วันอังคารที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สถานพักตากอากาศ: สถาน-ที่ไม่มีอยู่จริง

โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ (ภาควิชาสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม)

 
ความหมายของ “สถานพักตากอากาศ” (RESORT)[1] คือ สถานที่ที่ใช้พักผ่อนหรือสันธนาการ ผู้พักใช้ในวันหยุดหรือวันพักผ่อน เป็นสถานที่หรืออาจเป็นเมืองหรือในบางครั้งอาจะเป็นสิ่งก่อสร้างการค้าที่บริหารโดยบริษัทเดียว เป็นสถานที่ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันสำหรับผู้มาพัก ทั้งอาหาร ที่พัก กีฬา สิ่งบันเทิงและศูนย์การค้า[2]
 
หากแต่เมื่อถอดคำสำคัญของ “สถานพักตากอากาศ” ก็จะพบว่า คำว่า “สถาน” เป็นคำที่บ่งบอกถึง “ตำแหน่ง” หรือ “ที่ตั้ง” ของ  บริเวณใดบริเวณหนึ่งอย่างจำเพาะ

 “พัก”ไม่เพียงมีความหมายในเชิง “ปล่อย” “นิ่ง” และ “สงบ” เท่านั้น แต่ยังหมายถึง “การหยุด”ณ จุดใดจุดหนึ่ง ณ “เวลาใดเวลาหนึ่ง”

            ขณะที่กลุ่มคำ “ตากอากาศ” มีความหมายไปในเชิงของ “การปลดปล่อย” ปล่อยให้สิ่งต่างๆ ให้ “ปรากฏขึ้นอย่างอิสระ” ด้วยการ “ตาก” (เช่น ตากแดด, ตากลม, ตากฝน เป็นต้น) ส่วน “อากาศ” ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏเป็นรูปทรง ทว่ากลับเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเราตลอดเวลา  “ตากอากาศ” จึงอาจเป็นภาวะของการปล่อยให้สิ่งรอบๆ ตัว “ผันแปร” อย่างอิสระ

 
            “สถานพักตากอากาศ” อีกนัยยะหนึ่งนั้น จึงเป็นสถานที่อันเจาะจงในการหยุดและปล่อยให้สิ่งต่างๆ หมุนเวียนเปลี่ยนแปรไปได้อย่างอิสระ สถานพักตากอากาศนั้นจึงไม่จำเป็นต้องเป็นสถานที่อันเป็นรูปแบบตายตัว เพียงแต่ควรมีขอบเขตของ “สถานที่” อย่างชัดเจน และใช้อำนาจของความเป็นสถานที่นั้นๆ เป็นเครื่องมือในการสร้างภาวะของการ “ตากอากาศ” หรือกล่าวกันอย่างง่ายๆ คือ สถานที่นั้นต้องเป็นตัวกำหนดกิจกรรม “ตากอากาศ” ให้สมบูรณ์

            กิจกรรมที่เกิดขึ้นจึงเป็นเสมือนพิธีกรรมบางอย่างที่ต้องแลกมาด้วยการมีวิถีชีวิตที่ผิดปกติ ทั้งนี้เพราะชีวิตที่ต้องทำงานและปฏิบัติภาระหน้าที่ต่างๆ มากมายไม่ได้เอื้ออำนวยให้การพักตากอากาศเป็นกิจกรรมประจำวันได้ ดังนั้นการพักตากอากาศเป็นกิจกรรมอันพิเศษที่ไม่เกิดขึ้นบ่อย มนุษย์ย่อมต้องเลือกที่จะมีเวลาในการพักตากอากาศมากกว่าจะเป็นกิจกรรมที่เกิดจากความบังเอิญ นั่นย่อมหมายถึงมนุษย์เราต้องเป็นผู้ที่จะเลือกในการที่จะพัก ณ ที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งต้องเป็นไปอย่างสบายมากกว่าความตึงเครียด
 

            สถานที่ที่ต้องทำให้พิธีกรรมการตากอากาศได้สำเร็จลุล่วงจึงต้องเป็นสถานที่อุดมไปด้วยความพึงพอใจของผู้ที่จะไปพัก ระบบและสิ่งแวดล้อมต่างๆของสถานพักตากอากาศจึงต้องมีความสะดวกสบายมากกว่าที่จะให้ความรู้สึกที่ต้องจำทน  

สถานพักตากอากาศจึงเป็นภาพจำลองของสภาวะโลกแบบสุขนิยม ในจินตนาการดุจดังสรวงสวรรค์ ที่มีผู้รับใช้และให้เกียรติอย่างที่สุด เพราะฉะนั้น สถานพักตากอากาศจึงเป็นสถานที่สมมุติที่อาจไม่มีอยู่ในชีวิตที่เป็นจริงเลยก็ว่าได้

