วันอาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2561

2 ชั่วโมงสุดท้ายในนิทรรศการ “ความงามและความน่าเกลียด : สุนทรียศิลป์แห่งมารศี”

2 ชั่วโมงสุดท้ายในนิทรรศการ “ความงามและความน่าเกลียด : สุนทรียศิลป์แห่งมารศี”
โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ

นิทรรศการศิลปะก็เปรียบเสมือนชีวิตของเรา มีวันที่เริ่มแสดงผลงานแล้วก็มีวันที่จบสิ้นการแสดง ไม่ต่างนักกับชีวิตของเราที่มีการเกิดขึ้น ดำรงอยู่ แล้วตายไป หลงเหลือไว้เพียงความทรงจำและผลงานที่เป็นเสมือนบทบันทึกของการมีชีวิตอยู่ในห้วงเวลาหนึ่งบนสายธารแห่งประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

วันผมใช้เวลา 2 ชั่วโมงสุดท้ายของนิทรรศการ ในการชมและพิจารณาผลงานจิตรกรรมและหลักฐานต่างๆในนิทรรศการ “ความงามและความน่าเกลียด : สุนทรียศิลป์แห่งมารศี” (BEAUTY AND UGLINESS : AESTHETIC OF MARSI) ซึ่งเป็นการแสดงผลงานจิตรกรรมและข้อมูลหลักฐานของหม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร ก่อนจะปิดนิทรรศการครั้งนี้ 

คงต้องบอกก่อนตามจริง ว่าผมเพิ่งเคยเห็นผลงานจิตรกรรมจริงของหม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นครั้งแรก ซึ่งแต่เดิมนั้นได้เห็นตามหนังสือและสื่อต่างๆโดยไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก เนื่องจากรถสนิยมส่วนตัวผมไม่ได้สนใจในงานจิตรกรรมในแนวนี้สักเท่าใด แต่เมื่อได้มาชมในนิทรรศการครั้งนี้ก็พบว่าผลงานทั้งหมดทำให้ผมได้เข้าไปเยี่ยมเยือนโลกใบหนึ่งของจิตรกรที่ผมอาจจะไม่เคยได้ให้ความสนใจเลย

งานจิตรกรรมของหม่อมเจ้าหญิงมารศีมีรูปแบบคล้ายกับแนวทางศิลปะเซอร์เรียลลิสม์ (Surrealism) ที่แสดงออกถึงโลกที่เหนือจากความเป็นจริงเชิงกายภาพ เป็นโลกที่ไม่มีอยู่จริง เป็นดินแดนแห่งจินตนาการที่ผสมผสานระหว่างสภาวะจิตภายในกับจินตภาพสมมุติให้ปรากฏออกมาเป็นรูปธรรมด้วยรูปแบบเชิงปัจเจก

โลกแห่งจินตนาการของหม่อมเจ้าหญิงมารศีเกิดจากการนำรูปลักษณ์ (image) ของสิ่งต่างๆ ที่อยู่รายล้อมในชีวิตประจำวันของท่าน ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ ดอกไม้ ภูมิทัศน์ หรือแม้กระทั่งตัวของท่านเอง โดยนำมาผสมผสานกันภายในกรอบสี่เหลี่ยมของภาพจิตรกรรมอย่างมีแบบแผนและละเอียดละออ 

ซึ่งลักษณะของชั้นเชิงเทคนิคทางจิตรกรรมของท่านถือว่าอยู่ในระดับสูงและค่อนข้างออกไปในเชิงการใช้ฝีแปรงแบบ (brush stoke) เกลี่ยเรียบเนียน (liner style) มากกว่าแสดงถึงความหยาบของฝีแปรง (paintery style) ที่เน้นการแสดงอารมณ์ เกลี่ยเรียบเนียนของฝีแปรงทำให้รูปร่างและรูปทรง (shape&form) ที่อยู่ในภาพผลงานผสมผสานกลมกลืนเป็นภาพเสมือนจริงที่มีส่วนผสมของสิ่งต่างๆ จนเกิดเป็นรูปร่างที่เหนือความจริง 

ภาพผลงานที่ปรากฏจึงทำให้เราได้เห็นถึงโลกภายในจินตนาการของหม่อมเจ้าหญิงมารศีผ่านสัญลักษณ์ต่างๆ ที่อยู่ในตัวงาน โดยตีความได้ไม่ยากนัก หากแต่ก็ยังมีรหัสอีกมากมายที่สุขซ่อนอยู่ที่ทำให้เราในฐานะผู้ดูต้องเข้าไปตีความจากความซับซ้อนเชิงความหมาย (connotation) ผ่านตัวละครในผลงานแต่ละชิ้น เพราะฉะนั้นการชมผลงานชุดนี้จึงจำเป็นอย่างมากที่ต้องใช้เวลาในการจ้องมองและพิจารณาดูถึงสัญลักษณ์ที่ปรากฏพร้อมทั้งเทกำลังความคิดและกำลังความรู้สึกให้ข้ามพ้นจากผืนภาพสีน้ำมันให้เข้าไปสู่โลกภายในจิตใจและจินตนาการของจิตรกร 

สิ่งที่น่าชื่นชมอย่างหนึ่งเสียไม่ได้ ก็คือการจัดรูปแบบนิทรรศการครั้งนี้ที่อาจจะแตกต่างจากการจัดนิทรรศการแสดงงานโดยทั่วไป เนื่องจากผู้จัดได้ให้ความสำคัญในเรื่องเนื้อหาของความเป็นโลกของหม่อมเจ้าหญิงมารศีมากเท่ากับการนำเสนอภาพจิตรกรรมของท่าน ลักษณะการใช้แสงไฟ สีพื้นหลังของห้องนิทรรศการ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องประดับ และการจัดวางของสิ่งต่างๆ ที่ประกอบเป็นนิทรรศการ ทำให้เราถูกเร่งเร้าให้เข้าถึงความรู้สึกในโลกของจิตรกรท่านี้ได้ไม่ยากนัก 

บรรยากาศที่รายล้อมผู้ดูจึงเป็นเสมือนพื้นที่อันสงัดที่ทำให้เรามีเวลาที่จะอยู่เงียบๆ กับแสงสลัว และจ้องมองผลงานและส่วนต่างๆ ที่นำมาจัดแสดงให้ชม โดยค่อยๆ พิจารณาเพื่อดื่มด่ำกับสุนทรียภาพที่ปรากฏอยู่รายล้อมตัว และถึงแม้ว่าผลงานแต่ละชิ้นที่มีความงามและประณีตอย่างพิสดารแล้ว แต่สภาพแวดล้อมที่ถูกจัดการในห้องนิทรรศการอย่างดีก็เป็นสิ่งที่ช่วยเติมเต็มเรื่องราวให้เราได้สัมผัสถึงอารมณ์ความรู้สึกของโลกอีกใบหนึ่งที่อยู่นอกเหนือจากโลกของความเป็นจริงได้ขั่วขณะ นั่นหมายถึงผู้จัดสามารถทำนิทรรศการได้อย่างประสบความสำเร็จและน่าชื่นชม

