วันจันทร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2556

สัญญะธงชาติไทยในผลงานศิลปะภาพถ่ายของมานิตย์ ศรีวานิชภูมิ

โดย: อ.สุริยะ ฉายะเจริญ (อาจารย์ประจำภาควิชาสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม)

     มานิตย์ ศรีวานิชภูมิ เป็นศิลปินภาพถ่าย (Photographer) ที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งในวงการศิลปะปัจจุบัน ผลงานของมานิตย์เต็มไปด้วยการเสียดสีสังคมที่ติดตลกแต่มีท่าทีจริงจัง ผลงานของเขามักตั้งคำถามในเรื่องประวัติศาสตร์ สังคม และการเมือง ซึ่งในผลงานชุด พิ้ง ขาว น้ำเงิน  เขาได้นำเอาธงชาติมาใช้ควบคู่กับรูปผู้ชายอ้วนสวมชุดสูทสีชมพูและร่วมกับสัญญะอื่น ๆ อีกด้วย

“พิ้ง ขาว น้ำเงิน #1 (เกียรติยศ)” ภาพถ่ายสี c print, ขนาด 35 x 29 ซม (2548)
ที่มา :  นิทรรศการนีโอ-ชาตินิยม,  นิทรรศการการเมืองร่วมสมัย   หอศิลปวิทยนิทรรศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร,
7 พฤศจิกายน - 17 ธันวาคม 2548 (สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2548), 70. 
 
     มานิตย์ ได้ให้สัมภาษณ์ กับ อิ๋ง กาญจนะวนิชย์ เอาไว้อย่างชัดเจนเกี่ยวกับผลงานของเขาในชุดดังกล่าวเอาไว้ว่า
 
            ...ผมคิดว่าลัทธิบริโภคนิยมเอาลัทธิชาตินิยมมาทำมาหากิน...ไอ้เรื่องแคมเปญชาตินิยม หรือรักชาตินั้น มันมักถูกรัฐบาลเกือบทุกยุคทุกสมัยใช้เป็นข้ออ้างมาตลอด มันเหมือนกล่องกระดาษสีธงชาติ ที่เอาเข้าจริงแล้วเนื้อในของสินค้าจะมีสรรพคุณตรงตามข้างกล่องหรือไม่นั้นมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง...แต่ก่อนตัวละครการเมืองที่พูดเรื่องรักชาตินั้น จะเป็นบุคคลในเครื่องแบบ คือเผด็จการทหารอย่างที่เรารู้กัน แต่ในวันนี้ตัวละครเปลี่ยนไปเป็นบุคคลใส่สูทเป็นนักธุรกิจหรือจะพุดตรง ๆ คือ นายทุน...
           ...เรื่องตัวงานผมแบ่งออกได้ประมาณ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกเป็นเรื่องอารมณ์ของการแสดงความรักชาติ (sentiment) จะเป็นพิ้งค์แมนยืนเดี่ยว ๆ หน้าฉากสีน้ำเงิน แสดงอาการองอาจ ฮึกเหิม เมื่อห่มธงชาติเหมือนเวลาเราเห็นนักกีฬาหรือนักมวยใช้ธงห่มตัวก่อนขึ้นเวที บางรูปก็แสดงการอาการซาบซึ้งสุดขีดแบบที่เราเห็นแคมเปญรักชาติของรัฐบาลทางโทรทัศน์...
            ...ส่วนในกลุ่มที่สองก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับ “ผู้นำและผู้ตาม” ผู้นำคือพิ้งค์แมน เป็นผู้นำที่มีภาพทันสมัย ที่ไม่ต้องแต่งชุดทหารอีกแล้ว เป็นผู้นำใส่สูทเป็นมิตรสดใสไม่เคร่งขรึมแบบทหารในอดีต ส่วนผู้ตามคือเด็กไทย ซึ่งเป็นอนาคตของชาติ เด็ก ๆ แต่งชุดลูกเสือเพราะว่า ถ้าโยงเรื่องลูกเสือก็จะเป็นเรื่องการปลูกฝังความรักชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ ซึ่งเป็นความคิดที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 6 …เป็นชาตินิยมแบบเก่า...
          ...ผมคิดว่ามีความขัดแย้งในตัวมันเองระหว่างการมีชาตินิยมกับการมีประชาธิปไตยไปพร้อม ๆ กัน...[1]
           ...คำว่าชาติมันถูกทำให้นึกถึงการชูธง เป็นพวกเดียวกัน ต้องคิดเหมือนกัน ต้องเฮไหนเฮนั่น เพราะฉะนั้นคำว่า “ชาติ” หรือ Nation ความหมายของมันถูกทำให้เสื่อม และแคบลง...ผมเยาะเย้ยขบวนการสร้างมายาคติแห่งความเป็นชาติ อยากให้คนตระหนักว่าแท้จริงแล้ว ชาตินิยมคืออะไร...ทันทีที่มีเรื่องชาติเมื่อไร ก็ต้องมีเขา มีเรา มันต้องมีศัตรูทันที เพราะชาตินิยมจะอยู่ได้มันก็ต้องมีศัตรู ผมรักบ้านเมืองนี้ ผมถึงต้องล้อเลียนด้วยความเป็นห่วง ด้วยความหวังดี เพราะไม่อยากเห็นเมืองไทยเป็นชายอ้วนใส่สูทสีชมพู[2]
“พิ้ง ขาว น้ำเงิน #2 (ซาบซึ้ง)” ภาพถ่ายสี c print, ขนาด 24x29 ซม. (2548)
ที่มา :  นิทรรศการนีโอ-ชาตินิยม,  นิทรรศการการเมืองร่วมสมัย  ณ หอศิลปวิทยนิทรรศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร,
7 พฤศจิกายน - 17 ธันวาคม 2548 (สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2548), 70. 
“พิ้ง ขาว น้ำเงิน #3 (หอม)”   ภาพถ่ายสี c print, ขนาด 24 x 29 ซม. (2548)
ที่มา :  นิทรรศการนีโอ-ชาตินิยม,  นิทรรศการการเมืองร่วมสมัย  ณ หอศิลปวิทยนิทรรศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร,
7 พฤศจิกายน - 17 ธันวาคม 2548 (สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2548), 70. 
“พิ้ง ขาว น้ำเงิน #4 (อนาคต)”  ภาพถ่ายสี c print, ขนาด 57 x 47ซม.(2548)
ที่มา :  นิทรรศการนีโอ-ชาตินิยม,  นิทรรศการการเมืองร่วมสมัย  ณ หอศิลปวิทยนิทรรศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร,
7 พฤศจิกายน - 17 ธันวาคม 2548 (สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2548), 67.

         ผลงานของมานิตย์ ศรีวานิชภูมิที่สร้างขึ้นเป็นลักษณะที่มีการจัดฉากเพื่อสร้างภาพจำลอง ซึ่งสิ่งที่ปรากฏในภาพแม้จะมีการเน้นเนื้อหาทางความงามในด้านการจัดแสง การใช้สี และจัดวางองค์ประกอบที่ลงตัวก็ตาม แต่สาระของผลงานกลับมิใช่รูปลักษณ์ภายนอก หากแต่เป็นประเด็นทางความคิดที่ศิลปินได้สื่อสารผ่านสัญญะต่าง ๆ ที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นคนใส่สูทสีชมพู ธงชาติไทย เด็กนักเรียน และฉากสถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งทั้งหมดเป็นเพียงสื่อที่มีสารคือแนวความคิดเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
 
“พิ้ง ขาว น้ำเงิน #5 (ว่าตามฉัน)”   ภาพถ่ายสี c print, ขนาด 35 x 29 ซม. (2548)
ที่มา :  นิทรรศการนีโอ-ชาตินิยม,  นิทรรศการการเมืองร่วมสมัย  ณ หอศิลปวิทยนิทรรศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร,
7 พฤศจิกายน - 17 ธันวาคม 2548 (สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2548), 68.
 
 
“พิ้ง ขาว น้ำเงิน #6 (ตามฉันมา)”   ภาพถ่ายสี c print, ขนาด 49 x 59 ซม. (2548)
ที่มา :  นิทรรศการนีโอ-ชาตินิยม,  นิทรรศการการเมืองร่วมสมัย  ณ หอศิลปวิทยนิทรรศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร,
7 พฤศจิกายน - 17 ธันวาคม 2548 (สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2548), 69. 
    แม้ผลงานของมานิตย์จะเป็นภาพถ่ายซึ่งนับเป็นสื่อที่สามารถถ่ายทอดออกมาเป็นงานศิลปะได้ดีไม่ต่างจากผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม  หรือรูปแบบอื่นๆ  โดยเฉพาะผลงานในชุดดังกล่าวนี้ ก็จะเห็นได้ชัดว่ามีความแตกต่างจากผลงานภาพถ่ายโดยทั่วไป ศิลปินได้จัดฉากขึ้นมาแล้วถ่ายภาพเพื่อนำเสนอประเด็นทางความคิดมากกว่าจะเน้นไปที่คุณค่าทางความงามแบบอุดมคติ

     ธงชาติไทยที่ปรากฏในผลงานชุดนี้ศิลปินจงใจที่จะแสดงความชัดเจนค่อนข้างมาก ทั้งนี้เนื่องด้วยแนวคิดที่ศิลปินเองต้องการสะท้อนแนวคิดชาตินิยม ความรักชาติ ความคลั่งชาติ ที่อยู่ในบริบทต่าง ๆ ในสังคมไทยผ่านสัญลักษณ์ของธงชาติไทยอันเป็นเครื่องหมายรูปธรรม ศิลปินใช้ธงชาติไทยเป็นตัวเชื่อมโยงเข้าสู่ประเด็นชาตินิยมและใช้ภาพลักษณ์ของผู้ชายชุดสูทสีชมพูอันหมายถึงผู้ที่มีอำนาจสังคมเป็นผู้แสดงบทบาทร่วมกับธงชาติไทย ศิลปินจงใจที่จะเสียดสีประชดประชันชาตินิยมที่มีการปลุกขึ้นใหม่ในยุคร่วมสมัย ซึ่งแม้ผลงานชุดนี้จะมิได้สรุปถึงประเด็นแนวคิดชาตินิยมว่าควรจะมีทิศทางอย่างไร แต่ก็เป็นส่วนสะท้อนที่สำคัญในการสื่อสารไปสู่สังคมให้ตระหนักถึงการใช้ชาตินิยมในเส้นทางที่ไม่คลั่งไคล้จนเกิดขอบเขตที่สมเหตุสมผล

บทความนี้ตัดตอนและเรียบเรียงใหม่จากวิทยานิพนธ์ของสุริยะ ฉายะเจริญ เรื่อง “ธงชาติไทยในศิลปะร่วมสมัย” 
หลักสูตรศิลปมหาบัณฑิต ภาควิชาทฤษฎีศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
 
[1] สัมภาษณ์ มานิต ศรีวานิชภูมิ โดย อิ๋ง กาญจนะวนิชย์, “พิ้งค์/ขาว/น้ำเงิน” ใน  นิทรรศการนีโอ-ชาตินิยม, 65-66.
[2] เรื่องเดียวกัน, 71-72.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น