Interpretative drawings of "Manila 2014"
โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ (อาจารย์ประจำภาควิชาสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม)
*งานวิจัยนี้นำเสนอผลงานวิจัยในการประชุมวิชาการงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ทางนิเทศศาสตร์
ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2558
ณ
มหาวิทยาลัยสยาม กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2558
จากรายงานสืบเนื่องประชุมฯ หน้า 338-352
บทคัดย่อ
วิจัยนี้นำเสนอกระบวนการผลิตและการสื่อความหมายภาพวาดเส้นชุด
“มะนิลา 2557” ที่ผู้วิจัยได้สร้างสรรค์ขึ้นจากความประทับใจในทัศนียภาพทางสถาปัตยกรรมและวัตถุต่างๆ
เมื่อครั้งที่ได้เดินทางไปยังเมืองมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ โดยวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการศึกษาในเรื่องของแรงบันดาลใจ
แนวคิด กระบวนการสร้างสรรค์ การสื่อความหมาย
และคุณค่าทางสุนทรียศาสตร์ของภาพวาดเส้น ซึ่งผลจากการศึกษาพบว่าภาพวาดเส้นชุดนี้เป็นการใช้รหัสเชิงสุนทรียะเป็นกฎเกณฑ์ที่สำคัญในการสร้างภาพแทนความหมายที่สื่อถึงร่องรอยทางประวัติศาสตร์
สถาปัตยกรรมและวัตถุแห่งความศรัทธา และภาพสะท้อนวิถีชีวิตร่วมสมัยของเมืองมะนิลา ภาพแต่ละภาพใช้เส้นตรงและเส้นโค้งที่ประกอบขึ้นเป็นรูปสัญญะอันนำไปสู่ความหมายที่แตกต่างไปจากหน่วยย่อยของลายเส้นที่มีหน้าที่เพียงทัศนธาตุหนึ่ง
ภาพวาดเส้นแต่ละภาพได้มีการกำกับความหมายตรงด้วยข้อความที่เขียนขึ้นเป็นตัวอักษรประกอบด้วย
ในขณะที่ตัวของภาพวาดเส้นเองก็มิได้สื่อถึงเรื่องของช่วงเวลา
แต่จะถูกกำกับความหมายเรื่องเวลาด้วยตัวเลขและตัวอักษรที่เขียนขึ้นประกอบในบริเวณของตัวภาพ
คำสำคัญ: การสื่อความหมาย, ภาพวาดเส้น
Abstract
This research presents the
production process and interpretive drawings of "Manila 2014". The researchers created the impression in the
architectural scenery and objects. When traveling to Manila,
Philippines. The purpose of this research is to study the
matter of inspiration, concept, creativity, interpretation and
aesthetics values of drawings. Results from the study
showed that this line drawings aesthetic code used to create the image that
conveys the meaning of historical traces, architecture and
objects of faith and reflections on contemporary life style of the city of
Manila. Each image straight lines and curves that make up a sign which will
lead to significant differences between the subunits of the lines have a visual
element. The drawings have the meaning of a text written letters contain. While
the drawings did not reflect a matter of moments. But the time is marked with
numbers and letters written in the assembly area of the image.
Keyword:
interpretative, drawing
บทนำ
เมื่อกล่าวถึงภาพวาดที่ใช้สีเดียวหรือใช้สีเอกรงค์ (Monochromes) นับเป็นช่องทางการสื่อสารที่มีขึ้นมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์
เช่น ภาพวาดบนผนังถ้ำ เป็นต้น ผลงานภาพวาดสีเดียวหรือสีเอกรงค์นี้เรียกว่า
“ภาพวาดเส้น” (Drawing) หรือ “ภาพลายเส้น” ก็ได้
ซึ่งสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดรูปในการวาดเส้น ก็คือ เส้น (Line)
(น. ณ ปากน้ำ 2543: 33) ภาพวาดเส้นถือเป็นการแสดงออกทางศิลปะในรูปแบบ
2 มิติขั้นพื้นฐาน
และยังสามารถสื่อถึงเนื้อหาอันเกิดจากแรงบันดาลใจและความประทับใจของผู้สร้างสรรค์ให้ถ่ายทอดออกมาได้ตรงและชัดเจนอย่างที่สุด
