วันพุธที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ความสัมพันธ์ของธงชาติไทยกับลัทธิชาตินิยม

โดย: อ.สุริยะ ฉายะเจริญ (อาจารย์ประจำภาควิชาสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม)
เรียบเรียงใหม่จากส่วนหนึ่งในวิทยานิพนธ์ศิลปมหาบัณฑิต ทฤษฎีศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เรื่อง “สัญลักษณ์ของธงชาติไทยในศิลปะร่วมสมัย”

                 ชาติในปัจจุบันมีความเข้าใจกันโดยทั่วไปว่าเป็นลักษณะของรัฐชาติ (Nation State) หรือมีชื่อเดิมเรียกว่า รัฐประชาชาติ (National State) ซึ่งเป็นรูปแบบการปกครองระดับประเทศในปัจจุบัน อันประกอบด้วยมโนทัศน์ทางรัฐศาสตร์ที่กำหนดว่าประเทศนั้นมีองค์ประกอบสามประการ คือ มีประชากรแน่นอน มีดินแดนแน่นอน และมีรัฐบาลหรือมีอำนาจอธิปัตย์แน่นอนเป็นของตนเอง ซึ่งเป็นมโนทัศน์ที่จำแนกประเทศในอดีตออกจากประเทศในปัจจุบัน เนื่องจากในอดีตนั้นมโนทัศน์เช่นนี้หามีความแน่นอนไม่[1] 
                 ความเป็นชาติ (Nationhood) จึงเป็นสิ่งที่ก้ำกึ่งระหว่างแนวคิดสังคมอุดมคติอันเป็นลักษณะนามธรรมที่จับต้องไม่ได้กับการสถาปนาแนวคิดดังกล่าวให้ปรากฏออกมาในเชิงรูปธรรม แนวคิดของความเป็นชาติมีความซับซ้อนอันเกี่ยวโยงกับการสร้างมายาคติของสังคม ดังนั้นการสร้างความสำนึกความรักชาติจึงต้องสร้างสัญลักษณ์ (Symbol) บางอย่างขึ้นมา เพื่อเป็นสิ่งแทนอุดมการณ์ที่มองไม่เห็น ซึ่งโรลองด์ บาร์ตส์ (Roland Gérard Barthes) นักทฤษฎีชาวฝรั่งเศสคนสำคัญของสำนักสัญวิทยาได้นำเสนอว่า “ทันทีที่สังคมเกิดขึ้น การใช้วัตถุสิ่งของต่าง ๆ ในสังคมในตัวเองก็ทำให้ถูกทำให้กลายสภาพเป็นสัญญะ (Sign) ไป”[2] ธงชาติซึ่งเป็นสัญลักษณ์อันเป็นหมวดหนึ่งของสัญญะจึงเป็นภาพตัวแทนของอุดมคติความเป็นชาติให้กลายเป็นรูปธรรมที่เข้าใจได้ง่ายที่สุด
                 สำหรับการใช้ธงชาติไทยในแง่มุมชาตินิยมแบบรัฐสมัยใหม่นั้นได้รับการปลูกฝังครั้งแรกในยุคสมัยสร้างชาติของจอมพล ป. พิบูลยสงคราม ซึ่งนอกจากจะแฝงแนวคิดความรักชาติแล้ว ยังมีนัยยะที่เกี่ยวข้องกับบทบาททางอำนาจที่ผู้นำต้องการสร้างความชอบธรรมโดยใช้แนวคิดชาตินิยมเป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างหนึ่งที่สำคัญ


นายพลตรี หลวงพิบูลยสงคราม นายกรัฐมนตรี กล่าวปราศรัยแก่บรรดานักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งเดินขบวนเรียกร้องดินแดนหน้ากระทรวงกลาโหม 8 ตุลาคม พ.ศ. 2483
ที่มา : ชาญวิทย์  เกษตรศิริ, ธำรงศักดิ์  เพชรเลิศอนันต์ และ วิกัลย์  พงศ์พนิตานนท์,  จอมพล
ป. พิบูลยสงครามกับการเมืองไทยสมัยใหม่,  พิมพ์ครั้งที่ 2  
(กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์, 2544), 161.

