วันพฤหัสบดีที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

คุณค่าและมูลค่าของผลงานสร้างสรรค์ในบริบทธุรกิจทางศิลปะ

ประเด็นเรื่อง “คุณค่าและมูลค่าของผลงานสร้างสรรค์ในบริบทธุรกิจทางศิลปะ” นี้
เป็นส่วนหนึ่งจากเอกสารประกอบการสอนวิชาธุรกิจทางศิลปะ (Business Art)
หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี
เรียบเรียงโดย: อาจารย์สุริยะ ฉายะเจริญ (jumpsuri@gmail.com)









วันเสาร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

กระบวนการสร้างสรรค์และเผยแพร่งานจิตรกรรม: กรณีศึกษาผลงานจิตรกรรมเพื่อน้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่สร้างสรรค์และเผยแพร่ระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ.2559 ถึง เดือนมิถุนายน พ.ศ.2560

The process of creating and publishing paintings: a case study of the King Bhumibol Adulyadej Memorial Paintings created and published between October 2016 and June 2016.

โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ (อาจารย์ประจำภาควิชาสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม)
*บทความนี้นำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ทางนิเทศศาสตร์ ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2560 ณ มหาวิทยาลัยสยาม กรุงเทพฯ. บันทึกในรายงานสืบเนื่องประชุมวิชาการงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ทางนิเทศศาสตร์ ครั้งที่ 7. หน้า 36-45.
**และตีพิมพ์ใน
วารสารนิเทศสยามปริทัศน์ ปีที่ 16 ฉบับที่ 21 ประจำปี 2560, หน้า 61-70.

บทคัดย่อ
บทความนี้เป็นการอธิบายกระบวนการผลิตและเผยแพร่งานจิตรกรรม โดยมีวัตถุประสงค์ในการสื่อความหมายถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเพื่อเป็นการแสดงความอาลัยและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ในวาระที่ทรงเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 อีกทั้งยังเป็นการผลิตและเผยแพร่ผลงานวิชาการสู่สาธารณะในรูปแบบของผลงานสร้างสรรค์
ผลจากการดำเนินงานทำให้เกิดผลงานจิตรกรรมจำนวน 13 ภาพ ผลิตขึ้นด้วยเทคนิคจิตรกรรม 4 แบบ โดยผลงานสร้างสรรค์เกิดจากการเปลี่ยนจากภาพถ่ายสู่ภาพจิตรกรรมในฐานะของการเป็นภาพแทนความหมายที่สื่อถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และมีความหมายแฝงแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ (1) การเป็นภาพแทนของพระมหากษัตริย์ที่ทุ่มเทกับพระราชกรณียกิจเพื่อพัฒนาวิถีชีวิตของประชาชนชาวไทยและประเทศไทย (2) ภาพแทนของพระมหากษัตริย์ที่ทรงเสด็จขึ้นครองราชย์เพื่อสืบสันตติวงศ์แห่งราชวงศ์จักรี (3) ภาพแทนของพระมหากษัตริย์สมัยใหม่ที่เป็นศูนย์รวมจิตวิญญาณของประเทศชาติ โดยผลงานจิตรกรรมได้ดำเนินการเผยแพร่สู่สาธารณะ 3 ช่องทาง ได้แก่ นิทรรศการศิลปะ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อออนไลน์
คำสำคัญ: การสร้างสรรค์ จิตรกรรม สื่อความหมาย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
Abstract
This article describes the process of producing and distributing paintings. The purpose is to convey the meaning of His Majesty King Bhumibol Adulyadej. To express the mournfulness and remembrance of His Majesty the King on his death on 13 October 2016, and to produce and disseminate public works in the form of creative works.
The result of this work is the creation of 13 paintings produced by four techniques of painting. The creative work is a transition from photo to painting as a representation of the meaning of the King Bhumibol Adulyadej. There are three types of connotations: (1) the representation of monarchs dedicated to working for the people of Thailand and Thailand. (2) The representation of the reigning monarch for the succession of the Chakri Dynasty. (3) The representation of modern kings that center the soul of the nation. The painting has been publicized in 4 channels: Art Exhibition, Print media and online.
Keyword: Creativity, Painting, Meaning, His Majesty King Bhumibol Adulyadej

