วันอาทิตย์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

The Journey of Suriya & Postcard Art Exhibition


 
โดย สุริยะ ฉายะเจริญ

พิธีเปิด วันเสาร์ที่ 10 มกราคม 2558 เวลา 19.00 น. เป็นต้นไป
ณ หลังแรกบาร์ ซอยมหรรณพ1 เขตพระนคร กรุงเทพฯ  
นิทรรศการระหว่างวันที่ 24 ธันวาคม 2557 - 31 มกราคม 2558
เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 18.00-01.00 น.

ติดต่อสอบถามรายละเอียดนิทรรศการ
โทรศัพท์ 090-986-9937

สุริยะ ฉายะเจริญ จบการศึกษาปริญญาตรี สาขาจิตรกรรม เกียรตินิยมอันดับ 2 และ ปริญญาโทสาขาทฤษฎีศิลป์ จากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์  มหาวิทยาลัยศิลปากร มีประสบการณ์การทำงานด้านการออกแบบกราฟิก การจัดนิทรรศการศิลปะ การแสดงนิทรรศการศิลปะอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง มีผลงานวิจัย บทความวิชาการ บทความวิจารณ์ศิลปะ เผยแพร่ในรูปแบบสิ่งพิมพ์ และแบบออนไลน์  (http://jumpsuri.blogspot.com/)
ปัจจุบัน สุริยะ ฉายะเจริญเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม
แนวคิด
ผลงานที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการ The Journey of Suriya & Postcard Art Exhibition มี 2 ชุด ประกอบไปด้วย
1.      The Journey of Suriya เป็นผลงานจิตรกรรมขนาดเล็กที่บันทึกภาพจากประสบการณ์การเดินทางและสังเกตสภาพแวดล้อมที่พบเจอผ่านแนวคิดที่ว่า “งานจิตรกรรมเป็นเสมือนเป็นการบันทึกผ่านภาษาของภาพที่ผสมผสานระหว่างความเป็นจริงและจินตนาการ”
2.      Postcard Art Exhibition เป็นการจัดแสดงผลงาน Postcard ที่ได้รับความร่วมมือจากศิลปินผู้ร่วมแสดงจาก 5 ประเทศ ซึ่งเป็นผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นด้วยเทคนิค 2 มิติที่หลากหลาย และส่งผลงานมาในรูปของ Mail Art
The Journey of Suriya & Postcard Art Exhibition

Artist: Suriya Chayacharoen

Open: January 10th, 2015 (Saturday)

Hlung Raak Bar, Bangkok

Exhibition: December 24, 2014 - January 31, 2515

Everyday 6 pm. – 1 am.

Contact
Tel: 090-986-9937
Suriya Chayacharoen graduation B.F.A. Painting (2nd honor) and M.F.A. Art Theory  from the Faculty of Painting Sculpture and Graphic Art, Silpakorn University, Thailand. He has experience in graphic design, Curator, Art Exhibition continued several times, research, academic, art critic published in printed form. And online (http://jumpsuri.blogspot.com/)
Suriya Chayacharoen currently a lecturer at the Department of digital media, Faculty of Communication Arts, Siam University, Thailand.

Concept
The works on display in the exhibition The Journey of Suriya & Postcard Art Exhibition consists of 2 sets.
1. The Journey of Suriya is a small painting that captures the experience of traveling and observing the environment encountered by that concept. "Painting is like a language of images captured through a mix of reality and fantasy."
2. Postcard Art Exhibition to showcase Postcard received the cooperation of the artists who participated from 5 countries, which was created with a variety of techniques in 2D. And send in the form of Mail Art.

วันศุกร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

นิทรรศการบันทึกบางกอก โดยกลุ่มบางกอกเสก็ตช์เชอร์


พบกับงาน "บันทึกบางกอก โดยกลุ่มบางกอกเสก็ตช์เชอร์" อันเป็นนิทรรศการแสดงผลงานครั้งที่สองของกลุ่ม หลังนิทรรศการแรก " FIRST BANG!" เมือปี 2553 นับเป็นเวลา 4 ปีมาแล้ว
เรียนเชิญทุกท่านมาร่วมในพิธีเปิดงาน ในวันเสาร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2557 เวลา 18:00น. ที่ Cassia Gallery เลขที่ 20 ซอยสุขุมวิท 31
โดยมี ท่านผู้หญิงวิลาวัณย์ วีรานุวัตติ์ กรุณาให้เกียรติเป็นประธานในพิธี

SKETCHING BANGKOK by Bangkok Sketchers is an exhibition by Bangkok Sketchers, its second exhibition in ...4 years, since FIRST BANG! By Bangkok Sketchers in 2010.
All dear friends of Bangkok Sketchers, you are invited to join us for the opening reception at Cassia Gallery, Sukhumvit Road 31, Bangkok on Sat, 22 Nov 2014. Thanpuying Vilavan Viranuvatti has consented to preside over the exhibition opening ceremony at 18.00 hrs.
(More exhibition information below)



