วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

การเดินทางไปทำบุญของศิลปินหนุ่มผู้รุ่มรวยในเส้นสี

การโหยหาพื้นที่ทางเลือก (Alternative Space) ในหมู่ศิลปินรุ่นใหม่ โดยหวังจะพึ่งพาความแตกต่างและความท้าทายของพื้นที่เป็นสะพานเชื่อมไปสู่มิติใหม่ๆในการสร้างสรรค์ นับเป็นกระแสที่น่าสนใจเป็นอย่างมากในวงการศิลปะร่วมสมัย พื้นที่นอกพิพิธภัณฑ์หรือหอศิลป์กลายเป็นกระแสที่รุนแรงมากขึ้นให้ห้วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ศิลปินหลายคนสร้างปริมณฑลของตนขึ้นมาใหม่โดยอิงบริบทต่างๆ บางคนจำลองอาณาเขตส่วนตัวขึ้นมากลายเป็นงานศิลปะที่แหวกจากขนบเดิมๆ เช่น การสร้างบ้านไม้ขนาดย่อมเพื่อสร้างพื้นที่เฉพาะตัวในหอศิลป์ซึ่งเป็นผลงานของ โยชิโตโม นาระ (Yoshitomo Nara) ศิลปินชื่อดังชาวญี่ปุ่น หรือการสถาปนาพื้นที่นา (The Land) โดยการรวมกลุ่มของ ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช กับ คามิน เลิศชัยประเสริฐ ตลอดจนการสร้างพระอุโบสถและศาสนสถาน ณ วัดร่องขุ่น โดยเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ และศิลปสถานบ้านดำ นาแร ของ ถวัลย์ ดัชนี หรือกรณีของ 24 hrs. Art project โดยกลุ่มศิลปินรุ่นเยาว์จากรั้วคณะจิตรกรรมฯ ที่สร้างผลงานในบ้านร้าง โดยนิทรรศการมีชีวิตอยู่เพียง 24 ชั่วโมงก่อนบ้านหลังนั้นจะถูกทุบทำลาย

แต่เดิมนั้นการถวิลหาพื้นที่ทางศิลปะไม่ได้อยู่ในขอบข่ายของสังคมไทย เนื่องเพราะแนวคิดเรื่องศิลปะบริสุทธิ์ไม่ได้เป็นประเด็นในการสร้างงานช่างหรือศิลปกรรมโบราณ ที่สำคัญงานศิลปะจะปรากฏอยู่ในพื้นที่เจาะจง 2 แห่งใหญ่ๆเท่านั้น คือภายในรอบอาณาเขตวังหรือเขตพระนครศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองและในขอบขันธ์สีมาของอาราม ในส่วนของพระราชวังรวมถึงอารามหลวงที่อยู่ในปริมณฑลของพระนครนั้น ผลงานศิลปะจะเป็นงานชั้นครูแบบช่างหลวงมีแบบแผนและโครงสร้างที่เป็นระเบียบ แต่ในส่วนของวัดที่อยู่ห่างจากศูนย์กลางการปกครองนั้นจะปรากฏผลงานที่มีอิสระในโครงสร้างและองค์ประกอบต่างๆได้มากกว่า ดูเคลื่อนไหวและมีชีวิตชีวาสะท้อนความเป็นไปในวิถีชีวิตของสังคมนั้นๆ ดังนั้นในระดับชุมชนพื้นถิ่นวัดจึงทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางทางศิลปวัฒนธรรม

ทว่าในปัจจุบันศิลปินรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งกลับละเลยในการหันมาศึกษา และสานต่อในประเด็นข้างต้น ทั้งนี้อาจเนื่องเพราะการเกิดขึ้นของพื้นที่ทางศิลปะอื่นๆที่สร้างขึ้นจำเพาะเจาะจงทำหน้าที่ได้มากกว่า เช่นพิพิธภัณฑ์ (Museum) หอศิลป์ (Gallery) หรือ ศูนย์ศิลปะ (Art Center) ต่างๆ ยังไม่นับแหล่งบันเทิงอื่นๆอีกที่แย่งความน่าสนใจไปจากวัดวาอาราม เช่น โรงภาพยนตร์ โรงละคร ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ทำให้รอยเชื่อมต่อระหว่างคุณค่าแห่งโลกอดีตกับห้วงเวลาปัจจุบันไม่สามารถปรากฏขึ้นได้อย่างแท้จริง