ความสำคัญ
นับตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 เวลา 15.52 นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ทรงเสด็จสวรรคต ณ โรงพยาบาลศิริราช อันเป็นเหตุการณ์ที่นำมาสู่ความโศกเศร้าของประชาชนไทยทั่วประเทศและทั่วโลก ขณะที่สำนักพระราชวังได้จัดให้มีพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบรมศพและอนุญาตให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าสามารถเข้าสักการะพระบรมศพได้ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง ส่วนรัฐบาลไทยได้ประกาศไว้ทุกข์เพื่อถวายความอาลัยเป็นเวลา 1 ปี และคณะรัฐมนตรีมีมติประกาศให้วันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตและวันหยุดราชการเพื่อให้ประชาชนน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์
          หลังจากการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ประชาชนชาวไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศแสดงความอาลัยผ่านสื่อที่หลากหลายด้วยวิธีต่างๆ เชิงสัญลักษณ์ เช่น การสวมใส่เสื้อผ้าสีดำ การโพสต์ (post) ภาพพระบรมฉายาลักษณ์และพระราชกรณียกิจพร้อมพิมพ์ข้อความแสดงความคิดเห็นแสดงถึงความอาลัยและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณผ่านสื่อออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ศิลปินร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานทัศนศิลป์ (Visual Art) เพื่อจัดแสดง ณ พื้นที่สาธารณะ (Public space) และมีการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่แสดงออกเป็นเชิงสัญลักษณ์ อีกทั้งการแสดงออกผ่านสื่อมวลชน สื่อออนไลน์ และสื่อสังคม (Social Media) จากทั่วโลก ตลอดรวมไปถึงพระราชสารและสารจากพระราชาธิบดี พระราชินี และผู้นำทั่วโลกที่แสดงถึงความอาลัยต่อการสวรรคตของพระองค์
          จากเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ ผู้เขียนในฐานะของประชาชนชาวไทยและผู้สร้างสรรค์งานทัศนศิลป์ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพและเรื่องราวจากพระราชกรณียกิจต่างๆ เพื่อประโยชน์อันยั่งยืนต่อประชาชนไทยและแก่ประเทศชาติ ผู้เขียนมีวัตถุประสงค์ในการแสดงออกถึงความอาลัยและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ผ่านงานจิตรกรรมเพื่อเข้าร่วมเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ

วัตถุประสงค์ในการสร้างสรรค์
1.       เพื่อเป็นการแสดงความอาลัยและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่มีต่อปวงชนชาวไทยมาตลอด 70 ปีแห่งการครองราชย์
2.       เพื่อผลิตผลงานสร้างสรรค์ที่สื่อความหมายถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
3.       เพื่อเป็นการผลิตและเผยแพร่ผลงานวิชาการสู่สาธารณะในรูปแบบของผลงานสร้างสรรค์

ขอบเขตในการสร้างสรรค์
1.       บทความนี้เป็นบทความวิชาการอธิบายกระบวนการผลิตและเผยแพร่ผลงานสร้างสรรค์ประเภทจิตรกรรม
2.       ผลงานจิตรกรรมที่นำเสนอนี้ ผลิตขึ้นหลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2560 จนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ.2560
3.       ผลงานจิตรกรรมที่นำเสนอนี้ ผลิตโดยผู้เขียน จำนวน 13 ภาพ โดยเผยแพร่สู่สาธารณะผ่านนิทรรศการศิลปะ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อออนไลน์