            นิทรรศการ “สถานพักตากอากาศ” เป็นนิทรรศการที่ใช้กลุ่มคำดังกล่าวเป็นโจทย์ที่ให้ศิลปินแต่ละคนตีความหมายและนำมาสร้างสรรค์ผลงานตามแบบเฉพาะตัว ศิลปินไม่เพียงต้องสร้างชุดความหมายใหม่ผ่านภาษาของการเห็นมากกว่าการสร้างชุด “คำ” (ตัวอักษร) เพื่ออธิบายความคิดเฉพาะตัว ศิลปินจึงไม่เพียงอยู่ในสถานะของผู้สร้างสรรค์ศิลปะเท่านั้น หากแต่ได้รับสิทธิ์พิเศษในการเป็นผู้สร้างสถานที่ในจินตนาการให้ปรากฏออกมาด้วยการใช้ “สิ่ง” ต่างๆ เป็น “รหัส” เพื่อสื่อสารกับผู้เข้าชมมากกว่าที่ผู้เข้าชมจะเป็นเพียงผู้จ้องมองเท่านั้น ซึ่งเท่ากับว่าศิลปินเป็นผู้อรรถาธิบายสถานพักตากอากาศในความหมายเฉพาะให้ผู้ชมได้เกิดกระบวนการถอดชุดความหมายจากสิ่งที่ถูกจัดวางอย่างเป็นระบบ
 
            ศิลปินเป็นผู้สร้างระบบความหมายด้วยชุดของสัญญะที่หลากหลายเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ในการถอดรหัส ซึ่งผลงานย่อมต้องปรากฏภาพของความเป็นสถานที่อันเงียบนิ่งและปล่อยให้บริบทต่างๆ ที่รายรอบผลงาน (ไม่ว่าจะมีรูปแบบผลงานแบบไหนก็ตาม) ผันแปรเปลี่ยนไปอย่างอิสระ
 
 
            คำถามสำคัญจึงไม่ใช่ว่าผู้มาชมงานจะได้รับ “สาร” (Message) อันเกี่ยวโยงกับสถานพักตากอากาศมากน้อยเพียงใด หากแต่คือ “ใครเป็นผู้ที่เข้ามาพักตากอากาศ” ต่างหาก ซึ่งในคำถามดังกล่าวนี้ ผู้ชมจึงมิใช่ผู้เข้าพักสถานตากอากาศ แต่ “ผู้ชม” เป็นเพียง “สิ่ง” ที่ผ่านเข้ามาและผ่านออกไปเท่านั้น เพราะผู้ที่จะเข้าถึงสารัตถะของการตากอากาศได้นั้นย่อมต้องเข้ามาอาศัยอยู่ในขอบเขตที่ศิลปินเป็นผู้สร้างสถานที่อันสมมุติขึ้นนี้
 
 
            ฉะนั้นหากจะย้อนไปถึงว่าสถานพักตากอากาศเป็น “พื้นที่ในจินตนาการ” ผู้ที่เข้าพักจึงไม่มีอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงอันเป็นภววิสัย ไม่เพียงผู้ดูจะไม่สามารถที่จะเข้าพักสถานพักตากอากาศได้เท่านั้น แต่ผู้ชมถือว่าไม่มีสิทธิที่จะเข้าไปพักได้เลย เพราะผู้ชมยังคงใช้ชีวิตอย่างปกติ มิได้ปล่อยให้ทุกอย่างผ่านเลยไปตามอุดมคติของการพักตากอากาศ สิทธิ์ของผู้ที่จะเข้าพักสถานที่ตากอากาศจึงต้องมีเจตจำนงอันแท้จริงเสียก่อนว่าจะเข้าสู่สถานที่พักตากอากาศหรือไม่ ซึ่งกุญแจของสถานพักตากอากาศก็คือการที่จะปล่อยบริบทที่หลากหลายในความเป็นปกติให้ผ่านเลยและเข้าสู่สภาวะของการ “พักตากอากาศ” อย่างเบาสบาย
 



[1] สถานพักตากอากาศ นิทรรศการศิลปะเพื่อภูมิทัศน์แห่งการพัก ชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
เปิดนิทรรศการ 3 ตุลาคม 2556 จัดแสดงระหว่างวันที่ 4 ตุลาคม - 24 พฤศจิกายน 2556

วันพุธที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ความสัมพันธ์ของธงชาติไทยกับลัทธิชาตินิยม

โดย: อ.สุริยะ ฉายะเจริญ (อาจารย์ประจำภาควิชาสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม)
เรียบเรียงใหม่จากส่วนหนึ่งในวิทยานิพนธ์ศิลปมหาบัณฑิต ทฤษฎีศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เรื่อง “สัญลักษณ์ของธงชาติไทยในศิลปะร่วมสมัย”

                 ชาติในปัจจุบันมีความเข้าใจกันโดยทั่วไปว่าเป็นลักษณะของรัฐชาติ (Nation State) หรือมีชื่อเดิมเรียกว่า รัฐประชาชาติ (National State) ซึ่งเป็นรูปแบบการปกครองระดับประเทศในปัจจุบัน อันประกอบด้วยมโนทัศน์ทางรัฐศาสตร์ที่กำหนดว่าประเทศนั้นมีองค์ประกอบสามประการ คือ มีประชากรแน่นอน มีดินแดนแน่นอน และมีรัฐบาลหรือมีอำนาจอธิปัตย์แน่นอนเป็นของตนเอง ซึ่งเป็นมโนทัศน์ที่จำแนกประเทศในอดีตออกจากประเทศในปัจจุบัน เนื่องจากในอดีตนั้นมโนทัศน์เช่นนี้หามีความแน่นอนไม่[1] 
                 ความเป็นชาติ (Nationhood) จึงเป็นสิ่งที่ก้ำกึ่งระหว่างแนวคิดสังคมอุดมคติอันเป็นลักษณะนามธรรมที่จับต้องไม่ได้กับการสถาปนาแนวคิดดังกล่าวให้ปรากฏออกมาในเชิงรูปธรรม แนวคิดของความเป็นชาติมีความซับซ้อนอันเกี่ยวโยงกับการสร้างมายาคติของสังคม ดังนั้นการสร้างความสำนึกความรักชาติจึงต้องสร้างสัญลักษณ์ (Symbol) บางอย่างขึ้นมา เพื่อเป็นสิ่งแทนอุดมการณ์ที่มองไม่เห็น ซึ่งโรลองด์ บาร์ตส์ (Roland Gérard Barthes) นักทฤษฎีชาวฝรั่งเศสคนสำคัญของสำนักสัญวิทยาได้นำเสนอว่า “ทันทีที่สังคมเกิดขึ้น การใช้วัตถุสิ่งของต่าง ๆ ในสังคมในตัวเองก็ทำให้ถูกทำให้กลายสภาพเป็นสัญญะ (Sign) ไป”[2] ธงชาติซึ่งเป็นสัญลักษณ์อันเป็นหมวดหนึ่งของสัญญะจึงเป็นภาพตัวแทนของอุดมคติความเป็นชาติให้กลายเป็นรูปธรรมที่เข้าใจได้ง่ายที่สุด
                 สำหรับการใช้ธงชาติไทยในแง่มุมชาตินิยมแบบรัฐสมัยใหม่นั้นได้รับการปลูกฝังครั้งแรกในยุคสมัยสร้างชาติของจอมพล ป. พิบูลยสงคราม ซึ่งนอกจากจะแฝงแนวคิดความรักชาติแล้ว ยังมีนัยยะที่เกี่ยวข้องกับบทบาททางอำนาจที่ผู้นำต้องการสร้างความชอบธรรมโดยใช้แนวคิดชาตินิยมเป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างหนึ่งที่สำคัญ


นายพลตรี หลวงพิบูลยสงคราม นายกรัฐมนตรี กล่าวปราศรัยแก่บรรดานักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งเดินขบวนเรียกร้องดินแดนหน้ากระทรวงกลาโหม 8 ตุลาคม พ.ศ. 2483
ที่มา : ชาญวิทย์  เกษตรศิริ, ธำรงศักดิ์  เพชรเลิศอนันต์ และ วิกัลย์  พงศ์พนิตานนท์,  จอมพล
ป. พิบูลยสงครามกับการเมืองไทยสมัยใหม่,  พิมพ์ครั้งที่ 2  
(กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์, 2544), 161.

                 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. มานิตย์ นวลละออ ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เขียนไว้ในหนังสือ “การเมืองไทยยุคสัญลักษณ์รัฐไทย” ซึ่งได้รับทุนการปรับปรุงวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก สาขารัฐศาสตร์ จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สรุปประเด็นการเคารพธงชาติในยุคสมัยนั้นเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า

           ...การเคารพธงชาติอาจถือได้ว่าเป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่ขึ้นมาเป็นสัญลักษณ์ที่แข่งขันกับสถาบันเดิม นัยว่าเพื่อลดความสำคัญของพระมหากษัตริย์เพราะการเคารพธงชาติ เพลงชาติ กระทำทุกวันบ่อยกว่าการสรรเสริญพระบารมี นอกจากนั้น ในเนื้อร้องเพลงชาติไม่มีการกล่าวถึงพระมหากษัตริย์เลย แต่มีการเน้นคำว่า “ประชารัฐ” แทน ซึ่งแสดงถึงการให้ความสำคัญกับราษฎรสามัญชนที่เป็นหลักใหญ่ของชาติหรือรัฐ นอกจากนั้นยังเน้นบทบาททางการทหารในการปกป้องเอกราชของประเทศไทย ซึ่งมีความหมายถึงการปกป้องระบอบใหม่ของประเทศไทยแทนระบอบเก่าของประเทศสยาม และยังเน้นอุดมการณ์ชาตินิยมให้มีความเป็นรูปธรรมในเชิงสัญลักษณ์ชัดเจนขึ้น[3]

                 รัฐนิยมในสมัยสร้างชาติยุคจอมพล ป. พิบูลยสงครามได้ถือเป็นการเปิดฉากให้ธงชาติไทยหรือธงไตรรงค์ได้มีบทบาทกับการดำเนินนโยบายชาตินิยมอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะรัฐนิยม   ฉบับที่ 4  การเคารพธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี ฉบับที่ 6 เรื่องทำนอง และเนื้อร้องเพลงชาติ  และฉบับที่ 7 เรื่องชักชวนให้ชาวไทยร่วมกันสร้างชาติ[4]
                 ธงชาติถูกใช้ให้เป็นเครื่องมือหรือเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่ง ในการปลุกระดมความรักชาติและชาตินิยม การร้องเพลงชาติและการยืนตรงเคารพธงชาติซ้ำ ๆ กันทุก ๆ วัน วันละ 2 ครั้ง เสมือนการทำพิธีกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ธงชาติไทยจึงมิใช่ผ้าผืนสี่เหลี่ยมปกติธรรมดา    แต่กลายเป็นสัญลักษณ์แทนชาติไทยอันเป็นแนวคิดนามธรรมที่ไม่มีตัวตนอยู่จริง แต่ธงชาติไทยก็ได้ถูกสร้างให้มีปฏิสัมพันธ์กับมหาชนโดยรวมด้วยอุดมการณ์ชาตินิยมผ่านพิธีกรรมการร้องเพลงชาติ การยืนตรงเคารพธงชาติและการใช้ธงชาติในบริบทต่าง ๆ หรืออาจจะพูดได้ว่า  “ชาติและธงไตรรงค์จึงยังคงเป็นสิ่งสูงสุดที่เราจะต้องรักษาไว้ยิ่งกว่าชีวิตของเรา” [5] ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลยสงครามต้องการให้เกิดขึ้นคือการแสดงความเคารพธงชาติของประชาชนอันเป็นรูปธรรมที่แสดงถึงความรู้สึกรักชาติ และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาชน[6]