ภาพวาดเส้นหรือภาพลายเส้นจึงเป็นผลที่เกิดจากกระบวนการสร้างสรรค์ที่เป็นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้ปรากฏเป็นร่องรอยของการกระทำนั้นบนพื้นที่ว่างบนวัตถุหนึ่งๆ
ซึ่งร่องรอยดังกล่าวอาจจะประกอบไปด้วย จุด (dot) เส้น (line) สี (color)
รูปร่าง (shape) รูปทรง (form)
หรือพื้นผิว (texture) ล้วนไม่ได้เกิดขึ้นจากความบังเอิญ
หากแต่เกิดขึ้นจากเจตจำนงของผู้สร้างสรรค์ที่ทำการบันทึกสภาวะของความเป็นจริงที่เกิดขึ้นลงไปบนพื้นที่ว่างนั้น
โดยที่ความเป็นจริงนั้นก็ไม่ใช่แค่เพียงความจริงในทางกายภาพของวัตถุเท่านั้น
หากแต่รวมไปถึงสภาวะความเป็นจริงของอารมณ์ความรู้สึก (emotion) หรือแม้แต่กระบวนความคิด (conceptual) ของผู้สร้างสรรค์ด้วย
ดังที่นอร์แมน ไบร์สัน (Norman Bryson) ได้เขียนเอาไว้ว่า “จิตรกร(ผู้ผลิตงานสร้างสรรค์)
เป็นผู้พินิจด้วยการจ้องมองและสร้างรูปทรงซึ่งเป็นการสื่อสารด้วยลายเส้นในจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งจากการสังเกตอย่างสมบูรณ์ตามทัศนะจนเกิดเป็นจุดสนใจที่กระตุ้นผู้ดูกระหายที่จะจ้องมองซ้ำอีกครั้ง”(Norman Bryson, Michael Ann Holly and Keith Moxey 1991:
63)
ผลงานวาดเส้นเป็นการนำเสนอในแง่มุมของความงาม ความสะเทือนทางอารมณ์ความรู้สึก
และความคิดสร้างสรรค์ควบคู่ไปกับการสื่อสารความหมาย
ซึ่งภาพวาดเส้นไม่เพียงอยู่ภายใต้ร่มเงาของบริบททางทัศนศิลป์ (Visual
Art) เท่านั้น เพราะในมิติของการสื่อสาร (communication) นั้น วาดเส้นก็ยังคงทำหน้าที่สำคัญในการเป็นตัวสื่อ (media) และตัวสาร (massage) ผ่านเครื่องหมายหรือสัญญะ (sign) ที่ถูกประกอบขึ้นเป็นรูปลักษณ์ (image) บางอย่าง
เช่น ผลงานวาดเส้นที่ปรากฏบนจิตรกรรมฝาผนัง คัมภีร์ทางศาสนา
หนังสือหรือตำราความรู้ต่างๆ ในอดีต ขณะที่ในยุคสมัยใหม่
ภาพลายเส้นมีบทบาททั้งการเป็นภาพประกอบ (illustration) แล้วยังถูกใช้ในบริบทของภาพการ์ตูน
(cartoon/ comic) และรวมไปถึงการ์ตูนภาพเคลื่อนไหวหรือภาพยนตร์อะนิเมชั่น
(animation) อีกด้วย
ทิวทัศน์ (landscape) ถือเป็นหนึ่งในหัวข้อที่สำคัญของผู้ที่สร้างสรรค์งานวาดเส้นและงานจิตรกรรม
แม้ภาพวาดเส้นที่มีรูปแบบภาพทิวทัศน์จะไม่ได้สื่อสารด้วยรหัสการแสดงสีหน้าหรือท่าทาง
(action) แบบภาพตัวละครการ์ตูน (cartoon character) ก็ตาม
แต่ภาพวาดเส้นทิวทัศน์ก็ใช้เส้นเป็นส่วนสำคัญในการประกอบขึ้นเป็นภาพที่แสดงความหมาย
รวมไปถึงการเป็นภาพตัวแทน (representation) ของสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง
ซึ่งภาพตัวแทนสถานที่นั้นไม่ได้สื่อถึงเวลาในอดีตหรือปัจจุบัน
แต่เป็นการสื่อถึงภาพจำลองของโครงสร้างของสภาพแวดล้อมสถานที่นั้นๆ
ให้เป็นภาพแทนความหมายนั่นเอง
ภาพวาดเส้นชุด “มะนิลา 2557”
(Manila 2014)
เป็นผลงานสร้างสรรค์ของผู้วิจัยที่ผลิตขึ้นขณะเดินทางไปประเทศฟิลิปปินส์ วิจัยนี้จึงเป็นการศึกษาในเรื่องของแรงบันดาลใจ
แนวคิด กระบวนการสร้างสรรค์ การสื่อความหมาย และคุณค่าทางสุนทรียศาสตร์ของภาพวาดเส้นชุด
“มะนิลา 2557”ซึ่งได้ถูกผลิตขึ้นอย่างมีระเบียบวิธีการที่สอดคล้องกับการศึกษาเพื่อค้นคว้าหาองค์ความรู้ที่ได้จากการผลิตผลงานสร้างสรรค์ด้วย
วิจัยนี้จึงเป็นการนำเสนอทั้งผลงานสร้างสรรค์และผลงานวิจัยที่เกิดจากการวิเคราะห์ผลงานสร้างสรรค์ในชุดนี้ด้วย
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
1.
เพื่อศึกษาแรงบันดาลใจ
แนวคิด และกระบวนการสร้างสรรค์ภาพวาดเส้นชุด “มะนิลา 2014”
2.
เพื่อศึกษาและวิเคราะห์วิธีการสร้างและสื่อความหมายด้วยภาพวาดเส้นชุด
“มะนิลา 2014”
3.
เพื่อศึกษาและวิเคราะห์คุณค่าทางสุนทรียศาสตร์ของภาพวาดเส้นชุด
“มะนิลา 2014”
ขอบเขตการวิจัย
1.