ศิลปินหลายคนมุ่งหมายหาพื้นที่ที่ดีที่สุดเพื่อนำผลงานรังสรรค์ของตนออกแสดงนิทรรศการ ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นพื้นที่ในเมือง ผู้คนที่ชมก็จะเป็นคนในวงการเดียวกันหรือเป็นผู้คนที่อยู่ในวงสังคมเมือง ต่างจากคนในชนบทที่ไม่ค่อยมีโอกาสอำนวยในการชื่นชมศิลปะแบบร่วมสมัยได้มากนัก ด้วยปัจจัยของพื้นที่และระยะทาง อีกทั้งการรับรู้ในสุนทรียรสก็ต่างจากกลุ่มคนเมือง ทำให้ระยะห่างระหว่างศิลปะร่วมสมัยกับคนนอกศูนย์กลางไม่ได้เขยิบมาใกล้กันเท่าที่ควร

มณตรี มุงคุณ เป็นศิลปินหนุ่มอีกคนหนึ่งที่คำนึงหาพื้นที่อิสระที่เกี่ยวโยงกับรากเหง้าพื้นถิ่นที่เขารัก หลังจากเรียนจบจากวิทยาลัยช่างศิลป์กรุงเทพฯแล้ว ก็เข้าศึกษาที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ด้วยความหลงใหลในภาพจิตรกรรมไทยเป็นทุนเดิม จึงเลือกเรียนในภาควิชาศิลปะไทย หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้ว เขาก็เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโทในภาควิชาเดิมด้วยความมุ่งหมายสืบต่ออุดมการณ์เดิมของตน เขาเป็นศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานไว้เป็นจำนวนมาก แต่ผลงานที่ได้รับการตอบรับจากสังคมและเวทีศิลปะในระยะแรกคือ ผลงานจิตรกรรมที่ได้รับแรงบันดาลใจจากครัวอีสาน (ภาพที่ 1)


ภาพที่ 1 ส่วนหนึ่งในผลงานชุด ครัวอีสาน

ผลงานของเขาในชุดนี้แสดงออกถึงความรักและความผูกพัน ระหว่างตนเองกับสิ่งแวดล้อมในพื้นถิ่นของตน โดยเฉพาะเตาถ่านและกองฟืนนับเป็นสิ่งที่หาได้ไม่ง่ายนักในสังคมเมืองหลวง แต่ทว่าในสังคมชนบทของเขา สิ่งทั้งสองอย่างคือหัวใจในการดำรงอยู่ของผู้คนทั่วไปในการประกอบอาหาร สัญลักษณ์ที่สำคัญอีกอย่างคือ หม้อและกาน้ำ ภาชนะทั้งสองอย่างนี้คือสิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นชนบทได้ดี เพราะในชุมชนเมืองการต้มน้ำเป็นสิ่งที่ง่ายหากมีหม้อต้มไฟฟ้าหรือตู้ไมโครเวฟ (Microwave) แต่ในชนบทการต้มน้ำมีกิจกรรมที่มากกว่าการเสียบปลั๊กไฟฟ้า ตั้งแต่หาถ่านหรือหาฟืน การจุดไฟ การพัดวีให้เปลวไฟลุก เมื่อน้ำเดือดการจะยกหม้อหรือกาน้ำต้องระวังอย่างให้น้ำหกและต้องใช้ผ้าจับเนื่องจากความร้อนจะระอุอยู่ทุกอณูไม่เว้นแม้แต่ที่จับของหม้อ การแสดงออกของผลงานชุดนี้ อาจได้รับแรงดลใจในภาพเขียนพู่กันแบบลัทธิเซน (Zen) คือแสดงออกด้วยความมั่นใจ รวดเร็ว และแม่นยำ นั้นหมายความว่า เขาต้องฝึกเขียนอยู่ไม่น้อย กว่าจะสามารถควบคุมการตวัดพู่กันให้ควบคู่ไปกับการเดินทางในโลกจินตนาการ

หลังจากชุดครัวอีสานที่ทำให้มณตรีพิชิตรางวัลจากการประกวดหลายเวทีแล้ว เขาก็ไม่ได้หยุดยั้งในการพัฒนาการสร้างสรรค์ผลงาน อีกทั้งนำเทคนิควิธีการใช้พู่กันอย่างอิสระ ปล่อยให้ความหนาของเส้นเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน สร้างชีวิตชีวาให้กับเส้นแต่ละเส้นเป็นอย่างมาก ผลงานในชุดต่อมานี้ เขาเริ่มสร้างบริบทของสิ่งแวดล้อมในภาพให้มากขึ้น เริ่มจับเนื้อหาของตำนานพื้นบ้าน นิทานชาดกและจิตรกรรมฝาผนังแบบอีสานมาสร้างสรรค์ผลงานชุดใหม่ โดยผลงานที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งคือ การสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรม พระพุทธประติมากรหลวงปู่แก้ว จิตรกรรมฝาผนังภายนอก และออกแบบสร้างวิหารหลวงปู่แก้ว ณ ต.แจนแลน อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์

