วันอาทิตย์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2561

ว่าด้วยนิทรรศการ Brueghel: 150 Years of an Artistic Dynasty ณ Tokyo Metropolitan Art Museum


โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ jumpsuri@gmail.com
 (เขียนเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น)


 “Brueghel: 150 Years of an Artistic Dynasty”

สำหรับนิทรรศการหลักของ Tokyo Metropolitan Art Museum ในช่วงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 คือ  นิทรรศการ Brueghel: 150 Years of an Artistic Dynasty ซึ่งเป็นการจัดแสดงงานจิตรกรรมกว่า 100 ชิ้นของที่สร้างขึ้นโดยตระกูล Brueghel ซึ่งเป็นรูปแบบผลงานจิตรกรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ นับว่าโชคดีมากๆ ที่ผมและเพื่อนๆ ได้มาชมผลงานจริงที่นี่ ไม่เช่นนั้นต้องไปดูตามพิพิธภัณฑ์ในประเทศตะวันตก โดยใช้เงินเป็นจำนวนมากแน่ๆ

Brueghels ถือเป็นสกุลช่างจิตรกรเฟรมมิช (Flemish painting) ในระบบครอบครัวที่มีความรุ่งเรืองในยุคเรอแนซ็องส์ (Renaissance) ราวศตวรรษที่ 16 และ 17 โดยถือว่าเป็นสกุลช่างที่มีอิทธิพลทางศิลปะมากที่สุกในยุทธจักรงานศิลป์ในห้วงสมัยนั้น

โดย Pieter Bruegel (ผู้พ่อ) สร้างสรรค์งานจิตรกรรมที่มุ่งมองความเป็นจริงในเชิงวัตถุและแสดงให้เห็นถึงคนธรรมดาที่ทำงานและละเล่นกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน พลังของการสร้างสรรค์ศิลปะของเขาส่งผ่านไปยังลูหลานหลายชั่วคนจนเกิดเป็นรูปแบบงานจิตรกรรมสกุลช่าง “Brueghel” ที่มีขื่อเสียงโด่งดัง

ลูกชายคนแรกของ Pieter Bruegel (ผู้พ่อ) คือ Pieter the Younger ได้สร้างจิตรกรรมตามแบบผลงานของบิดาของและลูกชายคนที่สองของเขา คือ Jan the Elder สืบทอดและพัฒนาความสนใจของบิดาในรูปลักษณ์ของธรรมชาติและสร้างผลงานชิ้นเอกมากมาย และยังมีลูกหลานของ Jan the Elder - Jan the Younger คือ Ambrosius และ Abraham ผู้ดำเนินตามรูปแบบการวาดภาพของครอบครัวและตั้งชื่อว่า "Brueghel" อันเป็นสกุลช่างศิลปะที่โด่งดังเป็นอย่างมาก

โดยนิทรรศการ Brueghel: 150 Years of an Artistic Dynasty จัดแสดงผลงานอันมีค่ากว่า 100 ชิ้นซึ่งส่วนใหญ่มาจาก Private Collection โดยรวบรวมมานำเสนอให้มหาชนได้ชมผลงานอันทรงคุณค่าที่ประเมินค่าไม่ได้อย่างจุใจ ซึ่งถูกตาถูกใจมหาชนที่เข้าชมนิทรรศการเป็นอย่างมาก


 

 

 

 

 















ว่าด้วย A Memoir of mind : บันทึกด้วยเส้น


โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ jumpsuri@gmail.com

 

งานจิตรกรรมเป็นพื้นฐานของงานทัศนศิลป์ที่พวกเราคุ้นชินมากที่สุด งานจิตรกรรมถูกตั้งคำถามอยู่ตลอดเวลาถึงมิติและห้วงเวลาที่ปรากฏในภาพแทนต่างๆ ในตัวผลงานเอง (represent)
การแทนความหมายของมิติลวงในงานจิตรกรรมที่ความจริงเชิงกายภาพเป็นเพียงระนาบที่ถูกกระทำด้วยวัตถุเพื่อให้เกิดร่องรอยและสร้างทัศนมิติลวงให้เราเห็นถึงความลึกที่ลวงตา

ทัศนียมิติ (perspective) ในภาพจิตรกรรมจึงมีหน้าที่ส่งเสริมให้งานจิตรกรรมเกิดมิติที่ลวงตาเสมือนจริง
หากแต่เมื่อทัศนมิติเองถูกตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของความลึกว่ามีอำนาจในงานจิตรกรรมเพียงใด ไปสู่การใช้ทัศนมิติในเชิงตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของรูปร่างและพื้นที่ว่างบนชิ้นงา
ทัศนียมิติจึงกลายเป็นทั้งตัวแปรและเครื่องมือในการตั้งคำถามถึงตัวทัศนมิติเองและพื้นที่ว่างที่ปรากฏในผลงาน
โดยผลงานในชุด A Memoir of mind : บันทึกด้วยเส้น ของตฤณภัทร ชัยสิทธิศักดิ์ แสดงออกแบบนั้น

ในผลงานชุดนี้ตฤณภัทรใช้เส้น ทฤษฎีทางทัศนมิติ รูปร่าง รูปทรง และพื้นที่ว่าง ในการนำเสนอชุดของผลงานกศึกษาแบบวิเคราะห์และสังเคราะห์จนเกิดเป็นงานจิตรกรรมขึ้นในมิติใหม่
ผลงานในชุดนี้ ไม่เพียงเป็น Thesis ระดับปริญญาเอก (D.F.A.) ของศิลปินเพื่อแสดงผลของการศึกษาอย่างลงลึกเท่านั้น 
หากแต่ยังผสานไปกับสาระของศาสตร์ต่างๆ ที่ผสมผสานจนเกิดเป็นข้อสรุปที่เป็นข้อคำถามของผู้ดูอย่างไม่รู้สึกจบสิ้น และอาจนำไปสู่ทฤษฎีใหม่ๆ ทางจิตรกรรม

คงเป็นสิ่งที่อธิบายยากที่จะทำความเข้าใจอย่างสังเขป นอกเสียจากจะต้องอาศัยความรู้อย่างยิ่งยวดในการชื่นชมผลงานชุดนี้ด้วยความเข้าใจ
หากแต่ผู้ชมต้องไปพึงสัมผัสด้วยตาของตนเอง และหากมีโอกาสได้สนทนากับศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานแล้วละก็ ผมว่าจะได้ความรู้มากมายที่หาไม่ได้ในโพสต์ของผมชิ้นนี 

โดยส่วนตัว ผมขอยืนยันว่างานชุดนี้ น่าสนใจจริงๆ ครับ 
แม้อาจจะดูยากไปเสียหน่อย แต่ผมว่าถ้าเราให้เวลากับการจ้องมองและคิดถึงสาระต่างๆ ที่สอดแทรกในตัวผลงาน 
ผมว่าเราๆ ท่านๆ ทั้งหลายน่าได้ประโยชน์กับการจ้องมองและสร้างเสริมประสบการณ์เชิงสุนทรียะใหม่ๆ ได้อย่างไม่ลืมทีเดียว












ผู้สนใจนิทรรศการนี้สามารถเข้าชมได้ตามข้อมูลนี้ครับ
A Memoir of mind : บันทึกด้วยเส้น
โดยศิลปิน ตฤณภัทร ชัยสิทธิศักดิ์
ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน
7 - 18 March 2018
Open: Tuesday - Sunday 10:00 - 19:00
Close: Monday