ภาพที่ 29   ประชาชนยืนตรงเคารพธงชาติตามรัฐนิยมสมัยจอมพล ป. พิบูลยสงคราม พ.ศ. 2483
ที่มา : ชาญวิทย์  เกษตรศิริ, ธำรงศักดิ์  เพชรเลิศอนันต์ และ วิกัลย์  พงศ์พนิตานนท์,  จอมพล
ป. พิบูลยสงครามกับการเมืองไทยสมัยใหม่,  พิมพ์ครั้งที่ 2 
(กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์, 2544), 161.

                 ธงชาติถูกทำให้สูงค่ายิ่งหากผ่านการกระทำที่ต้องแลกมาด้วยการพลีชีวิตเสียเลือดเนื้อ ดังเช่น ธงชาติคลุมศพของทหารผู้เสียสละชีวิตในการปกป้องอธิปไตยจากศัตรู ธงชาติที่วางบนร่างนั้นได้แปรสภาพร่างที่ไร้วิญญาณกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และควรเทิดทูนราวเทพเจ้าทันทีทันที ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นกระบวนการสร้างอารมณ์ให้เกิดสำนึกรักชาติ เป็นการปลุกความรู้สึกสูญเสียบุคคลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งของชาติ อันนำมาซึ่งสำนึกร่วมกันตามลักษณะชาตินิยมได้เป็นอย่างดี


ซุ้มทางเข้างานฉลองรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2482 ประดับด้วยธงชาติ
ที่มา : ชาตรี  ประกิตนนทการ,  ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร  (กรุงเทพฯ : มติชน, 2552), 171.

                 ธงชาติที่ถูกชูขึ้นเหนือสถานที่ราชการ อาคารสิ่งก่อสร้าง และประดับตามอาคารบ้านเรือนต่าง ๆ เป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อแนวคิดความเป็นรัฐชาติ สร้างสำนึกความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาสังคม แต่เมื่อธงชาติได้ถูกชูเหนือชายแดนหรือประตูผ่านแดน ธงชาติจึงได้กลายเป็นกำแพงที่แบ่งแยกระหว่างผู้ที่อยู่ในอาณาเขตหนึ่งกับอีกอาณาเขตหนึ่ง ซึ่งสิ่งดังกล่าวกลายเป็นเส้นแบ่งพรมแดนนามธรรมที่รัฐชาติทั้งสองฝั่งต้องยอมรับกฎเกณฑ์ดังกล่าวร่วมกัน เพราะหากไม่มีข้อตกลงอันเป็นเอกฉันท์ก็จะเกิดปัญหา เช่น กรณีพื้นที่ประสาทเขาพระวิหาร และพื้นที่ทับซ้อนระหว่างราชอาณาจักรไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น

                 ชนิดา พรหมพยัคห์ เผือกสม ทำการศึกษาเรื่อง “การเมืองในประวัติศาสตร์ธงชาติไทย” ได้ให้ทัศนะ เกี่ยวกับการใช้ธงชาติในอีกมิติว่า

           ...ยังมีการแสดงออกถึงความสำคัญของธงชาติในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ที่เห็นได้ชัดคือการแข่งขันกีฬา โดยเฉพาะกีฬาระดับชาติ พิธีการประกาศชัยชนะของผู้ที่ชนะเลิศในการแข่งขันคือการชักธงของประเทศนั้น ๆ ละบรรเลงเพลงชาติไปพร้อมๆ กับการแสดงความเคารพของคนทั้งหมด ซึ่งเป็นการแสดงถึงเกียรติยศของชาตินั้น หรือกระแสนิยมการเขียนระบายสีตามหน้าตาและส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเป็นรูปแถบสีธงชาติของผู้ชมในการแข่งขันกีฬาต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้ถือเป็นการลบหลู่ธงชาติ แต่เป็นการแสดงออกถึงความรักชาติอย่างหนึ่ง...[7]


กองเชียร์ทีมชาติไทย
ที่มา : ไทยบิสเซ็นเตอร์ด็อทคอม, สีสันกองเชียร์ของฟุตบอลไทย  [ออนไลน์],  เข้าถึงเมื่อ
25 ธันวาคม 2554.  เข้าถึงได้จาก http://tpl.thaibizcenter.com/CheerGallery .asp?pg=8