เพราะฉะนั้น นิทรรศการนี้จึงไม่เพียงเป็นการนำเสนอภาพผลงานของจิตรกรหญิงที่เสมือนห่างหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์วงการทัศนศิลป์ร่วมสมัยของไทยตามที่เรารู้จักกันเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการนำชีวิตของจิตรกรท่านนี้มาให้ผู้ชมได้สัมผัสได้อย่างใกล้ชิดและดื่มด่ำอย่างมาก

สุดท้ายแล้ว หากนิทรรศการศิลปะเปรียบเสมือนชีวิตมนุษย์ที่เกิดขึ้น ดำรงอยู่ และดับไป สิ่งที่อยู่หรือสิ่งที่หลงเหลือไว้คือความทรงจำและร่องรอยของสุนทรียภาพที่ประจักษ์ต่อมหาชนได้อย่างจริงแท้ นิทรรศการครั้งนี้ก็เรียกได้ว่าสามารถนำเสนอได้ถึงจุดนั้น นั่นก็คือการที่เราได้เข้าไปเยี่ยมเยือนโลกของหม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตรในครั้งที่ยังทรงมีชีวิตอยู่ และเมื่อจิตรกรสิ้นชีพตักษัยไปเสียแล้ว ผลงานจิตรกรรมจะยังคงอยู่ให้ได้ชื่นชมอีกนานเท่านาน
แม้นิทรรศการครั้งนี้จะจบลงแล้ว แต่ความทรงจำของผู้ชมและผลงานจิตรกรรมและสิ่งต่างๆ ของจิตรกรก็ได้ถือกำเนิดใหม่อีกครั้งในหน้าประวัติศาสตร์ของวงการทัศนศิลป์ร่วมสมัยของไทย ว่าครั้งหนึ่งยังมีจิตรกรหญิงชนชั้นสูงที่ได้สร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมได้อย่างวิจิตรพิสดารและทรงคุณค่าฝากไว้เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้เพื่อพัฒนาทัศนศิลป์ของไทยต่อไป ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง














นิทรรศการ “ความงามและความน่าเกลียด : สุนทรียศิลป์แห่งมารศี” (BEAUTY AND UGLINESS : AESTHETIC OF MARSI) ผลงานโดย หม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร 
จัดแสดงระหว่างวันที่ 7 พฤศจิกายน - 23 ธันวาคม 2561 ณ ห้องนิทรรศการ 5 - 8 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ

วันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2561

อันเนื่องจากดอกไม้สีรุ้งของมูราคามิ

โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ



ผมถ่ายภาพนี้เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561 ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะโมริ (Mori Art Museum) กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

ตอนนี้บ้านเราเกิดกระแสฮิตเข็มกลัดและผลิตภัณฑ์ที่มีรูปเจ้า “ดอกไม้สีรุ้งของมูราคามิ” มากๆ ทั้งตลาดบนและตลาดล่าง ของของจริงและของก๊อป คำถามคือไอ้ดอกไม้นี้คืออะไรกันแน่

รูปเจ้า “ดอกไม้สีรุ้งของมูราคามิ” (Flower Murakami) เป็นงานศิลปะและผลงานออกแบบของศิลปินญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงชื่อทาคาชิ มูราคามิ (Takashi Murakami)
มูราคามิ มีชื่อเสียงทั้งในด้านของงานศิลปะแนวป๊อบสมัยใหม่ของญี่ปุ่น (Japanese Pop Art) ที่เรียกว่า Superflat Art ซึ่งผสามผสมผานงานจิตรกรรมและกราฟิกแบบสมัยใหม่ญี่ปุ่น และได้รับเชิญไปออกแบบให้กับสินค้าแบรนด์ดังดังต่างๆทั่วโลก
เขาใช้รูปลักษณ์ (Image) ของภาพญี่ปุ่นโบราณ การ์ตูนญี่ปุ่น (manga & anime) และวัฒนธรรมป๊อป (Poppular Culture) มาเป็นแรงบันดาลใจที่ไปสู่แนวความคิดในการสร้างสรรค์

มูราคามิเป็นศิลปินที่ผสมผสานการจัดการระหว่างงานศิลปะกับธุรกิจได้อย่างดีเยี่ยม ถือเป็นดุจแอนดี วาร์ฮอล์ (Andy Warhol) แห่งญี่ปุ่นในปัจจุบัน ราคาผลงานและความโด่งดังของงานออกแบบของมูราคามิถือว่าเทียบเท่ากับศิลปินรุ่นใหญ่อย่างยาโยย คูซามะ (Yayoi Kusama) หรือคุณป้ายาโยย หรือคุณป้าลายจุด ศิลปินหญิงผู้ยิ่งใหญ่วัยชรา ผลิตภัณฑ์ของมูราคามิเป็นที่ฮิตมากทั้งในญี่ปุ่นและทั่วโลก

“ดอกไม้สีรุ้งของมูราคามิ” คือ แนวคิดที่ล้อเลียนและตีโต้เหตุการณ์ทิ้งระเบิดปรมาณูเมื่อปี 1945 ที่ญี่ปุ่น ทั้งเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ซึ่งมีคนตายนับแสน ภาพระเบิดที่เป็นรูปดอกเห็ดขนาดใหญ่และรังสีแห่งระเบิดอะตอมที่แผ่ซ่ายไปทุกอณูหลายสิบกิโลเมตร ยังผลให้ชาวญี่ปุ่นได้รับผลเสียกันนับล้านคนในเวลาหลายปีต่อมา
ดอกไม้สีรุ้งคือการเย้ยหยันต่อบาดแผลสงครามที่เป็นการยิ้มเยาะของดอกไม้ราวกับว่า “โอเค!!! ฉันแพ้แล้ว (แล้วไง?) (The smiling flowers are just like, ‘Ok! We give up!'”) (ที่มา: https://www.cocomarett.com/…/takashi-murakami-master-muraka…)

ตอนนี้บ้านเราเกิดกระแสฮิตเข็มกลัดและผลิตภัณฑ์ที่มีรูปเจ้า “ดอกไม้สีรุ้งของมูราคามิ” มากๆ ทั้งตลาดบนและตลาดล่าง ของของจริงและของก๊อป คำถามคือไอ้ดอกไม้นี้คืออะไรกันแน่
ปรากฏการณ์สำคัญ จึงแสดงความเป็นไทยๆ แบบบ้านเราที่มักชื่นชมของนอก
สิ่งนี้ไม่ได้ผิดหรือถูก เพราะบ้านเราก็รับความเป็นตะวันตกและต่างชาติมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนโลกาภิวัฒน์มาถึงพร้อมกับการสื่อสารไร้พรมแดนในยุคดิจิทัล ความของแท้ (originality) และความเป็นของก๊อป (reproduction) จึงเริ่มข้ามพรมแดนเป็นหนึ่งเดียวดังในงานเขียนเรื่อง "งานศิลปะในยุคของการผลิตซ้ำแบบจักรกล" ของวอลเตอร์ เบนยามิน (Walter Benjamin) หรือแม้แนวคิดสนับสนุนและผลิตซ้ำดังในงานศิลปะของวาร์ฮอล์

เมื่อทุนนิยมได้เปิดทางแล้ว ของแท้หรือของก็อปก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะเป้าหมายสำคัญคือการเสพ
แต่ปัญหา คือ ของแท้นั้นมีลิขสิทธิ์ ของก็อปมันคือก็อป ของแท้มันแพงจริงๆ
ผมไปเจอเจ้า “ดอกไม้สีรุ้งของมูราคามิ” ที่ญี่ปุ่น มันไม่ได้ถูกสำหรับเรา จึงไม่ได้ซื้อมา แต่หากอยากได้ ก็ควรซื้อของแท้ ไม่ใช่แท้เพราะแพง แต่แท้เพราะเราซื้องานศิลปะที่สร้างสรรค์โดยศิลปิน มันมี story ของตัวเอง มันมีคุณค่าบางอย่าง มันเกิดขึ้นจากความคิดศิลปินที่บ่มเพาะจนเกิดการสร้างสรรค์ และมันมีความหมายบางอย่างที่ซ่อนอยู่

แต่ก็อย่างว่าละครับ มาถึงจุดนี้ ใครจะชอบเจ้าดอกไม้สีรุ้งนี้ จะซื้อแท้ จะซื้อเทียม จะสะสม ก็สุดแท้แต่
เพราะสิทธิ์ในโลกทุนนิยม อยู่ที่กับความชอบหรือรสนิยมส่วนตัวของแต่ละคน (อันอยู่ภายใต้กรอบคิดแบบในงานเขียนชุด Mythology ของโรล็อง บาร์ต (Roland Barthes)

ผมพิมพ์ แค่อยากแชร์ข้อมูลและแสดงความคิดเห็นหน่อยๆ เท่านั้น ไม่ได้ไปตีโต้หรือใดๆ กับผู้ที่ชื่นชอบ หรืออยากสะสมเจ้าดอกไม้สีรุ้งนี้นะครับ
เพราะจริงๆ ผมก็ชอบงานของทาคาชิ มูราคามิ มานานแล้ว แต่มันแพงงงจริมๆๆๆ

หวังว่าเป็นประโยชน์ทั้งผู้ที่จะสะสม (ไม่ว่าแท้ หรือเทียม ก็สุดแท้แต่ใจจะไขว่คว้าเลย) นะครับ
สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

วันพุธที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2561

Kamijn Village: หมู่บ้านขมิ้น: หมู่บ้านสัตว์สันติสุข


โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ (jumpsuri@gmail.com)

 



          นิทรรศการ Kamijn Village หรือ หมู่บ้านขมิ้น เป็นนิทรรศการศิลปะที่สร้างสรรค์โดย “ขมิ้น” หรือคุณเพียงขวัญ คำหรุ่น ศิลปินรุ่นใหม่ที่จบการศึกษาจากสาขาภาพพิมพ์และกำลังเรียนปริญญาโทด้านทฤษฎีศิลป์ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ขมิ้นเป็นทั้งศิลปิน นักวาดภาพประกอบ นักออกแบบ และเจ้าของแบรนด์ผลิตภัณฑ์ “Kamijn” ซึ่งนิทรรศการครั้งนี้เป็นนิทรรศการเดี่ยวครั้งที่ 3 ของเธอ (3rd solo exhibition) อันเป็นการนำเสนอผลงานภาพวาดเกือบ 80 ภาพ ภายใต้โครงการ Kamijn Village: หมู่บ้านขมิ้น ของตัวเธอเอง

สำหรับผมแล้ว ความพิเศษของนิทรรศการศิลปะของขมิ้นครั้งนี้ไม่ได้อยู่แต่เพียงผลงานภาพวาดที่มีลักษณะเป็นภาพประกอบกึ่งการ์ตูนในรูปแบบเฉพาะตัวของขมิ้นเท่านั้นหากแต่ยังอยู่ที่กระบวนการสร้างสรรค์อันเป็นการปฏิสัมพันธ์ระหว่างศิลปินและผู้ร่วมกิจกรรมที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นช่องทางอันสำคัญ

โดยโครงการ Kamijn Village คือ การให้ผู้คนในชุมชนออนไลน์ที่รักสัตว์เลี้ยงของตัวเองร่วมสนุก โดยการส่งภาพสัตว์เลี้ยงที่ตัวเองรักมาให้กับขมิ้นผ่านระบบเครือข่ายสังคมออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ (Facebook/ instagram/ twister) ซึ่งขมิ้นในฐานะของศิลปินจะนำภาพลักษณ์ของสัตว์ที่เพื่อนๆ ในชุมชนออนไลน์มาถอดรหัส (Decode) แล้วประกอบสร้างใหม่ (Reconstruction) ในรูปแบบบุคลิกเฉพาะตัวที่ยืนสองขาคล้ายกับการยืนตรงของมนุษย์อันเป็นการเปรียบเปรยเชิงหยอกล้อระหว่างสถานะของสัตว์เลี้ยงกับมนุษย์ ผลงานในชุดดังกล่าวนี้ ขมิ้นใช้เทคนิคการวาดเป็นภาพลายเส้นด้วยปากกาดำและระบายสีน้ำ โดยสมมุติบทบาทของสัตว์เลี้ยงแสนน่ารักนั้นๆ ด้วยอาชีพต่างๆ ทั้งที่มีอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงและในโลกแห่งจินตนาการของตัวเธอเอง สัตว์ทุกตัวที่ขมิ้นสร้างขึ้นจึงโลดแล่นในจินตนาการของเธออย่างไร้ขอบเขต

แต่ขมิ้นก็ไม่ได้เก็บงำความน่ารักและความสุขใจของหมู่บ้านขมิ้นอันเป็นดินแดนจินตนาการอยู่กับตัวเองเท่านั้น หากแต่ยังแบ่งปันจินตนาการ ความน่ารัก และและอุดมคติบางอย่างของเธอให้ออกมาเป็นภาพด้วยการจัดแสดงภาพวาดแบบออนไลน์ผ่านเครือข่ายชุมชนออนไลน์ และติดแฮชแท็กว่า #kamijnvillage เพื่อให้เป็นการรวบรวมผลงานทั้งหมดของโครงการด้วยระบบดิจิทัลและง่ายต่อการที่ผู้ใช้ระบบออนไลน์เข้าถึงได้

          ซึ่งเมื่อผลงานภาพวาดเสร็จเรียบร้อยและโพสต์เผยแพร่ในเครือข่ายชุมชนออนไลน์แล้ว ขมิ้นจะส่งไฟล์ภาพวาดสัตว์เลี้ยงที่ถูกเนรมิตบทบาทใหม่ให้กับเจ้าของผู้ส่งรูปมา โดยเจ้าของที่ได้รับรูปสามารถเก็บรักษาหรือนำไปพิมพ์เพื่อเก็บไว้ได้ (ทั้งนี้ผลงานทุกภาพถือเป็นผลงานสร้างสรรค์ตามลิขสิทธิ์ของขมิ้น ซึ่งสามารถที่จะคัดลอกสำเนาเพื่อเก็บไว้ส่วนบุคคลได้ หากแต่ไม่สามารถนำไปทำการค้าเพื่อหาผลประโยชน์ได้)

ความน่าสนใจของนิทรรศการนี้ ผมจึงถือว่ากระบวนการเชิงปฏิสัมพันธ์ (Relational) ที่ขมิ้นได้ใช้ประโยชน์จากสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะระบบการปฏิสัมพันธ์ด้วยเครือข่ายทางสังคมออนไลน์ในโลกปัจจุบันแห่งเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร (Information Technology) ถือว่าเป็นช่องทางที่มีเสรีภาพในการนำเสนอสาระสำคัญทางความคิดของแต่ละบุคคลได้ออย่างอิสระ ผลงานในโครงการนี้ของขมิ้นจึงเป็นการแสดงเจตนารมณ์ที่มีเป้าหมายในการกระตุ้นจิตสำนึกในเรื่องของสันติสุขในสังคมที่ความแตกต่างไม่จำเป็นต้องแตกแยกเสมอไป

แม้ในมโนทัศน์เชิงอุดมคติของขมิ้นที่สร้างหมู่บ้านแห่งสันติสุขจะเป็นเพียงมโนคติที่ปราศจากกายภาพ หากแต่บทบาทที่เกิดขึ้นจากการประกอบกันของสัญญะ (Sign) ที่หลากหลายอันปรากฏบนภาพวาดสัตว์เลี้ยงที่ยืนสองขากลับทำให้เราสร้างภาพจินตนาการของหมู่บ้านของขมิ้นได้ไม่มากก็น้อย ความแตกต่างหลากหลายของอาชีพและสถานะที่เกิดจากบริบทในภาพตัวละครแต่ละตัวไม่ได้ทำให้เอกภาพ (Unity) ในจินตนาการที่เรามีต่อหมู่บ้านขมิ้นสั่นคลอน เพราะสัญญะของการยิ้มแย้มบนใบหน้าของสัตว์แต่ละตัว ล้วนแสดงออกถึงความสุขสนุกสนานที่พวกเขาและเธอได้โลดแล่นอย่างอิสรเสรีบนโลกแห่งมโนคติ

ในขณะที่กระบวนการแบ่งปันภาพ (Sharing) สัตว์เลี้ยงที่ถูกสวมบทบาทโดยขมิ้นแล้ว และการที่ภาพเหล่านั้นสามารถผลิตซ้ำ (Reproduction) ที่ข้ามสื่อจากจิตรกรรมไปสู่ภาพดิจิทัลและพิมพ์ลงบนกระดาษเป็นภาพพิมพ์ของภาพสัตว์ที่เจ้าของจะสามารถพึงกระทำได้ เพราะนั่นคือการปฏิสัมพันธ์เชิงมิตรภาพในบริบทของสื่อสังคมออนไลน์ที่ขมิ้นมีต่อผู้เข้าร่วมโครงการครั้งนี้ ซึ่งประเด็นของการแบ่งปันภาพและการผลิตซ้ำย่อมทำให้เห็นถึงกระบวนทัศน์ (Paradigm) ของขมิ้นที่ไม่ได้ยึดถือในความเป็นต้นแบบ (Originality) เป็นเรื่องสำคัญมากกว่าความคิด (Conceptual) และปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ด้วยสังคมปัจจุบันที่การผลิตซ้ำของสื่อต่างๆ ล้วนข้ามกรอบของห้วงเวลาด้วยระบบออนไลน์ ก็ย่อมทำให้การให้คุณค่าเชิงต้นแบบที่เป็นแก่นแท้นั้นได้ปลาสนาการลงเสีย ซึ่งการไม่ตั้งคำถามกับความเป็นต้นแบบทางศิลปะนั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นความท้าทายจริยธรรมด้านการลอกเลียนแบบได้เช่นเดียวกัน แต่ในเมื่อความสำคัญของนักสร้างสรรค์นั้นหาใช่แค่ทักษะฝีมือเท่านั้น หากแต่ต้องมีความคิดสร้างสรรค์และจิตใจแห่งการสร้างสรรค์ที่หาความเป็นไปได้ใหม่ๆ เสมอๆ เพราะฉะนั้น หากใครที่จะเลียนแบบด้วยการลอกเลียนเพื่อประโยชน์ส่วนตัวแล้วก็ย่อมทำได้แค่เปลือกนอกหาใช่เข้าใจแก่นแท้ของการสร้างสรรค์นั้นไม่

ทั้งหมดนี้คงเป็นเพียงการวิจารณ์เพียงเบื้องต้นจากการตีความของผมที่มีต่อผลงานและกระบวนการทั้งหมดในนิทรรศการครั้งนี้เท่านั้น หากท่านที่สนใจก็จำเป็นอย่างมากที่ต้องไปชื่นชมด้วยตาของตนเอง ซึ่งนิทรรศการครั้งนี้ แม้ด้วยขนาดพื้นที่ของการจัดแสดงที่ที่ไม่ใหญ่มากนักก็ตาม แต่ความสำคัญที่มากกว่ากายภาพของนิทรรศการ คือ ความคิดสร้างสรรค์ของศิลปินที่ตั้งใจหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของกระบวนการนำเสนอ ซึ่งนั่นคือแก่นที่สำคัญที่สุด ที่ศิลปินรุ่นใหม่ในปัจจุบันควรสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่นอกกรอบจากสิ่งที่เราคุ้นชิ้นกันในวงการศิลปะ และผมว่านิทรรศการของขมิ้นกับโครงการของเธอในครั้งนี้เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจทีเดียวเลยครับ
..........

ผู้สนใจสามารถชมผมงานได้ในนิทรรศการ Kamijn Village: หมู่บ้านขมิ้น ( #kamijnvillage )
โดย “ขมิ้น” (เพียงขวัญ คำหรุ่น) จัดแสดงวันที่ 18 - 2 กันยายน 2561 ณ 10ml. Gallery กรุงเทพฯ
หรือติดตามผลงานของขมิ้นได้ใน IG: p_kamijn หรือใน Facebook : https://web.facebook.com/p.kamijn
















วันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2561

การสื่อความหมายด้วยรูปลักษณ์สถาปัตยกรรมมผ่านยุคสมัย รูปแบบอาคารในชุมชนหนองมน จังหวัดชลบุรี

กิตติธัช ศรีฟ้า
อาจารย์ประจำ สาขาวิชาการออกแบบสื่อดิจิทัล คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์

บทคัดย่อ
ตลาดหนองมนเป็นชุมชนเก่าแก่ ที่เคยเฟื่องฟูมาก่อนที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 โดยชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนค้าขายอย่างแท้จริง สังเกตได้จากรูปแบบอาคารที่ปรากฏอยู่ในตลาดแห่งนี้ ตั้งแต่อาคารยุคแรกจนถึงปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าเป็นอาคารพาณิชย์ทั้งสิ้น และที่น่าสนใจที่สุดคือ ตลาดหนองมนมีอาคารพาณิชย์ทุกแบบ กล่าวคือ มีทุกยุค ตั้งแต่เริ่มแรกที่เป็นห้องแถวชั้นเดียว และพัฒนาการมาจนเป็นตึกแถวแบบหลายชั้น ซึ่งโดยปกติในชุมชนอื่นมักจะมีไม่ครบทุกยุคสมัยเช่นนี้ เมื่อเป็นเช่นนั้น อาคารพาณิชย์ในหนองมนจึงสามารถเล่าเรื่องราวของตนเองผ่านสถาปัตยกรรมได้อย่างน่าสนใจ ทำให้เรามองเห็นช่วงกำเนิด รุ่งเรือง และการหยุดนิ่ง ได้อย่างชัดเจน

คำสำคัญ
ห้องแถว ตึกแถว หนองมน

หลักการและเหตุผล
          หนองมนเป็นชุมชนค้าขายที่เคยรุ่งเรืองมากในอดีต สมัยที่บางแสนยังได้รับความนิยมเรื่องสถานที่ตากอากาศ ก่อนที่จะเกิดภาวะเศษฐกิจ พ.ศ.2540 หนองมนเงียบเหงาลงเพราะพิษเศษฐกิจ หากแต่ก็ยังคงอยู่ได้ในฐานะแหล่งการค้า ถึงแม้จะไม่รุ่งเรืองอย่างที่เคย แต่ก็ยังไม่เคยตายไปเหมือนตลาดโบราณในหลาย ๆ แห่ง หนองมนมีสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่เป็นอาคารพาณิชย์ ที่น่าสนใจคือ อาคารพาณิชย์ในหนองมนมีตั้งแต่ห้องแถวในยุคแรกของการมีอาคารพาณิชย์ และมีทุกรูปแบบในพัฒนาการของตึกแถว จึงทำให้เห็นได้ว่า วัฒนธรรมการค้าในหนองมน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันไม่เคยตาย ไม่เคยหยุดนิ่ง ชุมชนหนองมนเคลื่อนไหวตามแรงเศษฐกิจ นั้นแสดงให้เห็นได้ว่าชุมชนแห่งนี้คือ “ชุมชนแห่งการค้าขายอย่างแท้จริง” ดังนั้นการศึกษาเรื่องอาคารพาณิชย์ในชุมชนแห่งนี้ จะทำให้เข้าใจพัฒนาการทางเศษฐกิจผ่านรูปแบบสถาปัตยกรรมได้เป็นอย่างดี

วัตถุประสงค์
1.       เพื่อศึกษาหาความเป็นมาทางสถาปัตยกรรมอาคารพาณิชย์
2.       เพื่อเปรียบเทียบเหตุการณ์สำคัญกับสถาปัตยกรรมในหนองมน
3.       เพื่อศึกษาพัฒนาการรูปแบบอาคารพาณิชย์ในหนองมน

ขอบเขตเรื่อง
บทความฉบับนี้มุ่งประเด็นไปที่ รูปแบบสถาปัตยกรรมอาคารพาณิชย์ ในบริเวณตลาดหนองมนเป็นหลัก เพื่อศึกษาพัฒนาการของสถาปัตยกรรมอาคารพาณิชย์ และนำไปเทียบเคียงกับสถาปัตยกรรมอาคารพาณิชย์ในกรุงเทพฯ รวมไปถึงเทียบเคียงกับเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ที่มีผลให้เกิดการเป็นแปลงในด้านการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ดังกล่าวในหนองมน

นิยามศัพท์
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้ระบุ ถึงความหมายของ “ตึกแถว” ซึ่งหมายรวมถึง “หอง แถว” ไวดังนี้
“ตึกแถว น. อาคารที่ก่อด้วยอิฐฉาบปูนหรือ คอนกรีตทำเป็นห้อง ๆ เรียงติดกันเป็นแถว, หอง แถวก็เรียก” อย่างไรก็ตาม กฎกระทรวงและขอบัญญัติทองถิ่นที่ออก ตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ได้กำหนดนิยามของ
“ตึกแถว” และ “ห้องแถว ” ที่แตกต่างกันตามวัสดุที่ใชสำหรับก่อสร้างกล่าวคือ
“ตึกแถว” หมายความวา อาคารที่พักอาศัยหรือ อาคารพาณิชย์ยซึ่งปลูกสร้างติดต่อกันเป็นแถวเกินกว่าสองหอง และประกอบด้วยวัตถุถาวรและทนไฟเป็นส่วนใหญ่ และ
“ห้องแถว” หมายความว่า อาคารที่พักอาศัยหรือ อาคารพาณิชย์ยซึ่งปลูกสร้างติดต่อกันเป็นแถวเกินกว่าสองห้องและประกอบด้วยวัตถุอันไม่ใช่วัตถุทนไฟเป็นส่วนใหญ่

บทความ
“ตลาดหนองมน” เป็นชื่อเรียกสถานที่แห่งหนึ่งในตำบลแสนสุข จังหวัดชลบุรี มีลักษณะเป็นชุมชนเก่าแก่ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดชลบุรีประมาณ 11 -12 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากทางแยกเข้าหาดบางแสนเพียงประมาณ 1 กิโลเมตรเศษ ในอดีตตลาดหนองมนนับเป็นแหล่งการค้าที่ เจริญมากที่สุดในจังหวัดชลบุรี ทั้งสองฝั่งเต็มไปด้วยผู้คนที่เดินกันเต็มไปทั้งตลาด โดยส่วนมากมาจับจ่ายใช้สอยเพื่อซื้อของฝากไปให้ญาติพี่น้อง โดยตลาดแห่งนี้เป็นตลาดขายสินค้าพื้นเมือง และของที่ระลึกที่มีชื่อของจังหวัดชลบุรี ได้แก่ อาหารแห้ง เช่น กุ้ง ปลาหมึก หอยหลอด ปลาลิวกิว กะปิ น้ำปลา ฯลฯ ขนม และอาหารสำเร็จรูป เช่น ห่อหมก กล้วยฉาบ เผือกฉาบ ผลไม้กวน ผลไม้แช่อิ่ม และขนมหวานนานาชนิด เช่น ข้าวหลาม ขนมจาก ขนมไทยต่าง ๆ และ เครื่องจักรสานที่ทำจากไม้ไผ่ หรือหวายที่มาจากอำเภอพนัสนิคม ซึ่งมีฝีมือการสานประณีตละเอียด
ตลาดหนองมนในอดีต ผู้เริ่มก่อตั้งหรือเป็นเจ้าของตลาดนั้นเป็นคหบดีชาวจีน เริ่มจากก่อสร้าง “ห้องแถว” ให้เช่า (ภายในที่ดิน) ห้องแถว” หมายถึง อาคารที่พักอาศัยหรือ อาคารพาณิชย์ยซึ่งปลูกสร้างติดต่อกันเป็นแถวเกินกว่าสองห้องและประกอบด้วยวัตถุอันไม่ใช่วัตถุทนไฟเป็นส่วนใหญ่[1] เมื่อมีห้องแถวขึ้นมาก็มีคนมาอยู่อาศัย มีการค้าขาย มีร้านกาแฟ ร้านขายอาหารจีน ร้านขายของ ร้านตัดผม ร้านขายยา ร้านรับตัดเสื้อผ้า ร้านขายของชำ ร้านขายส่งสินค้าไปตามชุมชนชาวไทยที่ห่างออกไป มีส่วนกลางที่เป็นตลาดขายผักสด อาหารสด มีเขียงหมู เขียงเนื้อสด เป็นต้น[2]
โดยห้องแถวในระยะแรกของตลาดหนองมนนั้น เป็นลักษณะเรือนแถวไม้ชั้นเดียวต่อมามีพัฒนาการณ์เป็นเรือนแถวไม้สองชั้น และพัฒนามาเป็นเรือนแถวครึ่งปูนครึ่งไม้สองชั้น โดยชั้นล่างก่อปูน และชั้นบนเป็นไม้มีระเบียงด้านหน้าเพิ่มขึ้นมา ต่อมากลายเป็นอาคารปูนสองชั้นเรียงต่อกันเป็นแถว และภายหลังมีการสร้างอาคารปูนมากขึ้น ซึ่งเริ่มมีความสูงมากกว่าสองชั้นขึ้นไปมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามการเติบโตของเศรษฐกิจของชุมชน จนเราเรียกกันว่า “ตึกแถว”


ภาพที่  1 ห้องแถวไม้ชั้นเดียว
ที่มาภาพ: กิตติธัช ศรีฟ้า ภาพลายเส้นห้องแถวไม้ชั้นเดียวในตลาดหนองมน

เมื่อกล่าวถึง “ตึกแถว” เข้าใจว่าผู้คนคงนึกภาพออกได้ไม่อยากนัก และเข้าใจว่าหลายคนคงนึกถึงอาคารพาณิชย์ที่วางเรียงตัวกันอย่างต่อเนื่อง มีรูปแบบเหมือน ๆ กัน ใช้ผนังร่วมกัน มีความสูงเท่ากัน ซึ่งนั้นเองคือเอกลักษณ์สำคัญของตึกแถว “ตึกแถว” เรียกกันอย่างเป็นทางการว่า “อาคารพาณิชย์” (shophouse) ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นประเภทหนึ่งของทั้งคนพื้นเมือง และคนเมือง มักมีโครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก โดยวิวัฒนาการมาจากห้องแถวไม้ของชาวจีนที่มาอาศัยอยู่ในประเทศไทย[3] โดยห้องแถวไม้ดังกล่าวยังคงพบเห็นอยู่ที่ตลาดหนองมนบางส่วน ซึ่งจากการสอบถามคนที่อาศัยอยู่ในบริเวณตลาด หนองมนจึงได้ข้อมูลเบื้องต้นมาว่า เรือนแถวไม้ชุดแรก ๆ เป็นเรือนแถวไม้ชั้นเดียว เดิมทีบริเวณพื้นมิได้เป็นปูน หากแต่เป็นเพียงพื้นดินอัดแน่น กำแพงทำด้วยไม้ ประตูเป็นแผ่นไม้เรียงต่อกันที่ละแผ่นในรางที่ทำจากไม้ หลังคามุงด้วยจาก ต่อมาจึงเปลี่ยนวัสดุมุงหลังคามาเป็นสังกะสี และเทพื้นปูน

หลังจากยุคเริ่มแรกของเรือนแถวไม้ในตลาดหนองมน ซึ่งเดิมที่เป็นการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันภายในชุมชนของตนเอง และชุมชนใกล้เคียงเป็นหลัก หากแต่หนองมนอยู่ใกล้ “หาดบางแสน” ซึ่งเป็นสถานที่ต่างอากาศในยุคแรก ๆ บางแสน เดิมเป็นชายทะเลรกร้าง ตั้งอยู่ใน ตำบลแสนสุข กระทั่ง พ.ศ.2486 เริ่มให้มีการสร้างสถานตากอากาศขึ้นมีการสร้าง โรงแรม และ ที่พักต่าง ๆ ดำเนินการโดยบริษัทแสนสำราญ จึงเรียกว่าสถานตากอากาศแสนสำราญตามชื่อบริษัท ต่อมาใน พ.ศ. 2503 จึงโอนให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และเปลี่ยนชื่อเป็น สถานตากอากาศบางแสน จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาภายในพื้นที่ ส่งผลให้เกิดความเจริญทางเศษฐกิจการค้าภายในตลาดหนองมนอย่างต่อเนื่อง จนเริ่มมีการค้าขายให้กับนักท่องเที่ยวในช่วงประมาณปี 215[4] มีผลทำให้ความต้องการแหล่งค้าขายรวมถึงที่พักอาศัยเพิ่มมากขึ้น จนไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงมีการสร้างเรือนแถวไม้เพิ่มเติม โดยใช้โครงสร้างแบบเดิมหากแต่มีสองชั้น กล่าวคือ ยังคงเรือนแถวไม้หากแต่เป็นสองชั้นโดยใช้ชั้นล่างขายของส่วนชั้นบนนั้นเป็นที่พักอาศัย มีการปูพื้นปูนและกระเบื้อง กำแพงยังคงทำด้วยไม้ ประตูเป็นแผ่นไม้เรียงต่อกันที่ละแผ่นในรางที่ทำจากไม้เช่นเดิม หลังคามุงด้วยสังกะสี และยังไม่มีระเบียงด้านหน้า ซึ่งในยุคเรือนแถวไม้สองชั้นยุคแรกนี้ เรือนแถวไม้ยังไม่เน้นความสวยงามมากนัก หากแต่เน้นประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก


ภาพที่  2 เรือนแถวไม้สองชั้น บริเวณชั้นสองยังไม่มีระเบียงด้านหน้า
ที่มาภาพ: กิตติธัช ศรีฟ้า ภาพวาดลายเส้นเรือนแถวไม้สองชั้น บริเวณชั้นสองยังไม่มีระเบียงด้านหน้าในตลาดหนองมน

ซึ่งต่อมาเมื่อการค้าขายดีขึ้นตามลำดับ เรือนแถวชุดใหม่ก็เกิดขึ้นโดยมีโครงสร้างทุกอย่างใกล้เคียงของเดิมทุกอย่าง หากแต่มีการเพิ่มเติมระเบียงด้านหน้าบ้านบริเวณชั้นสอง ในขณะเดียวกันนี้ก็พบว่าเกิดเรือนแถวชุดใหม่ขึ้น ซึ่งคาดว่าร่วมสมัยกันกับเรือนแถวไม้สองชั้นมีระเบียงที่ชั้นสอง กล่าวคือ พบว่ามีเรือนแถวในลักษณะเดียวกันหากแต่ชั้นล่างก่ออิฐถือปูแล้ว จึงเรียกว่าเรือนแถวครึ่งไม้ครึ่งปูน มีรูปร่างหน้าตาคล้ายคลึงกัน มีระเบียงที่หน้าบ้านชั้นสองเหมือนกัน ต่างกันเพียงชั้นล่างที่มีการก่ออิฐถือปูนเท่านั้นเอง

ต่อมาราว พ.ศ. 2525 โดยเทียบเคียงกับสถาปัตยกรรมของตึกแถวในกรุงเทพฯ พบว่ามีเรือนแถวที่ก่อสร้างด้วยปูนทั้งหลัง มีลักษณะสองชั้น หลังคามุงด้วยกระเบื้อง ยังไม่มีดาดฟ้า และงานออกแบบเป็นลักษณะเหลี่ยมมุมคล้ายกล่อง ยุคนี้เรียกได้ว่าเป็นยุคของ “ตึกแถว” ช่วงแรกใน ตลาดหนองมน ที่มีการก่ออิฐถือปูน ต่อมาห้องแถวไม้เก่าในยุคแรก ๆ เริ่มชำรุดทรุดโทรมจึงมีการรื้อทิ้ง และสร้างตึกแถวขึ้นจำนวนมากในตลาดหนองมน

 “ตึกแถว” ที่มีลักษณะก่ออิฐถือปูนนั้น ตามหลักฐานที่พบ มีข้อสันนิษฐานว่า “ตึกแถว” เกิดขึ้นในประเทศไทยพร้อมถนนสายแรกในประเทศไทยนั้นคือ “ถนนเจริญกรุง” ซึ่งเป็นถนนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2404[5] โดยพื้นที่ดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นของบรรดาเจ้าขุนมูลนาย และหน่วยราชการ โดยในอดีตคนไทยส่วนใหญ่เดินทางสัญจรกันทางน้ำเป็นหลัก เศรษฐกิจกิจหรือแหล่งการค้าจึงเจริญอยู่ตามชายคลอง แต่เมื่อมีการตัดถนนขึ้น ทำให้การสัญจรเปลี่ยนรูปแบบไป เศรษฐกิจหรือแหล่งการค้าก็เปลี่ยนไปเช่นกัน เมื่อการค้าย้ายแหล่งจากชายคลองมาอยู่บนถนน บรรดาเจ้าขุนมูลนายจึงสร้างเป็นตึกแถวให้คนยากจนเช่า และทำเป็นสัญญาระยะยาว เช่น บริเวณเวิ้งนาครเขษม หรือชุมชนหวั่งหลี[6] ที่มีรูปแบบตัวตึกที่อยู่ติดกันตลอดแนว โดยใช้ผนังร่วมกัน ด้านในที่ไม่ติดถนนก็เป็นบ้านพักอาศัยธรรมดา แต่ส่วนที่อยู่ติดถนนหรือหัวมุมก็มักจะเป็นร้านของขาย จนกลายเป็นต้นแบบของตึกแถวของพื้นที่ต่อ ๆ มา

ต่อมาเมื่อถึงยุคที่ต้องเร่งสร้างเมือง ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลงนั้น ในระยะแรกบ้านเมืองมีซากปรักหักพังอยู่มาก จึงจำเป็นต้องบูรณะ และเริ่มสร้างอาคารที่พักอาศัยกันครั้งใหญ่ ตึกแถวเป็นตัวเลือกแรก ๆ เนื่องจากสร้างง่าย แข็งแรง และสามารถทำการค้าได้ ถัดมาในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ช่วงนี้ถือได้ว่าเป็นยุคทองในเรื่องการตื่นตัว และเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างสูงสุด เห็นได้จากมีการร่างแผนพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ขึ้นมา เพื่อรองรับการเติบโตของเมือง รวมไปถึงการจัดตั้งหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการสร้างที่อยู่อาศัยขึ้นมาอย่างเช่น กองเคหสถาน กรมประชาสงเคราะห์ หรือธนาคารอาคารสงเคราะห์ โดยผลพวงหนึ่งที่เกิดขึ้นนั้นก็คือการขยายตัวด้านอสังหา 'ตึกแถว' รวมไปถึงสิ่งที่เรียกว่า 'แฟลต' จำนวนมาก[7]

เมื่อประเทศไทยผ่านยุคที่ต้องเร่งสร้างเมืองมาได้ ก็ถึงเวลาก้าวเข้าสู่ ยุคที่ความเจริญเรียกหา หลังจากที่ประเทศไทย ผ่านวิกฤตทางการเมืองช่วงปี 2519 มาได้ เริ่มมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง พื้นที่หลายแห่งกลายเป็นย่านธุรกิจที่สำคัญของ เช่น สุขุมวิท เพชรบุรี หรือสีลม ก็ตามที มีผลทำให้ราคาที่ดินพุ่งขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้เองบรรดาเจ้าของที่ดินเหล่านี้ จึงถือโอกาสสร้างตึกสูงเพื่อรองรับกับสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป อีกทั้งลดระยะเวลาทำสัญญาเช่าให้เหลือเพียงแค่ 2-3 ปีเท่านั้น ในขณะเดียวกันโครงการทางด้านคมนาคมต่าง ๆ ก็มีการพัฒนาขึ้น ทั้งรถไฟลอยฟ้า และใต้ดิน มีผลให้เกิดการก่อสร้างคอนโดมิเนียมขึ้นจำนวนมาก หากแต่ว่าตึกแถวเองก็ยังคงได้รับความสนใจจากพ่อค้าแม่ขาย เนื่องจากยังคงทำการค้าได้ตามหน้าอาคาร[8] ซึ่งยุคนี้เองที่คาดว่าส่งอิทธิพลงานออกแบบตึกแถว มายังตลาดหนองมน  ระยะนี้ตลาดหนองมนเจริญสุดขีด และเป็นตลาดที่ได้มาตรฐาน ในสมัยที่พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากในช่วงนั้นระบบเศรษฐกิจภายในประเทศดีมาก มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง การก่อสร้างตึกแถวในตลาดหนองมนก็ขยายตัวตามเศษฐกิจ จนมีการสร้างตึกแถวที่มีมากกว่าสองชั้นและมีดาดฟ้า

ภาพที่  3 ตึกแถวในยุค ที่ก่ออิฐถือปูนทั้งหลัง
ที่มาภาพ: กิตติธัช ศรีฟ้า ภาพถ่ายตึกแถวในยุค ที่ก่ออิฐถือปูนทั้งหลัง ที่ตลาดหนองมน

และเมื่อทุกอย่างไม่ได้เป็นอย่างหวัง ประเทศไทยเข้าสู่ยุคฟองสบู่แตก ในช่วงปี 2540 ระยะนี้ตึกแถวเริ่มไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ผ่านมา เนื่องจากมีอาคารอยู่อาศัยแบบใหม่เกิดขึ้นที่เรียกว่า “ทาวน์เฮาส์” ซึ่งเหมาะสมชนชั้นกลาง ไม่ว่าจะด้วยขนาด และราคา ที่เหมาะสมกับช่วงที่ประเทศไทยเจอกับวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้เกิดมีเหตุตึกแถวร้าง ไม่มีใครเข้าไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะย่านเศรษฐกิจหลายแห่งที่ทำการค้าในตึกแถวพากันปิดเงียบไป[9] รวมทั้งหนองมนก็พบกับปัญหานักท่องเที่ยวซบเซาเช่นกัน ส่งผลให้การก่อสร้างต่าง ๆ หยุดชงักไปหมด ดังนั้นเราจึงไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงของตึกแถวในบริเวณตลาดหนองมนมากนัก มิหนำซ้ำยังเริ่มเกิดตึกแถวร้างในตลาดหนองมน บริเวณที่ยังทำการค้าอยู่คงเหลือเพียงตึกแถวที่ติดกับถนนสุขุมวิทขาเข้าเท่านั้น

เมื่อผ่านช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 มาแล้ว เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นตามลำดับ และกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง แต่ดูเหมือนสถานการณ์ของตึกแถวจะไม่คึกคักเช่นเคย โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา รูปแบบตึกแถวแบบดั้งเดิมเริ่มไม่มีการก่อสร้างรวมไปถึงมีการทุบทำลายบางส่วน อาจเพราะมีการขยายของเมืองที่มากขึ้น และการพลิกโฉมของกิจการคอนโดมิเนียมตามเส้นทางสถานีรถไฟฟ้า ที่มีขีดความสามารถจุคนได้มากกว่า ทำให้สะดวกต่อการคมนาคม เจ้าของตึกแถวจำนวนไม่น้อยเริ่มขายตึกหรือไม่ก็ทุบทิ้ง แล้วเปลี่ยนมาสร้างคอนโดมิเนียมแทน เช่นเดียวกับแหล่งพื้นที่ตึกแถวโบราณ ที่ทยอยหมดสัญญา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่จะเห็นชุมชนโบราณที่เคยเรียงรายด้วยตึกแถวเริ่มหายไปทีละแห่งสองแห่ง เช่น ชุมชนสามย่าน ซอยหวั่งหลี ฯลฯ ช่วงเวลาเดียวกันนี้ที่ตลาดหนองมนก็ยังคงซบเซาอย่างต่อเนื่อง นักท่องเที่ยวเริ่มหดหายเพราะพิษเศษฐกิจ เมื่อการค้าซบเซา การพัฒนาด้านอสังหาริมทรัพย์ก็หยุดลง ดังนั้นเราจึงไม่เห็นตึกแถวรูปแบบใหม่ ๆ หลังจากยุค พ.ศ. 2540 มากนัก จึงกล่าวได้ว่าจวบจนปัจจุบันการก่อสร้างตึกแถวในเมืองไม่มีให้เห็นอีกต่อไป เหลือเพียงตึกแถวดั่งเดิมที่เคยก่อสร้างมาเมื่อนานมาแล้ว และยังคงใช้ประโยชน์ทางการค้าได้เท่านั้น

บรรณานุกรม
________. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์. ปัญหาตึกแถว. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วน โรงพิมพ์ ยูไนเต็ดโปรดักชั่น, 2524.
ควิน ลิมป์. การศึกษาตึกแถวในสมัยรัชกาลที่ 5 จากแผนที่ กรุงเทพฯ ปีพ.ศ. 2450. วิทยานิพนธ์ปริญญามหา บัณฑิต ภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์, จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย, 2553
ชนิดา ตันติตยาพงษ์. ภาพพจน์ตลาดหนองมนในทรรศนะของนักท่องเที่ยว. ปัญหาพิเศษ รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาวิชาบริหารทั่วไป, บัณฑิตวิทยาลัย, มหาวิทยาลัย บูรพา. 2546
ชูวิทย์ สุขฉายา. ตึกแถวกับการออกแบบชุมชน. วิทยานิพนธ์ปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบชุมชนและผังเมือง บัณฑิตวิทยาลัยศิลปากร, 2518
น. ณ ปากน้ำ [นามแฝง]. แบบแผนบ้านเรือนในสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 4 ปรับปรุงเพิ่มเติม. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2543
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554
เพ็ญศรี ฉันทวรางค์. แนวทางการเปลี่ยนแปลงของตึกแถว ในกรุงเทพมหานคร วิทยานิพนธ์ ปริญญามหาบัณฑิต ภาควชาสถาปัตยกรรมศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2529.
เยาวภา จันทร์สอน. ปัจจัยที่มีผลต่อความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวที่มีต่อตลาดหนองมน จังหวัดชลบุรี. กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2550
สำนักนายกรัฐมนตรี. คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย. ประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2475. กรุงเทพฯ: กองจดหมายเหตุแห่งชาติกรมศิลปากร, 2525



[1] พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554
[2] ชนิดา ตันติตยาพงษ์. ภาพพจน์ตลาดหนองมนในทรรศนะของนักท่องเที่ยว. ปัญหาพิเศษ รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาวิชาบริหารทั่วไป, บัณฑิตวิทยาลัย, มหาวิทยาลัย บูรพา. 2546
[3] น. ณ ปากน้ำ [นามแฝง]. แบบแผนบ้านเรือนในสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 4 ปรับปรุงเพิ่มเติม. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2543
[4] เยาวภา จันทร์สอน. ปัจจัยที่มีผลต่อความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวที่มีต่อตลาดหนองมน จังหวัดชลบุรี. กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2550
[5] ควิน ลิมป์. การศึกษาตึกแถวในสมัยรัชกาลที่ 5 จากแผนที่ กรุงเทพฯ ปีพ.ศ. 2450. วิทยานิพนธ์ปริญญามหา บัณฑิต ภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์, จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย, 2553
[6] สำนักนายกรัฐมนตรี. คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย. ประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2475. กรุงเทพฯ: กองจดหมายเหตุแห่งชาติกรมศิลปากร, 2525
[7] ชูวิทย์ สุขฉายา. ตึกแถวกับการออกแบบชุมชน. วิทยานิพนธ์ปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบชุมชนและผังเมือง บัณฑิตวิทยาลัยศิลปากร, 2518
[8] เพ็ญศรี ฉันทวรางค์. แนวทางการเปลี่ยนแปลงของตึกแถว ในกรุงเทพมหานคร วิทยานิพนธ์ ปริญญามหาบัณฑิต ภาควชาสถาปัตยกรรมศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2529.
[9] จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์. ปัญหาตึกแถว. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วน โรงพิมพ์ ยูไนเต็ดโปรดักชั่น, 2524.