แนวคิดที่เกี่ยวข้อง

แนวความคิดการสร้างสรรค์
ผลงานจิตรกรรมเพื่อน้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่สร้างสรรค์และเผยแพร่ระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ.2559 ถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ.2560 มีวัตถุประสงค์ในการสื่อความหมายถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยนำเสนอภาพจิตรกรรมในบริบทของงานทัศนศิลป์ (Visual Art) ที่แสดงถึงความงามอันประกอบสร้างขึ้นด้วยทัศนธาตุ (Visual Element) และในบริบทของการเป็นภาพแทนความ (Visual Representation) ที่สัมพันธ์กับการสื่อความหมายตรงและความหมายแฝงของภาพจิตรกรรม

แนวคิดสัญวิทยา
ผู้เขียนใช้แนวคิดทางสัญวิทยา  (Semiology) มาเป็นฐานคิดเชิงทฤษฎี โดยผลงานจิตรกรรมที่สื่อสารด้วยภาพนั้นถือว่าเป็นสัญญะ (Sign) ที่ประกอบไปด้วยตัวหมาย (Signifier) หรือสิ่งที่ปรากฏเชิงกายภาพซึ่งในที่นี้ก็คือภาพที่ปรากฏบนงานจิตรกรรม และสิ่งที่ถูกหมาย (Signified) หรือแนวความคิดและความหมายของภาพจิตรกรรม ทั้งนี้การสื่อความหมายนั้นก็สามารถแบ่งเป็น 2 ขั้น คือ (1) ความหมายตรง (Denotation Meaning) เป็นความหมายขั้นแรกที่อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างตัวหมายกับสิ่งที่ถูกหมาย และ (2) ความหมายแฝง (Connotation Meaning) เป็นความหมายขั้นที่สองที่เป็นกลุ่มของความหมายที่มาเชื่อมโยงเข้าด้วยกันและภาพลักษณ์ที่เกิดขึ้นในความคิดของแต่ละบุคคลจากการที่ถูกกระตุ้นและแสดงออกโดยการใช้และการนำสัญญะมาผสมกันเป็นแบบต่างๆ อธิบายถึงความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น (มณเฑียร ศุภโรจน์, 2541: 20)

แนวคิดการประกอบสร้างความเป็นจริงทางสังคม
แนวคิดการประกอบสร้างความเป็นจริงทางสังคม (Social Construction of Reality) มีทัศนะว่า มนุษย์มีโลกแวดล้อมอยู่ 2 แบบ คือ โลกทางกายภาพ (Physical World) หรือโลกที่เป็นจริงซึ่งเต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงและไม่สมบูรณ์ และโลกทางสังคมหรือโลกแห่งความหมาย (World of Meaning) ที่มีหน้าที่ในการแสดงความหมายที่ถูกสร้างขึ้นจากการปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางสังคมต่างๆ ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ (สิริวัฒน์ มาเทศ, 2553: 25-26)

วิธีดำเนินการ
บทความวิชาการประกอบผลงานสร้างสรรค์นี้ใช้ระเบียบการวิจัยเชิงสร้างสรรค์ศิลปะ (Art Creative Research) ซึ่งหมายถึงการเขียนรายงานควบคู่ไปกับการผลิตผลงานสร้างสรรค์ หรืองานวิชาการเชิงงานสร้างสรรค์ศิลปะ (Pure Practice) ซึ่งเป็นการทำงานสร้างสรรค์ โดยเน้นที่ผลของการปฏิบัติเป็นหลักให้ความสำคัญทั้งในส่วนของกระบวนการปฏิบัติ ประสบการณ์ขณะปฏิบัติ และผลของการปฏิบัติ (ปรีชา เถาทอง, 2553: 5)
ผลงานสร้างสรรค์ในชุดนี้เป็นผลงานทัศนศิลป์ประเภทจิตรกรรมที่เกิดจากกระบวนเทคนิคอันหลากหลาย เช่น การวาด การระบาย ขูดขีด สร้างร่องรอย ปะติดวัสดุ หรือกระบวนการอื่นๆ โดยมีวัตถุประสงค์ในการนำเสนอคุณลักษณะของเส้น สี รูปร่าง รูปทรง พื้นที่ว่าง มิติ พื้นผิว จังหวะ และน้ำหนัก เพื่อสร้างความหมายให้สอดคล้องกับเนื้อหาสาระที่ผู้สร้างสรรค์ต้องการสื่อสาร  (สุริยะ ฉายะเจริญ ใน วารสารนิเทศสยามปริทัศน์, 2559: 44) จำนวน 13 ชิ้น (เพื่อสอดคล้องกับวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2559) โดยมีรูปแบบของวิธีการสร้างสรรค์ที่แตกต่างกันไปแต่ละชิ้นตามบริบทของวัตถุประสงค์ในการสื่อความหมาย เทคนิคการสร้างสรรค์ การแสดงออกเชิงสุนทรียะ และช่องทางการเผยแพร่ผลงาน

