วันอังคารที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2552

Horse without Rider, 2550













Horse without Rider เป็นผลงานสร้างสรรค์ของนิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ ซึ่งเป็นศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานในแนวสื่อสมัยใหม่ ล่าสุดเขาได้เข้าร่วมแสดงผลงานในงานแสดงศิลปะนานาชาติ 52 nd International Art Exhibition La Biennale di Venezia, 2007 ระหว่างวันที่ 8 มิ.ย. - 21 พ.ย. 2550 ณ Thai Pavillion at S.Croce 556 เมืองเวนิส สาธารณรัฐอิตาลี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
นิพันธ์ได้รับการคัดเลือกผลงานเข้าร่วมแสดงในนิทรรศการกรุงเทพฯ226ที่จัดขึ้นในช่วง 16 ธันวาคม 2551 – 15 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งถือเป็นหนึ่งในโครงการแสดงนิทรรศการที่สำคัญของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในนิทรรศการครั้งนี้เขาได้นำเสนอผลงาน ชื่อ Horse without Rider
ผลงานนี้ เป็นรูปที่ถ่ายจากส่วนหนึ่งของพระบรมราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่ ติดตั้งอยู่ใจกลางวงเวียนใหญ่ ซึ่งออกแบบและสร้างโดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี แต่จะเห็นว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินกลับไม่ปรากฏกายอยู่บนหลังม้าทรง ม้าสำริดยืนอยู่อย่างโดดเดี่ยว เป็นลักษณะม้าศึกที่ปราศจากขุนพล เบื้องหลังเป็นผืนฟ้าที่ที่เวิ้งว้าง เมื่อแรกดูอาจจะยังไม่ปะติดปะต่อเรื่องราวว่าเป็นภาพของอะไร แต่สักพักเราจะนึกถึงพระบรมราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่ ติดตั้งอยู่ใจกลางวงเวียนใหญ่ ศิลปินจงใจลบภาพของพระเจ้าตากที่ประทับบนหลังม้าศึก ลบภาพของวีรบุรุษที่ขี่ม้า ภาพพื้นที่ว่างที่กินเนื้อที่กว่า90%ยิ่งขับเน้นความว่างของหลังม้าอย่างชัดเจน โดยต้องการกระตุ้นให้ผู้ชมเห็นแล้วเกิดความงุนงงและคิดไปต่างๆนานากับการหายไปของชายที่เป็นดั่งวีรบุรุษของชาติ ผลงานนี้สร้างจากภาพถ่ายดิจิตอลตัดต่อด้วย Computer Graphic ประกอบเข้ากับตู้ไฟในรูปวงกลมติดตั้งเหนือศีรษะผู้เดินชม ซึ่งหากไม่ได้สังเกตก็อาจจะเดินผ่านไปอย่างไม่แยแส ผลงานนี้มีขนาดไม่ใหญ่นัก ตำแหน่งของผลงานเจาะจงให้ผู้ชมเงยหน้าขึ้นไปมอง เพื่อล้อเลียนกับมุมมองจริง
เรามักเคยได้ยินว่าในยามที่มีเหตุการณ์ที่ร้ายแรงเกิดขึ้นกับอะไรก็ตาม เดี๋ยวก็จะมีวีรบุรุษขี่ม้าขาวมาช่วย ซึ่งประโยคเหล่านี้ได้ถูกนิพันธ์เอามาเล่นในเชิงทัศนศิลป์อย่างตรงไปตรงมา ทั้งนี้ด้วยนิสัยของคนไทยเองนั้นต้องยอมรับกันอย่างตรงไปตรงมาว่าเราเป็นชาติที่มักเชื่อในการพึ่งพาผู้อื่น อาศัยความรู้ความสามารถของผู้อื่นมาแก้ปัญหาของชีวิต ไม่ค่อยที่จะพึ่งพาตัวเอง อธิเช่น การบนบานสานกล่าวพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นแบบลัทธิหวังผลดลบันดาล