะมีเพียงเท่านี้

ผมคงมิอาจมีความสามารถที่จะใช้พื้นบนหน้าเพจนี้ในการแสดงทัศนะของตัวเองต่องานของอ.กัญญาอย่างเต็มที่ ซึ่งผลงานของท่าน อ.กัญญา ยังมีอีกนับไม่ถ้วน ทั้งที่นำมาจัดแสดงและไม่ได้นำมาจัดแสดงในครั้งนี้

ผลงานศิลปะทั้งชีวิตอันมากมายที่ อ.กัญญาสร้างสรรค์ขึ้นด้วยความหลากหลายกลับแสดงออกถึงเอกภาพของการสร้างสรรค์ในรูปแบบของท่านเองทักชุดของผลงานล้วนมีสาระสำคัญที่แตกต่างกันไป และเหมาะควรแก่การมีผู้ศึกษาประเด็นต่างๆ ในทางวิชาการอย่างยิ่ง (เนื่องด้วยผลงานของท่าน ส่วนใหญ่สัมพันธ์กับความรู้สึกและมโนทัศน์มากกว่ารูปลักษณ์ของความเหมือนจริง การทำความเข้าใจจึงต้องอาศัยสหศาสตร์ในการศึกษาและวิเคราะห์อย่างจริงจังเพื่อแตกประเด็นต่างๆ)

เพราะฉะนั้น ในฐานะของผู้ดู หากจะเข้าใจถึงความเป็นผลงานของท่านอย่างจริงแท้ คงต้องใช้เวลาในการศึกษาค้นคว้าอีกมากเพื่อซาบซึ้งในผลงานของท่านอย่างสมบูรณ์

ที่พิมพ์มาทั้งหมดนี้คงเป็นเพียงแค่พรรณนาพอสังเขปเพื่อให้พอเห็นพัฒนาการของการสร้างสรรค์ศิลปะของ อ.กัญญา
หากใครๆ สนใจอยากชิมลองสัมผัสผลงานศิลปะระดับครูที่สร้างศิลปะในรูปแบบของตัวเองมาตลอดหลายสิบปีและมีนูปแบบและกระบวนการที่หลากหลายแล้วละก็ คงต้องมาชมด้วยตาของตนเอง

ผมเชื่อว่า “แม้เอาเข้าจริงศิลปะหลายรูปแบบก็ไม่ได้เข้าใจยากอย่างที่คิดนะครับ

หากแต่การเข้าถึงศิลปะได้นั้น คงไม่เพียงแค่เห็นด้วยตาเท่านั้น หากยังต้องไปสัมผัสด้วยใจอีกด้วย (ความรู้สึก/ ความนึกคิด/ ความคิดสรุป/ ฯลฯ)
..............


เป็นบทความของผู้เขียนเอง
..............













นิทรรศการเชิดชูเกียรติศาสตราจารย์เกียรติคุณกัญญา เจริญศุภกุล
จัดแสดง 5 - 28 เมษายน 2561
เปิดให้เข้าชมวันจันทร์ - เสาร์ 9.00 - 16.30 น. * ชมฟรี *
ปิดวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์
ณ หอศิลป์บรมราชกุมารี คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
Facebook Page: Psg Art Gallery
https://www.facebook.com/psgartgallerysilpakorn/