ภาพวาดเส้นที่นำมาเป็นกรณีศึกษาในการทำวิจัยนี้เป็นผลงานวาดเส้นชุด
“มะนิลา 2014”
2.
ภาพวาดเส้นชุด
“มะนิลา 2014” เป็นผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้น ณ ประเทศฟิลิปปินส์
มีจำนวนทั้งสิ้น 18 ชิ้น เท่านั้น
3.
งานวิจัยนี้ทำการการศึกษาและวิเคราะห์ภาพวาดเส้นชุด
“มะนิลา 2014” ในเรื่องของแรงบันดาลใจ
แนวคิดกระบวนการสร้างสรรค์ วิธีการสร้างและสื่อความหมาย
และคุณค่าทางสุนทรียะเท่านั้น
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1.
เพื่อมีความเข้าใจแรงบันดาลใจ
แนวคิด และกระบวนการสร้างสรรค์ภาพวาดเส้นชุด “มะนิลา 2014”
2.
เพื่อมีความเข้าใจในกระบวนการการสร้างและการสื่อความหมายด้วยภาพวาดเส้นชุด
“มะนิลา 2014”
3.
เพื่อเข้าถึงคุณค่าทางสุนทรียะของภาพวาดเส้นชุด
“มะนิลา 2014”
4.
เพื่อนำผลจากการวิจัยไปปรับใช้ในการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องการสื่อความหมายด้วยภาพวาดลายเส้น
แนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง
แรงบันดาลใจ
ภาพวาดเส้นชุด “มะนิลา 2557” (Manila 2014)
เป็นผลงานสร้างสรรค์ที่มีจำนวนทั้งสิ้น 18 ภาพ
ซึ่งผู้เขียนได้ผลิตขึ้นขณะเดินทางไปประเทศฟิลิปปินส์
ผลงานชุดนี้เป็นภาพวาดเส้นทิวทัศน์ที่ใช้ลายเส้นเป็นส่วนสำคัญในการสร้างรูปร่างโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นภาพวาดลายเส้นที่แทนความหมายของสถานที่ใดสถานที่หนึ่งอันจะสื่อไปถึงเมืองมะนิลา
ประเทศฟิลิปปินส์ ภาพวาดเส้นนี้ไม่เพียงนำเสนอคุณค่าในบริบทของการแสดงออกทางทัศนศิลป์เท่านั้น
แต่ยังถือเป็นกระบวนการผลิตตัวสื่อและตัวสารภายใต้บริบทของศาสตร์ทางด้านการสื่อสารด้วย
แนวคิดภาพวาดเส้น
ภาพวาดเส้น คือ ภาพที่เกิดขึ้นจากผลของการที่วัตถุหนึ่งกระทำบางสิ่งบางอย่างไปบนวัตถุหนึ่งที่เป็นระนาบ
โดยผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนั้นจะเป็นร่องรอยที่อยู่ในรูปของจุด เส้น หรือสี
ซึ่งร่องรอยนั้นก็นำไปสู่การประกอบขึ้นเป็นรูปร่าง รูปทรง หรือพื้นผิว เพื่อสะท้อนความงาม
(beauty) ความรู้สึก (emotion) และความคิด
(conceptual) ของผู้สร้างสรรค์ วาดเส้นนั้น
“อาศัยธรรมชาติเป็นแม่แบบในการเกิดแรงบันดาลใจ (inspiration) หลังจากเกิดความประทับใจ (impression) แล้ว
จากนั้นจึงกลั่นกรองความงามของธรรมชาติให้เกิดจินตนาการเป็นอารมณ์สะเทือนใจ (emotion)
แล้วจึงถ่ายถอนอารมณ์ความรู้สึกลงไปในงานศิลปะ (expression)” (น. ณ ปากน้ำ 2543: 127)
การวาดเส้นจึงถือว่าหัวใจสำคัญของการสร้างสรรค์ศิลปะประเภททัศนศิลป์ (สมพร
รอดบุญ ใน สูจิบัตรนิทรรศการ Multiple
drawing 2535: ไม่ปรากฏเลขหน้า)
ภาพวาดเส้นชุด “มะนิลา 2557” นี้เป็นการวาดเส้นที่มีมีวัตถุประสงค์เพื่อ “บันทึกข้อเท็จจริง” (ชลูด นิ่มเสมอ 2553: 25) ซึ่งก็คือกระบวนการวาดเส้นที่มีเป้าหลายหลักอยู่ที่การบันทึกข้อเท็จจริงทางกายภาพด้วยกระบวนการวาดด้วยเส้น
แต่ข้อเท็จจริงที่ถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานวาดเส้นนั้นมิใช่ความเหมือนจริงแบบภาพถ่าย
แต่เป็นการเข้าไปถึงแก่นของความจริงของวัตถุต่างๆ โดยการวาดด้วยเส้น (Line
Drawing หรือ Delineation Drawing)
ซึ่งเน้นเฉพาะการใช้ลายเส้นในการแสดงออกเท่านั้น
(สงวนศรี ตรีเทพประติมา, 2555: 22)
ผลงานในลักษณะดังกล่าวเป็นการใช้ลายเส้นเป็นธาตุสำคัญในการนำเสนอสุนทรียะและการสื่อสารความหมาย
ทฤษฎีสัญวิทยา
สัญวิทยา (semiology) หรือสัญศาสตร์ (semiotic) คือ สาขาวิชาที่ศึกษาระบบของสัญญะ (a system of sign) หรือศาสตร์ว่าด้วยสัญญะ (a science of sign)
(ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, 2555: 8) สัญญะ
(sign) คือสิ่งต่างๆ
ที่อาจจะอยู่ในรูปของคำ ภาพ เสียง กลิ่น รส การกระทำ และวัตถุต่างๆ
ซึ่งสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ไม่ได้มีความหมายอะไรในตัวเอง แต่จะกลายสภาพมาเป็นสัญญะทันทีที่เราสร้างความหมายให้กับมัน
เพราะฉะนั้นสิ่งๆ หนึ่งจะมีความหมายได้ก็เพราะมันมีการสื่อความหมายบางอย่างนั่นเอง
โซซูร์ (Ferdinand de Saussure) ได้เสนอว่า
สัญญะมีส่วนประกอบอยู่ 2 ส่วน คือ “ตัวหมาย (Signifier) แทนเสียง-ภาพ และสิ่งที่ถูกหมาย (Signified) แทนความคิด (concept) ดังนั้นในสัญญะหนึ่งๆ
จึงแยกเป็นสองส่วนเสมอ” (ธีรยุทธ บุญมี, 2551: 64-65) ในขณะที่เพียซ
(Charles Sanders Peirce) แบ่งสัญญะออกเป็น 3 ประเภท (Anne D'Alleva, c2012: 28-29) ได้แก่ สัญลักษณ์ (Symbol), ภาพเสมือน (Icon)
และดัชนี (Index)
เมื่อสัญญะแต่ละตัวมาผสมกันจนเกิดเป็นการจัดการภายใต้กฎเกณฑ์อันเป็นที่ยอมรับซึ่งเรียกว่า
“รหัส” (code) รหัสคือกระบวนการที่ใช้ในการสร้างความหมายขึ้นมา
(มณเฑียร ศุภโรจน์, 2541: 19) ในกรณีวิจัยนี้ได้มุ่งประเด็นไปที่รหัสเชิงสุนทรียะ (Aesthetic Code) ซึ่งมีความหลากกลายในการให้ความหมาย
กระบวนการเข้ารหัสและถอดรหัสมีลักษณะเป็นอัตวิสัย (subjective) ขึ้นอยู่กับอารมณ์และความรู้สึกส่วนตัวของแต่ละบุคคล
ฟิส์ก (John
Fiske)
ได้อธิบายเอาไว้ว่า “รหัสเชิงสุนทรียะเป็นสิ่งที่ยากจะหาคำจำกัดความเพราะว่ามันเป็นสิ่งที่มีความหลากหลาย
มีข้อจำกัดที่น้อย และเปลี่ยนแปลงได้เร็ว
มันเป็นสิ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากบริบททางวัฒนธรรมของตัวมันเอง
อีกทั้งยังมีลักษณะที่อนุญาตหรือเชิญชวน รวมไปถึงต่อรองลักษณะของความหมาย
การถอดรหัสที่เบี่ยงเบนไปจากมาตรฐาน รหัสเชิงสุนทรียะสามารถแสดงออกถึงสิ่งที่ถูกปกปิดอยู่ภายในจิตใจอันเป็นโลกของอัตนัย
อีกทั้งยังสามารถเป็นแหล่งข้อมูลที่ดีและมีความหมายในตัวเองผ่านรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับความคิด”
(1990: 80-81) “รหัสนี้มีแนวโน้มส่งเสริมลักษณะของความหมายแฝง
(connotation) และความหลากหลายของการตีความ (interpretation)
ซึ่งตรงกันข้ามกับหลักทางตรรกะ (logical) หรือรหัสเชิงวิทยาศาสตร์
(scientific codes) ที่พยายามที่จะลดคุณค่าลักษณะดังกล่าวนี้”
(Termwiki, Aesthetic codes 2014: ระบบออนไลน์) เพราะฉะนั้นการศึกษาระบบของสัญญะก็คือการศึกษาการทำงานของรหัส
ซึ่งรหัสเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่กระบวนการสร้างความหมายขึ้นนั่นเอง
แนวคิดทางสุนทรียศาสตร์
สุนทรียศาสตร์คือศาสตร์ที่อธิบายความงาม
ซึ่งความงามในที่นี้หมายถึงความงามที่อยู่ในวัตถุที่แสดงออกซึ่งความงาม
การอธิบายความงามนั้นเป็นเรื่องในเชิงอัตนัย (subjective) ที่มิอาจจำเพาะความถูกผิดตามหลักวิทยาศาสตร์ได้
ความงามในวัตถุแห่งความงามหรือเรียกว่าผลงานศิลปะนั้นย่อมแสดงเพื่อให้ผู้ดูหรือผู้รับสารมีความเข้าใจและซาบซึ้งกับความงามนั้นๆ
ในแง่มุมของตัวเอง ซึ่งความงามหรือในบริบทของศิลปะนั้นก็คือการแสดงแสดงออกของอารมณ์ความรู้สึก
โดยที่กระแสดงออกนั้นทำหน้าที่เป็นทั้งตัวสื่อและตัวสารในบริบทของการสื่อสารด้วย
ซึ่งแนวคิดทางสุนทรียศาสตร์ที่มีอยุ่หลากหลายนั้น
นักปรัชญากรีกอย่างเพลโต้ (Plato: 427-347
ก่อน ค.ศ.) และอริสโตเติล (Aristotle: 384-322 ก่อน ค.ศ.) ได้อธิบายความงามที่อยู่ในบริบทของศิลปะว่าเป็นการเลียนแบบ
(imitation) การประเมินซึ่งความงามนั้นจึงขึ้นอยู่กับความเหมือนจริง
(ลักษณวัต ปาละรัตน์
2551: 117) ขณะที่ตอลสตอย (Leo Tolstoy: ค.ศ.1828-1910) นักเขียนและนักปรัชญาชาวรัสเซียได้ให้นิยามศิลปะเอาไว้ว่าเป็นการแสดงออก
ซึ่ง “การแสดงออกนั้นเป็นรูปแบบหนึ่งของการสื่อสาร โดยเป็นการสื่อสารถึงอารมณ์ความรู้สึก” (Noel Carroll 1999: 61) ในขณะที่ โครเช่ (Benedetto Croce: ค.ศ.1925-1952) มีแนวคิดที่ว่า “ศิลปะคือการแสดงออกของความประทับใจ…การแสดงออกเป็นกิจกรรมที่ไม่สามารถแบ่งแยกออกจากผลงานศิลปะได้ ทุกๆ
การแสดงออกเป็นการแสดงออกเฉพาะและกระทำด้วยการหลอมรวมความประทับใจที่มีต่อทุกองค์ประกอบ
ความต้องการแสดงออกเกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันทีเสมอ
ผลงานศิลปะนั้นเป็นสิ่งที่มีเอกภาพ (Unity) เพราะเป็นการหลอมรวมของสิ่งที่คล้ายกัน
หรือเรียกว่าเป็นเอกภาพในความหลากหลาย (Unity in variety) ซึ่งหมายความว่า
การแสดงออกนั้นเป็นการสังเคราะห์คุณลักษณะต่างๆ ที่หลากหลายไปสู่สิ่งๆ หนึ่ง…”
(Benedetto Croce อ้างถึงใน เดือนรุ่งฟ้า เพ็ญไพสิฐ, 2553: 56) “ศิลปะนั้นเป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมายที่สำคัญและจินตภาพของศิลปะนั้นเป็นการแสดงออกถึงความรู้สึก...ศิลปะคือการแสดงออก
(Art is expression) โดยการแสดงออกนั้นหมายถึงการเกิดอัชฌัตติกญาณภายในตัวของศิลปิน”
(อ้างถึงใน รองศาสตราจารย์ ดร.
ลักษณวัต ปาละรัตน์, 2551: 100)
ระเบียบวิธีวิจัย
วิจัยนี้เป็นการศึกษาในรูปแบบของการวิจัยเชิงคุณภาพ
(Qualitative Research) ที่มุ่งไปที่การศึกษาเชิงลึกในตัวสื่อหรือสารซึ่งก็คือภาพวาดเส้นชุด
“มะนิลา 2557”
โดยมีแหล่งข้อมูลจากข้อมูลจากสถานที่จริง ข้อมูลจากการบันทึกด้วยภาพลายเส้น
และข้อมูลจากเอกสารต่างๆ ผู้วิจัยได้ใช้ผลงานภาพวาดเส้นที่ผลิตขึ้นเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์โดยใช้แรงบันดาลใจการสร้างสรรค์
แนวคิดภาพวาดเส้น ทฤษฎีสัญวิทยา และแนวคิดทางสุนทรียศาสตร์
ผู้วิจัยได้นำเสนอเป็นวิธีการพรรณนาเชิงวิเคราะห์ (Analytical
Description )
ขั้นตอนการสร้างสรรค์
1.
ผู้เขียนเดินทางไป
ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ (Philippines) หรือชื่อทางการคือ
สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ (Republic of the Philippines)
2.
ทำการสำรวจเก็บข้อมูล
ณ สถานที่ต่างๆ เพื่อผลิตผลงานสร้างสรรค์
3. เนื่องจากผลงานสร้างสรรค์ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์การนำเสนอในรูปแบบของภาพวาดเส้นหรือภาพลายเส้นที่บันทึก
ณ สถานที่จริง การผลิตผลงานจึงต้องวิเคราะห์ภูมิทัศน์ของสถานที่นั้นๆ
โดยเฉพาะในด้านของสิ่งก่อสร้างหรือสถาปัตยกรรม
เพราะรูปแบบที่นำเสนอจะเป็นภาพวาดเส้นทิวทัศน์สิ่งก่อสร้าง
4.
ถ่ายภาพเพื่อบันทึกเป็นข้อมูลภาพจริง
5. ทำการวาดภาพลายเส้นด้วยเทคนิคปากกาดำบนกระดาษ
ซึ่งการวาดลงไปนั้นไม่ได้ทำการร่างภาพด้วยดินสอก่อน
แต่เป็นการวาดด้วยเส้นดำของปากกาเลย
เส้นที่ปรากฏจึงเกิดขึ้นจากการตอบสนองระหว่างการจ้องมองกับการถ่ายทอดออกมาเป็นภาพลายเส้นด้วยมือที่ขยับออกมา
(ภาพที่ 1)
6. นอกจากสร้างสรรค์ผลงานเป็นภาพลายเส้นแล้วก็ยังบันทึกด้วยตัวอักษรแบบเขียนด้วยถ้อยความที่บรรยายถึงลักษณะเฉพาะของสถานที่นั้นๆ
ประกอบกับบันทึกวันเดือนปีอีกด้วย (ภาพที่ 2)
7.
ผลงานวาดเส้นภาพวาดเส้นชุด
“มะนิลา 2557”
ที่สร้างขึ้นสำเร็จมีจำนวนทั้งสิ้น 18 ภาพ
8.
เมื่อผลงานเสร็จสมบูรณ์ก็เก็บรักษาในอุณหภูมิที่ไม่สูงหรือต่ำเกินไป
โดยเก็บไว้ในอุณหภูมิปกติ
9.
เมื่อกลับมาประเทศไทยแล้ว
จึงนำภาพวาดเส้นมาทำการศึกษา
10. หลังจากนั้นจึงเขียนเป็นบทความวิชาการเพื่ออธิบายกระบวนการสร้างสรรค์
ตลอดจนองค์ความรู้ที่ได้รับจากการสร้างสรรค์
11. ทำการศึกษาตามระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพและเผยแพร่สู่สาธารณะ
ภาพถ่ายขณะที่ผู้เขียนกำลังปฏิบัติงานในสถานที่จริง
ณ เมืองมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์
ผลงานภาพวาดเส้นที่ถ่ายเปรียบเทียบกับสถานที่จริง
การวิเคราะห์ทางด้านการสื่อความหมาย
จากการศึกษาทำให้สามารถวิเคราะห์การสื่อความหมายภาพวาดเส้นชุด “มะนิลา 2557” และจำแนกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
1.
ภาพวาดเส้นที่สื่อถึงร่องรอยทางประวัติศาสตร์ของเมืองมะนิลา
อันประกอบไปด้วยเครื่องหมายที่แสดงถึงอิทธิพลของชาวต่างชาติที่ถ่ายทอดออกมาในรูปแบบสถาปัตยกรรมและพาหนะที่มีความโดดเด่นจนเป็นเอกลักษณ์ของเมืองมะนิลา
2.
สถาปัตยกรรมและและวัตถุแห่งความศรัทธา
ซึ่งประกอบไปด้วยเครื่องหมายที่สื่อถึงสถานที่และวัตถุทางจิตวิญญาณที่เชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์
โดยเฉพาะอิทธิพลจากคริสต์ศาสนาที่มีชาวมะนิลาศรัทธาเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงศาสนสถานของชาวมุสลิมในเมืองมะนิลาเองก็สะท้อนการมีอยู่ของศาสนาอิสลามถึงแม้ว่าจะมีจำนวนผู้ศรัทธาน้อยกว่าศาสนาคริสต์ก็ตาม
3.
ภาพสะท้อนวิถีชีวิตร่วมสมัย
อันประกอบไปด้วยเครื่องหมายของสถาปัตยกรรม สิ่งก่อสร้าง และวัตถุต่างๆ ที่แสดงถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบันของชาวมะนิลา
ซึ่งก็มีความคล้ายคลึงกับหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและยังคงมีความขัดแย้งระหว่างวิถีชีวิตแบบเดิมกับอิทธิพลภาวะสมัยใหม่
แต่ความขัดแย้งนั้นก็ยังคงดำเนินควบคู่กันไปเฉกเช่นประเทศที่กำลังพัฒนาอีกหลายประเทศทั่วโลก
สรุป
เพราะฉะนั้นการวิจัยเรื่องการสื่อความหมายภาพวาดเส้นชุด
“มะนิลา 2557”สามารถสรุปผลได้ดังนี้
1.
ภาพวาดเส้นชุด
“มะนิลา 2557” นี้เป็นการสร้างสรรค์ที่ผลิตขึ้นด้วยการใช้แนวคิดและเทคนิคการวาดเส้นด้วยลายเส้น
(Line Drawing) โดยมีแรงบันดาลใจจากการที่ผู้เขียนได้เดินทางไปเมืองมะนิลา
ประเทศฟิลิปปินส์
และได้ทำการบันทึกสถานที่และวัตถุที่เป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญที่สื่อถึงเมืองมะนิลาอันเป็นเมืองหลวงที่สำคัญแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นับตั้งแต่อดีต
2.
ภาพวาดเส้นชุด
“มะนิลา 2557” ได้ผลิตขึ้นภายใต้แนวคิดทฤษฎีสัญวิทยาโดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างภาพแทนความหมายของความเป็นเมืองมะนิลาโดยทำหน้าที่ทับซ้อนกันระหว่างลักษณะของภาพเสมือนและความเป็นสัญลักษณ์
ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับบริบทการสื่อความหมายของภาพแต่ละภาพ
โดยสามารถจำแนกเรื่องที่สื่อความหมายดังนี้ คือ ร่องรอยทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมและและวัตถุแห่งความศรัทธา
และภาพสะท้อนวิถีชีวิตร่วมสมัยของเมืองมะนิลา
3.
ภาพวาดเส้นชุด
“มะนิลา 2557” สื่อความหมายโดยใช้รหัสเชิงสุนทรียะ (Aesthetic
code) เป็นเกณฑ์ในการทำให้แต่ละภาพมีความหมายที่นอกเหนือไปจากตัวเส้นเท่านั้น
ซึ่งรหัสในผลงานชุดนี้เป็นการประกอบขึ้นจากเส้นตรงและเส้นโค้งเพื่อให้เกิดเป็นรูปร่าง
เพราะฉะนั้นการเข้าใจความหมายตรง(denotation) อันเป็นความหมายขั้นแรกที่อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างตัวหมายกับสิ่งที่ถูกหมายของภาพแต่ละภาพนั้น
ผู้ดูหรือผู้รับสารก็สามารถที่จะตีความได้ไม่ยาก ส่วนการเข้าใจความหมายแฝง (connotation) หรือความหมายขั้นที่สองนั้นเป็นการตีความที่ขึ้นอยู่กับบริบทแต่ละบุคคลว่าสามารถที่จะเข้าใจภาพวาดเส้นชุดดังกล่าวอย่างไร
หรือจะกล่าวได้ว่าผลงานวาดเส้นชุดนี้มีการการตีความหมายในแบบอัตวิสัย (subjectivity) โดยเกี่ยวข้องกับประเด็นร่องรอยทางประวัติศาสตร์
สถาปัตยกรรมและวัตถุแห่งความศรัทธา และภาพสะท้อนวิถีชีวิตร่วมสมัยของเมืองมะนิลา
หรือแม้กระทั่งอารมณ์ความรู้สึกของผู้ดูหรือผู้รับสารเอง
ซึ่งรหัสเชิงสุนทรียะเองก็ได้เปิดทางให้การสื่อความหมายในลักษณะของการตีความในแบบอัตวิสัย
จึงทำให้ความหมายแฝงนั้นมีลักษณะที่อิสระและสามารถตีความได้หลากหลายนั่นเอง
4.
รูปภาพวาดเส้นแต่ละชิ้นมีความสอดคล้องกับตัวอักษรที่ถูกเขียนขึ้นเพื่อกำกับความหมาย
ซึ่งมีความเหมือนกันกับการสื่อความหมายในหนังสือภาพประกอบ (illustration) หรือหนังสือการ์ตูน (comic) ที่ความหมายของข้อความตัวอักษรมีความเกี่ยวเนื่องหรือเป็นการกำกับความหมายที่เกิดขึ้นจากตัวภาพวาดลายเส้น
หรือขณะเดียวกันภาพวาดเส้นนั้นเองก็เป็นการกำกับความหมายที่เกิดขึ้นจากข้อความตัวอักษรด้วย
ซึ่งการตัดทอนส่วนใดส่วนหนึ่งของทั้งข้อความตัวอักษรหรือตัวภาพลายเส้นอาจมีผลต่อความเข้าใจความหมายที่ควรจะเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง
5.
ภาพวาดเส้นที่เป็นเพียงการใช้เส้นอย่างเดียว
(line drawing) ไม่สามารถสื่อสารเรื่องของเวลา (timing) ได้
ซึ่งอาจแตกต่างจากการบันทึกภาพด้วยกล้องถ่ายภาพที่อาจจะสามารถทำความเข้าใจเรื่องเวลาได้ด้วยหลักความชัดเจนของสีหรือทฤษฎีแสง-เงา
ในขณะภาพที่ใช้เส้นเป็นภาพที่อยู่ในปริมณฑลของความเป็นอุดมคติที่มิได้ทำการอธิบายเรื่องเวลา
เพราะตัวภาพมิได้สื่อด้วยความชัดเจนของสีหรือทฤษฎีแสง-เงาซึ่งก็ทำให้ตัวภาพเองมิอาจจะสื่อความหมายที่เกี่ยวข้องกับเวลาได้
เพราะฉะนั้นการสื่อความหมายเรื่องของเวลาจึงถูกการกำกับความหมายด้วยบริบทอื่นๆ
นั้นคือรหัสของตัวเลขและตัวอักษร
ภาพวาดเส้นชุด “มะนิลา 2557”
ถูกผลิตขึ้นภายใต้บริบทของผลงานทางด้านวิชาการ ผลงานในชุดนี้ไม่เพียงมีคุณค่าในเชิงของทัศนศิลป์เท่านั้น
แต่ในบริบทของการสื่อสารนั้น ยังถือเป็นกระบวนการสร้างตัวสื่อและตัวสารที่สำคัญโดยนำเสนอเป็นภาพวาดเส้นหรือภาพลายเส้น
ซึ่งองค์ความรู้ที่ได้รับจากกระบวนการสร้างสรรค์นั้นก็สามารถที่จะนำไปพัฒนาการเรียนการสอนในรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารด้วยภาพลายเส้นได้ในเรื่องของการนำแนวคิดด้านการสื่อสารมาใช้ในการสร้างผลิตผลงานสร้างสรรค์
โดยเฉพาะในวิชาพื้นฐานการ์ตูนและการผลิตการ์ตูน
ซึ่งอยู่ภายใต้หลักสูตรของภาควิชาสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม
อภิปรายผลการวิจัย
งานวิจัยนี้เป็นผลงานวิจัยที่ประกอบการสร้างสรรค์ผลงาน
ซึ่งสามารถที่จะอธิบายในเรื่องของแรงบันดาลใจการสร้างสรรค์ แนวคิดภาพวาดเส้น
ทฤษฎีสัญวิทยา และแนวคิดทางสุนทรียศาสตร์ได้ตามที่ได้ตั้งวัตถุประสงค์ไว้
ทั้งนี้ผู้วิจัยมีความตั้งใจให้การสร้างสรรค์หรือการผลิตผลงานมีสถานะของผลงานวิชาการที่เชื่อถือได้
จึงได้ทำการวิจัยควบคู่กับผลงานสร้างสรรค์ที่ได้ผลิตขึ้นด้วย โดยได้อธิบายในระเบียบวิธีวิจัยแล้ว
ข้อเสนอแนะ
ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะว่า แม้การวาดเส้นจะอยู่ในบริบทของงานทางด้านทัศนศิลป์
(visual art) เป็นสำคัญ
แต่หากเชื่อมโยงกับหลักแนวคิดและทฤษฎีทางด้านการสื่อสาร (communication) ก็ทำให้ภาพวาดเส้นนั้นมีความสำคัญเฉกเช่นเดียวกับงานสร้างสรรค์ในสื่อที่แตกต่างกัน
ซึ่งการนำผลงานสร้างสรรค์ประเภทวาดเส้นนี้มาทำการศึกษาภายใต้ร่มเงาของการสื่อสารก็นับเป็นการเปิดประตูให้ศาสตร์ทางการสื่อสารได้ทำการศึกษาครอบคลุมทุกสื่อที่สร้างขึ้นในปัจจุบันอันเป็นยุคของสารสนเทศ
(Information Age)
บรรณานุกรม
ภาษาไทย
ชลูด นิ่มเสมอ. วาดเส้นสร้างสรรค์. กรุงเทพฯ:
อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2553.
ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. สัญวิทยา โครงสร้างนิยม หลังโครงสร้างนิยม กับการศึกษารัฐศาสตร์.
พิมพ์ครั้งที่ 2 . กรุงเทพฯ: วิภาษา,
2555.
เดือนรุ่งฟ้า เพ็ญไพสิฐ. การศึกษาวิเคราะห์สุนทรียศาสตร์ในผลงานจิตรกรรมของอาจารย์ทวี
นันทขว้าง. วิทยานิพนธ์ปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาปรัชญา
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2553.
ธีรยุทธ บุญมี.
การปฏิวัติสัญศาสตร์ของโซซูร์ เส้นทางสู่โพสต์โมเดอร์นิสม์. กรุงเทพฯ: วิภาษา, 2551.
น. ณ ปากน้ำ (ประยูร อุลุชาฎะ). ความเข้าใจในศิลปะ.
พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2543.
มณเฑียร ศุภโรจน์. การวิเคราะห์การใช้การ์ตูนสื่อความหมายเพื่อการรณรงค์โรคเอดส์
(พ.ศ. 2535-2539). วิทยานิพนธ์นิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต
สาขาสาขาสื่อสารมวลชน บัณฑิตวิทยาลัย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2541.
ลักษณวัต ปาละรัตน์, รองศาสตราจารย์ ดร. สุนทรียศาสตร์. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง,
2551.
สงวนศรี ตรีเทพประติมา. การวิเคราะห์งานวาดเส้นร่วมสมัยไทยในต้นศตวรรษที่ 21 (ค.ศ. 2000-2012). วิทยานิพนธ์ศิลปะมหาบัณฑิต
สาขาทฤษฎีศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2555.
สูจิบัตรนิทรรศการ Multiple
drawing. จัดแสดง 24 สิงหาคม - 9 กันยายน 2535
ณ หอศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.
กรุงเทพฯ : อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ, 2535.
ภาษาอังกฤษ
Anne D'Alleva. Methods & Theories of Art History.
London: Laurence King, c2012.
Carroll, Noel. Philosophy of Art. London: Routledge, 1999.
Fiske, John. Introduction to Communication Studies. 2nd
ed. London: Routledge, 1990.
Norman Bryson,
Michael Ann Holly and Keith Moxey. Visual theory: painting and
interpretation. Cambridge: Polity Press, 1991.
ข้อมูลออนไลน์
Termwiki.
Aesthetic codes [Online].
Accessed 13 May 2015, Available from
http://www.termwiki.com/EN:aesthetic_codes
จากรายงานสืบเนื่องการประชุมวิชาการงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ทางนิเทศศาสตร์ ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2558
ณ มหาวิทยาลัยสยาม กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2558
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น