ในยามที่บ้านเมืองเกิดวิกฤตต่างเรามักหวังว่าจะมีวีรบุรุษผู้เก่งกาจจัดการได้ทุกเรื่องมาช่วยแก้วิกฤตนั้น โดยมิได้มององค์รวมของปัญหาที่ทุกคนต่างหากที่ควรเป็นผู้แก้ปัญหาเอง มิใช่หวังว่าจะมีใครเข้ามาช่วย เราอาจจะมีวีรบุรุษปรากฏอยู่บนหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศ หลายครั้งท่านเหล่านั้นได้พาให้คนไทยได้ผ่านจุดหักเหของบ้านเมืองไปได้ แต่หากวันหนึ่งวีรบุรุษไม่มาปรากฏตัวอีกแล้ว เราคนไทยจะยังรอให้มาปรากฏตัวหรือจะเลือกทางเดินด้วยตัวเอง
แต่แท้ที่จริงแล้วภาพลักษณ์ของวีรบุรุษขี้ม้าผู้เป็นสัญลักษณ์ของความฝัน ความหวัง ความยิ่งใหญ่ มิได้มีคติที่มีแต่เมืองไทยเท่านั้น แต่ยังมีทั่วโลกตั้งแต่อดีตกาล เช่น
ผลงานโมเสก Alexandermosaic-c.200 BC พบที่ House of the Faun, Pompeii ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ Naples National Archaeological Museum ภาพนี้แสดงถึงการรบอย่างกล้าหาญของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชที่บุกตลุยกองทัพอันมหึมาของพระเจ้าดาริอูสที่3 พระองค์ทรงม้าศึกพุ่งทยายอย่างแกล้วกล้า ภาพนี้แสดงออกถึงความกล้าหาญและพระปรีชาทางการรบแบบตาต่อตาฟันต่อฟันของพระองค์ ที่สำคัญภาพพระองค์และม้าศึกผสานกันเป็นหนึ่งไม่แยกกัน ระหว่างวีรบุรุษและม้าศึกเป็นองค์เดียวกัน
ผลงาน Erasmo of Narni (1370-1443) ของ Donatallo เป็นประติมากรรมรูปกัปตันGattamelaขี่ม้ากลับมาจากศึกด้วยชัยชนะ แสดงออกถึงความสง่างาม ผึ่งผาย เป็นวีรบุรุษบนหลังม้าที่ดูเป็นภาพลักษณ์ของความหวังกำลังใจหลังจากมีชัยในการศึก
ประติมากรรมพระบรมรูปทรงม้าของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เป็นรูปที่พระองค์ทรงม้าอย่างสง่างาม แสดงความมีพระราชอำนาจที่เกรียงไกรขจรไกลทุกทิศ โดดเด่นท่ามกลางพื้นที่โดยรอบที่เต็มไปด้วยความโอ่อ่ายิ่งใหญ่ พระองค์และม้าผสานกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ภาพจิตรกรรมชื่อ Napoleon Crossing the Alps ของ Jacques-Louis David เป็นภาพจักรพรรดินโปเลียนขี่ม้าขาวข้ามเทือกเขาแอลป์ มือขวาผายชี้ไปข้างหน้า แสดงถึงการรุกไปข้างหน้า ม้าศึกดูคึกคัก จัดองค์ประกอบเป็นเหมือนละครเวที การผสานกันระหว่างจักรพรรดินโปเลียนกับม้าผสานกันอย่างลงตัว ผลงานชิ้นนี้แสดงออกถึงการชื่นชูถึงความเป็นวีรบุรุษของนโปเลียนอย่างยิ่ง
ในมหากาพย์มหาภารตะของประเทศอินเดียนั้น จะแฝงแนวคิดไว้อย่างแนบเนียน ในภาพนี้เป็นรูปของพระกฤษณะเป็นสารถีบังคับรถศึกโดยมีอาชาสีขาวนำหน้า ในรถศึกนั้นมีอรชุนซึ่งเป็นนักรบผู้สง่างามยืนเตรียมพร้อมจะยิงธนูกำจังข้าศึก ม้า พระกฤษณะ อรชุน และรถศึกผสานกันเป็นหนึ่ง ทยานสู่สนามรบนามทุ่งกุรุเกษตรที่เต็มไปด้วยกองทัพมนุษย์นับล้าน ตรงนี้เราจะเห็นว่าม้ามิได้มีผู้ขี่ แต่มีสารถีผู้บังคับอีกที วีรบุรุษหาใช่อรชุนผู้สังหารศัตรู