นิทรรศการครั้งนี้ เป็นการจัดแสดงผลงานการวาดภาพกรุงเทพมหานครในแง่มุมอันหลากหลายจากเหล่าสมาชิกเสก็ตเชอร์ เรียกได้ว่าเป็นการรวบรวมผลงานของผู้ชื่นชอบในการบันทึกเรื่องราวด้วยการเขียนภาพไว้ถึงประมาณ 90 ชิ้น
ล้วนเป็นงานบันทึกผ่านสายตา สู่ความนึกคิดใตร่ตรองด้วยจิตใจ ถ่ายทอดสู่มือด้วยเครื่องเขียนและสีชนิดต่างๆ ลงบนกระดาษ กลายเป็นภาพบันทึกความทรงจำอันเปี่ยมไปด้วยคุณค่า เป็นผลงานจากการสร้างสรรค์โดยสมาชิกของกลุ่มซึ่งมีอายุตั้งแต่ 7 ถึง 70 ปี
กล่าวอีกนัยหนึ่ง มันเป็นการรวมบันทึกประสบการณ์และความประทับใจกว่า 800 ปีแห่งชีวิต ผ่านลายเส้นเสก็ตช์ และสมุดเสก็ตช์ ของเหล่าสมาชิกของเรานั่่นเอง
ขอเชิญมาร่วมกันซีมซับความประทับใจเรื่องราวต่างๆ ในรูปแบบของศิลปะแบบง่ายๆ ด้วยการเสก็ตช์ และพบปะเหล่าเสก็ตช์เชอร์ มาแลกเปลี่ยนพูดคุยกันในหลากหลายเรื่องราวอันซ่อนอยู่ภายใต้ภาพเหล่านั้น
ท้ายที่สุด อย่าลืมติดสมุดเสก็ตช์ของท่านมาด้วย พวกเรามีดินสอ และปากกาให้ท่านพร้อมที่จะเริ่มบันทีกเรื่องราวของท่านเอง
แล้วพบกันครับ

 อัสนี

More about SKETCHING BANGKOK BY BANGKOK SKETCHERS: The Exhibition of Sketches.
The exhibition showcases some 90 sketches/paintings of the many facets of Bangkok and around through the eyes, mind, heart and hands of 40 over Bangkok Sketchers members (age 7 to 70). That's a total of 800 years of life experience expressed through sketches and sketchbooks for the exhibition (and, please note, quite a few of them will not be for sale:-)
Don't miss the fun evening of the opening reception. Bring friends along with you to enjoy and appreciate the simple art form of sketching, meet the sketchers and hear their stories. Bring your sketchbooks along, we will try to provide as many pens and pencils as possible.
See you krub

 Asnee

วันพุธที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2557

จิตรกรรมบนผนังของถวัลย์ ดัชนี ณ สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน

โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ (อาจารย์ประจำภาควิชาสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม)

หลายคนที่ชื่นชอบผลงานของถวัลย์ ดัชนี อาจจะไม่ทราบว่า เขาได้เขียนจิตรกรรมบนผนังเรื่อง “การกำเนิดจักรวาล” ไว้เมื่อช่วงปี พ.ศ. 2511-2512 (ลักษณ์ 2554: 39) ณ สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน เชิงสะพานหัวช้าง กรุงเทพฯ  ซึ่งปัจจุบันถือว่าผุพัง เสียหาย ไปบ้างตามกาลเวลา
ถวัลย์ ดัชนี คือ ศิลปินไทยที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนวงการศิลปะไทยร่วมสมัยมาตลอดเกือบ 50 ปี โดยเฉพาะผลงานจิตรกรรมและบุคลิกลักษณะการแต่งกายและการสนทนาที่โดดเด่น ถวัลย์ ดัชนีได้รับเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2557 ซึ่งเป็นการจากไปเพียงลมหายใจและทิ้งไว้ซึ่งตำนาน เรื่องเล่า และผลงานศิลปะไทยอันมากมายและทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์

หนึ่งในผลงานจิตรกรรมที่น่าสนใจคือจิตรกรรมบนผนังเรื่อง “การกำเนิดจักรวาล” ณ สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน (Student Christian Center ) ซึ่งเป็นผลงานของถวัลย์ในชุดแรกๆ ที่จัดแสดงในพื้นที่สาธารณะที่มีอยู่ไม่เยอะ  ถวัลย์วาดรูปจิตรกรรมฝาผนังนี้แลกกับการได้พำนักที่นี่แทนการจ่ายเป็นเงิน (ลักษณ์ 2554: 18)
ผลงานชิ้นนี้เป็นลักษณะของการนำเรื่องความเชื่อการกำเนิดจักรวาลมาเป็นแรงบันดาลใจ โดยที่ถวัลย์ใช้รูปร่างของคนและสัตว์เป็นรหัสเพื่อสื่อความหมาย เพราะฉะนั้นความสำคัญของความหมายอันเกิดจากรหัสเชิงสุนทรียะจึงเป็นการตีความในแบบอัตนัย ทำให้เห็นว่าผลงานชิ้นนี้เป็นผลงานที่เน้นการตีความจากสัญลักษณ์ต่างๆ ที่แบ่งเป็นกลุ่มของพื้นที่ในภาพ อันมีลักษณะคล้ายกับโลกแห่งความฝันเป็นจินตนาการในแบบศิลปะเซอร์เรียลลิสม์ (Surrealism) และศิลปะแบบแฟนตาซี (Fantasy) ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญที่ถวัลย์ได้ใช้แนวทางดังกล่าวพัฒนาผลงานตัวเองจนกลายเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญและโดดเด่นมากในปัจจุบัน
จิตรกรรมบนผนังของถวัลย์ ดัชนีชิ้นนี้จึงเปรียบเสมือนหลักฐานชิ้นสำคัญที่จะทำให้เห็นถึงพัฒนาการการสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมของศิลปินที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ที่สำคัญอีกประการคือ การที่ผู้ดูผลงานจะได้เห็นผลงานอันเป็นประวัติศาสตร์ได้อย่างใกล้ชิด เพราะสภาพแวดล้อมบริเวณจิตรกรรมฝาผนังในสำนักกลางนักเรียนคริสเตียนในทุกวันนี้ก็ดูเงียบๆ และอาจจะมีน้อยคนที่จะรู้ว่า ภาพวาดบนฝาผนังเก่าๆ นี้คือผลงานสำคัญชิ้นหนึ่งของศิลปินที่มีชีวิตและทำงานดุจตำนานที่จะถูกกล่าวขานอย่างไม่รู้จบ.