                 จากปัจจัยอันหลากหลายข้างต้นทำให้ธงชาติได้แสดงนัยยะอันสำคัญยิ่ง นั่นคือเป็นเครื่องมือที่สถาปนาความเป็นชาติและความรักชาติ อันเป็นการทำให้เกิดความภูมิใจในชาติบ้านเมืองของตนเองจนเกินขอบเขตอย่างไม่มีเหตุผลของคนไทย อีกทั้งความหลงใหลในชาติบ้านเมืองของตนเองนี้ ปรากฏทั่วไปในชนทุกระดับ ตั้งแต่ผู้มีอำนาจไปจนถึงชาวไร่ชาวนา[8]


                 [1] วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี,  รัฐชาติ  [ออนไลน์],  เข้าถึงเมื่อ 22 มกราคม 2554.
เข้าถึงได้จาก  http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90
%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4
                 [2] ไชยรัตน์  เจริญสินโอฬา,  สัญวิทยา, โครงสร้างนิยม, หลังโครงสร้างนิยมกับการศึกษารัฐศาสตร์  (กรุงเทพ: วิภาษา, 2545), 95.
                 [3] มานิตย์  นวลละออ,  การเมืองไทยยุคสัญลักษณ์รัฐไทย  (กรุงเทพฯ : รุ่งเรืองรัตน์
พริ้นติ้ง, 2540), 100.
                 [4] วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี,  รัฐนิยม [ออนไลน์],  เข้าถึงเมื่อ 16  พฤศจิกายน 2554. เข้าถึงได้จาก  http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90 %E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%A2%E0%B8%A1
                 [5] ชนิดา พรหมพยัคห์ เผือกสม, การเมืองในประวัติศาสตร์ธงชาติไทย (กรุงเทพฯ : มติชน, 2546), 232.
                 [6]  ชนิดา พรหมพยัคห์ เผือกสม, การเมืองในประวัติศาสตร์ธงชาติไทย, 271.
                 [7] ชนิดา พรหมพยัคห์ เผือกสม, การเมืองในประวัติศาสตร์ธงชาติไทย, 274.
                 [8] วริยา ศิวะศริยานนท์ และ ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์,  บุคลิกภาพและลักษณะนิสัยของคนไทยในทรรศนะของชาวตะวันตก  (กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2523), 73.

วันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2556

One Year Roll: หนึ่งปีกับหนึ่งม้วนฟิล์ม: ภาพสะท้อนสามัญรูปในสังคมที่เป็นปกติ

โดย: อาจารย์สุริยะ ฉายะเจริญ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม


 ปัจจุบันนี้เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิทัล (Digital Camera) เป็นการบันทึกภาพที่มีความง่ายมากกว่าการถ่ายภาพด้วยกล้องที่ใช้ฟิล์มและที่สะดวกมากไปกว่านั้นคือการใช้กล้องที่อยู่ในโทรศัพท์มือถือแบบสมัยใหม่หรือที่เรียกกันว่าสมาร์ทโฟน (Smart Phone) บันทึกภาพ ซึ่งนอกจากจะได้ภาพเป็นไฟล์ชนิดเดียวกับกล้องดิจิทัลแล้ว ยังสามารถนำไปแสดงภาพบนหน้าเว็ปไซต์ (Website) และสื่อสังคมออนไลน์ (Social Network) ได้อีกด้วย
 
            ในขณะที่การถ่ายภาพด้วยกระบวนการแบบใช้ฟิล์มบันทึกภาพค่อยๆ หายไปจากสังคมทั่วไปเรื่อยๆ ทั้งนี้ก็สามารถเข้าใจได้ว่าเกิดจากปัจจัยความยุ่งยากของกระบวนการทำงานและค่าใช้จ่ายในการล้างอัดภาพที่แพงกว่าการใช้กล้องดิจิทัลถ่าย ที่สำคัญกล้องดิจิทัลสามารถใช้ในลักษณะที่เป็นไฟล์ที่ปรากฏบนจอระบบดิจิทัลในสื่อสมัยใหม่ได้ อีกทั้งสามารถที่จะแก้ไขและตรวจดูภาพได้หลังจากการถ่ายภาพดำเนินเสร็จไปเพียงไม่กี่วินาที
ข้อจำกัดในการเผยแพร่ภาพก็เป็นข้อเสียเปรียบของกล้องฟิล์มที่ต้องผ่านกระบวนการเปลี่ยนจากภาพนิ่งบนกระดาษไปสู่ภาพแบบไฟล์ดิจิทัลด้วยการสแกนภาพ (Scan) ซึ่งต่างจากกล้องดิจิทัลที่นำไฟล์ไปใช้ในการเผยแพร่ในสื่อดิจิทัล (Digital Media) ได้เลย และยังสามารถที่จะตกแต่งภาพด้วยโปรแกรมกราฟิกได้ตามความพอใจของช่างภาพได้อีกด้วย
            ด้วยข้อจำกัดอันมากมายทำให้พื้นที่ของกล้องฟิล์มถูกเบียดบังจากเทคโนโลยีดิจิทัลที่นับวันจะยิ่งยัดเยียดสูตรสำเร็จให้กับการถ่ายภาพที่มุ่งไปสู่การแข่งกันพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเป้าหมายเชิงปริมาณและรองรับความต้องการรวดเร็วทันใจมากกว่าเสน่ห์และความตื่นเต้นเชิงลึกแบบการปรากฏของภาพที่ถ่ายด้วยกล้องฟิล์ม กล้องฟิล์มจึงถูกกาลเวลาและความเปลี่ยนแปลงผลักไสไปสู่ความเป็นคลาสสิคมากกว่าความเป็นร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น ทั้งๆ ในสมัยก่อนนั้นการถ่ายภาพด้วยฟิล์มเป็นเทคโนโลยีที่เคยมาแทนที่งานจิตรกรรมเชิงช่างที่เน้นความประณีตและสุนทรียะมากกว่าความเหมือนแบบแข็งกระด้าง แต่ปัจจุบันกล้องฟิล์มเองก็ถูกทำให้กลายเป็นเครื่องมือของช่างภาพบางกลุ่มที่ยังมีความเชื่อมั่นในวิถีการบันทึกแสงลงไปบนฟิล์ม
            "Analog Photo Exhibition - One Year Roll By Frey"[1] ณ หลังแรก Bar Restaurant Gallery[2] เป็นนิทรรศการภาพถ่ายด้วยกล้องฟิล์มขาวดำของปัทม์ณันท์ เรืองพีรภัทร์ (เฟรย์) จัดแสดงนิทรรศการตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม - 28 ตุลาคม 2556

เปิดนิทรรศการ : วันเสาร์ที่ 4 ตุลาคม 2556 เวลา 20.00 น. เป็นต้นไป

ณ หลังแรก Bar Restaurant Galleryช่างภาพหนุ่มที่สลัดงานประจำสู่การเป็นช่างภาพอิสระ เขาขายกล้องดิจิทัลที่มีอยู่เพื่อนำไปซื้อกล้องฟิล์มเพื่อสร้างผลงานในแบบที่เขาเชื่อมากกว่าที่สังคมมีความนิยม ผลงานที่นำมาแสดงนิทรรศการทั้ง 36 ชิ้น อันเป็นจำนวนที่มีการล้อเลียนกับจำนวนภาพถ่ายของม้วนฟิล์มแต่ละม้วน ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการกำหนดจำนวนผลงานตามบริบทของพื้นที่เท่านั้น หากแต่ยังเป็นการสร้างความหมายจำนวนงานให้เข้ากับแนวคิดของการจัดนิทรรศการได้อย่างน่าสนใจอีกด้วย
            ปัทม์ณันท์จบการศึกษาปริญญาตรีสาขาถ่ายภาพจากมหาวิทยาลัยรังสิต[3] เขามีความใฝ่ฝันในการจะเป็นช่างถ่ายภาพ (Photographer) มาเท่ากับนักศึกษาศิลปะอยากเป็นศิลปิน (Artist) หลังจากที่เขาเลือกชีวิตโดยหันหลังให้กับงานประจำสู่ถนนอิสระที่ทอดยาวและเปิดกว้าง เขาก็เริ่มสร้างสรรค์โครงการเล็กๆ ด้วยการตระเวนถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์มขาวดำ เพื่อเป็นการบันทึกภาพที่เห็นตามสามัญให้กลายเป็นภาพถ่ายที่มากด้วยความหมายและอุดมด้วยสุนทรียะแบบร่วมสมัย
            เขาเชื่อโดยส่วนตัวว่า “กล้องฟิล์มให้ความรู้สึกส่วนตัวมากกว่ากล้องดิจิทัล”[4] เขาไม่ใช่ไม่ยอมรับในการมีอยู่ของกล้องดิจิทัล หากแต่โดยส่วนตัวเขาเองแล้วกลับหลงใหลในเสน่ห์ของกล้องแบบฟิล์มมากกว่า ซึ่งบางทีเขาอาจจะไม่สามารถอธิบายถึงความรู้สึกดังกล่าวได้ ซึ่งก็คงไม่ต่างจากศิลปินวาดภาพรูปเหมือนจริง (Realistic) กับศิลปินวาดภาพนามธรรม (Abstract Art) ที่มิอาจจะอธิบายได้ว่าผลงานแบบไหนจะมีคุณค่ามากกว่ากัน ทั้งนี้เป็นเรื่องของรสนิยมและประสบการณ์ทางสุนทรียะ[5]ส่วนตัวเสียมากกว่า
            ผลงานของปัทม์ณันท์นอกจากจะเป็นภาพที่ถ่ายเองแล้วยังผ่านกระบวนการล้างและอัดภาพด้วยตัวเองอีกด้วย เขาให้เวลากับกระบวนการต่างๆ อันยิบย่อยเพื่อให้ภาพที่ค่อยๆ ปรากฏบนผืนกระดาษสีขาวมีความละเมียดงดงามตามที่ใจเขาต้องการรังสรรค์ออกมา ผลงานภาพถ่ายของเขาจึงไม่เพียงผ่านสายตามที่มองลอดช่องกรอบสีดำของกล้องเท่านั้น แต่มันยังผสานใจและสมองเข้าด้วยกันโดยมีนิ้วที่กดปุ่มชัตเตอร์[6] (Shutter) เป็นเสมือนการตวัดพู่กันอันเฉียบพลันของจิตรกรจีนที่เต็มไปด้วยมั่นใจทุกห้วงยามยามที่ต้องการถ่ายทอดความคิดและอามรณ์ความรู้สึกผ่านงานจิตรกรรม
            นิทรรศการภาพถ่ายขาวดำ "Analog Photo Exhibition - One Year Roll By Frey" เกิดจากผลงานภาพถ่ายด้วยกล้องฟิล์มที่ปัทม์ณันท์เขาซื้อมาครบ 1 ปีพอดี เขาคัดเลือกผลงานมาทั้งหมด 36 ภาพ เพื่อล้อไปกับจำนวนของภาพถ่ายที่เกิดจากการบันทึกของม้วนฟิล์ม 1 ม้วน โดยที่ภาพผลงานโดยรวมที่ปรากฏนั้น เขาได้บันทึกภาพชีวิตสามัญของสังคมที่เห็นอยู่เป็นปกติ ผลงานของเขาแม้ใช้กระบวนการเทคนิคในการถ่ายภาพแบบดั้งเดิม แต่ภาพที่ปรากฏกลับนำไปสู่การนำเสนอภาพของความเป็นปัจจุบันมากกว่าทำให้เกิดความรู้สึกหวนกลับไปสู่อดีตแม้จะเป็นภาพแบบขาวดำก็ตาม
            ลักษณะของผลงานโดยรวมนั้นเน้นการสื่อความหมายแบบเป็นกลาง (คลุมเครือ) มากกว่าการสื่อความหมายในแบบที่ยัดเยียดด้านบวกหรือด้านลบที่ผู้ถ่ายภาพได้ถ่ายทอดแบบตรงไปตรงมา ผลงานดังกล่าวจึงไม่ได้มีกลิ่นอายแบบภาพถ่ายแนววิพากษ์ (Critic) ที่เน้นเนื้อหาที่เข้มข้นมากไปกว่าการบันทึก (Document) จากความประทับตามรายทางที่ผู้ถ่ายภาพได้ประสบพอเจอในแต่ละห้วงขณะทั้งด้วยบังเอิญและโดยตั้งใจ ภาพทุกภาพถูกบันทึกด้วยบริบทที่มีความหมายโดยตัวของมันเองเสมือนภาพถ่ายเป็นผู้เล่าเรื่องเสียมากกว่าที่ให้ผู้ถ่ายต้องอรรถาธิบาย ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับผู้ถ่ายภาพต้องการจะเสนอแง่มุมไหนในการนำเสนอ ดังนั้นทำให้ผลงานที่ปรากฏทั้งนิทรรศการชวนให้ผู้ดูเข้าไปดูอย่างใกล้ชิดมากกว่าดูแบบเหมารวมคร่าวๆ ทั้งนี้ด้วยขนาดของภาพที่นำมาจัดแสดงไม่ใหญ่มาก ประกอบกับรายละเอียดของภาพที่มีมากน้อยแต่ละภาพที่ไม่เท่ากัน ก็ยิ่งชวนให้ผู้ดูเข้าไปพิจารณาภาพที่ปรากฏอย่างใกล้ๆ เพื่อได้พบกับรหัสของสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏในภาพนั้นๆ
            นิทรรศการภาพถ่าย One year Roll ไม่เพียงเป็นการนำเสนอแง่มุมการมองของของช่างภาพรุ่นใหม่คนหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นการบันทึกเรื่องราวสาระต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในปัจจุบัน ที่มีทั้งแง่มุมอันหลากหลาย หลากความหมาย หลายวัฒนธรรม ซึ่งดำรงอยู่ร่วมกันภายในภาพของความเป็นสังคมอันปกติที่มีทั้งสุข ทุกข์ อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนผ่านของกาลเวลา.
 