หากแต่เป็นกฤษณะต่างหาก เพราะหากเราได้อ่านเรื่องราวโดยละเอียดจะพบว่า ในการศึกกฤษณะเสมือนกุนซือของอรชุน เขาให้คำแนะนำในยุทธวิธีต่างๆ ที่สำคัญกฤษณะคืออวตารของพระนารายหรือพระวิษณุ ลงมาช่วยปราบคนชั่วในคราวกลียุคต่างๆ ในคัมภีร์ภควัตคีตากล่าวไว้ว่ากฤษณะคือตัวแทนของธรรมมะ ที่ไดมีกฤษณะที่นั้นจะพบแต่ชัยชนะ ที่ใดมีธรรมที่นั้นมีชัย การดำเนินชีวิตให้สำเร็จต้องประกอบด้วยคุณธรรมและความดี กฤษณะจึงดำรงตำแหน่งวีรบุรุษตัวจริงที่บังคับม้าศึก
ในวรรณกรรมเรื่องสามก๊กของจีนเอง ก็มีเรื่องการรบอยู่ตลอดเรื่องราว เหล่านักรบที่ยิ่งใหญ่ขี่ม้าในการออกรบก็มีอยู่มาก แต่ที่โดดเด่นคือกวนอู กวนอูเป็นนักรบของฝ่ายจ๊กก๊กที่มีฝีมือเยี่ยมที่สุด เขามีม้าศึกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเรื่องชื่อ ม้าเซ็กเทา หรือเจ้ากระต่ายเพลิง ซึ่งมีขนสีแดงทั้งตัว สรรพคุณของม้าตัวนี้คือวิ่งได้วันละเป็นหมื่นๆลี้ เขาได้ม้าตัวนี้เป็นของกำนันจากโจโฉหลังจากรบชนะข้าศึก ซึ่งโจโฉถามถึงทรัพย์สมบัติใดที่กวนอูต้องการ กวนอูตอบอย่างสง่างามว่า ตนเป็นขุนศึกผู้มีคุณธรรมและมีเกียรติยศ สิ่งที่คู่ควรกับวีรบุรุษอย่างเขาก็คืออาชาชั้นเยี่ยมที่โลกควรประทานให้เป็นของขวัญ อาชาที่ว่าคือม้าเซ็กเทา ตลอดทั้งเรื่องกวนอูและม้าเซ็กเทาปรากฏตัวพร้อมกันราวกับเงาตามตัวอยู่เสมอ ในคราวที่กวนอูตายม้าก็ตายด้วย กวนอูและม้าจึงรวมกันเป็นองค์เดียวกัน
พระบรมรูปทรงม้าของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราชก็เป็นอีกตัวอย่างที่น่าสนใจ เนื่องจากการสร้างพระรูปนี้ พระองค์ท่านได้รับแรงบันดาลใจจากพระบรมรูปทรงม้าของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14ที่ประเทศฝรั่งเศส พระองค์ดำริสร้างในขณะที่ทรงมีพระชนชีพอยู่ ถือเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์แบบตะวันตกเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ผลงานนี้แสดงออกถึงความสง่างามของพระองค์ท่าน แสดงถึงการเป็นศูนย์รวมของมหาชนที่จับต้องได้ เพราะในอดีตพระมหากษัตริย์จะอยู่เพียงในวัง เมื่อเสด็จออกมาประชาชนต้องหมอบกราบห้ามเงยหน้าขึ้นมอง ซึ่งกฎนี้ได้ยกเลิกไปในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่การที่รัชกาลที่5 ได้สร้างพระรูปนี้ทำให้เสมือนว่ากษัตริย์มีตัวตน เป็นของประชาชน จับต้องได้จึงเป็นการเพิ่มภาพลักษณ์ของพระองค์ท่านให้เป็นกษัตริย์ที่สนใจในความใกล้ชิดระหว่างสถาบันและประชาชนมากขึ้น พระรูปของท่านเป็นวีรบุรุษทีทรงม้าอย่างสง่างาม เฝ้ามองดูประชาชนอยู่ตลอดเวลา ถือเป็นกุศโลบายในการให้พระองค์เป็นศูนย์รวมใจของคนในชาติ แม้จะทรงสวรรคตไปนานมากแล้วก็ยังมีคนนับถือตลอดเวลาจนเกิดเป็นลัทธิบูชาเสด็จพ่อร.5ขึ้นทุกมุมของประเทศไทย
พระบรมราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่ ติดตั้งอยู่ใจกลางวงเวียนใหญ่ เป็นอนุสาวรีย์ที่สำคัญมากทั้งทางด้านศิลปะและประวัติศาสตร์ กล่าวในทางศิลปะแล้วผลงานนี้ถือว่าเป็นอนุสาวรีย์ที่ศาสตราจารย์ศิลป์ภาคภูมิใจที่สุดในการสร้าง เพราะรัฐให้อิสระในการสร้างงานมากกว่าผลงานชิ้นอื่นๆ ผลงานนี้ให้อารมณ์ทางสุนทรียภาพที่งดงาม องค์ประกอบโดยรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ระหว่างพระเจ้าตากและม้าทรงผสานกันอย่างลงตัว
ในทางประวัติศาสตร์นั้น กล่าวถึงในคราวที่พระองค์ท่านยังดำรงตำแหน่งเป็นพระยาตากตั้งตนเป็นกลุ่มกู้ชาติรวบรวมแผ่นดินที่แตกสลายคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่2 เหล่าเมืองต่างๆขาดความสามัคคี ต่างตั้งตัวเป็นใหญ่ พระยาตากจึงกู้เอกราชโดยการรวมแผ่นดิน ปราบกลุ่มต่างๆให้รวมกันเป็นหนึ่ง โดยพระบรมรูปนี้เป็นภาพเสี้ยววินาทีก่อนที่ม้าศึกกระโจนสู่สนามรบในคราวตีเมืองจันทบุรี พระองค์ทรงม้าอยู่หน้ากองทหารอย่างกล้าหาญพร้อมทำการกู้ชาติอย่างเด็ดเดี่ยว
ในครั้งที่สร้างขึ้นโดยรัฐบาลขณะนั้นมุ่งให้พระรูปนี้เป็นสัญลักษณ์แห่งการรวมกันเป็นหนึ่ง ความสามัคคี ความหวังในอนาคตและความเชื่อในผู้นำ เชื่อในการนำชาติของผู้นำยุคนั้นว่าสามารถนำพาประชาชนผ่านปัญหาต่างๆไปได้ ซึ่งตรงนี้ก็ซ่อนคติเผด็จการอำนาจนิยมผสานกันแนวคิดแบบชาตินิยม สร้างอัตลักษณ์ของชาติโดยผ่านทางอยุสาวรีย์ นับแต่นั้นคนไทยก็เชื่อว่าเมื่อใดที่เกิดวิกฤตกับบ้านเมือง วีรบุรุษก็จะปรากฏตัวช่วยเหลือได้ทุกเรื่อง
ทั้งหลายที่ได้บรรยายอย่างยืดยาวก็เพื่อต้องการให้คติวีรบุรุษขี้ม้าขาวมีน้ำหนักขึ้น และเมื่อกลับมาดูผลงานของนิพันธ์ เราจะไม่เห็นวีรบุรุษ เราจะเห็นม้าศึกยืนอย่างโดดเดี่ยวท่ามกลางเวิ้งฟ้า ม้าในงานนี้อาจจะหมายถึงคนไทยทั้งประเทศก็ได้ ที่รอให้มีผู้ขี่ที่กล้าหาญ รอผู้นำหรือวีรบุรุษผู้เข้ามาแก้ปัญหาของบ้านเมือง
งานชิ้นนี้เขาสร้างขึ้นหลังเกิดระเบิดก่อความไม่สงบในกรุงเทพ ในระหว่างที่คนรอต้องรับปีใหม่สู่ปี2549 ซึ่งในระหว่างนั้นเป็นช่วงเกิดกระแสต่อต้านระบอบทักษิณอย่างรุนแรง จนเกิดการทำรัฐประหารจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยกองทัพทั้ง4เหล่ามีผู้บัญชาการทหารบกเป็นผู้นำ ซึ่งในระยะแรกผู้คนในสังคมไทยให้การตอนรับการทำรัฐประหารครั้งนี้โดยหวังว่าจะแก้วิกฤตความขัดแย้งได้ ผู้นำการปฏิวัติจึงดำรงสถานะของวีรบุรุษขี่ม้าขาว แต่เมื่อเวลาผ่านไปได้พิสูจน์ว่าไม่ได้ลดความขัดแย้ง กลับเพิ่มความขัดแย้งกันอย่างทวีคูณมาถึงปัจจุบันวันนี้ วีรบุรุษในครั้งนั้นก็ไม่ได้กลายเป็นวีรบุรุษที่แท้จริง กลับกลายเป็นผู้ที่เริ่มให้สังคมขัดแย้งกันบานปลาย แม้ปัจจุบันมีรัฐบาลใหม่จากอีกขั้วขึ้นมาดำรงตำแหน่ง หลายคนมองว่าเป็นทางออกของสังคมมองว่านายกคนใหม่เป็นวีรบุรุษ หวังให้รัฐทำโน่น แจกนี่โดยมิได้เฉลียวใจเลยว่าแท้จริง โลกนี้อาจไม่มีวีรบุรุษที่แท้จริงอีกแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น