วันเสาร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2563

เมื่อได้อ่าน "โลกของโซฟี"

โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ


ราว ๆ สัปดาห์กว่า ๆ ที่ผมใช้เวลาเล็ก ๆ น้อย ๆ ค่อย ๆ อ่านหนังสือแปลเล่มหนึ่งที่ซื้อมาราวต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาจากร้านหนังสืออิสระที่ชื่อ “A BOOK with NO NAME” ที่ตั้งอยู่ในย่านสามเสน
หนังสือเล่มนี้ชื่อว่า “โลกของโซฟี”

“โลกของโซฟี” (Sofies verden) เป็นวรรณกรรมเชิงปรัชญาของนักเขียนชาวนอร์เวย์ชื่อ Jostein Gaarder ผู้สอนวิชาปรัชญา โดยมีเป้าหมายในการย่อยและสกัดแนวคิดของนักปรัชญาที่สำคัญตั้งแต่ยุคกรีกจนถึงศตวรรษที่ 20 ให้ออกมาในรูปของนิยายและบทสนทนาผสมผสานกับสถานการณ์เหนือความจริงด้วยการอธิบายอย่างง่าย ๆ จนกลายเป็นหนังสือที่ได้รับการกล่าวขานในวงกว้าง ด้วยการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ถึง 53 ภาษา และยอดการพิมพ์กว่า 30ล้านกว่าเล่ม ทั่วโลก

“โลกของโซฟี” เป็นนิยาย (ฉบับแปลภาษาไทยโดย สายพิณ ศุพุทธมงคล) มีขนาดยาว 523 หน้า เล่าเรื่องของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ โซฟี เรียนแนวคิดปรัชญากับชายลึกลับชื่อ อัลแบร์โต จนเป็นบทสนทนาระหว่างกันเกี่ยวกับปรัชญาตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงยุคสมัยใหม่ที่สำคัญ ๆ ซึ่งการดำเนินเรื่องยังเกี่ยวโยงสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับเด็กผู้หญิงอีกคน คือ ฮิลเด กับพ่อของเธอ
การดำเนินเรื่องที่เป็นไปอย่างเรียบง่ายในช่วงต้น ค่อย ๆ เข้มข้นขึ้นด้วยการดำเนินเรื่องที่สลับซับซ้อนระหว่างโลกของความจริงและเหนือจริง ควบคู่ไปกับบทสนทนาที่ว่าด้วยเรื่องปรัชญาของมนุษย์ที่ลึกซึ้งขึ้นเรื่อย ๆ
.
นิยายเล่มนี้ นำเราไปสู่การตั้งคำถามการมีอยู่ของชีวิต ความจริง และความดีงาม ภายใต้การย่อยแนวคิดปรัชญาของนักคิดคนสำคัญมากมายที่วางชุดระเบียบการเชื่อมโยงไว้ด้วยลำดับเวลาและพัฒนาการของมนุษย์ อาทิ โสคราตีส, เพลโต้, อริสโตเติล, เดส์การ์ต, ล็อค, ค้านท์, เฮเกล, มาร์กซ์, ดาร์วิน, ฟรอยด์, ซาร์ต และนักปรัชญาอื่น ๆ อีกมากมาย

ผมอ่านหนังสือเล่มนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ค่อย ๆ อ่านเพื่อทำความเข้าใจปรัชญาความคิดจากอดีตในแต่ละยุคสมัย

การได้อ่าน “โลกของโซฟี” ทำให้ผมนึกไปถึงงานจิตรกรรมฝาผนังปูนเปียกหรือที่เรียกกันว่า Fresco ที่ Vatican ชื่อ “The School of Athens” ที่วาดขึ้นในช่วง คศ.1509-1511 โดยจิตรกรชาวอิตาเลียนชื่อ Raphael


จิตรกรรมฝาผนังปูนเปียกชิ้นเอกของ Raphael นี้เป็นภาพแทนที่จัดวางบุคคลที่เป็นนักปรัชญาจำนวน 21 คนในโลกอดีตที่กำลังศึกษา สนทนา ถกเถียง ร่วมกันในพื้นที่ของอาคารที่แทนความหมายถึงสำนักวิชาความรู้แห่งนครเอเธนส์ในสมัยอารยธรรมกรีกที่ถือเป็นต้นร่างของวิชาความรู้ของโลกตะวันตก

สำหรับผมแล้ว ภาพดังกล่าวทำให้เห็นถึงตัวแทนนักปรัชญาที่มีปฏิสัมพันธ์กันด้วยการศึกษาและสนทนากัน ให้ความหมายว่า การเข้าใจความรู้ที่สัมพันธ์กับชีวิตและการดำรงอยู่ของมนุษย์มิอาจอยู่ที่ความศรัทธาในสิ่งอื่นใดนอกจากรักในการเรียนรู้และใฝ่หาปราชญ์ เช่นเดียวกับที่เรามักคุ้นชินกับสุภาษิตไทยที่ว่า “คนบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล…”
การแสวงหาความรู้ในโลกอดีตจึงคือการสนทนาและเปลี่ยนความคิดกัน รวมไปถึงการตั้งคำถาม การถกเถียง และการโต้แย้ง สิ่งเหล่านี้ล้วนนำไปสู่ความรู้ทั้งสิ้น แม้ในปัจจุบันก็ตามที

เมื่อย้อนกลับมาถึง “โลกของโซฟี” แล้ว
เมื่อผมได้อ่าน และดำเนินคล้อยตามไปในแต่ละตัวอักษรที่แปลขึ้นในภาคภาษาไทย มนทำให้ตัวเองเข้าไปอยู่ในโลกของความคิดและจินตนาการ
ราวกับว่า กำลังเข้าไปฟังเสียงสนทนากันในภาพ “The School of Athens” ก็ว่าได้


1 ความคิดเห็น: