วันเสาร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2560

ทัศนะบางประการ จากละครเวทีเรื่อง “ผู้ชนะ” (The Stronger) โดย August Strindberg

โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม



ผู้ชนะ (The Stronger) โดย August Strindberg
แปลและเรียบเรียง: รศ.สดใส พันธุมโกมล
นำแสดงโดย: ชญาณี ฉลาดธัญญกิจ และ อนรรฆอร บุรมัธนานนท์ (อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม)
กำกับ: ดร.ประภัสสร จันทร์สถิตย์พร (คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
(Re stage) ณ โรงละครมหาวิทยาลัยสยาม วันเสาร์ที่25 มีนาคม 2560


          ละครเวทีเรื่อง “ผู้ชนะ” (The Stronger) โดย August Strindberg ที่แปลและเรียบเรียงโดย รศ.สดใส พันธุมโกมล ภายใต้รูปแบบการกำกับโดย ดร.ประภัสสร จันทร์สถิตย์พร (คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) และนำแสดงโดย ชญานี ฉลาดธัญญกิจ และ อนรรฆอร บุรมัธนานนท์ (อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม) ซึ่งจัดแสดงเป็นครั้งที่ 2 ณ โรงละครมหาวิทยาลัยสยาม วันเสาร์ที่25 มีนาคม 2560 เป็นละครขนาดสั้นที่เป็นสถานการณ์ของผู้หญิงทั้งสองคน คือ “ดาวนภา” กับ “รัศมีดาว” ที่มีความขัดแย้งในสัมพันธภาพด้วยปัจจัยของบุคคลที่สามคือ “คุณกฤษณ์” ที่มีความเกี่ยวโยงกันในเรื่องความรัก

ผู้ชนะ” (The Stronger) ในครั้งนี้ (version) แสดงให้เห็นนัยยะของความขัดแย้งในความสัมพันธ์ที่ซ่อนอยู่ในตัวบทของตัวละครทั้งสองได้อย่างเด่นชัด ตัวละครทั้งสองตัวต่างสื่อให้เห็นถึงอารมณ์ในตัวเองและสร้างพื้นที่ว่างทางจินตนาการให้ผู้ดูเกิดการคาดเดาและรอคอยการเฉลยปมที่ซ่อนอยู่ในบท แม้จนจบการแสดงแล้ว ปมปัญหาและหรือความขัดแย้งในสัมพันธภาพของตัวละครที่ควรจะคลี่คลายกลับตัดตอนลงจนทำให้ผู้ดูต้องเสริมเรื่องราวในจินตนาการที่จะเติมเต็มและสานต่อเนื้อเรื่องไปตามมโนภาพของผู้ดูแต่ละคน

            บทละคร “ผู้ชนะ” (The Stronger) จึงมิใช่การเล่าเรื่องที่แสดงความลงรอยด้วยปฏิสัมพันธ์ด้วยบทสนทนา แต่เป็นการแสดงความเป็นปฏิปักษ์ที่สอดรับกันและกันระหว่างตัวละครทั้งสองที่มีการแสดงออกต่อกันด้วยอวัจจนภาษาที่แตกต่าง ทว่าผู้ดูเองอาจคาดหมายได้ว่าตัวละครแต่ละตัวต่างก็มีความรู้สึกเป็นผู้ชนะอยู่ในตัวเอง หากแต่เมื่อพิจารณากันจริงๆ แล้ว ตัวละคร “คุณกฤษณ์” คือ กุญแจที่สำคัญที่อาจทำให้ผู้ดูสามารถตีความไปถึงอำนาจบางอย่างที่อบอวลอยู่ทั่วบริเวณในพื้นที่ของตัวละคร “ดาวนภา” กับ “รัศมีดาว” อาจจะกล่าวได้ว่า “คุณกฤษณ์” คือรูปแบบของอำนาจที่มองไม่เห็น อำนาจดังกล่าวย่อมอยู่ภายใต้ร่มเงาของความเป็น “ปิตาธิปไตย” หรือความสัมพันธ์ทางสังคมที่ผู้ชายเป็นผู้กุมอำนาจ

            ซึ่งหากเป็นดังที่กล่าวมานั้น เราอาจะเห็นถึง “ผู้ชนะ” ที่ลางเลือนอยู่ในตัวละครเพศหญิงทั้งสอง แม้ “คุณกฤษณ์” จะมิได้ปรากฏตัวในทางกายภาพในพื้นที่ของเวทีการแสดง ทว่าการกล่าวถึง “คุณกฤษณ์” โดย “รัศมีดาว” อยู่เสมอๆ ย่อมแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของพื้นที่ทางอำนาจที่ปกคลุมอยู่ในตัวละครทั้งสอง และแม้ว่า “ดาวนภา” จะไม่ได้มีบทพูดเลยแม้แต่คำเดียว แต่ก็กลับมีความเชื่อมโยงกับ “รัศมีดาว” และ “คุณกฤษณ์” อย่างเด่นชัด ดังนั้น “คุณกฤษณ์” ที่ไม่เคยปรากฏกายให้ผู้ชมได้เห็นเลย กลับเป็นตัวละครที่เป็นปัจจัยอันทรงพลังที่ทำให้เกิดสถานการณ์แห่งความขัดแย้งตามบทของละครเวที “ผู้ชนะ” ในครั้งนี้  

            สุดท้ายแล้ว “ใครเล่าคือผู้ชนะในโลกของความเป็นจริง” นอกเหนือไปจากนั้น ชัยชนะบางอย่างที่ปรากฏด้วยการเห็นอาจมิสามารถตัดสินซึ่งสถานะของการเป็นผู้ชนะหรือผู้แพ้ได้อย่างหมดจรด ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ในโลกของความจริง ผู้ชนะที่แท้จริงอาจจะไม่จำเป็นต้องมีตัวตนเลยก้เป้นได้ และท้ายที่สุด อำนาจบางอย่างที่อาจจะไม่มีซึ่งตัวตนอาจจะน่าสะพรึงมากกว่าตัวตนของอำนาจที่มีกายภาพที่ปรากฏ

            ใครเล่าคือผู้ชนะ ถึงกระนั้นผู้แพ้คือใครกันเล่า...

          ฤาแพ้ชนะอาจจะไม่มี...

วันจันทร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2560

ความเคลื่อนไหวงานทัศนศิลป์ตะวันตก ศตวรรษที่ 20

เรียบเรียงและขยายความโดย
สุริยะ ฉายะเจริญ (อาจารย์ประจำ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม) jumpsuri@gmail.com
ศ.บ. (จิตรกรรม) เกียรตินิยมอันดับ2, ศ.ม.(ทฤษฎีศิลป์)  มหาวิทยาลัยศิลปากร