ขั้นตอนการสร้างสรรค์
1.       การเก็บข้อมูลภาพพระบรมฉายาลักษณ์และพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รวมไปถึงภาพพระราชกรณียกิจต่างๆ ของพระองค์ท่าน
2.       นำข้อมูล แรงบันดาลใจ แนวความคิด และแนวคิดต่างๆ มาวิเคราะห์แล้วสังเคราะห์ออกมาเพื่อสร้างภาพร่างและกำหนดรูปแบบเชิงภาพของผลงานสร้างสรรค์
3.       สร้างสรรค์ผลงานตามกระบวนการที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของการสื่อความหมาย เทคนิคการสร้างสรรค์ การแสดงออกเชิงสุนทรียะ และช่องทางการเผยแพร่ผลงานแต่ละชิ้น
4.       ตรวจผลงานที่เสร็จสมบูรณ์แล้วและนำไปใส่กรอบภาพเพื่อเตรียมเผยแพร่ผ่านนิทรรศการ สำหรับผลงานที่เผยแพร่ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์จะตรวจความเรียบร้อยและถ่ายภาพผลงานด้วยกล้องดิจิทัลเพื่อส่งไฟล์ไปให้กองบรรณาธิการหรือคณะกรรมการเพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะ
5.       ขั้นตอนการเผยแพร่ผลงานสร้างสรรค์
6.       นำกระบวนการสร้างและเผยแพร่ผลงานมาเขียนเป็นบทความวิชาการเพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะ

ผลงานสร้างสรรค์และการเผยแพร่สู่สาธารณะ

ตารางที่ 1 รายละเอียดผลงานสร้างสรรค์
ภาพที่
ชื่อผลงาน
เทคนิค
การเผยแพร่
1
พระราชาภูมิพล No.1 (ภาพที่ 1)
จิตรกรรมภาพวาดลายเส้นด้วยพู่กันกับหมึกดำบนกระดาษ (ขนาด 21.5 x 29.5 ซม.)
นิทรรศการศิลปะ PROJECT OUR BELOVED KING  โดยกลุ่มศิลปินไทยในนิวยอร์กและในประเทศไทย และ The Jam FactoryThe Jam Factory คลองสาน กรุงเทพฯ 13 – 30 พฤศจิกายน 2559 (ภาพที่ 18)
*ผลงานชื่อ “พระราชาภูมิพล No.2” ลงตีพิมพ์เป็นภาพประกอบเรื่อง  Project Our Beloved King
ในนิตยสาร HELLO! ปีที่ 11 ฉบับที่ 22 วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ.2559 หน้า 141 (ภาพที่ 23)
2
พระราชาภูมิพล No.2 (ภาพที่ 2)
3
พระราชาภูมิพล No.3 (ภาพที่ 3)
4
พระราชาภูมิพล No.4 (ภาพที่ 4)
5
พระราชาภูมิพล No.5 (ภาพที่ 5)
6
พระราชาภูมิพล No.6 (ภาพที่ 6)
7
พระราชาภูมิพล No.7 (ภาพที่ 7)
8
พระราชาภูมิพล No.8 (ภาพที่ 8)
9
พระราชาภูมิพล No.9 (ภาพที่ 9)
10
ทรงเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ
(ภาพที่ 10)

จิตรกรรมภาพวาดลายเส้นด้วยปากกาและหมึกดำ ขนาด 21x29 ซม.
พิพิธภัณฑ์ออนไลน์เฉลิมพระเกียรติเพื่อพ่อ เว็บไซต์พิพิธภัณฑ์ออนไลน์เฉลิมพระเกียรติเพื่อพ่อ เผยแพร่ออนไลน์ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 เป็นต้นไป (ภาพที่ 21)
11
พระราชพิธีมหามงคล เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 3 รอบ ทรงเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราใหญ่ทางสถลมารคของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พ.ศ.2506 (ภาพที่ 11)
จิตรกรรมภาพวาดลายเส้นด้วยปากกาและสีน้ำบนกระดาษ ขนาด 21x29 ซม.
เผยแพร่เป็นภาพประกอบในหนังสือ The Chronicle of King Rama 9: หนังสือภาพวิจิตร พระราชประวัติ: พระราชจริยวัตร ในหลวง รัชกาลที่ ๙ โดย ๘๙ จิตรกร. กรุงเทพฯ: บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน), 2560, หน้า 43 (ภาพที่ 20)
12
ในหลวงในดวงใจ (My King)
(ภาพที่ 12)
จิตรกรรม
สีอะคลิลิค
บนผ้าใบ
ขนาด
80x100 ซม.
นิทรรศการศิลปะ "SALON" 2nd ฟ-FUN Art Exhibition โดยกลุ่มศิลปิน ฟ:FUN Rikyu by boy Tokyo สุขุมวิท 24 กรุงเทพฯ จัดแสดง ตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน - 13 ธันวาคม 2559
และในนิตยสาร Fine Art ฉบับพิเศษ ‘ในหลวง ร. ๙’. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ไฟน์อาร์ต, 2559, หน้า 64. (ภาพที่ 22)
13
ในหลวง (My King)
(ภาพที่ 13)
จิตรกรรม
สีอะคลิลิค
บนผ้าใบ
ขนาด 60x80 ซม.
นิทรรศการในโครงการย้อนรอยพระบาทยาตรา ณ บ้านโป่ง นิทรรศการทัศนศิลป์เทิดพระเกียรติ รัชกาลที่ 9 จัดโดยบริษัทในเครือย่งฮั้วและศิลปินกลุ่มเส้นทาง ณ สมบัตินภานิวาส (บ้านไก่คู่) อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี จัดแสดง ตั้งแต่วันที่ 1-14 มิถุนายน 2560 (ภาพที่ 19)

ภาพที่ 1                              ภาพที่ 2                                      ภาพที่ 3
 ภาพที่ 4                               ภาพที่ 5                                ภาพที่ 6
ภาพที่ 7                                  ภาพที่ 8                                ภาพที่ 9
 
ภาพที่ 10                                                 ภาพที่ 11
 
ภาพที่ 12                                                ภาพที่ 13
ภาพที่ 14                          ภาพที่ 15                  ภาพที่ 16                ภาพที่ 17
ภาพที่ 18                                                        ภาพที่ 19

 
ภาพที่ 20                            ภาพที่ 21                        ภาพที่ 22   
 
ภาพที่ 23                                                        ภาพที่ 24

ภาพที่ 25
สรุป

1.    ผลงานจิตรกรรมที่สำเร็จและเผยแพร่ทั้งสิ้นจำนวน 13 ภาพ โดยจำแนกตามเทคนิคการสร้างเป็น 4  ประเภท คือ (1) ภาพวาดลายเส้นด้วยพู่กันกับหมึกดำบนกระดาษ (2) ภาพวาดลายเส้นด้วยปากกาและหมึกดำ (3) ภาพวาดลายเส้นด้วยปากกาและสีน้ำ และ (4) จิตรกรรมสีอะคลิลิคบนผ้าใบ (Acrylic on Canvas)
2.    ผลงานจิตรกรรมที่สร้างขึ้นมีรูปแบบเป็นรูปคนเหมือนแบบเต็มพระองค์ (Figure) และครึ่งพระองค์ (Portrait) โดยรูปเต็มพระองค์จะอยู่ในอิริยาบถ ยืน เดิน และนั่ง เพื่อแสดงลักษณะของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชขณะกำลังปฏิบัติพระราชกรณียกิจนอกสถานที่ และมีเพียง 1 ภาพ ที่เป็นอิริยาบถยืนนิ่ง ในขณะที่ภาพครึ่งพระองค์จะเป็นลักษณะของภาพที่แสดงพระพักตร์ที่ชัดเจน มีฉลองพระเนตร (แว่นตา) ฉลองพระองค์ (เสื้อผ้า) และเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ (เครื่องหมาย) ที่แสดงความเป็นพระมหากษัตริย์ไทย
3.    ผลงานจิตรกรรมที่นำเสนอนี้แสดงออกโดยการสื่อความหมายถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยได้รับแรงบันดาลใจจากข้อมูลภาพเป็นต้นแบบเพื่อใช้ในการเปลี่ยนถ่ายระหว่างสื่อประเภทภาพถ่ายไปสู่การสร้างภาพจิตรกรรมโดยใช้รหัสของลายเส้นที่สัมพันธ์กับเกณฑ์ทางกายวิภาคของมนุษย์ (Human Anatomy) เป็นเกณฑ์สำคัญในการสร้างโครงร่าง (outline) ของพระองค์ท่าน และใช้รหัสของสีเพื่อสร้างความจริงจำลอง (Simulation) ในรูปแบบจิตรกรรมตามมโนทัศน์ของผู้เขียนในฐานะของผู้สร้างสรรค์ผลงาน
4.    การเปลี่ยนจากภาพถ่ายสู่ภาพจิตรกรรมเป็นการสร้างภาพแทนความหมายขึ้นใหม่ โดยภาพจิตรกรรมมีการตัดทอนบริบทต่างๆ ในภาพถ่ายออก เหลือเพียงภาพพระองค์ท่านบนพื้นที่ว่าง หรือมีพื้นหลังของภาพที่เรียบแบน เพื่อขับเน้นสัญญะของภาพพระองค์ที่ตัดความเชื่อมโยงในบริบทเดิมไปสู่การสถาปนาความหมายใหม่ขึ้น (ภาพที่ 25)
5.    การสื่อความหมายตรงในภาพจิตรกรรม หมายถึง การสื่อถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยภาพที่ปรากฏในงานจิตรกรรมเป็นสัญญะที่สื่อถึงความเสมือน (Icon) ผ่านลักษณะอิริยาบถและกายวิภาค และเป็นสัญลักษณ์ (Symbol) ผ่านสัญญะต่างๆ ได้แก่ ลักษณะทางกายวิภาค ฉลองพระองค์ ฉลองพระเนตร กล้องถ่ายภาพ และเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ (ภาพที่ 25)
6.    ผลงานจิตรกรรมที่นำเสนอนี้มีความหมายแฝงที่จำแนกได้ 3 ชุด ดังนี้
6.1   การเป็นภาพแทนของพระมหากษัตริย์ที่ทุ่มเทกับการปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานานัปการเพื่อพัฒนาวิถีชีวิตของประชาชนชาวไทยและประเทศไทยให้มีความเจริญขึ้นด้วยการที่ทรงออกปฏิบัติพระราชกรณียกิจนอกพื้นที่เมืองไปสู่ชนบทเพื่อการเข้าถึงปัญหาที่แท้จริง แสดงความหมายของการเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงงานหนักเพื่อประเทศชาติและประชาชน (ภาพที่ 1 - ภาพที่ 9)
6.2   การเป็นภาพแทนของพระมหากษัตริย์ที่ทรงเสด็จขึ้นครองราชย์และแสดงขัตติยะ ผ่านสัญญะของฉลองพระองค์ เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ และบริบทต่างๆ แบบโบราณราชประเพณี เพื่อสืบสันตติวงศ์แห่งราชวงศ์จักรี (ภาพที่ 10 - ภาพที่ 11)
6.3   การเป็นภาพแทนของพระมหากษัตริย์ที่ขึ้นครองราชย์ในช่วงเวลาแห่งวัยหนุ่ม ทรงมีความสง่างามตามขัตติยะ ทรงฉลองพระเนตร และฉลองพระองค์แบบสมัยใหม่ แสดงถึงความเป็นพระมหากษัตริย์สมัยใหม่ ที่เป็นดั่งศูนย์รวมจิตวิญญาณของประเทศชาติไทย (ภาพที่ 12 - ภาพที่ 13)
7.   ผลงานจิตรกรรมที่นำเสนอนี้เผยแพร่สู่สาธารณะโดยจำแนกออกเป็น 3 ช่องทาง ดังนี้
7.1   การเผยแพร่ผ่านนิทรรศการศิลปะ (Art Exhibition) ได้แก่ (1) นิทรรศการศิลปะ PROJECT OUR BELOVED KING  โดยกลุ่มศิลปินไทยในนิวยอร์กและในประเทศไทย ณ The Jam Factory (ภาพที่ 1- ภาพที่ 9 และภาพที่ 18) (2) นิทรรศการศิลปะ "SALON" 2nd ฟ-FUN Art Exhibition โดยกลุ่มศิลปิน ฟ:FUN (ภาพที่ 12 และภาพที่ 22) (3) นิทรรศการในโครงการย้อนรอยพระบาทยาตรา ณ บ้านโป่ง นิทรรศการทัศนศิลป์เทิดพระเกียรติ รัชกาลที่ 9 (ภาพที่ 13 และภาพที่ 19)  
7.2   การเผยแพร่ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ (Publishing) ได้แก่ (1) ภาพ “พระราชพิธีมหามงคล เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 3 รอบ ทรงเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราใหญ่ทางสถลมารคของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พ.ศ.2506” ตีพิมพ์เผยแพร่เป็นภาพประกอบในหนังสือ The Chronicle of King Rama 9: หนังสือภาพวิจิตร พระราชประวัติ: พระราชจริยวัตร ในหลวง รัชกาลที่ ๙ โดย ๘๙ จิตรกร (ภาพที่ 20) (2) ภาพ “พระราชาภูมิพล No.2” ลงตีพิมพ์เป็นภาพประกอบเรื่อง  Project Our Beloved King ในนิตยสาร HELLO! ปีที่ 11 ฉบับที่ 22 วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ.2559 หน้า 141 (ภาพที่ 23) (3) ภาพ “ในหลวงในดวงใจ (My King) ตีพิมพ์เผยแพร่เป็นภาพประกอบในในนิตยสาร Fine Art ฉบับพิเศษ ‘ในหลวง ร. ๙’ (ภาพที่ 22)
7.3   การเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ (Online) โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
7.3.1   การเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ (Website) ได้แก่ ภาพ “ทรงเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ” เผยแพร่ผ่านพิพิธภัณฑ์ออนไลน์เฉลิมพระเกียรติเพื่อพ่อเว็บไซต์พิพิธภัณฑ์ออนไลน์เฉลิมพระเกียรติเพื่อพ่อ http://king9moment.com/painting?lang=th&_ga=2.116123526.1449964601.1496902515-707716402.1496902515 (ภาพที่ 21)
7.3.2   การเผยแพร่ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) ได้แก่ ผลงานทุกภาพเผยแพร่ผ่านเฟสบุ๊ก (facebook) ของผู้เขียน https://www.facebook.com/suriya.chaya โดยมีถูกใจ (Like) และแบ่งปัน (Share) ในสื่อสังคมอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ได้โพสต์ (Post) ภาพและข้อความประกอบ (ภาพที่ 24)
จากผลการดำเนินงานทำให้ประเมินได้ว่า ผลงานจิตรกรรมที่นำเสนอ 13 ภาพนี้เป็นผลงานที่มีคุณภาพทางวิชาการ เป็นการผลิตและเผยแพร่ผลงานวิชาการสู่สาธารณะในรูปแบบของผลงานสร้างสรรค์ที่สื่อถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อีกทั้งเป็นการแสดงความอาลัยและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่มีต่อประชาชนชาวไทยและประเทศชาติมาตลอด 70 ปีที่ทรงครองราชย์