ดังที่กล่าวมาแล้วในข้างต้นว่า ศิลปินรุ่นใหม่มักต้องการพื้นที่สร้างสรรค์ที่อยู่นอนเหนือบริบทของศิลปะสถาน หลายต่อหลายคนจึงสร้างพื้นที่ของตนขึ้นมา มณตรีก็เช่นเดียวกัน แต่เขากลับหวนไปสู่รากเหง้าพื้นถิ่น ไปสู่ชนบทอันเป็นที่รักยิ่งของเขา เพื่อสร้างศาสนาสถานเป็นพุทธบูชา สร้างพื้นที่ทางศิลปะของตนถวายแด่พระพุทธศาสนา


ภาพที่ 2 ชาวบ้านต่างมาช่วยร่วมกันก่อสร้าง

แรกเริ่มเป็นการสรรหาพื้นที่เสียก่อน จากนั้นจึงสร้างพระพุทธรูปประธานองค์ใหญ่ โดยเขาเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการตั้งแต่การออกแบบ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือการที่นิมนต์พระสงฆ์ เชิญชวนช่างชาวบ้าน และชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการร่วมก่อสร้าง (ภาพที่ 2) ตั้งแต่การผสมปูนและเทปูไปจนถึงร่วมในพิธีเบิกเนตรพระพุทธรูปและการสร้างวิหาร ผู้คนที่มาร่วมกันสร้างต่างก็เป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รอบข้างในแถบนั้น ทำให้วิหาร ศาสนวัตถุ และศาสนศิลป์เหล่านี้ คือผลในการร่วมมือร่วมแรงร่วมใจกันของผู้คนในพื้นที่ สร้างความเป็นเจ้าของร่วมกันของชุมชน จำลองวิถีชีวิตที่พึ่งพากันและกันอันเป็นวิถีแต่เดิมของโลกตะวันออก ในทางศิลปะร่วมสมัยการที่ศิลปินมีต้นร่างความคิด (Concept) ในการสร้างสรรค์โดยมีผู้อื่นมาเป็นผู้ร่วมกระทำและร่วมเป็นเจ้าของในผลงานนั้น ผลงานนั้นจะเป็นกิจกรรมทางศิลปะ (Art Activity) เป็นศิลปะที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการร่วมกัน (Process Art) สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้ร่วมกิจกรรม
องค์ประกอบหลักๆในพื้นที่วิหารหลวงปู่แก้ว คือ


ภาพที่ 3 พระประธาน

พระประธานภายในวิหารถูกสร้างขึ้นก่อนโดยมีพุทธลักษณะแบบปางมารวิชัย (ภาพที่ 3) ซึ่งเป็นหนึ่งในปางที่นิยมสร้างเป็นพระประธานในโบสถ์วิหาร หล่อด้วยปูทาสีครีมขาวนวลผ่อง พระวรกายอวบอิ่มดูคล้ายพระพุทธรูปแบบเชียงแสน แต่โดยรวมเป็นพระพุทธรูปพิมพ์แบบสุโขทัยประทับนั่งขัดสมาธิสองชั้นบนบัลลังดอกบัว

ภาพที่ 4 วิหาร

พระวิหารถูกก่อสร้างครอบพระประธาน (ภาพที่ 4) โดยก่อเป็นเสากลมสี่เสาแล้วก่อเป็นผนังปิดมีทางเข้าออกเพียงหนึ่งทาง ส่วนมุมทำให้เป็นมนโค้งไม่หักเป็นมุม 90 องศาแบบทั่วๆไป ถัดออกจากกำแพงเป็นพื้นที่ใต้ชายคา ทำเป็นทางเดินรอบ โดยมีเสาเหลี่ยม 9 ต้นรองรับชายคา หลังคาส่วนกลางทำเป็นจั่วและมีชายคาซึ่งรับกันกับส่วนทางเดินรอบวิหาร ตัวภายนอกวิหารทำเป็นคิ้วยกระดับ สิ่งที่น่าสนใจอีกประการของตัววิหารคือบานประตูที่ประดับประติมากรรมนูนสูง ซึ่งมีลวดลายและสีสันชวนแปลกตาและอลังการ อันเป็นผลงานของศิลปินในทีมของเขาเช่นกัน