บรรณานุกรม
ลักษณ์ คูณสมบัติ. สุนทรียภาพในผลงานจิตรกรรมของถวัลย์ ดัชนี. วิทยานิพนธ์ศิลปมหาบัณฑิต สาขาทฤษฎีศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2554.

วันศุกร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2557

กระแสศิลปะนามธรรมในบริบทของสังคมไทย

โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ (อาจารย์ประจำภาควิชาสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม)        

            ภายหลังมรณกรรมของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (พ.ศ.2505) แนวทางสร้างสรรค์ศิลปะของศิลปินกลุ่มมหาวิทยาลัยศิลปากรก็เริ่มที่จะออกจากการสร้างผลงานศิลปะตามหลักวิชาแบบตะวันตก (Academy) มากขึ้น แม้ว่าแนวทางศิลปะอิมเพรสชั่นนิสม์ (Impressionism) กับศิลปะคิวบิสม์ (Cubism) จะเป็นที่นิยมในหมู่ศิลปินจากมหาวิทยาลัยศิลปากรในสมัยที่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรียังมีชีวิตอยู่ หากแต่เมื่อเปรียบเทียบกับความเคลื่อนไหวของกระแสศิลปะสมัยใหม่ในประเทศตะวันตกแล้วก็นับว่าเป็นรูปแบบศิลปะที่ตามตะวันตกที่ล่าช้ากว่าจะเรียกว่าเป็นแนวทางที่ร่วมสมัยกัน
            แนวทางศิลปะร่วมสมัยของโลกตะวันตกในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คือแนวทางศิลปะที่คลี่คลายไปสู่การลดทอนรูปร่างและรูปทรงจนเหลือเพียงทัศนธาตุที่ไม่แสดงออกถึงเนื้อหาและเรื่องราวที่ปรากฏในผลงาน มุ่งหมายแสดงความงามอย่างสากลมากขึ้น ศิลปะประเภทนี้มีคำจำกัดความว่า “ศิลปะแอ็บสแทร็ค” (Abstract Art) หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็น “ศิลปะนามธรรม”
            สำหรับสังคมไทยในยุคสมัยทศวรรษ 2490 – 2520 แล้ว ศิลปะนามธรรมกลายเป็นของแปลกใหม่สำหรับศิลปินหนุ่มสาวในขณะนั้น ซึ่งไม่เพียงเป็นแนวทางที่สะท้อนภาวะของความเป็นสมัยใหม่เท่านั้น  แต่ลักษณะรูปแบบของศิลปะนามธรรมยังได้แสดงออกถึงภาพที่เป็นสากลอีกด้วย อันเนื่องจากผลงานศิลปะที่ปรากฏจะไม่บ่งชี้ความเป็นอัตลักษณ์ของความเป็นวัฒนธรรมพื้นถิ่นหรือแสดงออกถึงเอกลักษณ์ประจำถิ่น มุ่งหมายในการนำเสนอความงามที่ปราศจากการสื่อความหมายของสัญญะ มุ่งเน้นไปที่องค์ประกอบของภาพที่มีความลงตัวตามเจตจำนงของศิลปิน
สุธี คุณาวิชยานนท์ได้เขียนอธิบายความเคลื่อนไหวของศิลปะนามธรรมในยุคสมัยนั้นเอาไว้ว่า
ในระหว่างทศวรรษ 2490-2510 ศิลปะกึ่งนามธรรมและนามธรรมบริสุทธิ์ กลายเป็นตัวแทนของความสมัยใหม่ เป็นดั่งสัญลักษณ์ของการเฉลิมฉลองความเป็นเสรีและปัจเจกชนของคนรุ่นหนุ่มสาว ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่าสังคมไทยโดยเฉพาะในกลุ่มชนชั้นกลางได้ก้าวเข้าสู่สังคมแบบสมัยใหม่แล้วในระดับหนึ่ง...[1]
            ในงานวิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปบัณฑิต สาขาวิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เรื่องการศึกษายุคทองของศิลปะนามธรรมในประเทศไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2506-2520” ของ มนตรี  ชิดชมนุช ได้เขียนรายละเอียดถึงความเคลื่อนไหวศิลปะนามธรรมในประเทศไทยก่อนปี พ.ศ. 2506 เอาไว้ว่า
ศิลปะนามธรรมในประเทศไทยก่อนปี พ.ศ. 2506 นี้ เป็นช่วงเริ่มแรกของการปรากฏผลงานนามธรรม จำนวนผลงานและศิลปินผู้สร้างสรรค์งานในลักษณะนี้มีไม่มากนัก ในขณะนั้นศิลปินไทยส่วนใหญ่มักสร้างสรรค์งานในแบบลัทธิบาศกนิยม (Cubism) และลัทธิประทับใจนิยม (Impressionist) ผลงานนามธรรมที่ปรากฏขึ้นในช่วงนี้จึงถือเป็นความแปลกใหม่ที่น่าสนใจต่อวงการศิลปะของไทยเป็นอย่างมาก...ศิลปินที่สร้างสรรค์ศิลปะนามธรรมในประเทศไทยก่อนปี พ.ศ. 2506 นี้มี อารี สุทธิพันธุ์ จ่าง แซ่ตั้ง และมีเซียม ยิบอินซอย...[2]