[1] นิทรรศการภาพถ่าย "Analog Photo Exhibition - One Year Roll By Frey" ผลงานโดย ปัทม์ณันท์ เรืองพีรภัทร์ (เฟรย์) จัดแสดงนิทรรศการตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม - 28 ตุลาคม 2556 ณ หลังแรก Bar Restaurant Gallery, แนวคิด: ข้าพเจ้าต้องการจะบอกเล่าถึงเรื่องราว ความรู้สึกและเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในหนึ่งช่วงชีวิต โดยถ่ายทอดออกมาเป็นภาพถ่ายขาว-ดำ ในมุมมองของข้าพเจ้าเอง ที่มา: http://exhibition.contestwar.com/node/306  จัดแสดงนิทรรศการตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม - 28 ตุลาคม 2556

เปิดนิทรรศการ : วันเสาร์ที่ 4 ตุลาคม 2556 เวลา 20.00 น. เป็นต้นไป

ณ หลังแรก Bar Restaurant Gallery

"Analog Photo Exhibition - One Year Roll By Frey"

Concept : ข้าพเจ้าต้องการจะบอกเล่าถึงเรื่องราว ความรู้สึกและเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในหนึ่งช่วงชีวิต โดยถ่ายทอดออกมาเป็นภาพถ่ายขาว-ดำ ในมุมมองของข้าพเจ้าเองจัดแสดงนิทรรศการตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม - 28 ตุลาคม 2556

เปิดนิทรรศการ : วันเสาร์ที่ 4 ตุลาคม 2556 เวลา 20.00 น. เป็นต้นไป

ณ หลังแรก Bar Restaurant Gallery

"Analog Photo Exhibition - One Year Roll By Frey"