                 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. มานิตย์ นวลละออ ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เขียนไว้ในหนังสือ “การเมืองไทยยุคสัญลักษณ์รัฐไทย” ซึ่งได้รับทุนการปรับปรุงวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก สาขารัฐศาสตร์ จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สรุปประเด็นการเคารพธงชาติในยุคสมัยนั้นเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า

           ...การเคารพธงชาติอาจถือได้ว่าเป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่ขึ้นมาเป็นสัญลักษณ์ที่แข่งขันกับสถาบันเดิม นัยว่าเพื่อลดความสำคัญของพระมหากษัตริย์เพราะการเคารพธงชาติ เพลงชาติ กระทำทุกวันบ่อยกว่าการสรรเสริญพระบารมี นอกจากนั้น ในเนื้อร้องเพลงชาติไม่มีการกล่าวถึงพระมหากษัตริย์เลย แต่มีการเน้นคำว่า “ประชารัฐ” แทน ซึ่งแสดงถึงการให้ความสำคัญกับราษฎรสามัญชนที่เป็นหลักใหญ่ของชาติหรือรัฐ นอกจากนั้นยังเน้นบทบาททางการทหารในการปกป้องเอกราชของประเทศไทย ซึ่งมีความหมายถึงการปกป้องระบอบใหม่ของประเทศไทยแทนระบอบเก่าของประเทศสยาม และยังเน้นอุดมการณ์ชาตินิยมให้มีความเป็นรูปธรรมในเชิงสัญลักษณ์ชัดเจนขึ้น[3]

                 รัฐนิยมในสมัยสร้างชาติยุคจอมพล ป. พิบูลยสงครามได้ถือเป็นการเปิดฉากให้ธงชาติไทยหรือธงไตรรงค์ได้มีบทบาทกับการดำเนินนโยบายชาตินิยมอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะรัฐนิยม   ฉบับที่ 4  การเคารพธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี ฉบับที่ 6 เรื่องทำนอง และเนื้อร้องเพลงชาติ  และฉบับที่ 7 เรื่องชักชวนให้ชาวไทยร่วมกันสร้างชาติ[4]
                 ธงชาติถูกใช้ให้เป็นเครื่องมือหรือเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่ง ในการปลุกระดมความรักชาติและชาตินิยม การร้องเพลงชาติและการยืนตรงเคารพธงชาติซ้ำ ๆ กันทุก ๆ วัน วันละ 2 ครั้ง เสมือนการทำพิธีกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ธงชาติไทยจึงมิใช่ผ้าผืนสี่เหลี่ยมปกติธรรมดา    แต่กลายเป็นสัญลักษณ์แทนชาติไทยอันเป็นแนวคิดนามธรรมที่ไม่มีตัวตนอยู่จริง แต่ธงชาติไทยก็ได้ถูกสร้างให้มีปฏิสัมพันธ์กับมหาชนโดยรวมด้วยอุดมการณ์ชาตินิยมผ่านพิธีกรรมการร้องเพลงชาติ การยืนตรงเคารพธงชาติและการใช้ธงชาติในบริบทต่าง ๆ หรืออาจจะพูดได้ว่า  “ชาติและธงไตรรงค์จึงยังคงเป็นสิ่งสูงสุดที่เราจะต้องรักษาไว้ยิ่งกว่าชีวิตของเรา” [5] ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลยสงครามต้องการให้เกิดขึ้นคือการแสดงความเคารพธงชาติของประชาชนอันเป็นรูปธรรมที่แสดงถึงความรู้สึกรักชาติ และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาชน[6]



ภาพที่ 29   ประชาชนยืนตรงเคารพธงชาติตามรัฐนิยมสมัยจอมพล ป. พิบูลยสงคราม พ.ศ. 2483
ที่มา : ชาญวิทย์  เกษตรศิริ, ธำรงศักดิ์  เพชรเลิศอนันต์ และ วิกัลย์  พงศ์พนิตานนท์,  จอมพล
ป. พิบูลยสงครามกับการเมืองไทยสมัยใหม่,  พิมพ์ครั้งที่ 2 
(กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์, 2544), 161.

                 ธงชาติถูกทำให้สูงค่ายิ่งหากผ่านการกระทำที่ต้องแลกมาด้วยการพลีชีวิตเสียเลือดเนื้อ ดังเช่น ธงชาติคลุมศพของทหารผู้เสียสละชีวิตในการปกป้องอธิปไตยจากศัตรู ธงชาติที่วางบนร่างนั้นได้แปรสภาพร่างที่ไร้วิญญาณกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และควรเทิดทูนราวเทพเจ้าทันทีทันที ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นกระบวนการสร้างอารมณ์ให้เกิดสำนึกรักชาติ เป็นการปลุกความรู้สึกสูญเสียบุคคลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งของชาติ อันนำมาซึ่งสำนึกร่วมกันตามลักษณะชาตินิยมได้เป็นอย่างดี


ซุ้มทางเข้างานฉลองรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2482 ประดับด้วยธงชาติ
ที่มา : ชาตรี  ประกิตนนทการ,  ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร  (กรุงเทพฯ : มติชน, 2552), 171.