            สภาพการณ์ของการสร้างสรรค์ศิลปะสมัยใหม่ไทยแนวทางศิลปะนามธรรมในประเทศไทยก่อนปี พ.ศ. 2506 นี้ ยังคงเป็นกระแสศิลปะที่มีความแปลกใหม่มาก ซึ่งในขณะที่การสร้างสรรค์ศิลปะของอารี สุทธิพันธุ์มีแนวทางตามแบบศิลปะลัทธิสำแดงอารมณ์แนวนามธรรม (Abstract Expressionism)[3] ที่ได้รับอิทธิพลจากการที่ได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ จ่าง แซ่ตั้ง กลับได้รับแรงบันดาลใจจากการศึกษาปรัชญาตะวันออกอย่างลึกซึ้งด้วยพื้นฐานทางครอบครัวที่มาจากเมืองจีน[4] ซึ่ง “อาจกล่าวได้ว่าในช่วงนั้น จ่างเป็นศิลปินไทยคนเดียวที่เขียนภาพแนวนามธรรม โดยมีรากฐานที่มาจากรากเหง้าทางด้านวัฒนธรรมของจีน”[5]และเขายังเป็นกวีที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำอันโดดเด่นในการเขียนบทกวีรูปธรรม (Concrete Poetry) ที่ซื่อและบริสุทธิ์[6]โดยที่ความสามารถทั้งด้านจิตรกรรมและกวีนิพนธ์นั้น จ่างล้วนศึกษาด้วยตนเองโดยไม่ผ่านสถาบันการศึกษาใดๆ ทั้งสิ้น
ในงานวิทยานิพนธ์เรื่องการศึกษายุคทองของศิลปะนามธรรมในประเทศไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2506-2520” ของ มนตรี  ชิดชมนุช ยังได้เขียนรายละเอียดถึงปัจจัยที่สำคัญของความเคลื่อนไหวศิลปะนามธรรมในประเทศไทยหลังปี พ.ศ. 2506 เอาไว้ว่า
ศิลปะนามธรรมในประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2506-2520 ถือได้ว่าเป็นยุคทองของการสร้างสรรค์ศิลปะในแนวทางนี้จากการที่ศิลปินไทยหลายท่านมุ่งสร้างสรรค์ผลงานนามธรรม ทำให้ปรากฏผลงานนามธรรมเป็นจำนวนมาก จะเห็นได้จากเวทีการแสดงศิลปกรรมต่างๆ โดยเฉพาะในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ซึ่งมีระยะเวลาครอบคลุมระหว่างปี พ.ศ. 2506-2520...[7]
ปัจจัยที่สำคัญได้แก่ การศึกษาจากสถาบันศิลปะ การกำเนิดเวทีศิลปกรรมต่างๆ รวมถึงกระแสศิลปะตะวันตกที่เข้าสู่ประเทศไทยในขณะนั้น ปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมาถือเป็นส่วนสำคัญที่ส่งอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์ และช่วยผลักดันให้ศิลปะนามธรรมเป็นรูปแบบศิลปะที่ศิลปินหลายท่านยึดถือเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์อย่างรวดเร็ว...ส่วนหนึ่งเกิดจากที่ศิลปินไทยหลายท่านพยายามค้นหาลักษณะเฉพาะในการสร้างสรรค์ผลงานของตนเอง ซึ่งรูปแบบนามธรรมเป็นรูปแบบที่มีความแปลกใหม่ในประเทศขณะนั้น จึงได้กลายเป็นแบบอย่างในการสร้างสรรค์ของศิลปินไทยหลายท่าน...[8]
ผลจากการติดต่อสื่อสารกับโลกตะวันตกที่ฉับไว ทำให้ศิลปินหัวก้าวหน้าได้เดินทางไปดูงานและศึกษาต่อยังต่างประเทศ หลังจากศิลปินเหล่านี้กลับมาก็ได้พยายามเผยแพร่และผลักดันศิลปะสมัยใหม่ของตะวันตกให้แพร่หลายในประเทศไทย...[9]
            ในบทความเรื่อง มรรคาของนามธรรม มรรคาของศิลปะสมัยใหม่ ของกฤษฎา ดุษฎีวนิช ได้อธิบายลักษณะของศิลปะนามธรรมในประเทศไทยในยุคสมัยดังกล่าวเอาไว้ว่า
รูปแบบศิลปะดังกล่าวปราศจากการชี้นำทางความคิดหรือการพรรณนาถึงวัตถุ แต่ในสิ่งที่ประจักษ์นั้นมีแต่ความสมบูรณ์ของทัศนธาตุที่เป็นรูปทรง เส้น สี น้ำหนัก พื้นที่ว่าง ซึ่งทำให้ผลงานศิลปะนามธรรมนั้นเป็นผลงานศิลปะที่มีความงามบริสุทธิ์...ศิลปินสร้างสรรค์งานศิลปะที่ปลอดจากพันธะทางสังคมเพื่อที่จะหาหนทางปลดปล่อยศิลปะให้มีอิสระและเสรี ซึ่งเป็นไปตามคติของ “ศิลปะเพื่อศิลปะ” ที่มิได้ต้องการยุ่งเกี่ยวกับเรื่องราวรายรอบไม่ว่าจะเป็นลัทธิการเมือง/สังคมหรือรับใช้อุดมการณ์ใดอุดมการณ์หนึ่ง...[10]
            ผลงานศิลปะนามธรรมในประเทศไทยในช่วงยุคสมัยดังกล่าวนี้ มีแนวทางทางจิตรกรรมหลักๆ 2 แนวทางคือเป็นศิลปะที่ได้รับอิทธิพลผลงานแนว “ฮาร์ด เอด์จ” (Hard Edge) เป็นผลงานศิลปะนามธรรมแบบเน้นความแบนเรียบ รูปร่างหรือรูปทรงเป็นแบบขอบคม ไม่สร้างมิติความลึกลวงตา เช่นในผลงานจิตกรรรมของ อิทธิ คงคากุล วิโรจน์ เจียมจิราวัฒน์ ชวลิต เสริมปรุงสุข พิษณุ ศุภนิมิตร เป็นต้น