ข้อเสนอแนะ
          ผู้เขียนมีข้อเสนอถึงความสำคัญของผลงานสร้างสรรค์ในบริบทของงานวิชาการที่เทียบเท่าได้กับผลจากการวิจัย การผลิตผลงานสร้างสรรค์ถือเป็นผลผลิตทางวิชาการที่สามารถต่อยอดเป็นองค์ความรู้และสร้างนวัตกรรมต่างๆ ได้ในอนาคต ผลงานสร้างสรรค์มีประโยชน์ต่องานวิชาการข้ามสาขาได้และผลงานสร้างสรรค์ในบริบทงานวิชาการยังเป็นแนวทางต่อวงวิชาการและการศึกษาในอนาคตที่เต็มไปด้วยการข้ามสื่อ (Transmedia) และการหลอมรวมสื่อ (Media Convergence) อย่างไม่หยุดยั้งอีกด้วย

บรรณานุกรม
กองบรรณาธิการ. (2559). Project Our Beloved King. นิตยสาร HELLO! ปีที่ 11 ฉบับที่ 22 วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ.2559, หน้า 140-141.
ธวัชชัย สมคง, บรรณาธิการ. (2559).นิตยสาร Fine Art ฉบับพิเศษ ‘ในหลวง ร. ๙’. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ไฟน์อาร์ต.
ปรีชา เถาทอง. (2553). ศิลปะ...เป็นงานวิจัยได้อย่างไร. เอกสารสืบเนื่องจากการประชุมวิชาการและเสนอผลงานวิจัยสร้างสรรค์ : ศิลปากรวิจัย ครั้งที่ 3 “ศิลปากรสรรค์สร้าง สังคมเศรษฐกิจไทยสร้างสรรค์”. วันที่ 28-29 มกราคม 2553 ณ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษามหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม, หน้า 1-16.
มณเฑียร ศุภโรจน์. (2541). การวิเคราะห์การใช้การ์ตูนสื่อความหมายเพื่อการรณรงค์โรคเอดส์ (พ.ศ. 2535-2539). วิทยานิพนธ์นิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาสาขาสื่อสารมวลชน  บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สืบสกุล แสงสุวรรณ, บรรณาธิการ. (2560).The Chronicle of King Rama 9: หนังสือภาพวิจิตร พระราชประวัติ: พระราชจริยวัตร ในหลวง รัชกาลที่ ๙ โดย ๘๙ จิตรกร. กรุงเทพฯ: บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน).
สุริยะ ฉายะเจริญ. (2559). “กระบวนการสร้างสรรค์ภาพจิตรกรรม: กรณีศึกษาจิตรกรรมร่วมสมัยนิทรรศการอิทส์มี” ใน วารสารนิเทศสยามปริทัศน์. ปีที่ 14 ฉบับที่ 18 ประจำปี 2559, หน้า 43-51.  
สิริวัฒน์ มาเทศ. (2553). อิสตรีที่มีความพยาบาทในละครโทรทัศน์ไทย. วิทยานิพนธ์วารสารศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาสื่อสารมวลชน คณะวารสารศาสตร์และสื่อมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2553

ภาคผนวก
บันทึกในรายงานสืบเนื่องประชุมวิชาการงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ทางนิเทศศาสตร์ ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2560 ณ มหาวิทยาลัยสยาม กรุงเทพฯ. หน้า 36-45.