                 ธงชาติที่ถูกชูขึ้นเหนือสถานที่ราชการ อาคารสิ่งก่อสร้าง และประดับตามอาคารบ้านเรือนต่าง ๆ เป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อแนวคิดความเป็นรัฐชาติ สร้างสำนึกความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาสังคม แต่เมื่อธงชาติได้ถูกชูเหนือชายแดนหรือประตูผ่านแดน ธงชาติจึงได้กลายเป็นกำแพงที่แบ่งแยกระหว่างผู้ที่อยู่ในอาณาเขตหนึ่งกับอีกอาณาเขตหนึ่ง ซึ่งสิ่งดังกล่าวกลายเป็นเส้นแบ่งพรมแดนนามธรรมที่รัฐชาติทั้งสองฝั่งต้องยอมรับกฎเกณฑ์ดังกล่าวร่วมกัน เพราะหากไม่มีข้อตกลงอันเป็นเอกฉันท์ก็จะเกิดปัญหา เช่น กรณีพื้นที่ประสาทเขาพระวิหาร และพื้นที่ทับซ้อนระหว่างราชอาณาจักรไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น

                 ชนิดา พรหมพยัคห์ เผือกสม ทำการศึกษาเรื่อง “การเมืองในประวัติศาสตร์ธงชาติไทย” ได้ให้ทัศนะ เกี่ยวกับการใช้ธงชาติในอีกมิติว่า

           ...ยังมีการแสดงออกถึงความสำคัญของธงชาติในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ที่เห็นได้ชัดคือการแข่งขันกีฬา โดยเฉพาะกีฬาระดับชาติ พิธีการประกาศชัยชนะของผู้ที่ชนะเลิศในการแข่งขันคือการชักธงของประเทศนั้น ๆ ละบรรเลงเพลงชาติไปพร้อมๆ กับการแสดงความเคารพของคนทั้งหมด ซึ่งเป็นการแสดงถึงเกียรติยศของชาตินั้น หรือกระแสนิยมการเขียนระบายสีตามหน้าตาและส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเป็นรูปแถบสีธงชาติของผู้ชมในการแข่งขันกีฬาต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้ถือเป็นการลบหลู่ธงชาติ แต่เป็นการแสดงออกถึงความรักชาติอย่างหนึ่ง...[7]


กองเชียร์ทีมชาติไทย
ที่มา : ไทยบิสเซ็นเตอร์ด็อทคอม, สีสันกองเชียร์ของฟุตบอลไทย  [ออนไลน์],  เข้าถึงเมื่อ
25 ธันวาคม 2554.  เข้าถึงได้จาก http://tpl.thaibizcenter.com/CheerGallery .asp?pg=8

                 จากปัจจัยอันหลากหลายข้างต้นทำให้ธงชาติได้แสดงนัยยะอันสำคัญยิ่ง นั่นคือเป็นเครื่องมือที่สถาปนาความเป็นชาติและความรักชาติ อันเป็นการทำให้เกิดความภูมิใจในชาติบ้านเมืองของตนเองจนเกินขอบเขตอย่างไม่มีเหตุผลของคนไทย อีกทั้งความหลงใหลในชาติบ้านเมืองของตนเองนี้ ปรากฏทั่วไปในชนทุกระดับ ตั้งแต่ผู้มีอำนาจไปจนถึงชาวไร่ชาวนา[8]


                 [1] วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี,  รัฐชาติ  [ออนไลน์],  เข้าถึงเมื่อ 22 มกราคม 2554.
เข้าถึงได้จาก  http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90
%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4
                 [2] ไชยรัตน์  เจริญสินโอฬา,  สัญวิทยา, โครงสร้างนิยม, หลังโครงสร้างนิยมกับการศึกษารัฐศาสตร์  (กรุงเทพ: วิภาษา, 2545), 95.
                 [3] มานิตย์  นวลละออ,  การเมืองไทยยุคสัญลักษณ์รัฐไทย  (กรุงเทพฯ : รุ่งเรืองรัตน์
พริ้นติ้ง, 2540), 100.
                 [4] วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี,  รัฐนิยม [ออนไลน์],  เข้าถึงเมื่อ 16  พฤศจิกายน 2554. เข้าถึงได้จาก  http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90 %E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%A2%E0%B8%A1
                 [5] ชนิดา พรหมพยัคห์ เผือกสม, การเมืองในประวัติศาสตร์ธงชาติไทย (กรุงเทพฯ : มติชน, 2546), 232.
                 [6]  ชนิดา พรหมพยัคห์ เผือกสม, การเมืองในประวัติศาสตร์ธงชาติไทย, 271.
                 [7] ชนิดา พรหมพยัคห์ เผือกสม, การเมืองในประวัติศาสตร์ธงชาติไทย, 274.
                 [8] วริยา ศิวะศริยานนท์ และ ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์,  บุคลิกภาพและลักษณะนิสัยของคนไทยในทรรศนะของชาวตะวันตก  (กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2523), 73.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น