      ขณะที่อีกรูปแบบหนึ่งจะเน้นการแสดงออกด้วยการแสดงออกด้วยสีและฝีแปรงและนิยมทำร่องรอยของพื้นภาพอย่างอิสระ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะแบบ “แอ็บแทร็ก เอ็กเพรสชั่นนิสม์” (Abstract Expressionism) แล้วนำมาประยุกต์ใช้กับแนวทางการสร้างสรรค์ของตน เช่น ผลงานจิตกรรรมของปรีชา อรชุนกะ สมศักดิ์ เชาว์ธาดาพงษ์ และกัญญา เจริญศุภกุล เป็นต้น
 
  
(ผลงานจิตกรรรมของปรีชา อรชุนกะ )        

ส่วนทางด้านประติมากรรม นับตั้งแต่มรณกรรมของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีก็เริ่มนิยมสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมในแนวนามธรรมมากขึ้น โดยลดทอนภาพลักษณ์ที่เหมือนจริงตามแบบหลักวิชาไปสู่การคลี่คลายรูปลักษณ์ที่ไร้ความหมายเชิงสัญญะ (Sign) เพื่อแสดงคุณค่าของรูปทรงบริสุทธิ์ที่ไม่สื่อความหมายใดๆ มากไปกว่าสุนทรียะทางทัศนธาตุ (Visual Element) เช่น ผลงานของมีเซียม ยิบอินซอย ชลูด นิ่มเสมอ อินสนธ์ วงศ์สาม นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน วิชัย สิทธิรัตน์ เขมรัตน์ กองสุข เป็นต้น

            ช่วงระยะเวลาที่ศิลปะนามธรรมในประเทศไทยดำรงอยู่อย่างโดดเด่นเป็นยุคสมัยของศิลปะไทยสมัยใหม่ที่มีความสำคัญทั้งในด้านพัฒนาการเคลื่อนไหวของศิลปะตะวันตกในบริบทของสังคมไทยและแสดงให้เห็นถึงการผสานแนวคิด “ศิลปะบริสุทธิ์” หรือ “ศิลปะเพื่อศิลปะ” เข้ากับผลงานศิลปะนามธรรมที่เน้นไปที่การนำเสนอรูปแบบ (form) มากกว่าการนำเสนอความหมายเชิงสัญญะ นั่นก็ย่อมหมายความว่าศิลปินนามธรรมไทยเองก็ตั้งใจที่จะตัดทอนคุณลักษณะของรูป (image) ที่สื่อความหมายไปสู่รูปที่เน้นความงามในเชิงรูปทรงและยกย่องความสมบูรณ์ของการไม่สื่อความหมายของผลงานไปสู่การเข้าถึงแก่นของศิลปะที่แสดงคุณค่าทางสุนทรียะในตัวของผลงานเอง
            ขณะเดียวกัน การสร้างความหมายของ “ศิลปะบริสุทธิ์” หรือ “ศิลปะเพื่อศิลปะ” ภายใต้ร่มเงาของศิลปะนามธรรมทำให้ “ศิลปะบริสุทธิ์” หรือ “ศิลปะเพื่อศิลปะ” กลายเป็นชุดคำเพื่อถูกนำไปใช้ตามบริบทของผู้ที่ต้องการบัญญัติขึ้น เพราะแนวคิดดังกล่าวนี้หากอยู่ในยุคสมัยที่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรียังมีชีวิตอยู่นี้กลับกลายเป็นผลงานในประเภทเหมือนจริงตามอุดมคติหรือผลงานที่พัฒนาจากศิลปะตามหลักวิชามากกว่าจะเป็นศิลปะที่คลี่คลายไปสู่การสลายรูปทรงของความจริง และเมื่อกลับมาพิจารณาชุดคำดังกล่าวนี้ในบริบทของศิลปะนามธรรมแล้วก็จะพบความสอดคล้องในด้านรูปลักษณ์ของผลงานที่ไม่สื่อสารถึงเรื่องราวใดๆ มากไปกว่าคุณค่าทางความงามของตัวผลงานศิลปะชิ้นนั้นๆ เอง
            นั่นย่อมเท่ากับว่าความหมายของ “ศิลปะบริสุทธิ์” หรือ “ศิลปะเพื่อศิลปะ” นั้นจึงเป็นเรื่องของวาทกรรมที่ถูกนำไปใช้ตามแต่ละบริบทมากกว่าเป็นกฎเกณฑ์หรือปรัชญาที่ตายตัว ความหมายของชุดคำนี้จึงถูกสถาปนาด้วยวาระของการสร้างคุณค่าและความชอบธรรมในเชิงการเมืองของวงการศิลปะไทยสมัยใหม่กว่ากว่าเป็นการจัดแบ่งชุดรูปแบบศิลปะเพื่อช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ศิลป์เท่านั้น


[1] สุธี คุณาวิชยานนท์, จากสยามเก่าสู่ไทยใหม่: ว่าด้วยความผลิกผันของศิลปะจากประเพณีสู่สมัยใหม่, พิมพ์ครั้งที่ 2, 96.
[2] มนตรี  ชิดชมนุช, “การศึกษายุคทองของศิลปะนามธรรมในประเทศไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2506-2520” (วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปบัณฑิต สาขาวิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2551), 15.
[3] สุธี คุณาวิชยานนท์, จากสยามเก่าสู่ไทยใหม่: ว่าด้วยความผลิกผันของศิลปะจากประเพณีสู่สมัยใหม่, พิมพ์ครั้งที่ 2,  73.
[4] มนตรี  ชิดชมนุช, “การศึกษายุคทองของศิลปะนามธรรมในประเทศไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2506-2520”, 16.
[5] เดือนฉายภู่ชนะ ภู่ประเสริฐ, “จ่าง แซ่ตั้ง ขบถแห่งวงการศิลปะ” นิตยสารไฟน์อาร์ต, ปีที่ 3 ฉบับที่ 33 (สิงหาคม 2549): 38.
[6] วิรุณ ตั้งเจริญ, ศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย (กรุงเทพฯ: โอ.เอส. พริ้นติ้ง เฮ้าส์, 2534), 165.
[7] มนตรี  ชิดชมนุช, “การศึกษายุคทองของศิลปะนามธรรมในประเทศไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2506-2520”, 26.
[8] เล่มเดียวกัน, 81.
[9] เล่มเดียวกัน, 82.
[10] กฤษฎา ดุษฎีวนิช, มรรคาของนามธรรม มรรคาของศิลปะสมัยใหม่,  วารสารหอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร  กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ภาพพิมพ์, 2554): 35-36.

วันจันทร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ภาพ ความทรงจำ ความหมาย และการจ้องมอง

(บทความนี้เป็นเอกสารประกอบนิทรรศการ image memory meaning  โดยสุริยะ ฉายะเจริญและภูริช ศรีสวย ณ หลังแรกบาร์ พระนคร กรุงเทพฯ นิทรรศการตั้งแต่ 5-31 กรกฎาคม 2557)

โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ[1] ภาควิชาสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม
(jumpsuri@gmail.com)

ภาพ
            มนุษย์ถือกำเนิดเกิดมาพร้อมกับพฤติกรรมที่แสดงออกเพื่อสื่อสารข้อความบางอย่างให้กับสิ่งอื่นๆ โดยเฉพาะการส่งสารให้กับมนุษย์ด้วยกัน ดังนั้นการสื่อสารที่มีมาตั้งแต่อดีตก่อนประวัติศาสตร์จนถึงยุคดิจิทัล (Digital Period) จึงมีความสำคัญทุกยุคสมัยเช่นเดียวกัน ในขณะที่ทักษะของการสื่อสารตั้งแต่อดีตก็มีวิวัฒนาการที่แตกต่างกันบ้างตามบริบทของยุคสมัย ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการพัฒนาด้านต่างๆ ควบคู่ไปกับความเป็นมาของมนุษยชาติ
            การสื่อสารด้วยภาพ (Visual Communication) ถือเป็นการสื่อสารที่อาศัยรหัส (Code) อันเกิดจากกระบวนการเห็นและถอดความหมายไปสู่ความเข้าใจในสาร (message) ที่ผู้สร้างสารต้องการจะบอกเล่า การเล่าเรื่องด้วยภาพจึงอาศัยดวงตาเป็นสะพานที่เชื่อมต่อระหว่างสิ่งที่ปรากฏภายนอกสู่กระบวนการถอดความหมาย จนนำไปสู่การเข้าใจความหมายของภาพเสมือน (Icon) ภาพดัชนี (Index) หรือภาพสัญลักษณ์ (Symbol) เพราะฉะนั้นการเห็นจึงเป็นกระบวนการรับรู้ความหมายของสารได้อย่างดีที่สุด หรือถ้าจะกล่าวได้ว่าในสัมผัสทั้ง 5 (การเห็น,การได้ยินเสียง, การได้กลิ่น, การได้รสอาหาร, การได้สัมผัสทางกาย) ของมนุษย์นั้น การมองเห็นเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้มนุษย์เชื่อว่าโลกใบนี้มีอยู่จริง
            ความสำคัญของการเห็นจึงเป็นหนทางที่เพิ่มพูนประสบการณ์ให้เราได้ความรู้มากขึ้น ในขณะที่หากจะยกระดับการเห็นไปสู่การดูก็จะยิ่งทำให้การใช้ตาในการจ้องมองมีประสิทธิภาพมากกว่าการมองเห็น แต่เป็นการมองดู, จ้องดู หรือจ้องมองเพื่อค้นหาสารัตถะที่ซุกซ่อนอยู่ภายในสิ่งที่จ้องมอง การจ้องมองจึงไม่ได้นำไปสู่การผ่านพ้น แต่กลับเป็นการสร้างความทรงจำจากสิ่งที่ปรากฏทั้งรูปธรรมและนามธรรม
ความทรงจำ
            ความทรงจำที่เกิดจากการจ้องมองไม่ได้เกิดด้วยความบังเอิญ แต่เป็นความตั้งใจของผู้จ้องมองว่ามีความต้องการที่จะบันทึกภาพที่เห็นให้อยู่ในคลังภาพทรงจำ (memory) ที่ทรงประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งภาพความทรงจำที่อยู่ในสมองของมนุษย์กลายเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์มากเสียยิ่งกว่าภาพที่ถูกบันทึกด้วยฟิล์มหรือเทคโนโลยีดิจิทัล เพราะภาพที่ถูกบันทึกด้วยกล้องเป็นเพียงสภาพการณ์ชั่วขณะที่ผู้จ้องมองได้กระทำการยิบยืมปรากฏการณ์ที่ผ่านพ้นเท่านั้น ดังนั้นผลที่เกิดขึ้นจึงเป็นภาพเสมือนที่มีทั้งความเป็นจริงและความไม่จริง หากแต่ก็อยู่บนพื้นฐานของการมีอยู่จริงของโลกวัตถุ
            ในขณะที่คลังภาพที่ถูกบันทึกลงในสมองกลับเต็มไปด้วยการบิดเบือน ตัดทอน และเสริมแต่งโดยการปรุงแต่งทางจิตที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน สิ่งดังกล่าวทำให้ภาพที่ปรากฏอยู่ในความทรงจำไม่ใช่ภาพเสมือนจริง แต่บินเบือนตามความต้องการของผู้บันทึกโดยมีเวลาเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาพที่อยู่ในใจชัดเจน พร่าเลือน บิดเบือนหรือเสริมแต่งมากน้อยเพียงใดตามแต่ผู้บันทึกปรารถนา