Concept : ข้าพเจ้าต้องการจะบอกเล่าถึงเรื่องราว ความรู้สึกและเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในหนึ่งช่วงชีวิต โดยถ่ายทอดออกมาเป็นภาพถ่ายขาว-ดำ ในมุมมองของข้าพเจ้าเองจัดแสดงนิทรรศการตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม - 28 ตุลาคม 2556

เปิดนิทรรศการ : วันเสาร์ที่ 4 ตุลาคม 2556 เวลา 20.00 น. เป็นต้นไป

ณ หลังแรก Bar Restaurant Gallery

"Analog Photo Exhibition - One Year Roll By Frey"

Concept : ข้าพเจ้าต้องการจะบอกเล่าถึงเรื่องราว ความรู้สึกและเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในหนึ่งช่วงชีวิต โดยถ่ายทอดออกมาเป็นภาพถ่ายขาว-ดำ ในมุมมองของข้าพเจ้าเอง
[3] www.rsu.ac.th/arts/2012/PHO56.pdf
[4] สัมภาษณ์เมื่อ 2 ตุลาคม 2556 ณ หลังแรกบาร์
[5] ประสบการณ์ทางสุนทรียะ
สุนทรียะเป็นเรื่องของการเรียนรู้ การสร้างประสบการณ์โดยอาศัยความรู้ประกอบซึ่งมีขั้นตอนที่ควรคำนึงถึง คือ
1. ประสบการณ์ทางสุนทรียะต้องมีความศรัทธาต่องานศิลปะ ความตั้งใจหรือความศรัทธามีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเข้าถึงงานศิลปะ และในทำนองเดียวกันความตั้งใจที่ไร้ศรัทธาเป็นการปิดกันสุนทรียะของศิลปะตั้งแต่แรก
2. ประสบการณ์ทางสุนทรียะต้องอาศัยการรับรู้ การรับรู้เป็นความรู้ที่จะรู้ว่า สิ่งนั้น ๆ คืออะไร คุณภาพดีไหม และมีความเกี่ยวพันกันอย่างไร เป็นเรื่องของความรู้ไม่ใช่เรื่องของความจำหรือจินตนาการ การรับรู้เป็นการรวบรวมความรู้สึกทั้งภายนอกและภายในที่มีผลต่อสิ่งเร้า แล้วเอามาสร้างเป็นความคิดรวบยอดต่องานศิลปะนั้น ๆ ซึ่งสามรถแยกออกเป็นขั้นตอนได้ว่าเป็นความรู้สึกการรับรู้และการหยั่งรู้เป็นการสร้างมโนภาพ
3. ประสบการณ์ทางสุนทรียะต้องอาศัยความกินใจ หรือประทับใจในการสร้างประสบการณ์ทางสุนทรียะนั้น อารมณ์ที่กระทบต่องานศิลปะสามรถแยกออกเป็น ๒ ขั้นตอนด้วยกัน คือ สภาพของจิตที่เปลี่ยนไปกับความรู้สึกที่สนองต่อจิต เกิดขึ้นตามลำดับต่อมา ความกินใจต่อเหตุการณ์และเสียงที่ได้ยิน ทั้งเหตุการณ์และเสียงที่กินใจจะจารึกจดจำไว้ในสมอง ถ้ามีโอกาสหวนกลับมาอีก ความกินใจที่เคยจดจำไว้จะปรากฏขึ้นในความรู้สึกอีก
4. ประสบการณ์ทางสุนทรียะต้องอาศัยความรู้ การเรียนรู้ของคนต้องอาศัยประสบการณ์ และสุนทรียะเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ ความรู้ ความเข้าใจเป็นประสบการณ์ที่สามรถแยกแยะหรือวิเคราะห์ การนำมาประติดประต่อ หรือการสังเคราะห์ การสรุปรวบยอด การจัดหมวดหมู่ หรือแม้แต่การประเมินผล สิ่งเหล่านี้อาศัยประสบการณ์ความรู้ความเข้าใจเป็นตัวสำคัญ
5. ประสบการณ์ทางสุนทรียะต้องอาศัยความเข้าใจ วัฒนธรรมที่เป็นองค์ประกอบของศิลปะนั้น ๆ เพราะศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม การที่เราเข้าใจวัฒนธรรมเป็นผลให้เราเข้าใจศิลปะอีกโสดหนึ่งด้วย เพราะศิลปะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งย่อมเหมาะกับชนกลุ่มนั้น, ที่มา: http://www.hosting.cmru.ac.th/ruth/lesson/unit7.htm
[6] ชัตเตอร์เป็น แผ่นทึบแสงที่ทำหน้าที่ปิด เปิด ให้แสงเข้ามาในกล้อง ซึ่งเราสามารถตั้งช่วงเวลาการให้แสงผ่านเข้าไปในกล้องได้โดยการปรับความเร็วชัตเตอร์ ถ้าวัตถุมีความสว่างมากก็เพิ่มความเร็วชัตเตอร์ขึ้น แต่ถ้าวัตถุมีความสว่างน้อยก็ต้องลดความเร็วชัตเตอร์ลง, ที่มา: http://dictionary.sanook.com/search/dict-user/%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C