ภาพที่ 5 วาดโครงสร้างลายเส้น

สิ่งที่น่าสนใจที่สุดของสร้างวิหารครั้งนี้คือ จิตรกรรมฝาผนังรอบนอกผนังพระวิหาร มณตรีออกแบบโครงสร้างของผืนภาพทั้งหมดด้วยตัวเอง ซึ่งก่อนหน้านี้เขาได้สร้างผลงานจิตรกรรมบนผ้าใบขนาดยาวโดยมีโครงเรื่องจากนิทานชาดกเพื่อถวายแก่วัดหลายชิ้น ทำให้เกิดความชำนาญและมีประสบการณ์ในการสร้างผลงานขนาดใหญ่ได้ดี ในครั้งนี้เขานำนิทานชาดกเรื่องพระเวสสันดรชาดกมาสร้างเป็นภาพจิตรกรรมขึ้น ขั้นแรกใช้แท่งชอร์คร่างองค์ประกอบโดยรวมก่อน จากนั้นใช้พู่กันจุ่มสีดำวาดเป็นลายเส้นตามจินตนาการ ประกอบเนื้อเรื่องหลัก (ภาพที่ 5) ตัวละครแต่ละตัวและลายละเอียดแต่ละส่วนอยู่ในโครงสร้างขององค์
ประกอบใหญ่ ลักษณะตัวละครและส่วนต่างๆมีรูปลักษณ์คล้ายกับการ์ตูน แต่แท้ที่จริงเป็นรูปแบบที่โดดเด่นของจิตรกรรมแบบอีสานที่มีการออกแบบได้อย่างมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนที่อื่น ตัวละครและส่วนประกอบต่างๆเจาะจงวางให้เกิดช่องไฟและพื้นที่ว่างได้อย่างมีชีวิชีวา การกั้นฉากแต่ละตอนของเรื่องใช้ส่วนของทิวทัศน์แบ่งภาคตอนต่างๆได้อย่างลงตัวและน่าชื่นชม องค์รวมของผืนภาพเป็นการสร้างพื้นที่ด้วยเส้น (Liner Space) ลายละเอียดแต่ละส่วนลื่นไหลไปตามโครงสร้างใหญ่ของภาพ ยิ่งส่วนมุมของวิหารที่ฉาบผนังให้โค้งมนก็ยิ่งทำให้ภาพจิตรกรรมดูต่อเนื่องลื่นไหลได้อย่างดีเยี่ยม โครงสร้างของเส้นทั้งหมดนี้ทำให้ภาพรวมทั้งหมดดูล่องลอยพาฝันฝันช่วยนำพาไปสู่โลกอีกมิติดั่งแดนทิพย์


ภาพที่6 โครงสร้างลายเส้น

หลังจากการเขียนเป็นภาพลายเส้นทั้งหมดแล้ว ก็นำสีทองมาแต้มเติมในแต่ละส่วน เช่น ลายผ้า ลายดอกไม้ ใบไม้ เป็นต้น บางส่วนมีการแต้มสีดำเป็นจุดๆ บางแห่งเป็นขีดเส้นๆ บางแห่งทำสีให้จางลง เมื่อแต้มสีรวมๆก็จะกลายเป็นพื้นที่สีเทา ทั้งนี้ก็เพราะต้องการทำให้เกิดน้ำหนักของภาพ เกิดมิติลวงแบบเป็นระนาบ (Decorative spatial concept) อีกทั้งช่วยขับเน้นบางส่วนให้ดูเป็นจุดน่าสนใจมากขึ้น เช่น ในส่วนอาศรมของพระเวสสันดร จะเห็นว่ามีการแต้มสีดำในพื้นที่ว่างโดยรอบของตัวละครเอก มีการวางตัวละครเป็นจุดๆ เกิดจังหวะที่ต่อเนื่อง ผลที่เกิดขึ้นทำให้ช่วงการดำเนินเรื่องในผนังส่วนนี้โดดขึ้นมา เป็นการเน้นความสำคัญของช่วงนั้นของเนื้อเรื่องโดยใช้ทัศนธาตุได้อย่างงดงาม