 
ความหมาย
           และเมื่อภาพที่กลายมาเป็นความทรงจำได้สร้างชุดความหมายขึ้นจากการประชุมกันของแต่ละสัญญะ (Sign) ความหมายที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องที่ถูกสร้างขึ้นโดยผู้ที่ถอดรหัสความหมายนั้น ซึ่งไม่เพียงเป็นความหมายในชั้นต้น แต่พัฒนาไปสู่ความหมายเชิงวัฒนธรรมที่เรียกว่า “มายาคติ” (Myth) และมายาคตินั่นเองคือสิ่งสำคัญที่ทำให้มนุษย์เราสามารถสื่อสารในระดับความหมายที่ลึกซึ้งกว่าความหมายในชั้นต้น
            ดังนั้นความหมายเชิงมายาคติที่ปรากฏขึ้นนั้นจึงเป็นเสมือนสิ่งที่ถูกปรุงแต่งและทำให้เกิดการเชื่อมโยงไปสู่ความหมายที่นอกเหนือจากตัววัตถุ ซึ่งก็จะทำให้เกิดการตีความหมายที่แต่ละคนล้วนต้องมีทักษะและประสบการณ์ในการในการถอดความที่สอดคล้องกับสารนั้น และที่สำคัญความหมายในเชิงมายาคติเองนั้นก็มีปัจจัยทางวัฒนธรรมของสังคมนั้นๆ เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการนำไปสู่การสื่อสารได้ชัดเจน
นิทรรศการ
           ภาพถ่ายที่ปรากฏในนิทรรศการ image memory meaning จึงไม่ใช่ภาพถ่ายที่แสดงให้เห็นหรือสัมผัสกับความงามที่เกิดขึ้นจากกระบวนการจัดองค์ประกอบทางศิลปะ แต่เป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงสภาวะบางอย่างที่ถ่ายทอดจากกระบวนคิดของผู้สร้างสรรค์มากกว่าจะแสดงถึงทักษะในทางศิลปะ ผู้สร้างสรรค์จึงมิอาจจะมุ่งหมายให้เกิดความเข้าใจในสาระชั้นต้นของภาพที่เห็น แต่ต้องการนำเสนอภาพที่มีความหมายโดยนัย ทั้งนี้ความหมายหรือเนื้อหาของผลงานแต่ละชุดไม่ได้พยายามที่จะแสดงท่าทีที่จะยัดเยียดความเข้าใจของผู้ดูมากไปกว่าการตัดสินใจของผู้ดูเองว่าเห็นหรือสัมผัสความหมายอะไรบ้างจากสิ่งที่ปรากฏขึ้นตรงหน้า
           ผู้ดูมีส่วนสำคัญในการตีความผลงานที่เห็นมากเท่ากับการที่ผู้สร้างสรรค์ต้องการให้ผู้ดูเห็นอะไร ทั้งนี้ก็มิอาจการันตีได้ว่าผู้สร้างและผู้ดูจะสามารถเข้าใจเนื้อหาที่ซ่อนอยู่ภายในภาพที่ปรากฏหรือไม่ แต่สิ่งที่สำคัญคือผู้สร้างสรรค์เองก็มิอาจจะบีบบังคับให้ผู้ดูรู้สึกถูกทำให้เชื่อในสิ่งที่เห็น เพราะผู้ดูเองก็มีประสบการณ์ที่แตกต่างกันแต่ละบุคคล และความแตกต่างนั้นเองก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การถอดความหมายเชิงมายาคติในผลงานมีความแตกต่างกันไป ดังนั้นผู้ดูจึงมีสิทธิ์ที่จะสร้างความทรงจำชุดใหม่ที่เกิดขึ้นจากการจ้องมองผลงานในชุดดังกล่าวนี้ได้อย่างแนบเนียน
 
  แนวความคิด
สุริยะ ฉายะเจริญ มีทัศนะดังนี้
 
            ภาพ” (image) ที่มนุษย์เห็นไม่เพียงเป็นสิ่งที่เพิ่มพูนการประสบพบเจอกันของประสบการณ์ของแต่ละปัจเจกบุคคล  แต่ยังให้ความหมายในเชิงการระลึกถึงบางสิ่งบางอย่างที่อาจจะเรียกว่า ความทรงจำ” (memory)

เมื่อภาพถ่าย (photography) มีหน้าที่หนึ่งคือการสร้าง ภาพแห่งความทรงจำ” (Images of Memories) ขึ้นมา ด้านหนึ่งก็เป็นการสถาปนาความหมายใหม่ที่เกิดขึ้นจากผู้หนึ่งผู้ใด นั่นย่อมหมายความว่า ภาพถ่ายมีส่วนสำคัญในการสร้างภาพความทรงจำใหม่ (Creating new memories) ที่หาใช่ความจริงไม่ กระบวนถ่ายภาพจึงไม่เพียงสร้างสิ่งที่ไม่เป็นจริง (ทั้งหมด) เท่านั้น หากยังบิดเบือนความจริง (ทั้งหมด) ให้อยู่ในรูปขอบความเสมือนไม่ต่างจากโลกในจินตนิยาย
 
 
เพราะฉะนั้นแล้วภาพ (image)  ความทรงจำ (memory)  และความหมาย (meaning) จึงเป็นเพียงการประชุมกันของ สิ่ง” (   ) ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการสถาปนาโลกใหม่ภายใต้ร่มเงาของภาพมายาที่ดูประหนึ่งว่าเป็นโลกของความเป็นจริง ซึ่งปรากฏได้เพียงจินตนาการที่ถูกทำให้เชื่อว่ามีความเป็นจริงปรากฏอยู่
ในขณะที่ ภูริช ศรีสวย มีทัศนะดังนี้


เรื่องราวในประวัติศาสตร์มีส่วนช่วยในการทำความเข้าใจในสิ่งต่างๆ ที่ผ่านเข้ามา ประวัติศาสตร์ศิลปะก็เช่นกันมีส่วนช่วยให้เราเข้าใจศิลปะในสมัยปัจจุบันมากขึ้น ยิ่งประเภทของงานศิลปะที่มีรากฐานแข็งแรงอย่างงานจิตรกรรมที่มีประวัติและเรื่องราวต่างๆ มากมายรวมทั้งการเปลี่ยนผ่าน การข้ามผ่าน การเป็นเครื่องมือ ทั้งร่วมกันและไม่ร่วมกันกับภาพภ่าย ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ถูผลิตขึ้นเพื่อผลิตภาพ ทำให้ข้าพเจ้าอยากทำความเข้าใจกับคำว่า ภาพ
ข้าพเจ้าคิดว่าสิ่งที่เราเห็นในปัจจุบันเป็น "ยุคของการซ้อนทับ การบิดเบือนหรือการแยกกันของภาพที่นำไปสู่การเข้าถึงความจริง" เราควรจะพิจารณาต่อการรับรู้ภาพหรือสิ่งต่างๆ หรือเพิ่มการทำความเข้าใจในสิ่งต่างๆ
ข้าพเจ้าเห็นความสำคัญของภาวะที่อ้างขึ้น ในเมื่อการเข้าถึงความจริงแท้นั้นเป็นไปได้ลำบาก เพราะแต่ละความจริงนั้นมีเหตุผลในการรองรับที่ต่างกัน จึงเป็นการยากต่อการเข้าถึงความจริง จึงอยากที่จะทำความเข้าใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อหาสมดุลในการใช้ชีวิตระหว่างเหตุผลกับอารมณ์ผ่านการทำงานศิลปะ2มิติ(จิตรกรรมและภาพถ่าย)
 
            ผลงานที่จัดแสดงในนิทรรศการ image memory meaning นี้ ติดตั้งตามลักษณะบริบทของพื้นที่ร้านอาหารหลังแรกบาร์ (Hlung Raak Bar Restaurant Gallery) ซึ่งไม่เพียงมีข้อจำกัดในด้านพื้นที่ใช้สอยเท่านั้น แต่ยังมีข้อจำกัดทางด้านความหมายของพื้นที่ที่มิได้เน้นเรื่องการจ้องมอง แต่เน้นไปที่การลิ้มรส ดื่มกิน และการสนทนา ดังนั้นข้อท้าทายของผู้สร้างสรรค์คือต้องแสดงให้เห็นถึงการจัดการกับพื้นที่ที่จัดแสดงให้แนบเนียนมากกว่าความแปลกแยก
            เพราะฉะนั้น แม้ว่าการติดตั้งผลงานในชุดดังกล่าวนี้จะเป็นเพียงผลงาน 2 มิติเท่านั้น หากแต่ต้องแข่งขันกับบริบทอันหลากหลายของพื้นที่จัดแสดงมากเท่ากับการที่ให้ความสำคัญกับเนื้องาน สภาพพื้นที่อันเต็มไปด้วยโต๊ะ เก้าอี้ กระจก หน้าต่าง หิ้ง อาหาร กลิ่น หรือแม้กระทั่งผู้คนที่เข้ามาร่วมในพื้นที่ดังกล่าว จึงเป็นเสมือนโจทย์และคำตอบอันสำคัญที่ทำให้การสร้างสรรค์ผลงาในชุดนี้เต็มไปด้วยความขัดแย้ง (Paradox) ที่ไม่จำเป็นต้องประนีประนอมให้เกิดความลงตัว ซึ่งความไม่เข้าร่องเข้ารอยกันกลับกลายเป็นผลพวงของการไม่จำกัดผลงานให้อยู่ในพื้นที่อันเป็นที่เป็นทาง แต่เป็นพื้นที่ทางเลือก (Alternative Space) ที่ไม่สามารถให้ความสำคัญกับการจ้องดูมากเท่ากับการมองเห็น
บทสรุป
            เมื่อปรากฏการณ์ในนิทรรศการ image memory meaning เป็นความขัดแย้งที่ไม่ลงตัว การเรียกร้องเอกภาพของสิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นไปได้ยาก เพราะการเรียกร้องสัมพันธภาพในสิ่งที่ไม่มีสัมพันธภาพก็ย่อมเป็นการหลอกตัวเอง ภาพ ความทรงจำ และความหมายจึงไม่เพียงเต็มไปด้วยความหลากหลายเท่านั้น หากแต่ยังคงความความขัดแย้งที่สุด ทั้งนี้เนื่องจากสิ่งดังกล่าวนั้นย่อมเป็นเรื่องของปัจเจกชนมากกว่าความเป็นมหาชน การจ้องดูเป็นเรื่องสิทธิในการที่จะสามารถจ้องดู มนุษย์เราไม่ควรให้การจ้องดูเป็นการบังคับให้ดู เพราะเมื่อใดก็ตามที่ภาพ ความทรงจำ และความหมายของมหาชนเกิดขึ้นไปในทิศทางเดียวกัน นั่นย่อมเท่ากับว่าความเป็นปัจเจกก็จะสูญสลายหายไปพร้อมกับการสถาปนาของอำนาจที่เหนือกว่าสถานะของความเป็นปัจเจกชน (Individualist)



[1] ติดตามผลงานบทความและบทวิจารณ์ศิลปะ online ได้ที่ http://jumpsuri.blogspot.com/