เนื้อหาของภาพเป็นเรื่องราวตามนิทานพระเวสสันดรชาดก ซึ่งตัวหลักๆที่เห็นอยู่ตลอดผืนผนังทั้งสี่ด้านคือ จะเป็นพระเวสสันดร พระนางมัทรี กัณหา ชาลี และชูชก แต่ที่น่าสังเกตอีกอย่างคือการเสริมแต่งลายละเอียดส่วนต่างๆ เช่น หมู่พรรณไม้ต่างๆ สัตว์ต่างๆ และสัตว์แบบผสม (Hybrid) เขาเขียนออกมาได้อย่างสนุกสนาน บางช่วงแทรกความทะลึ่งน่ารักแบบชาวพื้นถิ่น เช่น ภาพกบมีปีกกำลังเสพสังวาสกัน หรือภาพพระจันทร์อย่างง่ายๆมีรูปกระต่างอยู่ภายในวงกลม ส่วนที่เป็นเมฆก็ตวัดพู่กันเป็นวงก้นหอยอย่างง่ายๆ (Spiral) และเมื่อทิ้งฝีแปรง (Brush work) ก็ยิ่งเพิ่มความน่าชมอยู่ไม่น้อย หรือส่วนที่เป็นภาพบ้านหรือวังก็เขียนขึ้นด้วยสัญลักษณ์แบบสามัญ (Simplify form) มีรูปทรงโค้งสัดส่วนไม่เท่ากัน ก็ยิ่งทำให้ดูเป็นภาพ
ลักษณ์ที่ชวนฝันเป็นสุข


ภาพที่ 7 จิตรกรรมฝาผนังเสร็จสมบูรณ์

ผลงานจิตรกรรมฝาผนังภายนอกเรื่องพระเวสสันดรชาดกของมณตรี มุงคุณ เป็นผลงานจิตรกรรมไทยร่วมสมัยที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง หากเราได้เข้าไปสัมผัสกับสถานที่จริงและน้อมใจเข้าไปรู้สึกในสุนทรียรสงานศิลปกรรมที่อยู่เบื้องหน้า เราจะสัมผัสได้ถึงพลังศรัทธาที่ศิลปินผู้สร้างได้ถ่ายทอดคติทางพุทธศาสนาออกมาเป็นงานนฤมิตกรรมที่งดงาม ผืนผนังที่ว่างขาวถูกจารจดด้วยศิลปะกลายเป็นมิติแห่งจินตนาการได้อย่างน่าทึ่ง อันก่อเกิดขึ้นจากสารัตถะของรากวัฒนธรรมแห่งตะวันออกที่ไม่แพ้อารยธรรมใดๆในโลก

สิ่งที่น่าระลึกถึงเป็นอย่างมากอีกประการคือ การร่วมมือร่วมแรงกันของผู้คนในชุมชนนั้นที่ได้พยายามร่วมกันสร้างสถานที่ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์รวมทางจิตวิญญาณของชุมชน ทุกคนที่นั้นต่างก็เป็นเจ้าของพระวิหารอันเต็มไปด้วยจิตรกรรมฝาผนังที่มีคุณค่าและงดงามร่วมกัน ซึ่งผลงานศิลปะชิ้นนี้ไม่สามารถหาซื้อหรือชื่นชมในหอศิลป์ใดๆได้ เป็นถาวรวัตถุที่ผู้ใดสนใจจะชื่นชม ก็ต้องเดินทางไป ณ ที่แห่งนั้น

และที่น่ายกย่องที่สุด คือตัวศิลปินเองที่ให้ความสำคัญกับชุมชนชายขอบ เพราะถ้าตัวเขาเองสร้างสรรค์ผลงานอยู่ในเวทีประกวด ก็คงยังได้รางวัลอีกไม่รายการใดก็รายการหนึ่ง หรือจะนำออกแสดงตามห้องแสดงภาพก็คงพอจะแลกเป็นปัจจัยได้บ้าง หากแต่เขาได้เสียสละเวลาอันสุขสบายส่วนตัว ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญา และกำลังในความคิดสร้างสรรค์ ให้กับการสร้างวิหารรวมถึงผลงานจิตรกรรมฝาผนังที่มีคุณค่าทั้งต่อตนเองและสังคมเป็นอย่างยิ่ง

ในทางพุทธศาสนา มณตรี มุงคุณ ได้สร้างผลงานอันเป็นพุทธศิลป์ถวายเป็นพุทธบูชา ซึ่งเป็นสิ่งไม่ง่ายนักที่มนุษย์คนหนึ่งในฐานะศิลปินสร้างสรรค์ได้โดยไร้บารมีและความมุ่งมั่น ในแง่ของสังคม เขาได้มอบสาธารณศิลป์ที่มีคุณค่าทางศิลปวัฒธรรมให้กับสังคม ในด้านความเป็นผู้สร้างสรรค์ศิลปะ เขาได้สร้างพื้นที่ทางศิลปะใหม่ที่อยู่นอกหอศิลป์ เป็นผลงานศิลปะที่มีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนในกระบวนการสร้างสรรค์ ซึ่งมีความน่าสนใจไม่แพ้ศิลปะในแบบอื่นๆที่ปรากฏอยู่หลากหลายในยุคปัจจุบัน.­

โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ (jumpsuri@hotmail.com)

2 ความคิดเห็น: